วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อำนาจแห่งความตาย


โดย. พระสมุห์อดิเรก อาทิจฺจพโล 

...ข้อความในคัมภีร์อุปนิษัท(Brihad Upanisads)ของศาสนาพราหมณ์ จารึกไว้ว่า " เมื่อตอนกำเนิดสรรพสิ่ง พระเจ้าได้เกิดขึ้นท่ามกลางความมืดและพบว่าตนเองอยู่เพียงลำพังจึงนึกประหวั่นใจ จึงได้นึกให้มีมนุษย์และสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาเป็นเพื่อน พร้อมสร้างอาหารเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องบรรเทิงใจของพระองค์ ทรงสร้างอะไรต่อมิอะไรตามฉายาของพระองค์ สิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาคือ มฤตยู หรือ ความตายคือ กับดักที่ขังสรรพสิ่งเอาไว้ข้างใน ด้วยความมืด ความหิว และความตายนี้เองที่ทำให้สรรพสัตว์ต้องหลงวนเวียนติดอยู่  มนุษย์และสัตว์ที่เกิด แก่ เจ็บ และลงท้ายด้วยความตาย จึงไม่สามารถหนีพ้นไปจากวัฏจักรนี้ไปได้ชั่วนิจนิรันดร์
...ความเชื่อนี้ในคริสต์ศาสนา ชาวคาทอลิก เชื่อว่า “ความตาย” คือภาวะที่ร่างกายและวิญญาณแยกออกจากกัน มนุษย์เกิดมาครั้งเดียว และตายครั้งเดียว เมื่อตาย ร่างกายซึ่งเป็นสสารจะสลายกลายเป็นธุลีตามเดิม ขณะที่วิญญาณซึ่งแยกออกจากร่างกายจะถูกนำไปพิพากษาทันทีตามบาปบุญของตน ชาวคาทอลิกยังมีความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพภายหลังความตาย คือ มนุษย์จะถูกตัดสินโทษบาปของตนครั้งแรก เมื่อตายภาวะวิญญาณที่แยกออกจากร่างกาย และถูกนำไปยังสวรรค์ หรือสถานไฟชำระ (นรก) ตามบาปบุญของตนเอง
...แต่ชาวมุสลิมเชื่อว่า ความตาย คือ การกลับสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระอัลเลาะฮ์ ซึ่งเรียกว่า “อายัล” เมื่อชาวมุสลิมทราบข่าวการตายของมุสลิมไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม ก็จะกล่าวข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานว่า “แท้จริงเราเป็นของอัลเลาะฮ์ และแท้จริงเราเป็นผู้กลับไปหาพระองค์” 
ความตายตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่า มิใช่การดับสูญหรือการสูญเสีย แต่เป็นการเคลื่อนย้ายสถานที่จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง และถือว่าเนื้อแท้ของมนุษย์มิใช่เรือนร่างอันเป็นวัตถุแต่เป็น “วิญญาณ” (รูห์) ซึ่งยังคงสภาพอยู่ และเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายไปสู่ชีวิตใหม่
...สำหรับพุทธศาสนา ชาวพุทธ มีความเชื่อว่าความตายเป็นการดับของขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร เมื่อขันธ์ 5 ดับ คือกายกับจิตดับลง จุดนั้นเรียกว่าความตาย ในทางการแพทย์ให้ความหมายของความตายว่า “หัวใจหยุดเต้น” หรือ “สมองหยุดทำงาน” จึงจำกัดอยู่เฉพาะทางกาย หรือรูป เท่านั้น ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มุ่งเน้นเฉพาะมิติทางกาย แต่ในทางพุทธศาสนา ความหมายของความตาย ไม่ใช่เฉพาะทางกาย แต่ยังรวมถึงการดับลงของจิตด้วย ดังนั้น แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในทางพุทธ จึงต้องดูแลครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ
...เมื่อนำแนวคิดของทั้งสี่ศาสนามาวิเคราะห์และพิจารณาจะเห็นว่า ทุกศาสนามีลักษณะที่แตกต่างและเหมือนกันอยู่หลายข้อ ความเหมือนและความต่างกันนี้มองได้สองด้าน คือ ๑). มีความเห็นว่า ความตายคือ การที่ร่างกายและจิต ดับ  ๒). ความตาย คือ กายสูญสลายแต่จิตจะไปสู่นรกและสวรรค์ตามกำลังบุญและบาป  และ ๓). ความตายคือการเคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่งกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ที่เหมือนกันก็คือการยอมรับว่ามีจิต นั่นเอง จิตเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความตายขึ้น 
....พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า " เกิด แก่ เจ็บ ตาย" เป็นความทุกข์ยากของมนุษย์ แม้ตายไปแล้วก็ไม่อาจพ้นไปได้ แต่ไม่ทรงยอมจำนนกับความตาย และทรงพิจารณาเห็นถึงเหตุของการเกิด อันเป็นต้นตอของความตายนั้น และทรงค้นพบว่า " ความตายนั้นน่ากลัว หากตายไปโดยไม่รู้ความจริงของชีวิตคืออะไร"
...เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือชีวิต และชีวิตควรดำเนินไปอย่างไร เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไรนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายติดกับดักของมฤตยู และไม่สามารถหลุดออกไปได้ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร สุดท้ายก็จบลงด้วยความตาย แล้วความตายนั้นเองก็เป็นเหตุให้ต้องกลับมาเกิดอีกไม่รู้จบสิ้นสักที นี่แหละอำนาจของมฤตยู หรือ ความตาย
 ... ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลกนับตั้งแต่อดีตมา ล้วนตกอยู่ในข่ายนี้ทั้งนั้น จะมีเล็ดรอดหลุดออกจากวัฏจักรนี้เพียงไม่กี่ท่าน ทั้งนี้ก็เพราะท่านเหล่านั้นรู้ถึงอำนาจของความตายแล้วอย่างแจ่มแจ้งไร้ข้อกังขาใดๆ จึงรีบเร่งชำระจิตใจของตนเองจนหลุดพ้นไปจากอำนาจความตายได้ แต่ก็มีหลายท่านเช่นกันที่ไปได้เพียงชายขอบของแดนแห่งความตายและพ่ายแพ้ที่ตรงนั้น นั่นเพราะเหตุใดวานท่านทั้งหลายช่วยตอบด้วยแล้วกัน.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...