วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ภาษาศิลปะที่ปรากฎในฮูปแต้มอีสาน


  "ภาษาศิลปะที่ปรากฎในฮูปแต้มอีสาน"

อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ

๑. บทนำ
.....ลักษณะลักษณะอันหนึ่งของความงามทางศิลปะ คือเรื่องของคุณค่าทางความงามในเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรียะและกฎเกณฑ์ทางศิลปะที่เกิดมาจาก ความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ในเรื่องความงาม การค้นหานิยามของความงามทางศิลปะ เช่น ศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม รวมถึงเกณฑ์อื่นที่จะนำมาใช้ตัดสินศิลปะว่าคืออะไรนั้นจึงมีความสำคัญ ในทางปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาภาษา ให้ความหมายของคำว่า ศิลปะไปไกลถึงเรื่องของการสื่อสารด้วยภาษาศิลปะ ซึ่งเป็นภาษาชนิดหนึ่งที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคำพูด ตัวอักษร หรือภาษากาย โดยสมมติฐานว่าถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ นั่นก็หมายถึง มันสามารถสื่อสารกับผู้ชมด้วยภาษาศิลปะได้ ผลงานชิ้นใดที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจด้วยภาษาศิลปะ เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้  ดังนั้น ความหมายของความงามจึงผูกติดอยู่กับภาษาศิลปะ ผลงานศิลปะใดที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นความงามผ่านภาษาศิลปะออกมาได้ดี ผลงานนั้นก็จะได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานศิลปะที่มีมีคุณค่า
          นอกจากภาษาศิลปะจะสื่อให้เห็นความงามแล้ว  ภาษาศิลปะยังสัมพันธ์กับสุนทรียธาตุอีกด้วย ในงานศิลปะทุกชนิดมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น  ซึ่งจะสามารถบรรลุได้ด้วยการที่ผลงานศิลปะนั้นมีสุนทรียธาตุ เช่น ความแปลกตา อารมณ์สะเทือนใจ ความประทับใจ เป็นต้น สุนทรียธาตุอาจแสดงออกให้ผู้ชมผลงานศิลปะสัมผัสได้ในหลายๆ ทาง เช่น ทางตัวอักษร เสียง ภาพ หรือ ภาพเคลื่อนไหว ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการแสดงตัวของภาษาศิลปะที่ศิลปินต้องการสื่อสารถึงผู้ชมผ่านผลงานศิลปะนั่นเอง ซึ่งประเด็นต่อไปจะพิจารณาว่า ภาษาศิลปะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับฮูปแต้มอีสาน ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของผู้คนชาวอีสานในอดีต

๒. ศิลปะในสิมอีสาน
มีงานศิลปะชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า สิม หรือ สิมอีสาน  Sim I San (Northeast Buddhist Holy Temple) คำนี้เป็นคำพื้นถิ่นอีสานเป็นชื่อเรียกอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม  ในพระวินัยเรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสภัคคะ บ้าง โดยทั่วไปเรียกเป็นภาษาปากว่า “โบสถ์” เรียกคำเต็มว่า “อุโบสถ” หรือ “โรงอุโบสถ” ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า “พระอุโบสถ” ขนาดและรูปแบบของอุโบสถไม่ได้มีกำหนดไว้ในพระวินัย  เพราะพระวินัยกำหนดสีมาให้เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสำหรับทำสังฆกรรม   อุโบสถเป็นเพียงอาคารที่สร้างคร่อมพื้นที่  สีมาเพื่อกันแดดกันฝน  มีสภาพเป็นอาคารถาวร  มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน  อุโบสถที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมี “สังฆกรรมเรียกว่า ผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมา” ก่อน สิมหรือโบสถ์  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” ท่านผู้รู้อธิบายถึงคำว่า “สิม” นั้น กลายเสียงมาจากคำว่า “สีมา” นั่นเอง[1]
นอกจากความหมายของ “สิม”ดังกล่าวแล้ว สิมยังประกอบได้ด้วยงานศิลปะหลายแขนงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) และประติมากรรมประดับตกแต่งสิม โดยเฉพาะฮูปแต้มนั้นมีความงดงามโดดเด่นยิ่งกว่าผลงานศิลปะแขนงอื่นๆ ช่างแต้มมักนิยมเขียนฮูปแต้มเหล่านี้ไว้ทั้งภายนอกและภายในสิม เรื่องราวที่ช่างแต้มนิยมเขียนอาทิเช่น พุทธประวัติ ชาดก วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน วิถีชีวิตผู้คนในอดีต และภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น
อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัยได้กล่าวในหนังสือเรื่องสิมม่วนซื่น ถึงวิธีในการทำ ฮูปแต้มเอาไว้ว่า กว่าจะได้ฮูปแต้มให้ดูได้ ขั้นตอนแรก ต้องไล่ความเค็มออกจากปูนก่อน เพื่อไม่ให้สีเพี้ยน โดยการเอาใบขี้เหล็กมาต้ม แล้วเอาน้ำที่ได้ไปฉีดที่ผนัง ทิ้งไว้ประมาณ ๗ วัน ก็เอาขมิ้นไปลองถูดู ถ้าขมิ้นไม่เป็นสีแดง ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ถ้ายังแดงอยู่ ก็ต้องทำซ้ำอีกครั้ง  ถัดไปก็เอาดินสอพองมาละลายน้ำ ล้างสิ่งสกปรกทิ้งไปแล้วแช่น้ำจนตกตะกอนนอนก้น แล้วถึงเอามาผสมกับกาวน้ำมะขามทารองพื้นบางๆ บนผนังที่เตรียมไว้ รอจนรองพื้นแห้ง ถึงจะเริ่มแต้มฮูปได้โดยร่างเส้นด้วยดินสอลงไปบนผนังก่อน  แล้วจึงลงสีพื้นเป็นสีขาว ๆ นวล ๆ ก่อนจะวาดภาพที่เป็นรายละเอียดอีกที และที่ทำยากมากก็คือ การหาสีมาวาด ซึ่งช่างแต้มต้องทำขึ้นมาเองจากสีธรรมชาติ เช่น สีครามจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ สีแดงจากหินและสีขาวจากการเผาเปลือกหอยกี้[2]
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า “ฮูปแต้มนั้นเป็นเพียงผลงานของชาวบ้านไม่ใช่ผลงานทางศิลปะ” ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็น่ารับฟังได้เพราะเมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับผลงานศิลปะอันประณีตอื่นๆ แล้ว ฮูปแต้ม ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของช่างพื้นบ้านที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากสกุลช่างใดๆเลย เป็นแต่เพียงชาวบ้านที่พอมีฝีมือในการวาดเขียนอยู่บ้าง หรือเคยได้ทำงานในวัดหัดวาดเขียนกับหลวงปู่หลวงตาแล้ว วันหนึ่งก็ได้รับเลือกให้มาช่วยวาดอะไรลงไปในสิม ที่ชาวบ้านนั้นแหละช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ช่างมืออาชีพในปัจจุบัน ฮูปแต้มจึงแสดงออกมาอย่างซื่อๆ ไร้มารยา เป็นผลงานที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่ควรจะด่วนตัดสินคุณค่าของฮูปแต้มในขณะนี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ละเอียด

๓.  ความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน

          ในหัวข้อนี้จะพิจารณาเกี่ยวกับความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน ฮูปแต้มเป็นภาษาอีสาน เป็นคำที่ใช้เรียกงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้ในการตกแต่ง สิม หรือ โบสถ์แบบอีสาน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอีสานคติในการสร้างฮูปแต้มเพื่อความงามนั้นมีมานาน ดังเนื้อความในลำพระเวส(เวสสันดรสำนวนอีสาน) กัณฑ์มัทรี ซึ่งปริวรรตจากอักษรธรรมโดยอาจารย์เคน ลาวงศ์เนื้อความกล่าวถึง การรำพันรักที่พระเวสสันดรมีต่อพระนางมัทรีว่า หากนางมัทรีตายจะสร้างโลงบรรจุศพและจะตกแต่งโลงด้วยลวดลายและรูปเขียนต่างๆ[3]
          “บ่สมควรตายพี่นอ ผิว่านางมัททีเมือตาย เมืองแก้วกู่ประเชชัยเวียงกว้าง พี่จักสร้างใส่ไม้โลงลายลวง ภายบนพี่จักใส่ปาสาทแป้นปูลาดพี่จักใส่ลายลวง ดวงปีพี่จักใส่ช่อฟ้า ก้ำหน้าพี่จักแต้มลายวัลย์ ทันกลางพี่จักแต้มฮูปกินรีนะรอนนอนเทียมคู่เกาะเกี้ยวอยู่เวหา ลวงหน้าพี่จักแต้มฮูปนาคาลวงเล่น พี่จักแต้มฮูปท้าวแอ่นนำสาว ทางยาวพี่จักแต้มฮูปลายเครอวงวาด ตีนผาสาดที่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพี่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพ่จักใส่ดอกผักแว่น แป้นอัดหน้าพี่จักใส่ลายจีน ตีนธรณีพี่จักแต้มฮูปเทวดามาถือธุงชัยเดียรดาษ ถัดนั้นพี่จักแต้มฮูปจักรวรรดิราชมา แกว่งจามรดั่งลือ”[4]
          เนื้อความดังกล่าวนี้มีรสทางวรรณคดีสูง แสดงให้เห็นว่าคนอีสานเป็นคนที่มีรสนิยมใช้ฮูปแต้มตกแต่งวัสดุและอาคารต่างๆ คตินิยมนี้ยังคงตกทอดมาให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การวาดภาพบนผืนผ้าผะเหวด และวาดฮูปแต้มบนผนังสิมนอกจากนี้ ผู้ชายอีสานในสมัยก่อนยังนิยมสักลายตามร่างกายเพื่อความงามและความเชื่อของตนอีกด้วย[5]
          ฮูปแต้มบนผนังสิมมาจากภูมิปัญญาและฝีมือของช่างแต้มที่สั่งสมเรียนรู้กันมา ทั้งในด้านการออกแบบ กลวิธี และการใช้วัสดุอุปกรณ์ ฮูปแต้มสะท้อนความคิดเห็นของช่างแต้มอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในผลงานของช่างคือ ความสามารถ ภูมิรู้ และทรรศนะเกี่ยวกับความงามของช่างและชาวบ้านและเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของชุมชนไว้[6]
         

๔. ภาษาศิลปะคือความงามที่ปรากฎในฮูปแต้มสิมอีสาน
          ประเด็นต่อไปผู้เขียนจะพิจารณาเรื่อง ภาษาศิลปะผ่านฮูปแต้มที่สำคัญได้แก่ ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาษาศิลปะที่ปรากฏอยู่ในฮูปแต้มดังกล่าว
ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ถือว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาสิมอีสานที่มีอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร ชาวอีสานเรียกว่า ผะเหวด เป็นการเรียกชื่อ พระเวสสันดร ตามสำเนียงอีสาน พระเวสสันดรนั้นถือว่าเป็นมหาชาติหรือชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอดีตชาติของพระพุทธองค์ จึงพบได้ทุกภาค ทุกภาษาถิ่นของไทยนับพันสำนวนและในศิลปะนานารูปแบบ อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย กล่าวไว้ว่า
 “ที่ทำให้ฉันแปลกใจตอนตามดูฮูปแต้มในสิมต่างๆ ก็คือ ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังของภาคอื่นเท่าที่เคยดูมานั้น นิยมเขียนทศชาติชาดกครบหรือเกือบครบทั้ง ๑๐ ชาติโดยอาจจะให้เนื้อที่กับพระเวสสันดรเท่ากับหรือมากกว่าชาติอื่นๆ แต่ฉันพบว่าฮูปแต้มในสิมอีสานแทบไม่เขียนถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์องค์อื่นเลย มีน้อยวัดมากจริงๆ ที่จะพูดถึงชาติอื่นๆ ด้วย และถ้ามี ก็มักจะให้เนื้อที่นิดเดียวและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่”[7]
          มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[8] ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ยังคงสีสันที่ยังสดใสอยู่และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แม้บางรูปจะลบเลือนไปแต่ก็นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สามารถเห็นถึงความงามและคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้
          ยกตัวอย่างฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ ชูชก วัดสนวนวารีพัฒนาราม เป็นภาพชูชกดื่มกินจนท้องแตกตาย สื่อให้เห็นชัดด้วยการวาดภาพตัวชูชก ให้ใหญ่จนคับศาลา   ฮูปแต้มกัณฑ์ชูชกนับว่าเป็นความงามที่แสดงออกซึ่งภาษาทางศิลปะอย่างชัดเจน
          เรื่องราวมีอยู่ว่า ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปนะ ฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเพื่อแสวงหาทรัพย์อีก เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้น จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชกไป ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์อย่างดี ครั้งนั้นพวกพราหมณ์หนุ่มๆ เหล่าอื่นเห็นอาจารสมบัติของนางจึงคุกคามภรรยาของตน ๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราอย่างดี  พวกเจ้าทำไมละเลยต่อเราทั้งหลายภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้วจึงไปประชุมกันด่านางอมิตตาปนาที่ท่าน้ำ[9] “นางจึงขอให้ชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นคนรับใช้”[10]
          ตามเนื้อความที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า ภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นอำนาจของความรักที่ชูชกมีต่อนางอมิตตตาปนาอย่างสุดซึ้ง ความงามนั้นได้แสดงผ่านตัวเอกในเรื่องนี้คือชูชก ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวท่าทางตลก แสดงให้เห็นถึงการสร้างความเพลิดเพลินให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แล้วประเมินคุณค่าของมัน เช่น เราประเมินคุณค่าของฮูปแต้มพระเวสสันดรกัณฑ์ชูชกว่างาม เพราะเราถ่ายทอดความเพลิดเพลินที่ได้รับจากลักษณะของชูชกลงไปในฮูปแต้มพระเวสสันดร กัณฑ์ชูชกนั้นเอง หากไม่แสดงผ่านฮูปแต้มของชูชกเราก็จะไม่สามารถเข้าใจถึงลักษณะของความงามที่ปรากฏในตัวของชูชกได้เลย


๕.  บทสรุป

             เมื่อเราพูดถึงความงามในเชิงสุนทรียะ  เราไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องของความงามที่เกิดจากวัตถุทางศิลปกรรมอันเป็นผลงานของมนุษย์เท่านั้น  ยังรวมถึงสิ่งต่างๆ  ในธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ผลงานสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ก็มีความงามได้เช่นกัน  เช่น ทิวทัศน์ชายทะเลแห่งหนึ่งเรารู้สึกว่ามีความสวยงาม หรือท้องฟ้ายามรุ่งอรุณในที่บางแห่งและในภาวะของอากาศบางวันอาจจะงามและน่าทึ่งอย่างมากก็ได้ “คำว่า สุนทรียะนี้ ศิลปินได้กล่าวไว้ว่าทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมมีสุนทรียะในตัว ถ้าหากว่าเราผู้ดู เป็นผู้เข้าใจมอง ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่เป็นสุนทรียะ”[11]  ที่เราเห็นอย่างนั้นก็เพราะสิ่งนั้นมีลักษณะที่สื่อออกมาผ่านทางภาษาศิลปะเป็นความงาม ดังพุทธพจน์ความว่า “สิปฺปญฺจ วินโย จ สุสิกฺขิโต” แปลว่า “ ศิลปะเป็นมงคลอย่างหนึ่ง วินัยที่ฝึกมาดีแล้วก็เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง” เรื่องพระศรีลังกาทำสมาธิแล้วไม่ได้ผลแต่พอได้ยินเสียงเพลงขับของเด็กเลี้ยงวัว จิตกับหลุดพ้นสว่างโพลงได้อย่างน่าประหลาด ท่านเล่าเพื่อแสดงว่า “นี่คือตัวอย่างอานุภาพของศิลปะ” ตามตัวอย่างนี้ ท่านผู้อ่านก็คงมองเห็นว่า อานุภาพของศิลปะคือการช่วยยกชีวิตของคนเราให้สูงขึ้นทั้งในทางความคิดและทางคุณธรรม[12]
       ฮูปแต้มที่ปรากฏในสิมอีสานทั้งสองแห่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างก็เช่นกัน เรื่องราวทางความคิดความเชื่อ ความศรัทธา และความดีของบุคคล เรารู้สึกรับรู้มันได้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความงาม ก็โดยที่มันสื่อสารกับเราผ่านภาษาทางศิลปะเท่านั้น สมมติเราตั้งคำถามว่า เมื่อขาดอายตนะใดอายตนะหนึ่งไปเราจะยังรับรู้ความงามของศิลปะบนฮูปแต้มได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ภาษาศิลปะไม่ถูกจำกัดด้วยอายตนะแต่เกิดร่วมกับความดีงาม ฮูปแต้มเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ศิลปินสื่อสารผ่านภาษาศิลปะเท่านั้น ยังมีการแสดงออกทางภาษาศิลปะอีกหลายวิธีเพื่อสื่อความดีงาม ความเชื่อความศรัทธา หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ศิลปินสามารถสื่อเรื่องราวเดียวกันนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หรือนำไปใส่ไว้ในประติมากรรม แต่ภาษาศิลปะนั้นจะต้องไม่แยกต่างหากจากความดีงาม ความเชื่อ ความศรัทธา ดังที่อริสโตเติลเรียกร้องให้งานศิลปะต้องมีอิทธิพลทางศีลธรรมต่อประชาชน ความงามและความดีงามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน[13]  ตัววัตถุทางศิลปะจะเป็นฮูปแต้ม หรือเป็นดนตรี ดังตัวอย่างข้างต้นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์คล้ายๆ ตัวอักษร แต่ภาษาศิลปะนั้นเป็นนามธรรมมองไม่เห็นได้ด้วยตาหรือายตนะ แต่ก็มีอยู่จริงในโลกอีกแห่งหนึ่ง คือโลกของศิลปะ ที่ใครก็สามารถหยิบฉวยเอามาใช้ได้แม้ไม่เคยทำงานศิลปะเลยก็เป็นศิลปะได้ หากเขาสามารถสื่อสารออกมาให้ผู้คนได้รับรู้ถึงอารมณ์นั้น ผลงานทางศิลปะอันทรงคุณค่าทั้งหลายก็เช่นเดียวกันนี้ คือ มันจะมีคุณค่าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่ามันสามารถแสดงออกให้ผู้ชมได้เข้าถึงมันแค่ไหน ฮูปแต้มสิมอีสานที่เราได้ร่วมกันพิจารณามาตัวแสดงทุกตัวที่ปรากฏอยู่นั้น ล้วนแต่แสดงออกให้เราได้เห็นทั้งสิ่งที่มีอยู่จริงและสิ่งที่เป็นความคิด ซึ่งมีอีกมากมายหลายตัวอย่างเกินกว่าบทความนี้เพียงบทความเดียวจะแสดงให้เห็นได้ ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้พยายามนำมาเสนอเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นสุดท้ายก็คงต้องให้ท่านผู้อ่านพิจารณาฮูปแต้มสิมอีสานแห่งอื่นๆ ต่อไป
         




บรรณานุกรม
๑. ภาษาไทย
ก .ข้อมูลปฐมภูมิ
พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
     ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
(๑) หนังสือ:
ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖.
ลีโอ ตอลสตอย, ศิลปะคืออะไร, สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.
    พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง ๒๕๓๘.
    กรุงเทพมหานคร:๒๕๔๘.
เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓.
สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลา
               วงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การ
                สงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.
สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,
              ๒๕๔๘), หน้า ๙.
ศิลป์  พีระศรี, ศิลปะวิชาการ๓ ศิลปะสงเคราะห์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
    อนุสรณ์. ปทุมธานี: ๒๕๕๓.
สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.
อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓,



     [1] ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, (อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖), หน้า ๑๖-๑๗.
      [2]อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, (กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓),หน้า ๑๑-๑๓.
     [3]สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘), หน้า ๙.
     [4]สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลาวงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.หน้า ๘๔-๘๕.
     [5]สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, หน้า ๙.
     [6]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๔.
     [7] อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย, ซ่อนไว้ในสิม,  หน้า ๑๕๑.
     [8] ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑๐/๕๔๗/๒๘๗.
     [9]ขุ.ชา.อ.(ไทย) ๑๐/๖๓๖.
     [10] อ้างแล้ว
[11] เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, (กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓),
หน้า ๑.
[12] สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.หน้า ๘.
[13] ลีโอ  ตอลสตอย,ศิลปะคืออะไร,สิทธชัย กระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.พิมพ์ครั้งที่ ๒.สำนักพิมพ์คมบาง.กรุงเทพมหานคร: ๒๕๓๘.หน้า ๑๘๗-๑๘๘.

เขียนเมื่อ 9 มิ.ย.60

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...