ความเรียงเรื่อง
“จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐาน”
อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ[๑]
...ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็กล่าวไว้และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญว่า หนทางเดียวเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ บรรลุพระนิพพาน คือการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาจึงดำเนินเรื่อยมาและไม่เคยมีผู้สงสัยจะตั้งคำถามกับวิธีปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ว่า “สามารถทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริงหรือไม่” และ “จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐาน” ซึ่งคำตอบก็มีทั้งฝ่ายที่บอกว่าจำเป็นและบอกว่าไม่จำเป็น
ฝ่ายแรกสนับสนุนว่า
จำเป็นที่พระต้องปฏิบัติกรรมฐานเพราะพระพุทธศาสนามีหลักอยู่ว่า “มนุษย์ต้องฝึกฝนตนเอง มนุษย์ที่ฝึกฝนตนเองแล้วก็จะประเสริฐในมนุษย์ด้วยกัน
รวมถึงประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย” ซึ่งอาจตีความได้ว่าหากไม่ฝึกฝนตนเองแล้วก็ไม่แตกต่างจากสัตว์ทั่วๆไป
เพราะอีกด้านหนึ่งมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณแบบเดียวกับสัตว์ เมื่อพระพุทธศาสนามีหลักเช่นนี้
การปฏิบัติกรรมฐานจึงถูกคิดขึ้นไว้ให้พระภิกษุสงฆ์รวมถึงพุทธบริษัทอีก ๓ บริษัท
นำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการฝึกตนเอง
ฝ่ายที่สองคัดค้านว่า
"ไม่จำเป็นที่พระต้องปฏิบัติกรรมฐานเสมอไป โดยยกเหตุผลว่า “จริงอยู่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องฝึกฝนตนเอง
แต่ไม่ควรเข้าใจว่ามนุษย์ต้องปฏิบัติกรรมฐาน” เวลาเราขับรถหรือทำกิจกรรมอื่นๆ
เราต้องการเพียงมีสติในระดับพื้นฐานก็เพียงพอ นอกจากนี้ในชาดก
ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า
พระองค์เองเคยเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์มามากมายหลายครั้งจึงทำให้พระองค์นั้นได้มาบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติปัจจุบัน
แสดงให้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ
ก็ย่อมฝึกตนเองให้เป็นผู้ที่กลายมาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงสุดได้
แต่การปฏิบัติดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำนั้นก็ไม่ควรเข้าใจว่าต้องเป็นการปฏิบัติกรรมฐาน
เช่น ในสมัยหนึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เกิดเป็นพยานาคชื่อภูริทัต รักษาศีล
และด้วยอานิสงค์ของการักษาศีลนั้นก็ทำให้พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีลบารมีในพระชาติที่มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เรื่องนี้แสดงให้เห็นข้อถกเถียงกันในประเด็นว่า
การฝึกตนเองมิใช่การปฏิบัติกรรมฐานเท่านั้น แต่อาจเป็นการกระทำอย่างอื่นก็ได้
เช่นการให้ทาน การรักษาศีล ทั้งนี้เพื่อความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสำคัญ
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติกรรมฐานเสมอไป
แต่ฝ่ายที่เห็นว่าจำเป็นโต้แย้งว่า “การปฏิบัติกรรมฐานจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาสติปัญญา
ทั้งในส่วนของการควบคุมสติอารมณ์ และการเจริญปัญญาตามลำดับ
โดยเสนอแนวคิดว่าในส่วนของการพัฒนาสติ สติควรมีสองระดับ คือ ๑) สติระดับสัญชาตญาณ
(Instinct) และ๒) สติระดับคุณธรรม (Moral) สติทั้งสองนี้แม้จะมีชื่อเรียกว่าสติเหมือนกันแต่แสดงออกแตกต่างกัน
สติระดับสัญชาตญาณทำให้มนุษย์สามารถควบคุมการกระทำในการดำรงชีวิตทั่วๆไป
เป็นสติในระดับปัจเจกบุคคล
ส่วนสติในระดับคุณธรรมทำให้มนุษย์ดำเนินวิถีแห่งคุณธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติสุขเป็นสติในระดับสังคม
ในส่วนของการพัฒนาปัญญา ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติได้ทั้งนี้จะมาถึงขึ้นนี้ได้ก็ด้วยการฝึกกรรมฐานตั้งแต่ต้นเป็นลำดับไป
ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแรก
และเห็นว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานเท่า เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวว่า "มีพระรูปหนึ่งเห็นคนแก่ คนเจ็บ
คนตายแล้วระลึกเห็นแจ้งว่าโลกนี้ไม่ควรยึดมั่นสิ่งใดๆ
เพราะในที่สุดแล้วทุกคนก็ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเดียวกันคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
และไม่มีตัวตนของเรา ของเขา การระลึกเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอะไร
อาศัยเพียงอายตนะคือการเห็น และการมีสติระลึกในระดับคุณธรรมก็สามารถทำได้
ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆไป ก็ทำได้ด้วยการมีสติระดับสัญชาตญาณ อย่างเช่น
นกบินอยู่บนฟ้ารู้ว่า ตอนนี้ฝนกำลังจะตกต้องรีบหาที่หลบฝน
ไม่จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัตินกก็สามารถระลึกได้ด้วยสัญชาตญาณของมัน
ดังนั้นการปฏิบัติกรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่เกินไปกว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ
การควบคุมความคิดของตนด้วยการบังคับใจให้หยุดคิดก็เท่ากับการสะกดจิตตนเอง
เป็นการฝืนธรรมชาติของจิต เป็นการบิดเบือนจิตออกไปจากธรรมชาติที่แท้จริง
ผลที่ได้อาจไม่ใช่ผลดีต่อมนุษย์ ผู้เขียนเคยอ่านในคัมภีร์ว่าด้วยวิปัสสนากรรมฐานเมื่อสมัยไปฝึกปฏิบัติเป็นพระวิปัสสนาจารย์ว่า
“หากฝึกไม่ถูกวิธีก็อาจวิปลาส หรือเป็นบ้า สติฟั่นเฟือนได้
ทำไมเราจึงต้องเสี่ยงกันถึงขนาดนั้นเพื่อที่จะให้มีคุณธรรมสูง แค่เพียงไม่ฆ่าสัตว์
ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ไม่กล่าววาจาว่าร้าย
ไม่เสพของมึนเมาและตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี อื่นๆ
ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าของเราอีกมากมายเพียงเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตที่ดี”
การรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น การรู้จักรักผู้อื่น
ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ การพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
การวางตนไว้เหมาะสมเมื่อถึงคราวที่ช่วยอะไรเขาไม่ได้ เท่านั้นผู้เขียนก็ถือว่า “เป็นการปฏิบัติธรรมอันยอดเยี่ยมแล้ว” และยังคิดว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นเสียยิ่งกว่า
เข้าไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ เดินวนไปวนมาเพื่อกำหนดสติให้ทันการก้าวเท้า
เรามัวแต่นั่นดูลมหายใจเข้าออกในขณะที่เด็กๆ อดอยากยากจน
เราเดินจงกลมอย่างสงบเงียบในป่า ในขณะที่ผู้คนกำลังโหยหาอาหารเพื่อประทังชีวิต
สัตว์ทั้งหลายถูกฆ่า
ถูกทำร้ายทำลายไปอย่างไร้เมตตาปราณีแต่เรายังมัวปิดตาภาวนาให้เขาพ้นทุกข์
พอเหนื่อยก็ลุกขึ้นไปนั่งกินเลือดเนื้อของพวกเขา แล้วจะปฏิบัติไปทำไม
จากความเห็นนี้ไม่ได้หมายถึงว่าผู้เขียนเห็นว่า
“พระสงฆ์ไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐาน” แต่เป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่าเมื่อเราจะกล่าวว่า
พระสงฆ์ “จำเป็น” ต้องปฏิบัติกรรมฐานหรือไม่? นั้นเป็นคำที่สามารถตอบได้สองนัย
ความหมายของคำว่า “จำเป็น” คือ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างอื่นได้
หรือขาดไม่ได้เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เช่น มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยอากาศหายใจ
สัตว์ต้องกินอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย หรือ เด็กชาย ก. จำเป็นต้องเรียนหนังสือ
เพราะถ้าไม่เรียนก็จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นต้น เมื่อนำมาวิเคราะห์ข้อความในประโยคที่ว่า
“จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติธรรม” นั่นก็หมายถึงว่า “ ฝ่ายที่เห็นว่า
“จำเป็น” จะต้องเข้าใจว่า “เป็นสิ่งที่พระสงฆ์ไม่ทำไม่ได้ หรือขาดไม่ได้”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติกรรมฐานในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง
ไม่ใช่ข้อบังคับ หรือพุทธบัญญัติ
และไม่มีข้อความใดในพระวินัยบังคับให้พระภิกษุต้องปฏิบัติกรรมฐาน แต่ทรงแสดงไว้ว่า “การฝึกฝนตนเองนั้นมีหลายวิธี
เริ่มตั้งแต่การรักษาศีล เจริญสมาธิ ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของมัน”
สิ่งที่จำเป็นอาจไม่ใช่การปฏิบัติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว
แต่พระสงฆ์จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง กฎมหาเถรสมาคม
ขนบธรรมเนียมประเพณี นี่จึงเรียกว่าจำเป็น หากไม่ปฏิบัติก็จะต้องอาบัติ ต้องโทษต่างๆ กันไป
จึงจำเป็นที่พระทุกรูปต้องปฏิบัติตาม ส่วนการเจริญกรรมฐาน เดินจงกรม
นั่งสมาธิ หรือวิธีการอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนั้น “จำเป็นต่อเมื่อไม่สามารถหาวิธีอื่นได้” แต่ถ้าพระสงฆ์จะปฏิบัติก็จะเป็นการดี และสามารถเลือกทำได้ซึ่งมีหลายวิธี
ดังที่ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานสูตร ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
พระสงฆ์ก็จะได้อานิสงค์ของการปฏิบัติกรรมฐานนั้นๆ
ไปจนตลอดจนบรรลุพระอรหันต์เป็นขั้นสูงสุดแต่ไม่ได้หมายความว่า “ การจะบรรลุพระอรหันต์นั้นมีเงื่อนไขเดียวว่าต้องปฏิบัติกรรมฐานจึงจะบรรลุพระอรหันต์ได้เท่านั้น" เพราะความเป็นจริงปรากฏว่า “พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระสาวกหลายคนด้วยวิธีการใช้ภาษา
หรือการเทศนาธรรมเท่านั้น ก็สามารถทำให้พระสงฆ์บรรลุพระอรหันต์ได้เช่นกัน ส่วนใครที่ปัญญาน้อยไม่อาจฟังธรรมของพระพุทธองค์เข้าใจได้
ก็ทรงให้ใช้ความเพียรมากต้องบำเพ็ญกุศลผลบุญ และปฏิบัติกรรมฐานควบคู่ไปด้วย
อย่างพระโมคคัลลานะและพระสาวกองค์อื่นๆ
จนในภายหลังได้บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่สองที่เห็นว่า
“ไม่จำเป็นเสมอไป”ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานหากท่านเข้าใจในหลักธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนำมาปฏิบัติได้ถูกต้อง
เช่น ยสะกุลบุตร เพียงแค่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เข้าใจจนบรรลุมรรคผล
ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพียงแค่ได้ฟัง อนัตตลักขณสูตร ก็บรรลุพระอรหันต์ เป็นต้น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น