….เนื่องในวันมาฆบูชา ปี 2567 ที่กำลังจะเวียนมาอีกวาระหนึ่งนี้ น่าจะไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการสนทนาเรื่องของพระอัครสาวก (รวมถึงพระอรหันต์สาวก) ว่า ท่านเป็นบุคคลเช่นไรในอุดมคติของพระพุทธศาสนา เป็นคนประเภทไปบนบานสานกล่าว จุดธูปเทียนไหว้ของพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นคนอย่างไร ทั้งนี้ไม่ใช่ว่า สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องผิด แต่เรากำลังพูดถึงบุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่หลุดพ้นแล้วจากเรื่องเหล่านี้ นั่นเอง
...เรื่องมีอยู่ว่า...แม้แต่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงต้องการให้ใครเชื่อหรือศรัทธาพระองค์เพียงเพราะทำตามๆ กันมา หรือให้เชื่อในสิ่งที่พระองค์สอนทันทีเพราะในประวัติศาสตร์มีคนที่เสียคนเพราะครูมามาก จึงทรงสอนเอาไว้ในกลามสูตร ๑๐ ประการ ข้อหนึ่งว่า
..." อย่าพึ่งปลงใจเชื่อว่าสิ่งนั้นจริงเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของเรา(มา สมโณ โน ครูติ) "
...เรื่องนี้ชี้ให้เห็นในแง่หนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงชี้บอกว่า แม้พระพุทธองค์ก็อนุญาตให้สงสัยได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และตรวจสอบได้ "เคยทดสอบถาม พระสาวก หลังจากที่ทรงแสดงธรรมเสร็จแล้ว ครังหนึ่งว่า"พวกเธอเชื่อตามที่เราสอนหรือไม่ " พระสาวกเหล่านั้นตอบว่า "เชื่อพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์ตรัสถามว่าเพราะอะไรถึงเชื่อ " พระสาวกตอบว่า "เพราะผู้ที่ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เมื่อพระองค์ได้ฟังพระสาวกตอบดังนั้นก็หันไปถามพระสารีบุตร ว่า "สารีบุตรเธอเชื่ออย่างที่เราสอนหรือไม่" พระสารีบุตรจึงทูลตอบว่า " ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า" พระพุทธองค์ทรงตรัสถามอีกว่า " ทำไมเธอถึงไม่เชื่อเรา " พระสารีบุตรตอบว่า " ถ้าข้าพระองค์เชื่อที่พระองค์สอนทันที ข้าพระองค์ก็ไม่ใช่พระสาวกของพระพุทธองค์นะสิ เพราะพระสาวกของพระพุทธองค์จะต้องมีใจหนักแน่น จะต้องคิดให้รอบคอบก่อน "
...หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงฟังคำตอบของพระสารีบุตรแล้วก็ทรงหันมาทางหมู่พระสาวกคนอื่นๆ แล้วตรัสว่า "ตถาคตเข้าใจที่พวกเธอตอบอย่างนั้นเพราะพวกเธอยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังเคารพครูอาจารย์อยู่ แต่สารีบุตรนี้เป็นคนมีปัญญามากและทรงแนะนำให้พระสาวกรูปอื่นๆ ไปศึกษาพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง ว่านี้คือบุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนาคือ ค่อยๆ คิดก่อนแล้วค่อยเชื่อ" แต่ก็มิใช่สงสัยไปเสียทุกเรื่องจนไม่ทำอะไรเลย...(ลูกศิษย์ที่ดีต้องสามารถคิดอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากครูได้ แต่ไม่ควรลบหลู่)
...การเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในพระพุทธศาสนาไม่มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนต้องมีเหตุมีปัจจัยอิงกันและกันเกิดขึ้น มีพระพุทธพจน์ตรัสยืนยันในเรื่องนี้เอาไว้ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไป" ผู้ที่จะได้เป็นถึงพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า คงไม่ใช่คนที่จะตามใคร ท่านเหล่านี้จะมีความคิดที่เป็นผู้นำ มากกว่าผู้ตาม มีวัฒนธรรมแบบนาย มากกว่าการเป็นทาส รักเสรีภาพมากกว่าการยอมจำนน
...คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของท่านคือ การเป็นผู้รักในการแสวงหาความรู้ เป็นผู้ช่างคิด ช่างสงสัย และค้นหาคำตอบ มีลักษณะเป็นนักปรัชญาสูง ไม่เชื่ออะไรหรือสิ่งใดง่ายๆ แต่ก็ไม่ลบล้างความเชื่อถือของสังคม ผู้คนที่มีมาแต่เดิม เวลาที่ท่านไม่เชื่อ ท่านก็จะหาความรู้ และหาคำตอบ เมื่อค้นพบความจริงแล้วท่านจึงค่อยเชื่อ ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ คือ พิสูจน์ ทดสอบ ทดลอง
...พระอัครสาวกบางองค์ถึงขั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อค้นหาความจริง ว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสนั้นทำได้จริงๆ หรือไม่ ก่อนที่ท่านจะนำความจริงที่ค้นพบนั้นไปบอกไปสอนผู้อื่นต่อไป ซึ่งหาได้ยากนักในสมัยปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มักจะนำธรรมะไปสอนทั้งๆ ที่ยังไม่เลยทดลองกับตนเองเลย ซึ่งมีผลให้ผู้ที่ปฏิบัติตาม ก็ปฏิบัติไปงั้นๆ เพราะไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้วมันจะได้ผลหรือเปล่า เพราะผู้สอนเองก็ยังไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า เราก็เลยมีอาจารย์ที่สอนตามความเชื่อ ความศรัทธา มากกว่าสอนด้วยความรู้ ความจริง กันเต็มบ้านเต็มเมืองอย่างทุกวันนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น