วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทความเรื่อง "โจรสามก๊ก"



โดย  พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล

     ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ,พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน,พระธรรมทูตสายปฏิบัติการ  นอกจากเรื่องการปาฐกถาธรรม แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการอุปัฏฐากครูอาจารย์, และสอนหนังสือสามเณรและนักเรียน รู้เรื่องบ้าง งงกันบ้านตามประสาเด็กๆ
     ที่เห็นในภาพเป็นหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ อีก ๔ ปีท่านก็จะ 80 แล้วเวลาเจอท่านที่ไหนผมรู้สึกสบายใจ และเข้าไปอุปัฏฐากท่านบ้างตามสมควร รวมถึงพระเถระรูปอื่นๆ ด้วยถ้ามีช่วงเวลา ผมเคารพทุกรูปนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นพระใหม่ หรือสามเณรน้อยผมก็รักและหวังดีกับทุกรูป
...ขอเพียงท่านเข้าใจสถานะที่แท้จริงของการเป็นพระสงฆ์และสามเณร ซึ่งยังคงเป็นเสขะบุคคลอยู่ ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่หนีไม่พ้นกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติ แล้วอยู่กับธรรมชาติร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน
...มีบุคคลบางประเภทเท่านั้นที่ผมไม่อาจเข้าไปหาได้ คือบุคคลประเภทที่พระพุทธเจ้าท่านบอกให้ห่างไว้ดีที่สุด คือ บรรดาคนที่ถือตัวตน ถือทิฏฐิมานะ ถือยศ ตำแหน่ง พรรษา ถือพวกมากลากไป ถือความเห็นผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นถูก แล้วหลอกลวงประชาชนว่า นั่นคือคำสอนของพระองค์
...ผมคิดว่าคนเหล่านี้เป็น "โจร" ที่แฝงตัวอยู่ในพระศาสนา อาจมีทัังพระ และฆราวาส อาจมีข้าราชการ และพลเรือน รวมอยู่ด้วย พวกนี้จะทำการปล้นพระศาสนา ด้วยคำบิดเบือนต่างๆ ทั้งคำสอนและการปฏิบัติ บางครั้งก็มาในรูปความช่วยเหลือ อย่างกรณีเงินทอน บูรณะปฏิสังขรณ์วัด ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ผมไม่อาจทราบได้ แต่ที่รู้คือ พวกเขาเป็นโจรสามก๊ก
....โจรก๊กที่ ๑  มีหัวหน้าชื่อ โลภะ  พวกนี้มีความโลภอยากได้เป็นหัวหน้า ปล้นเงินของพระศาสนา เงินวัด โกงได้แม้กระทั่งเงินที่จะมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด หากินบนความลำบากของวัด
....โจรก๊กที่ ๒ มีหัวหน้าชื่อ โทสะ  พวกนี้มีความโกรธ ความพยาบาทเป็นหัวหน้า ปล้นความสงบสุขไปจากพระศาสนา มันจะใส่ความ หาเรื่อง เบียดเบียนพระศาสนาทุกวิถีทาง มีช่องทางไหนจะก่อความเดือดร้อนให้พระศาสนาได้จะทำทันทีโดยไม่ลังเล บางครั้งถึงกับยกกองทหารมาปิดล้อม มาบังคับให้พระสึก ฯลฯ พวกนี้มีกำลังมาก
....โจรก๊กที่ ๓ มีหัวหน้าชื่อ โมหะ พวกนี้มีความหลง ความงมงายเป็นหัวหน้า  ปล้นความจริง ไปจากพุทธศาสนิกชน ชักชวนให้หลงผิด ชักนำด้วยสื่อ ด้วยท่าทีเข้มขลัง แล้วบอกว่านั้นคือคำสอนของพระศาสนา ทั้งที่มันไม่ใช่สักเล็กน้อย ผู้คนที่หลงคารมโจรก๊กนี้ ก็จะเข้าใจว่า โจรก๊กนี้เป็นผู้วิเศษ เป็นอรหันต์ เป็นเทวดามาจุติ บางครั้งถูกชักชวนให้ไปทำพิธีไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถา ห่างไกลจากพระสัทธรรมคำสอนที่แท้จริง โจรก๊กนี้ทำลายศรัทธาในพระพุทธศาสนา

...มีเพียงคนสามกลุ่มนี้เท่านั้นที่อาตมาภาพไม่สามารถเข้าไกล้พวกเขาได้ แต่นอกนั้นเข้าได้ทุกคนครับ ไม่ว่าท่านจะยากดี มีจน พรรษามาก น้อย อาตมาก็ยินอย่างยิ่งที่จะสนทนาธรรมกับท่าน โดยเฉพาะผู้ทรงศีล สมาธิ และปัญญา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดอาตมาก็จะเข้าไปหา ขอให้มีจริงๆ เถอะครับ...

วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทแผ่เมตตาหลวง

บทแผ่เมตตาหลวง
อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ เรียบเรียง

                  ขอแผ่เมตตาหลวง      สัตว์ทั้งปวงมีนานา      สัตว์ปีกบินบนฟ้า         สัตว์ปูปลาแม่น้ำเย็น
                  สัพเพ น สัตว์ตา          อเวราอย่าจองเวร      สัตว์ตายหรือสัตว์เป็น   จงอยู่เย็นสถาพร
                  สัพเพเทวดา              พวกผู้ขาขอวิงวอน      รุกขา ป่าดงดอน       ทั่วสิงขรสุขทุกวัน
                  สัพเพ ปุคคลา           มนุษย์สามาร่วมกัน.     ผิดใจโทษมหันต์ อภัยกันมีเมตตา
                  เจ้าแม่ธรณี               ทุกพื้นที่พสุธา              สัพเพปุริสา                อิตถิยามีทั่วไป
                  เจ้ากรรมหรือนายเวร ขอให้เป็นผู้มีชัย          สัตว์น้อยหรือสัตว์ใหญ่ อย่ามีภัยมาราวิน
                  สัพเพหรือปีศาจ ผีพวกขาดอาหารกิน.  พวกนี้น้ำตาริน             ไม่ได้กินทรมาน
                  คือเปรตพวกอดข้าว    ญาติพระเจ้าพิมพิสาร  พ่อแม่ไม่ได้ทาน           ตามสถานในวัดวา
                 โชคดีพระมาลัย         ให้พ่อแม่ทำบุญไป         จึงได้กินอิ่มสมใจ           ทำบุญต้องเร็วไว
                  ถ้าช้าไปเสียใจเอย    ถ้าตายไปเสียใจเอย...

บทวิจารณ์หนังสือ "พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง"

บทวิจารณ์หนังสือ
เรื่อง พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง
เขียนโดย สุมาลี  มหณรงค์ชัย

ผู้วิจารณ์ : พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล (โลกะนัง)[1]

๑. บทนำ
        หนังสือเรื่อง “พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” เขียนโดย รศ.ดร.สุมาลี  มหณรงค์ชัย[2] เล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับทุนสนับสนุนการเขียนตำราจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี ๒๕๔๗ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่โรงพิมพ์สำนักพิมพ์ศยาม เพื่อนำเสนอมุมมองว่า ความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันมีอยู่ของสรรพสิ่ง เป็นหลักคำสอนที่พระพุทธศาสนามหายานทุกนิกายต่างก็นำมาตีความให้ความหมายและถกเถียงกันไปตามมติของคณาจารย์ในแต่ละสำนักอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากคำสอนเรื่องดังกล่าว ด้วยกันแทบทั้งสิ้น  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสำนักพุทธในยุคหลังโดยมากจะพัฒนาหลักคำสอนในเชิงปรัชญา ซึ่งทำให้มีการถกเถียงกันถึงความหมายของคำว่า ความว่าง ทางสายกลาง ว่าหมายถึงอะไร สำนักที่มีชื่อเสียงที่สุดที่พยายามแก้ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้คือ สำนักมาธยมิกะ ผู้วางรากฐานคำสอนคือ ท่านนาคารชุนะ มาธยมิกะแปลว่าผู้นับถือคำสอนเรื่องทางสายกลาง มาธยมิกะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศูนยตวาท หมายถึงคำสอนที่ประกาศความว่างของสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องสำคัญที่แสดงให้เห็นทางสายกลางตามแนวทางที่สำนักนี้สอน แต่ก็เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาในการอธิบายคำสอนของสำนักนี้ด้วย
          คำสอนมาธยมิกะ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิด มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างเหตุผลที่ดีที่สุด สำนักพุทธใหญ่ๆ ที่ได้รับการยอมรับในเวลานั้นส่วนใหญ่จะมีความอธิบายที่ต่างกันในเรื่องนี้ และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมสงฆ์ สภาพสังคมชาวพุทธในอินเดียเวลานั้นมีความวุ่นวายสาเหตุเพราะพระภิกษุที่เป็นนักคิดมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน และตีความพระธรรมวินัยไปตามจริตของแต่ละคน ทำให้ความเชื่อเป็นไปคนละทิศละทางหาทางปรองดองกันไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ชาวพุทธผู้ที่ต้องการแสวงหาที่สุดแห่งความเชื่อหันหลังให้กับศรัทธาที่เคยมีต่อพระธรรมและพระสงฆ์ ทวนเข็มกลับไปสู่การศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้ากันใหม่

๒. สรุปสาระสำคัญของเนื้อหา
         หนังสือเรื่อง นาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง บทสรุปของหลักการแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบางอย่างแท้จริง สามารถสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาแบ่งเป็นสามภาค ดังนี้
สาระสำคัญภาคที่หนึ่ง สุมาลี  มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นสภาพแวดล้อมและหลักคำสอนในยุคก่อนกำเนิดสำนักมาธยมิกะ โดยเริ่มจาก ความเป็นมาของสำนักมาธยมิกะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวพุทธที่ยอมรับคำสอนว่าด้วยเรื่องของความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันและกันมีอยู่ของสรรพสิ่ง ความเป็นมาของสำนักนี้สามารถสืบย้อนขึ้นไปนั้นแต่สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช(ประมาณ ๒๕๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน)เหตุที่ดลใจให้ปฐมาจารย์ของสำนักคือท่านนาคารชุนะ (๑๕๐-๒๕๐ ปีหลังคริสต์กาล) เขียนงานอธิบายคำสอนว่าด้วยหลักการทางสายกลาง เกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่แนวคิดของสำนักฮินดูโบราณเช่นสาขยะ เรื่อยไปจนถึงอิทธิพลของพระสูตรชิ้นสำคัญ ที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าค้นพบโดยท่านนาคารชุนะเอง พระสูตรนั้นก็คือ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ปัจจัยภายในได้แก่ ความขัดแย้งในการตีความหลักธรรมของพระพุทธเจ้า การให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าแทนที่พระธรรมและคำสอนที่เบี่ยงเบนออกจากพระพุทธประสงค์ เหล่านี้นำไปสู่การแสวงหาทางสายกลางในพระพุทธศาสนา เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยภายในคือแรงผลักดันอันแท้จริงที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสำนักมาธยมิกะปัจจัยภายนอกเป็นเพียงแรงเสริมเท่านั้น[3]
ความสนใจในเรื่องราวของพระพุทธเจ้าทำให้ชาวพุทธบางส่วนหันกลับมาขบคิดในสิ่งที่ดูเหมือนตอบไม่ได้ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะการตีความอาการนิ่งของพระพุทธองค์ นักปราชญ์หลายท่านเชื่อว่า มาธยมิกะ หรือมัธยมกะเกิดจากการอธิบายท่าทีของพระพุทธองค์ที่ไม่ทรงตอบคำถามบางอย่าง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีความเห็นมากมายเผยแพร่อยู่ในสังคมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พรหมชาลสูตร กล่าวถึงทิฐิ(คือความเห็น)ทั้งหลายที่นักคิดสอนกันมีจำนวนมากถึง ๖๒ แนวคิด[4] ในบรรดาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัญหาบางข้อที่มีผู้ถามพระพุทธเจ้าแต่ไม่ได้รับคำตอบใด พระพุทธเจ้าจะทรงนิ่งไม่ทรงตอบคำถามเหล่านั้น เรียกคำถามเหล่านั้นว่า ปัญหาอัพยากฤต[5]
อาการนิ่งของพระพุทธเจ้าก่อให้เกิดความเข้าใจผิดมากมายในสายตาของคนนอก พระพุทธองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่รู้จริงบ้าง หรือไม่ก็รู้แต่ไม่มีความสามารถในการแสดงเหตุผลออกมาให้ประจักษ์ แต่ในสายตาของชาวพุทธส่วนใหญ่มองว่าพระองค์ทรงทราบคำตอบดีแต่ไม่ประสงค์จะชี้แจง เหตุผลของการไม่ชี้แจงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธฝ่ายเดิมไม่สนใจ แต่สงฆ์หมู่ใหญ่บางกลุ่มซึ่งต้องการศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังเห็นว่าประเด็นนี้มองข้ามไม่ได้ พวกเขาเชื่อในความเป็นผู้รู้ทุกอย่างของพระองค์ เชื่อว่าพระพุทธองค์รู้ทุกอย่าง ในขณะที่คนทั่วไปรู้ได้เพียงบางอย่าง[6]
ความขัดแย้งในธรรมก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดคำสอนแบบมัธยมกะ เนื่องจากพระพุทธพจน์ในหลายแห่งระบุว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” พระพุทธพจน์นี้ก่อให้เกิดความใคร่รู้ว่าจะต้องเห็นธรรมแบบใดจึงหยั่งถึงพระพุทธเจ้าได้ ยิ่งกว่านั้น พระพุทธโอวาทในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพระบุไว้ชัดถึงกาลภายหน้า ภิกษุจะมีพระธรรมและพระวินัยเป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์[7] ทำให้ชาวพุทธในยุคต้นมหายานพยายามขบคิดว่า “ธรรม” ที่พระพุทธเข้าทรงให้ความสำคัญเทียบเท่าพระองค์นั้นหมายถึงอะไร ทั้งหมดนี้คือตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดคำสอนแบบมัธยมกะ ปัจจัยภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของสำนักนี้คงไม่มีอะไรโดดเด่นกว่าคำสอนปรัชญาปารมิตากับสำนักฮินดูที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น ซึ่งก็คือสำนักสางขยะ
สำนักสางขยะ[8] ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหกสำนักปรัชญาฮินดู ไม่นับถือพระเจ้า อีกทั้งมีคำสอนเชิงปรัชญาชั้นสูงคล้ายคลึงกับที่นักปราชญ์พุทธสอนอยู่หลายประการ ทำให้เราไม่อาจมองข้ามความสำคัญ ปัญหาที่สำนักสางขยะประสบก็เป็นปัญหาเดียวกับที่ท่านนาคารชุนะชี้ให้เห็นในฝั่งของพุทธศาสนา เพียงแต่หน้าที่ในการวิพากษ์สำนักนอกพุทธส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ท่านอารยเทวะ ซึ่งเป็นศิษย์เอกและผู้วางหลักการสายกลางร่วมกับพระนาคารชุนะ กล่าวโดยสรุป มูลเหตุที่ก่อให้เกิดคำสอนมัธยมกะได้แก่ สำนักพุทธที่มีคำสอนสนับสนุนความจริงที่สุด แบ่งย่อยออกได้อีกสองกลุ่มคือ
กลุ่มแรกเน้นความจริงที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้ของจิตเรียกว่า สำนักฝ่ายอภิธรรมหรือพวกสัจนิยม สำคัญๆ คือ สรวาสติวาทะ กับ เสาตรานติกะ
กลุ่มที่สองเน้นความจริงที่อยู่พ้นการรับรู้ของจิต เรียกว่าพวกโลโกตตรวาทะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์หมู่ใหญ่หรือ มหาสังฆิกะ
ทั้งสามกลุ่มล้วนเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของการทำให้คำสอนพุทธเป็นสัมบูรณนิยม(Absolutism)[9]
ด้วยเหตุว่ามัธยมกะเป็นคำสอนที่มุ่งแก้ไขความเห็นผิดอันเป็นทางสุดโต่งทั้งหมดนักปราชญ์หลายท่านจึงยกย่องให้คำสอนของสำนักนี้(โดยเฉพาะของท่านนาคารชุนะ) เป็นหัวใจของพุทธปรัชญา ท่านมีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อพุทธศาสนา เพราะช่วยล้างความอ่อนแอ (แก้ความเข้าใจผิด) ให้กับรากแก้วทางปัญญาสองกระแสหลักของอินเดีย คำสอนของท่านคือทางสายกลางที่พ้นไปจากทางสุดโต่งของทั้งอัตตาและอนัตตา ศูนยตาคือการหลุดพ้นจากกรอบของขั้วสุดโต่งทั้งสองทาง[10]
สาระสำคัญภาคที่สอง สุมาลี  มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นหลักคำสอนสำคัญๆ ของพระนาคารชุนะไว้พิจารณา ๕ ประเด็นคือ (๑) วิภาษวิธี (๒) การอิงอาศัยกันมีอยู่กับความว่าง (๓) ความจริงสองระดับกับความว่าง (๔) ความจริงสองระดับกับทางสายกลาง และ (๕) อิทธิพลคำสอนของพระนาคารชุนะ
ประเด็นที่ ๑ วิภาษวิธี (Dialectic) คำว่า วิภาษวิธี หมายถึงการดำเนินการอภิปรายหรือโต้วาทีเป็นกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแจ้งแจ้งถึงข้อจำกัดของเหตุผล[11] โดยทั่วไปการเคลื่อนไหวทางความคิดในลักษณะนี้มักจะดำเนินไปในสองรูปแบบ กล่าวคือ (๑) เพื่อปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดอื่นเป็นหลัก วิภาษวิธีถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่ออภิปรายหรือโต้แย้งความคิดผู้อื่น วิธีการเป็นไปในเชิงปฏิเสธหรือหักล้าง (negative/destructive dialectic) (๒) เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดของผู้นำเสนอ โดยพยายามหาบทสรุปหรือเป้าหมายที่เป็นสัจธรรม ในแง่นี้วิภาษวิธีเป็นเครื่องมือที่ใช้ปลูกปัญญาทำให้หยั่งเห็นความจริงในท้ายที่สุด วิธีการจึงเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์กว่าแบบแรก(constructive dialectic)
วิภาษวิธี สามารถถูกมองทั้งในขอบเขตของทฤษฎีความรู้และอภิปรัชญา ในแง่ของทฤษฎีความรู้ วิภาษวิธีเป็นวิธีการที่ใช้ในการถกเถียง โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในการใช้วิธีการเช่นนี้ในทางตะวันตกคือโสกราตีส (Socrates) ขั้นตอนประกอบไปด้วยการทำตัวเป็นผู้ขอความรู้ พยายามตะล่อมถามให้คู่สนทนานิยามหรือแสดงข้อคิดเห็นของเขาออกมาให้ชัดเจน จากนั้นก็ทำให้เห็นว่า จะต้องมีข้อสรุปบางอย่างเกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นนั้น ต่อมาก็ชี้ให้เห็นว่าข้อสรุปที่เกิดขึ้นนั้นขัดแย้งกับข้อเท็จจริง สามัญสำนึก หรือข้อความที่ยอมรับกันอยู่ก่อน เป้าหมายก็เพื่อทำให้ข้อคิดเห็นของคู่สนทนาไร้น้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือ
วิภาษวิธีเป็นทัศนะที่เชื่อว่า ความจริงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดพัฒนาการที่วางพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้งภายใน เริ่มต้นจากความเชื่อว่าทุกสิ่งมีความขัดแย้งภายในเป็นพื้นฐาน ความขัดแย้งนี้ดำเนินไปในสามภาวะคือ ภาวะพื้นฐาน (thesis)  ภาวะแย้ง (antithesis) จนก่อให้เกิดสภาพใหม่ที่เรียกว่าภาวะสังเคราะห์ (synthesis) พัฒนาการของสิ่งทั้งหลายเกิดจากความขัดแย้งแบบนี้ ถ้าไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีสิ่ง ภาวะ หรือคุณภาพใหม่ใดๆ เกิดขึ้น
ยิ่งกว่านั้นวิภาษวิธียังเกิดจากการหยั่งเห็นว่าระบบความคิดทั้งหลายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นความคิดเป็นปรากฏการณ์หรือมายาภาพ ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ได้จากการประจักษ์ตรง ทฤษฎีทั้งหลายในโลกเป็นความจริงที่สร้างขึ้นมาบนฐานของความคิด แม้จะดูน่าเชื่อถือหรือหนักแน่นเพียงไรมันก็ยังเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลสืบสาวหาข้อสรุป (ที่เรียกว่าการอนุมาน) ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ไปยึดถือเป็นจริงเป็นจัง[12] ในการที่จะทำให้บุคคลตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของเหตุผล เบื้องต้นจะนำความเห็นหรือทฤษฎีที่เราต้องการตรวจสอบมาจัดกลุ่มก่อนความคิดหนึ่งๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เมื่อนำมาตีแผ่จะตกลงไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในสี่รูปแบบดังนี้คือ ยืนยัน  ปฏิเสธ ทั้งยืนยันและปฏิเสธ และไม่ใช่ทั้งยืนยันหรือปฏิเสธ ท่านนาคารชุนะจัดระบบการตรวจสอบเหตุผลออกมาเป็นชุด เรียกว่า จตุษโกฏิ ตำราบางเล่มเขียนว่า จตุษโกณะ หรือจตุกโกฏิ ก็มี แปลง่ายๆว่าสี่มุม  (หรือสี่ขั้วความคิดหนึ่งๆ ของเราอาจตกอยู่ในหลายมุมพร้อมๆ กันก็ได้ เช่นเวลาที่เรายืนยันความคิดบางอย่างเราก็อาจจะปฏิเสธความคิดอีกอย่างไปโดยปริยาย) ท่านก็จะแสดงให้เห็นต่อไปว่า ไม่ว่าจะใช้เหตุผลไปในทางยืนยันหรือปฏิเสธ ความคิดของบุคคลนั้นก็จะนำไปสู่ภาวะที่ขัดแย้งตัวเอง ต้องประสบกับความไร้สาระ (absurdity) ของเหตุผลในท้ายที่สุด
ในเวลานั้น เรียกวิธีการเช่นนี้ว่า ปรสังคะ (prasanga – reduction ad absurdum) การชี้ให้เห็นข้อบกพร่องทางเหตุผลของความคิด ไม่จำเป็นที่ผู้ใช้วิภาษวิธีจะต้องนำเสนอความคิดแก้ต่างอะไรออกมา เพียงแค่ชี้ให้คู่กรณีเห็นข้อบกพร่องในทิฐิของเขา ให้เหตุผลของพวกเขาเพื่อตรวจสอบและลดทอนความน่าเชื่อถือของพวกเขาเอง ผู้ใช้วิภาษวิธีไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง และที่สำคัญวิภาษวิธี เป็นเครื่องมือตรวจสอบเหตุผล ไม่ได้เป็นทิฐิหรือทัศนะที่จะต้องถูกปกป้องแต่อย่างใด หน้าที่ของเครื่องมือนี้คือทำลายความน่าเชื่อถือของความเห็นทั้งหลาย ทำให้บุคคลที่ติดอยู่ในความเชื่อต่างๆ ต้องจำนนและยอมปลดปล่อยตัวเองจากความเชื่อนั้น[13]
ประเด็นที่ ๒ การอิงอาศัยกันมีอยู่กับความว่าง  ประเด็นนี้สุมาลี มหณรงค์ชัยได้ยกข้อความในคัมภีร์ มูลมัธยมกการิกา ตอนหนึ่งที่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้ง ดังนี้ “เราประกาศว่า อะไรก็ตามที่เป็นการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นมาอยู่ (ปรตีตยสมุตปาทะ) นั่นคือความว่าง นั่นเกิดจากการบัญญัติ และนั่นคือทางสายกลาง” ข้อความนี้นักคิดส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่า เป็นบทสรุปหลักการสำคัญทางพุทธศาสนาที่ท่านนาคารชุนะชี้ไว้ งานเขียนชิ้นสำคัญของท่านนาคารชุนะคือ มูลมัธยมกการิกา เต็มไปด้วยข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงความจริงแบบที่สุด (นัยยะคือความจริงภววิทยา) ในคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่ผ่านความคิดปรุงแต่ง เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องกับแก่นสารบางอย่างที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ยิ่งยืนยันมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าบุคคลนั้นกำลังสรุปความจริงจากความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ของความคิดก็มาจากจินตภาพที่จิตสร้างขึ้นจากความเข้าใจและประสบการณ์แบบชาวโลก[14]
สุมาลี มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นว่าการจะอธิบายหลักการของพระนาคารชุนะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องระมัดระวังเรื่องแก่นสารภาวะที่ท่านปฏิเสธเป็นอย่างมาก ทัศนะของบุคคลและกลุ่มชนในระดับโลกิยะทั้งหมดล้วนสนับสนุนแก่นสาร (สวภาวะ) บางอย่างที่สามารถจัดลงในจตุษโกฏิข้อใดข้อหนึ่งได้ทั้งสิ้น ทำให้ไม่มีทัศนะใดเป็นที่ยอมรับหรือเรียกได้ว่าถูกต้อง ปัญหาคือถ้าไม่มีทัศนะใดเรียกได้ว่าถูกต้อง ทุกทัศนะต่างก็เป็นมิจฉาทิฐิในแง่ที่ไม่เอื้อต่อความพ้นทุกข์ แล้วสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าเป็นสัมมาทิฐินั้นควรจะถูกเข้าใจว่าอย่างไร เราจะอธิบายสัมมาทิฐิโดยไม่ทำให้มันกลายเป็นทัศนะที่สนับสนุนสวภาวะได้หรือไม่ เพื่อที่จะไม่ทำให้คำสอนของท่านนาคารชุนะประสบปัญหาขัดแย้งตัวเอง สัมมาทิฐิจะต้องไม่ใช่ทัศนะในแบบที่ชาวโลกเข้าใจ อาการนิ่งเงียบของพระองค์ในแง่หนึ่งตีความได้ว่า เป็นการแสดงจุดยืนว่าความเข้าใจของพระองค์ไม่ใช่อย่างเดียวกับนักคิดทั้งหลาย เพราะถ้าใช่ พระพุทธเจ้าคงจะตอบปัญหาของพวกเขาเพื่อสร้างความกระจ่างร่วมกันไปนานแล้ว

ประเด็นที่ ๓ ความจริงสองระดับกับความว่าง สุมาลี มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นว่า สำหรับชาวพุทธไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำสอนในเรื่องความจริงสองระดับคือสมมติกับปรมัตถ์ บางคนก็นิยมเรียกความจริงโลกิยะกับความจริงโลกุตระ ความจริงสมมติเป็นเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจแบบชาวบ้าน มีการบัญญัติชื่อเรียกสิ่งที่ประสาทสัมผัสรับรู้เช่น โต๊ะ สุนัข หรือชายหญิง  ส่วนความจริงปรมัตถ์เป็นความจริงเหนือโลก ข้าพ้นบัญญัติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ ความเข้าใจทำนองนี้นำไปสู่ความเชื่อว่าความจริงสองระดับดำรงอยู่แยกขาดจากกัน ในการก้าวสู่ความพ้นทุกข์บุคคลจะต้องแยกโลกิยวิถีออกจากโลกุตรวิถีอย่างเด็ดขาด เนื่องจากโลกเป็นที่รวมแห่งความทุกข์ ความจริงเกี่ยวกับโลกย่อมดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ว่าความสามารถในการก้าวพ้นความจริงสมมติไปสู่ระดับปรมัตถ์ต้องอาศัยปัญญา หากต้องการเข้าสู่ความหลุดพ้นซึ่งเป็นความจริงปรมัตถ์ จำเป็นที่คนจะต้องละทิ้งหรือปล่อยวางความจริงสมมุติทุกอย่าง
สุมาลี มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นว่า หากมองเพียงผิวเผิน ความเชื่อข้างต้นไม่ถือว่าผิดหลักพุทธศาสนา ภาพที่ได้จากความเข้าใจ ก็บอกชัดเจนว่าความจริงสองระดับแตกต่างกันแต่ความแตกต่างที่ดูเหมือนตรงข้ามกันนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ แม้ชาวพุทธทั่วไปจะเชื่อว่าความจริงสมมติไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงๆ เป็นเพียงนามหรือจินตนาการใช้อธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน กระนั้นความเข้าใจที่เกิดจากบัญญัติก็ย่อมเป็นความจริงในระดับสมมติเท่านั้น ถ้าสมมติแปลว่าไม่จริงต้องถูกปล่อยทิ้ง ความรู้ทุกอย่างของคนไม่เว้นแม้แต่เรื่องของความจริงปรมัตถ์ก็ย่อมไม่จริงต้องถูกปล่อยวางหมด[15]

ประเด็นที่ ๔ ความจริงสองระดับกับทางสายกลาง สุมาลี มหณรงค์ชัยได้สรุปปัญหาที่เกิดกับความเข้าใจปรมัตถธรรมในพุทธศาสนาเกิดจากการยอมรับแก่นสาร (ที่เรียกว่า สวภาวะ) ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การยอมรับแก่นสารไม่ว่าจะเป็นไปในเชิงยืนยันหรือปฏิเสธล้วนนำไปสู่ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ (ที่เรียกว่า ภาวะ/อภาวะ) ความโน้มเอียงไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่งในสี่มุม (จตุษโกฏิ) เป็นธรรมชาติของปุถุชน ผู้ยึดถือทัศนะตามขั้วใด ขั้วนั้นก็จะกลายเป็นหลักการและเป้าหมายสำหรับพวกเขา ซึ่งวิธีการหรือหนทางสู่เป้าหมายจะได้รับการพัฒนาต่อจากความเชื่อตรงนั้น กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับคำสอนของลัทธินอกพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ภายในกรอบของพุทธศาสนาเราเอง ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การยึดถือทัศนะก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ข้อดีของคำสอนที่อิงอยู่กับความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่คือเข้าใจหรือคิดตามได้ง่าย แต่ข้อเสียคือไม่เอื้อต่อการพ้นทุกข์ เพราะความพ้นทุกข์เป็นเรื่องของการปลดปล่อยพันธนาการทุกอย่าง และพันธนาการที่ซับซ้อนและน่ากลัวที่สุดอันหนึ่ง ก็คือความคิดที่เกี่ยวข้องกับความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของอะไรบางอย่างนี่เอง[16]
สุมาลี มหณรงค์ชัยชี้ให้เราเห็นว่า การจะอธิบายทางสายกลางไม่ใช่เรื่องง่าย อันที่จริงเป็นเรื่องยากมากๆ และต้องระมัดระวังการสื่อภาษาเป็นอย่างยิ่ง แม้ความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อยก็อาจนำไปสู่การสนับสนุนแก่นสารภาวะได้แล้ว ความมีกับความไม่มี ในพระสูตรเป็นประเด็นสำคัญที่นักคิดส่วนใหญ่พยายามทำความเข้าใจ ในบางแห่งทั้งคู่จะถูกอธิบายว่าหมายถึงทัศนะที่ยอมรับความที่ยงแท้ถาวร(สัสตทิฐิ)กับทัศนะว่าทุกอย่างสิ้นสูญ(อุจเฉททิฐิ) สัสตทิฐิคือความเห็นว่าโลกและอัตตาเที่ยงอุจเฉททิฐิคือความเห็นว่าตายแล้วขาดสูญไม่ยอมรับการเวียนว่ายตายเกิดจึงปฏิเสธหลักกรรม  พระอรรถกถาจารย์อธิบายเสริมว่าอุจเฉททิฐิเป็นแนวคิดเชิงวัตถุนิยมทำให้คนหมกมุ่นในกามสุข ทั้งสองความเห็นเป็นส่วนหนึ่งของทัศนะมากมายที่เผยแพร่อยู่ในสมัยพุทธกาล[17]

ประเด็นที่ ๕ อิทธิพลคำสอนของพระนาคารชุนะ 
อดีตที่ผ่านมา นักปราชญ์และนักคิดจำนวนมากให้ความสนใจวิเคราะห์งานของท่านนาคารชุนะ โดยเฉพาะคัมภีร์มูลมัธยมกการิกาคำสอนของท่านมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อสำนักพุทธ (เน้นสายมหายาน) ส่วนใหญ่นับจากยุคของท่าน อรรถกถาธิบายคัมภีร์ของท่านก่อให้เกิดคณาจารย์มาธยมิกะผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือ มีชื่อเสียงแพร่หลาย และมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก อาทิ ภาววิเวกะ จันทรกีรติ ศานติเทวะ เรื่อยไปถึงศานตรักษิตะ และกมลศีละ ในประเทศจีนคำสอนของท่านก็ส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของสำนักสัทธรรมปุณฑรีกะ อวตังสกะ และธยานะ คณาจารย์คนสำคัญๆ ของสำนักดังกล่าวต่างคุ้นเคยกับหลักการความว่างและทางสายกลางของท่านนาคารชุนะ คำสอนของท่านยากแต่ก็ท้าทายนักคิดทุกยุคสมัย
ผู้เขียนได้แสดงความรู้สึกที่มีต่อท่านนาคารชุนะไว้ว่า บางครั้งผู้เขียนก็ฉงนใจไม่น้อยที่ข้อเขียนยากๆ ในอดีตจำนวนหนึ่งสามารถท้าทายกลุ่มคนที่มีศักยภาพให้ทุ่มเทชีวิตค้นหาความหมายของมัน ผลงานของคนๆ หนึ่งที่มีประวัติคลุมเครือแต่กลับจุดประกายความคิดและส่งต่อภูมิปัญญาให้กับคนรุ่นลูกหลานไม่รู้จักจบสิ้น ที่สำคัญคือบุคคลที่รับมอบคบไฟแห่งภูมิปัญญานั้น โดยมากจะเป็นปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญในการใช้เหตุผลเป็นอย่างยิ่งด้วย หากแยกเรื่องความรู้สึกออกไปเหตุผลที่ทำให้ท่านนาคารชุนะได้รับความสำคัญอยู่ในอันดับต้นๆ เป็นเพราะคำสอนของท่านเป็นความจริงที่ไม่อาจโต้แย้ง ที่ผ่านมามีคนมองท่านต่างๆ นาน บ้างก็ว่าท่านเป็นพวกที่ปฏิเสธเหตุผลบ้าง เป็นนักบวชลึกลับที่มีคำสอนสูงส่งเกินเข้าใจบ้าง หาไม่ก็เป็นพวกที่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแต่ตัวเองกลับไม่กล้าพอที่จะนำเสนอความคิดอะไรออกมา ข้อโต้แย้งเหล่านี้ได้รับการอธิบายเรื่อยมา ยิ่งพยายามปกป้องงานของท่านมากเท่าใดก็ยิ่งมีคนวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกันยิ่งวิพากษ์งานของท่านมากเท่าใดก็ยิ่งมีคนปกป้องมากขึ้นเท่านั้น[18]
สาระสำคัญภาคที่ ๓ เป็นการนำเสนอประวัติคณาจารย์คนสำคัญของสำนักมาธยมิกะ ในหนังสือพระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลางเล่มนี้ สุมาลี มหณรงค์ชัย ยังได้นำเสนอพัฒนาการของสำนักมาธมิกะออกเป็นสี่ช่วง ได้แก่
๑.      ยุคของท่านนาคารชุนะและศิษย์สายตรงคือท่านอารยเทวะ
๒.      ยุคของการแตกความคิดและเกิดสำนักย่อยที่นำโดยท่านภาววิเวกะ
๓.      ยุคของท่านจันทรกีรติ
๔.      ยุคของการผสานคำสอนมาธยมิกะเข้ากับโยคาจาระโดยท่านศานตรักษิตะและศิษย์
หากใช้บุคคลเป็นเกณฑ์ พัฒนาการของสำนักนี้จะดำเนินไปตามนี้ สำนัก(หรือสาขา) สองแห่งของมาธยมิกะคือสวาตันตริกะกับปราสังคิกะเกิดขึ้นในยุคที่สอง ถ้านับเป็นเวลาก็ราวสี่ร้อยปีภายหลังการจากไปของปฐมาจารย์ (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่หก) ความแตกต่างทางความคิดเกิดจากการตีความคำสอนของท่านนาคารชุนะไม่เหมือนกัน แต่โดยหลักการแล้วทั้งสองฝ่ายต่างเห็นด้วยในจุดยืนเดียวกันคือ ทุกสิ่งอิงอาศัยกันและกันมีอยู่จึงว่าง ความว่างบ่งถึงการไร้แก่นสาร(หรือที่เรียกว่าไม่มีสวภาวะ) สวภาวะเป็นเรื่องของความคิดที่หาไม่พบในประสบการณ์เมื่อสิ่งทั้งหลายว่าง ความจริงสองระดับย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับปรมัตถ์หยั่งเห็นสัจธรรมนี้ย่อมได้ชื่อว่ามีสัมมาทิฐิ หยั่งรู้ทางสายกลางตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในยุคที่ท่านนาคารชุนะประกาศคำสอนว่าด้วยทางสายกลางจุดหมายของท่านคือต้องการวิพากษ์หรือชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของความเห็น(ทิฐิ) ที่มีอยู่ในเวลานั้น ต่อมาเมื่อนักปราชญ์ชาวพุทธได้อ่านงานของท่านแล้วยอมรับในหลักการ ความเป็นสำนักที่เรียกว่า “มาธยมิกะ” จึงตามมา ช่วงเวลาของแต่ละยุคห่างกันมากกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนเพราะฉะนั้น ผู้เขียนยังได้เตือนว่า ผู้อ่านต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ลักษณะเด่นอันหนึ่งของคำสอนพุทธ (ซึ่งอาจจะรวมปรัชญาตะวันออกสายอื่นด้วย) อยู่ตรงที่ศาสดาและครูบาอาจารย์ทั้งหลายในยุคเริ่มแรก ท่านเหล่านั้นสั่งสอนโดยไม่ได้ประกาศความเป็นศาสนา (หรือสำนัก) ไม่ได้วางกรอบใดๆ ล่วงหน้าเพื่อชี้จุดยืนของตนเป็นเอกเทศจากผู้อื่น จุดร่วมต่างๆ เช่นศาสนา นิกาย ลัทธิ สำนัก ตลอดจนกลุ่มความเชื่อที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นเรื่องของศรัทธาในภายหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้น ครูบาอาจารย์ที่อ้างถึงตรงนี้หมายถึงนักปราชญ์ผู้หยั่งรู้ในสัจธรรม มิใช่ผู้หวังลาภสักการะ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้พิจารณาดูความน่าเชื่อถือของชาวพุทธที่ภายนอกได้รับยกย่องว่าเป็นครูบาอาจารย์ด้วย ในกรณีของสำนักมาธยมิกะ ผู้รู้ส่วนใหญ่เห็นว่าท่านนาคารชุนะประกาศคำสอนว่าด้วยทางสายกลางเรียกว่า “มัธยมกะ” ส่วนมาธยมิกะเป็นชื่อเรียกกลุ่มของชาวพุทธที่เห็นชอบตามหลักการของท่าน
นาคารชุนะ (นาคารชุน-Nâgârjuna)
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นาคารชุนะมีชีวิตอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่สอง (ประมาณ ๑๕๐-๒๕๐ ปีหลังคริสตกาล) ท่านถือกำเนิดในตระกูลของพราหมณ์ที่เมืองวิทารภะ (ปัจจุบันเรียกว่า เพราระอยู่ในแคว้นมหาโกศละ)ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับพระเจ้า ยัชญศรี เคาตมีปุตระ หรือ โคตรมีปุตระ/โคตมีบุตร)แห่งราชวงศ์ อานธระ (ตำราของอาจารย์อภิชัยเขียนว่า ศาตวาหนะ) หลักฐานฝ่ายจีนกล่าวว่าท่านมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับพระเจ้ากนิษกะ และพระอัศวโฆษะ( Asvaghosa ) โดยท่านมีอายุน้อยกว่าพระอัศวโฆษะ พระอัศวโฆษะเป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระเจ้ากนิษกะ และพระวสุมิตระ(Vasumitra )ซึ่งเป็นอาจารย์คนสำคัญของนิกายสรวาสติวาทะ

๓. ข้อวิจารณ์ 
            ผู้วิจารณ์มีข้อวิจารณ์  ๒ ข้อคือ ๑) รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา  และ ๒) การนำเสนอข้อมูลเนื้อหาในหนังสือ “นาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” ดังนี้
            ข้อ ๑) รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นด้านกลวิธีการเทียบเคียงประเด็นปัญหาทางพุทธปรัชญาและการอภิปรายแต่ละประเด็นด้วยหลักตรรกะ ซึ่งมีการอ้างอิงหลักฐานสนับสนุนการอภิปราย เช่น ข้อความในหนังสือต้นฉบับ ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไขก็คือ การใช้ภาษาที่ค่อนข้างจะยากทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อนไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอได้ ในด้านรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาผู้เขียนควรใช้ภาษาที่เรียบง่ายและไม่ควรที่จะเป็นวิชาการมากนักเพื่อดึงดูดผู้อ่านในระดับพื้นฐานซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลส่วนใหญ่ในสังคม จะทำให้หนังสือ “นาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” เล่มนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
            อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาวิธีการนำเสนอการเทียบเคียงประเด็นปัญหาทางปรัชญาในหนังสือเล่มนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนเทียบเคียงประเด็นปัญหาทางพุทธปรัชญาของสำนักมาธยมิกะกับสำนักสางขยะของอินเดียโดยมิได้บิดเบือนสาระสำคัญของแต่ละทัศนะ จึงทำให้ข้อมูลมีเหตุมีผลและมีความน่าเชื่อถือ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการคิดและวิเคราะห์สาระของหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดีการใช้กลวิธีเทียบเคียงเช่นนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งผู้เทียบเคียงจะต้องมีความเชี่ยวชาญในปรัชญาทั้งสองและต้องมีใจเป็นกลางในการเทียบเคียงในแต่ละประเด็น เพราะแนวคิดทั้งสองมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและภาษาต่างกัน สอดคล้องกับข้อความในหนังสือมนุษย์กับศาสนาของปรีชา ช้างขวัญยืนและสมภาร  พรมทา ว่า ความเหมาะสมของเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าเรากำลังใช้สิ่งนั้นกับอะไร ศาสนาแบบเชื่อถือพระเจ้าอาจเหมาะกับคนในสังคมหนึ่งซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตแบบหนึ่งในขณะที่ศาสนาแบบไม่เชื่อถือพระเจ้าก็อาจเหมาะสมกับคนในอีกสังคมหนึ่งที่มีปัญหาชีวิตที่แตกต่างไปจากผู้คนในสังคมที่นับถือศาสนาแบบเชื่อถือพระเจ้าศาสนาสองประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกัน ทุกศาสนามีเหตุผลในการถือกำเนิดขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะของตนเอง[19]
            ปรีชา ช้างขวัญยืนและสมภาร  พรมทา ยังให้ข้อสังเกตในการใช้วิธีการเปรียบเทียบหลักทางปรัชญาของศาสนาไว้อีกว่า สิ่งแรกที่สุดที่เราควรเข้าใจก็คือ โดยธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นจะมีคำสอนจำนวนหนึ่งในทุกศาสนาที่ไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการแบบเดียวกับที่ใช้ในวิทยาศาสตร์กล่าวคือตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัสและคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่ขัดแย้งกันก็มักจะได้แก่คำสอนส่วนที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้นี้เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ได้เราก็ควรยอมรับว่าคำสอนที่ตรงกันข้ามเหล่านี้มีฐานะเท่าเทียมกันในแง่ที่ต่างก็ไม่สามารถพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนเชื่อจริง มองจากแง่นี้ เนื้อหาของศาสนาที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันเหล่านี้ย่อมมีฐานะเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น[20]
            ข้อที่ ๒) การนำเสนอข้อมูลและเนื้อหาในหนังสือ“นาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง”สุมาลี มหณรงค์ชัยนำเสนอข้อมูลประเด็นปัญหาทางปรัชญาโดยการนำหลักพุทธธรรมของสรวาสติวาทะสำนักเสาตันตริกวาทะ และโลโกตตระวาทะบางหลักมาวิเคราะห์ทางปรัชญา และใช้วิธีเทียบเคียงทัศนะของสำนักสางขยะของฮินดู[21] เพื่อชี้ให้เห็นทรรศนะที่มีความแตกต่างกันของแต่ละสำนักซึ่งในที่สุดก็สามารถจัดลงในจุตษโกฏิข้อใดข้อหนึ่งได้ทั้งสิ้นดังนั้นความคิดใดๆ ก็ตามที่สนับสนุนภาวะมูลฐานหรือแกนสารสาระ ความคิดนั้นไปไมไดกับเรื่องของเหตุและผล รวมทั้งผูที่ยอมรับความคิดเหลานั้นก็ถือไดวา ไมเขาใจหลัก ความจริงที่พระพุทธเจาทรงสั่งสอน ดังมีปรากฏในมูลมาธยมิกการิกาเขียนไววา การเกิดขึ้นของภาวะแกนสาร (selfnature) โดยผานเหตุและปจจัย เปนสิ่งที่เปนไปไมได (ไมเหมาะสม) ภาวะแกนสารที่เกิดขึ้นในฐานะเปน ผลลัพธ์ของเหตุและจจัย จะเปนบางสิ่งที่ถูกสรางขึ้น...ใครก็ตามที่หยั่งเห็นภาวะแกนสารในตัวเองหรือสิ่งอื่น ยอมรับภาวะของการมีอยูหรือไมมีอยู เขาผูนั้นหยั่งไมเห็นความจริงในคําสอนของพระพุทธองค[22]  ในด้านเนื้อหาผู้วิจารณ์ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นมีด้วยกัน ๓ ประเด็นคือ ๑) ความเป็นมาของสำนักมาธยมิกะ  ๒) หลักทางสายกลางในคัมภีร์มาธยมิกะศาสตร์[23] และ๓) ประวัติท่านนาคารชุนะ ซึ่งเป็นเนื้อหาในส่วนสำคัญ ดังนี้
            ประเด็นที่ ๑) ความเป็นมาของสำนักมาธยมิกะผู้วิจารณ์มีความคิดเห็นว่า การนำเสนอมูลเหตุและอิทธิพลที่ก่อให้เกิดคำสอนมาธยมิกะตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้นั้นยังขาดข้อมูลที่จำเป็นบางอย่าง เช่น ประวัติของนิกายตรีศาสตร์ ซึ่งนิกายนี้อาศัยศาสตร์ ๓ ปกรณ์ คือ มาธยมิกศาสตร์ ศตศาสตร์ และทวาทศนิกายศาสตร์รวมกันเป็นชื่อของนิกาย โดยมีท่านนาคารชุนเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายนี้ ท่านเป็นผู้ตั้งทฤษฎีศูนยตวาทิน อรรถาธิบายหลักปัจจยาการและอนัตตาของพระพุทธองค์โดยวิธีใหม่ คัมภีร์ที่ท่านรจนามีเป็นจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ มาธยมิกศาสตร์ นอกจากประกาศแนวทฤษฎีศูนยตาแล้ว ยังได้วิพากษ์นานามติของประดานิกายในพระพุทธศาสนาและมติของปรัชญาฮินดูและเชนได้ด้วย[24] เช่น ความเชื่อในศาสนาฮินดูเรื่องพหุเทวนิยม เกี่ยวผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลาย  โดยเทพเจ้าต่างๆมากมายเช่นพระพรหม  พระศิวะ  พระวิษณุเป็นต้น ซึ่งมีมานานก่อนมีนาคารชุน  สามารถย้อนไปถึงศาสนาพราหมณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาอีก  นอกจากนี้ยังมีความเชื่อตามปรัชญาอณูพหุนิยม(Atomic Pluralism) ในปรัชญานยายะที่ถือว่า อณูของดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมูลเหตุของโลกและสรรพสิ่งในโลก  ทัศนะต่างๆเหล่านี้ทำให้นาคารชุนเสนอแนวคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาท เพื่ออธิบายการเกิดดับของสิ่งทั้งหลาย  และใช้ศูนยตาเป็นตัวเดินเรื่องพร้อมขยายความด้วยระบบตรรกะ  เมื่อนาคารชุนใช้ศูนยตาในการอธิบายและตอบโต้กับลัทธิต่างๆ  แน่นอนว่าย่อมมีการตีความศูนยตาไปต่างๆนานา  ดังนั้นปิงคลเนตร  จึงกล่าวต่อไปว่าเพื่อไม่ให้ศูนยตาธรรมเกิดความคลาดเคลื่อนไปโดยประการต่างๆ จึงรจนาคัมภีร์มาธยมิกศาสตร์ขึ้นมา อรรถกถาของศาสตร์นี้มีผู้แต่งกันไว้มาก ฉบับที่แปลสู่พากษ์จีนมี ๒ ฉบับเป็นของนีลเนตรและของภาววิเวก ส่วนคัมภีร์ศตศาสตร์นั้นเป็นของอาจารย์เทวะ เป็นหนังสือวิพากษ์ปรัชญาฮินดูทั้งเวทานตะ สางขยะ ไวเศษิกะ นยายะ โยคะ และเชน ไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เผยให้เห็นความเลิศเด่นของพระพุทธธรรม[25]
            อย่างไรก็ตามผู้วิจารณ์ไม่พบว่าผู้เขียนได้กล่าวถึงความเสื่อมของแนวคิดศูนยตวาทินในยุคราชวงค์ถัง เมื่อท่านปิฎกธราจารย์เฮียงจัง ประกาศปรัชญาวิชญาณวาทินอยู่ เลยทำให้รัศมีฝ่ายศูนยตวาทินอับลงตราบเท่าทุกวันนี้[26]
            ประเด็นที่ ๒) ปัญหาที่เกิดกับคำสอนของสำนักต่างๆ ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนนอกจากจะยกเอาทัศนะของสำนักต่างๆ เช่น สำนักสรวาสติวาทะ สำนักเสาตันตริกะ สำนักโลโกตตระภาวะ และสำนักสางขยะ มาเขียนอธิบายไว้แล้วยังได้วิเคราะห์ให้เห็นปัญหาที่เกิดกับคำสอนของสำนักต่างๆ เอาไว้ด้วย ซึ่งแต่ละสำนักก็มักจะมีการยืนยันแก่นสารภาวะและมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ ปัญหาเหล่านี้ซึ่งผู้เขียนมีการอธิบายเอาไว้ในตอนของหลักธรรมสำคัญของสำนักมาธมิกะเพื่อแก้ไขทิฐิที่ผิดพลาดเหล่านั้น สุมาลี  มหณรงค์ชัยชี้ให้เห็นหลักคำสอนสำคัญๆ ของพระนาคารชุนะไว้พิจารณาคือ วิภาษวิธี การอิงอาศัยกันมีอยู่กับความว่าง ความจริงสองระดับกับความว่าง ความจริงสองระดับกับทางสายกลาง ซึ่งในแต่ละประเด็นก็ได้รับการอธิบายชี้แจงและเสนอแนะทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ได้อย่างชัดเจน
            ประเด็นที่ ๓) เรื่องประวัติของท่านนาคารชุนะ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอในหนังสือยังไม่สามารถยอมรับได้ว่าถูกต้อง เพราะยังมีอีกหลายทัศนะที่กล่าวถึงประวัติของท่านไม่เหมือนกัน ดังเช่น
            ประวัติของท่านนาคารชุนในบันทึกกุมารชีพ (ค.ศ. 344-413) ได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านนาคารชุนเป็นชาวอินเดียใต้เกิดในสกุลพราหมณ์  มีความจำเป็นเลิศ  จดจำสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว  แตกฉานในศาสตร์หลายสาขา เช่น ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์เป็นต้น ส่วนสาเหตุการบวช  เกิดจากการนำวิชาอาคมไปใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสนมนางใน ถูกพระราชารับสั่งไล่ฆ่า จนเพื่อนเสียชีวิตไป ๓ คน ส่วนท่านรอดชีวิตเพราะยืนแอบอยู่ด้านหลังพระราชา และตั้งจิตอธิษฐานออกบวชเพราะเห็นภัยในกามโลกีย์ ชีวิตหลังบวช ท่านได้ออกบวชที่เจดีย์กลางเขาแห่งหนึ่ง ศึกษาพระไตรปิฎกในนิกายสรวาสติวาทแตกฉานภายใน 3 เดือน (ในอินเดียเหนือ)  ภายหลังได้ศึกษาพระสูตรฝ่ายมหายานกับภิกษุชราภาพรูปหนึ่ง  แต่ไม่ปรากฏเนื้อหาที่ชัดเจนว่าศึกษาเรื่องอะไรในพระสูตรมหายาน  ท่านเป็นนักโต้วาที  เดินทางท่องเที่ยวโต้วาทะกับนักปรัชญาต่างๆ ชนะไปทั่วอินเดีย ภายหลังถูกกล่าวหาว่ามิใช่สัพพัญญูเพราะเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า การเป็นศิษย์คือการถามสิ่งที่ยังไม่รู้ จึงได้สถาปนาตนเป็นอาจารย์ เปลี่ยนจีวร  เปลี่ยนวินัยใหม่ และให้ศิษย์ทำตามด้วย ลงสู่นาคมณเฑียร  บันทึกตอนนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ระบุว่านาคได้นำท่านสู่นาคมณเฑียร  เปิดคลังแก้วมณีและหนังสือต่างๆให้ท่านอ่าน  ภายหลังกลับคืนสู่อินเดียใต้เผยแผ่คำสอนมหายานไปทั่วอินเดีย ชื่อเรียก “นาคารชุน”  แม่ท่านให้กำเนิดท่านที่ต้นไม้ชื่อ “อรชุน” และ “นาค” นำท่านไปพบความสำเร็จ จึงได้นามว่า “นาคารชุน”
            นาคารชุนในบันทึก เสวียนจั้ง  ค.ศ. 602-664 ความสามารถด้านการแพทย์  ท่านนาคารชุนเชี่ยวชาญในการปรุงยาอายุวัฒนะ  มีอายุยืนยาวร่วมกับพระเจ้าสาตวาหะ  จนเป็นเหตุให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ไม่ได้
            นอกจากนี้ยังมีประวัติของนาคารชุนในบันทึกปูสตัน (ค.ศ.1290-1364) ที่เห็นไม่เหมือนกันว่า ชีวิตวัยเยาว์ บิดามารดาทำยัญพิธีขอบุตร ต่อมาได้รับคำทำนายว่าท่านมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ วัน  ๗ เดือน และ ๗ ปี ตามลำดับ จนในที่สุดได้ออกบวชเป็นสามเณรที่วัดนาลันทา จึงรอดพ้นจากความตาย ส่วนชีวิตหลังบวชของท่านนาคารชุน ท่านได้ไปศึกษากับอาจารย์สรหะและอุปสมบทเป็นภิกษุชื่อศรีมาน มีท่านราหุลภัทรเป็นพระอุปัชฌาย์  ต่อมาใช้วิชาเสกทองคำเป็นค่าภัตตาหารในช่วงทุพภิกขภัย ถูกลงโทษโดยให้ไปบูรณปฏิสังขรณ์อาราม  สร้างเจดีย์  ประเด็นมรณภาพของท่านก็เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมือง โดยพระราชโอรสได้รับคำแนะนำจากพระราชมารดาให้ไปขอประทานศีรษะนาคารชุน เพื่อบริจาคเป็นทานมุ่งสำเร็จในพุทธผล ท่านได้ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการใช้หญ้าคาเชือดคอ มอบศีรษะให้พระราชกุมาร เมื่อท่านมรณภาพ พระราชบิดาก็สิ้นพระชนม์ด้วย
            ส่วนที่มาของชื่อนาคารชุนะ มีสองนัยคือ สร้างเจดีย์สำเร็จได้เพราะการช่วยเหลือของนาค จึงได้ชื่อว่าอรชุน อีกประการหนึ่ง นาคะ หมายถึงการกำเนิดในโลกแห่งธรรม ไม่สุดโต่ง (ในสัสสตะและอุทเฉทะ) ทำลายมิจฉาทิฐิได้  มีความสำเร็จในการปกครอง อารักขาและบริหารประเทศแห่งพระสัทธรรม จึงได้ชื่อว่า “นาคารชุน” ประเด็นมรณภาพ อันนี้มาจากปัญหาการเมืองเช่นเดียวกับบันทึกเสวียนจั้ง แต่มีต่างกันที่พระโอรสนามว่าศักติมานเป็นผู้ใช้หญ้าคาลงมือสังหาร
            ผู้วิจารณ์เห็นว่าในประเด็นต่างๆเหล่านี้ผู้เขียนควรที่จะค้นคว้าและนำมาเขียนเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยเพราะมีความสำคัญพอๆกับหลักทางสายกลางของท่าน เพราะหากประวัติของท่านนาคารชุนะยังคลุมเครือ การที่ผู้เขียนใช้ชื่อหนังสือว่า นาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย แม้ในส่วนของหลักธรรมสำคัญต่างๆ จะได้รับการอธิบายอย่างละเอียดแล้วก็ตาม

๔. สรุปและคำแนะนำ
             กล่าวโดยสรุป  หนังสือ “นาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” เล่มนี้ สุมาลี  มหณรงค์ชัย นำเสนอเนื้อหาโดยการเปรียบเทียบประเด็นปัญหาทางปรัชญากับทัศนะสุดโต่งทั้งสองสาย แบ่งเนื้อหาเป็น ๒ ส่วนคือ ภาคที่ ๑ สภาพแวดล้อมและหลักคำสอนในยุคก่อนกำเนิดสำนักมาธยมิกะ และภาคที่ ๒ หลักคำสอนสำคัญๆ ของพระนาคารชุนะ แบ่งเป็น ๕ ประเด็นคือ (๑) วิภาษวิธี (๒) การอิงอาศัยกันมีอยู่กับความว่าง (๓) ความจริงสองระดับกับความว่าง (๔) ความจริงสองระดับกับทางสายกลาง และ (๕) อิทธิพลคำสอนของพระนาคารชุนะ  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดของพุทธศาสนาชัดเจนขึ้น หนังสือเล่มนี้ จึงมีคุณค่าต่อการศึกษาประเด็นปัญหาทางพุทธปรัชญาสำหรับนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจในพุทธปรัชญาและปรัชญามาธยมิกะของท่านนาคารชุนะ เพราะเนื้อหาในหนังสือให้ทั้งแง่คิด มุมมอง และสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปขบคิดและวิเคราะห์
             ทั้งนี้ผู้วิจารณ์ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ๓ ประเด็นคือ ๑)ความเป็นมาของสำนักมาธยมิกะ ๒) ปัญหาที่เกิดกับคำสอนของสำนักต่างๆ และ ๓) ประวัติของท่านนาคารชุนะ เพราะผู้วิจารณ์เห็นว่า ในประเด็นต่างๆนี้ควรจะได้รับการขยายความ และเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นโดยเฉพาะประวัติของท่านนาคารชุนะที่ต้องอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และทัศนะของนักวิชาการทางพุทธศาสนา ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับผู้เขียนที่กล่าวว่า การจะอธิบายหลักการของพระนาคารชุนะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องระมัดระวังเรื่องแก่นสารภาวะที่ท่านปฏิเสธเป็นอย่างมาก โดยชี้ให้เห็นว่าทัศนะของบุคคลและกลุ่มชนในระดับโลกิยะทั้งหมดล้วนสนับสนุนแก่นสาร (สวภาวะ) บางอย่างที่สามารถจัดลงในจตุษโกฏิข้อใดข้อหนึ่งได้ทั้งสิ้น ทำให้ไม่มีทัศนะใดเป็นที่ยอมรับหรือเรียกได้ว่าถูกต้อง การตีความหลักการของพระนาคารชุนะก่อให้เกิดกระแสต่างๆ ที่เป็นทั้งความขัดแย้งและปัญญาญาณในเวลาเดียวกัน ความสั้นและห้วนของข้อเขียนในอดีตอาจโต้แย้งได้ง่าย หลายคนมองว่าเราไม่สามารถศึกษาคำสอนของพระนาคารชุนะได้โดยไม่ใส่ความเห็นส่วนตัว ซึ่งนั่นก็ถูกในด้านหนึ่ง แต่ความน่าสนใจในงานของท่าน อยู่ตรงที่เราไม่สามารถยึดถือแม้บทสรุปของเราเองในท้ายที่สุด ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของความว่างและหลักการสายกลาง หลักที่ถ้าใครหยั่งถึงแล้วความโน้มเอียงไปในทัศนะต่างๆ จะสิ้นสุดลง อคติทางความคิดและเหตุผลจะถูกปล่อยวาง อีกทั้งการแสวงหาทางสายใหม่ก็จะยุติลงด้วย
             หนังสือ “นาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง บทสรุปของหลักการแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และเบิกบานอย่างแท้จริง” เล่มนี้ จึงมีความเหมาะสมสำหรับคณาจารย์ นิสิตนักศึกษาด้านปรัชญาที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่สำคัญคือ หนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นหลักตรรกวิทยาที่ปรากฏในเรื่องวิภาษวิธี ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้มุมมองเชิงปรัชญา อันจะทำให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจหลักคิดและประเด็นปัญหาทางปรัชญา เพื่อต่อยอดความสนใจนั้นไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาเฉพาะเรื่องได้มากยิ่งขึ้น
             นอกจากนี้ หากนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปประสงค์จะเข้าใจประเด็นปัญหาแต่ละส่วนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ควรทำความเข้าใจหลักการของสำนักมาธยมิกะโดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก มูลมัธยมกการิกาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของสำนักมัธยมิกะซึ่งเค้าโครงเนื้อหาของคัมภีร์มูลมัธยมกการิกาในภาพรวมทั้งหมด ๒๗ บท ดาวิด เจ. กะลุปะหานะ (David J. Kalupahana)ได้รวบรวมเอาไว้อย่างละเอียด  รวมถึงสำนักภายในพระพุทธศาสนา เช่นสรวาสติวาทะ สำนักเสาตันตริกะ สำนักโลโกตรภาวะและสำนักในปรัชญาอินเดีย เช่น สางขยะ และ สำนักนยายะ และสำนักปรัชญาอินเดียร่วมสมัยอื่นๆ ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือปวงปรัชญาอินเดียของ ฟื้น ดอกบัว สำหรับการทำความเข้าใจหลักธรรมของพุทธศาสนามหายาน ควรอ่านงานของ เสถียร โพธินันทะ เรื่อง “พุทธปรัชญามหายาน” “กำเนิดและพัฒนาการของปรัชญามหายาน”พระศรีคัมภีรญาณ เรื่อง“พุทธปรัชญา” เพื่อเปิดมุมมองของการศึกษาและทำความเข้าใจประเด็นปัญหาเชิงปรัชญาให้มากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเจริญทางสติปัญญา และเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเอง และสังคมประเทศชาติต่อไป.



**************


บรรณานุกรม


มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
             ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
ปรีชา ช้างขวัญยืน สมภาร พรมทา,มนุษย์กับศาสนา,พิมพ์ครั้งที่๔.กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.๒๕๔๒.
ประเวศ  อินทองปาน.พุทธปรัชญาในพระไตรปิฎก.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.๒๕๕๓.
ฟื้น  ดอกบัว,ปวงปรัชญาอินเดีย.พิมพ์ครั้งที่ ๒ .กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๕๕.
สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง,กรุงเทพมหานคร: ศยาม.๒๕๔๘.
สมภาร พรมทา,พุทธศาสนามหายาน: นิกายหลัก.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.๒๕๔๐.
เสถียร  โพธินันทะ,ปรัชญามหายาน พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร. ๒๕๒๒.

Kalupahana, David J. (1999) Mûlamadhyamakakârikâ of Nâgârjuna. Delhi: Motilal Banarsidass.
                     .(1996) Nâgârjuna : The Philosophy of the Middle Way. Albany : State University of New York Press.
Ramanan,K.V. (1987) Nâgârjuna’s Philosophy. Delhi,Motilal Banarsidass,
Singh, J.(1978) An Introduction to Madhyamaka Philosophy.Delhi,Motilal Banarsidass,




[1] นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
[2] รศ.ดร.สุมาลี  มหณรงค์ชัย ปัจจุบันท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาไว้จำนวนมาก
[3] สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง,กรุงเทพมหานคร: ศยาม.๒๕๔๘.หน้า๓-๔.
[4] ดูรายละเอียดใน.ประเวศ  อินทองปาน.พุทธปรัชญาในพระไตรปิฎก.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.๒๕๕๓.หน้า ๕๙-๙๘.
[5] ดูรายละเอียดใน,พรหมชาลสูตร,ที.สี. ๙/๑-๑๔๙/๑-๔๗.
[6] สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง,หน้า๗.
[7] ดูรายละเอียดใน.มหาปรินิพพานสูตร, ที.ม. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔.
[8] “สางขยะ เป็นลัทธิที่เชื่อกันว่ามีมานานแล้วก่อนพุทธกาล เป็นลัทธิปรัชญาที่มีอายุเก่าแก่กว่าสำนักปรัชญาฮินดูทั้งหลาย หรือลัทธิทั้ง ๖ ซึ่งก็มี มีมางสา เวทานตะ สางขยะ โยคะ นยายะ และไวเศษิกะ ที่ว่าลัทธิสางขยะมีมาก่อนพุทธกาล ก็ดังที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชแสวงหาโมกขธรรมอยู่นั้น ได้เคยเสด็จไปศึกษาในสำนักท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งเป็นคณาจารย์ในลัทธิสาขยะ”, สุนทร ณ รังสี,ปรัชญาอินเดีย: ประวัติและลัทธิ, (พระนคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย, ๒๕๓๗.หน้า ๒๑๐. อ้างใน,ฟื้น  ดอกบัว,ปวงปรัชญาอินเดีย.พิมพ์ครั้งที่ ๒ .กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๕๕.หน้า ๒๑๓.
[9] ดูรายละเอียดใน.Ramanan,K.V. (1987) Nâgârjuna’s Philosophy. Delhi,Motilal Banarsidass, pp. 53-69. อ้างใน.สุมาลี มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง.หน้า.๑๗-๑๘.
[10] สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง,หน้า ๑๘.
[11] Singh, J.(1978) An Introduction to Madhyamaka Philosophy.Delhi,Motilal Banarsidass, p, 16.
[12] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๑๑๐.
[13] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๑๑๒.
[14] สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง,หน้า ๑๔๑.
[15] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๑๗๙-๑๘๐.
[16] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๒๑๐.
[17] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๒๑๖.
[18] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๒๓๒.
[19] ปรีชา ช้างขวัญยืน สมภาร พรมทา,มนุษย์กับศาสนา,พิมพ์ครั้งที่๔.กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.๒๕๔๒.หน้า ๒๑๖.
[20] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๑๗.
[21] ดูรายละเอียดใน.ฟื้น  ดอกบัว,ปวงปรัชญาอินเดีย.พิมพ์ครั้งที่ ๒ .หน้า ๒๑๓-๒๓๗.
[22] ดูรายละเอียดใน.Kalupahana, D.J., (1996) Nâgârjuna : The Philosophy of the Middle Way. Albany : State University of New York Press. pp. 228-234.
[23] ดูรายละเอียดใน. Kalupahana, David J. (1999) Mûlamadhyamakakârikâ of Nâgârjuna. Delhi: Motilal Banarsidass.pp.21-31.
[24] เสถียร  โพธินันทะ,ปรัชญามหายาน พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร. ๒๕๒๒.หน้า ๗๑-๗๒.
[25] อ้างแล้ว.
[26] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๗๓.

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...