วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ

พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ
พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล[๑]

 ๑.  บทนำ
                ปัจจุบันชาวพุทธส่วนหนึ่งละทิ้งการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาไปเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้ขอพร หวังผลดลบันดาล เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นพุทธพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นๆ ทุกวัน โดยสิ่งที่เกิดมากขึ้นที่สุดคือ การบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง และของขลังประเภท ตระกรุด ผ้ายันต์ที่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกโดยพระสงฆ์  สิ่งเหล่านี้ถูกมองจากคนบางกลุ่มว่า เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไป
                 ในพระพุทธศาสนามีการสร้างรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป ถือเป็นการแสดงออกถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้า  แต่ด้วยพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่แล้ว  การจะเข้าเฝ้า  กราบไหว้ บูชาพระองค์จริงของพระพุทธเจ้าจึงไม่อาจกระทำได้  ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธบางส่วนจึงนำแนวคิดการสร้างรูปเคารพ มาสร้างเป็น พระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่สักการบูชาแทนพระพุทธเจ้า  ซึ่งแม้จะมีหลักการทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการเคารพบูชาพระพุทธเจ้าว่าเป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งใน คารวะธรรม    ประการ  ได้แก่  สัตถุคารวตา  การแสดงความเคารพต่อพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่มีการโต้แย้งแนวคิดนี้มาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่ชาวพุทธทั้งสองกลุ่มสามารถยึดถือร่วมกันได้


๒. แนวคิดพุทธจริยศาสตร์กับการสร้างรูปเคารพ
แนวคิดของพุทธจริยศาสตร์ดั้งเดิม (Early Buddhist Ethics) มีหน้าที่สำคัญเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เพื่อต้องการทราบว่าการกระทำลักษณะใดของมนุษย์ที่พระพุทธศาสนาจัดว่ามีคุณค่า เป็นการกระทำดี ถูกต้อง  รวมทั้งหาคำตอบเกี่ยวกับอุดมคติหรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร และพยายามค้นหากฎเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำของมนุษย์นั้น  การสร้างพระพุทธรูปถือเป็นแนวคิดทางพุทธจริยศาสตร์ประการหนึ่งที่บรรดาผู้สร้างมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชาวพุทธมีสัญลักษณ์เตือนใจให้ได้เจริญพุทธานุสสติ คือ  การตรึกระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระคุณต่างๆของพระองค์  เช่น ทรงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วละกิเลสได้  เรียกว่า อรหํแปลว่า ผู้ไกลจากกิเลิศทั้งมวล หรือ พุทโธหรือแปลทับศัพท์ว่า พระพุทธเจ้า”  ทรงมีความเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้ำเลิศ  และทรงมีพระเมตตาและเกื้อกูลประโยชน์สุขต่อมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวง  กล่าวคือ  ทรงเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยพระพุทธคุณโดยย่อที่สุด ๓ ประการ ได้แก่ ๑) พระปริสุทธิคุณ ที่ทรงพ้นแล้วจากห้วงทุกข์ทั้งปวงเป็นแม่แบบที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงของมวลมนุษยชาติ ๒) พระปัญญาคุณ ที่ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ แล้วนำมาเปิดเผยแก่ชาวโลกให้รู้ตาม ๓) พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเมตตาช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์
จากแนวคิดดังกล่าวนี้ การสร้างพระพุทธรูปนอกจากเป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อได้สักการบูชาแล้ว  ยังสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนได้ด้วย  การสร้างพระพุทธรูปจึงก่อให้เกิดคุณค่าทางการปฏิบัติซึ่งหมายถึงการส่งเสริมจริยธรรมของผู้คนในสังคมไปโดยปริยาย  พระพุทธรูปจึงไม่เป็นแต่เพียงศิลปกรรมประเพณี  อันเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางด้านปฏิมากรรมที่ทรงคุณค่าของพระพุทธศาสนาเท่านั้น  แต่พระพุทธรูปยังเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธปรัชญา  เป็นเครื่องหมายของความเคารพ บูชา สักการะและเป็นเครื่องเตือนให้ประกอบความดีอีกด้วย    
ในพุทธจริยศาสตร์มีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักการแห่งความดีมากมาย  พระพุทธรูปแม้เป็นเพียงวัตถุ  แต่คุณค่ามิได้มีอยู่เพียงความเป็นวัตถุ  หากแต่ยังสามารถเป็นสิ่งสื่อถึงหลักการแห่งความดีนั้น ๆ ได้ด้วย  แต่แนวคิดนี้ก็มีเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับตัวบุคคล คือบุคคลที่กราบไหว้บูชาจะได้รับประโยชน์ในแง่นี้ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและหลักธรรมคำสอนของพระองค์เป็นสำคัญเท่านั้น  เพราะข้อเท็จจริงพระพุทธรูปมิสามารถสอนธรรมหรือชี้นำให้ปฏิบัติตนในทางที่ดีได้  แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการกราบไหว้รูปเคารพก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตนว่า พระพุทธรูปสามารถเตือนใจให้ระลึกถึงหลักการความดีที่ได้ศึกษาหรือได้สดับรับฟังมาได้  การมีพระพุทธรูปไว้สักการบูชาจึงเป็นเครื่องมือทางจริยศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นแรงจูงใจให้บุคคลมีจริยธรรม โดยหัวใจสำคัญของจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือ  การละเว้นความชั่ว  การทำความดีและการทำจิตใจให้บริสุทธิ์  ตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเอง  
ยกตัวอย่าง เช่น  เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันด้วยวาจาหรือพาดพิงกันในลักษณะโกรธเคืองต่อหน้าพระพุทธรูปในพระอุโบสถ  หากคู่กรณีมีจิตสำนึกที่ดีงามอยู่บ้าง  ประกอบกับระลึกถึงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละเว้นความชั่ว  ก็จะมีสติว่า ต่อหน้าพระพุทธรูปไม่ควรแสดงกริยาที่ไม่ดี  ไม่ควรเบียดเบียน  ควรละเว้นวาจาหยาบคายเสีย  แม้ความโกรธเคืองไม่พอใจจะมีอยู่ในภายใน  แต่ภายนอกคือพฤติกรรมที่ไม่ดีก็ไม่ควรแสดงออก  นี้เป็นลักษณะของความละอายต่อบาปซึ่งมีพระพุทธรูปเป็นแรงจูงใจ    ในกรณีอื่น ๆ ก็เป็นลักษณะเดียวกันคือ  เมื่อมีพระพุทธรูปอยู่ในบ้านหรือเห็นพระพุทธรูปในสถานที่ต่าง ๆ หากบุคคลมีความศรัทธาอย่างจริงใจอยู่เป็นพื้นฐาน  ย่อมเป็นเครื่องเตือนและเป็นแรงจูงใจให้ประพฤติธรรมได้เสมอ
ส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสัญลักษณ์ที่เป็นสื่อถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในพระพุทธรูป เมื่อพิจารณาถึงทัศนะทางปรัชญาของนักปรัชญา เช่น  เฮเกล (Hegel) มีแนวคิดว่า  ความงาม คือ ความจริงที่ฉายจากสิ่งสมบูรณ์ผ่านโลกทางประสาทสัมผัสตามที่จิตของมนุษย์ สามารถเข้าใจได้ ความงามจึงเป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและความงามที่มีสุนทรียภาพคือความงามในศิลปะ ซึ่งศิลปะที่แฝงความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อไว้ด้วยนั้นจัดเป็นศิลปะเชิง สัญลักษณ์ (Symbolic art) ซึ่งพบได้ในศิลปะทางศาสนาของฮินดู  อียิปต์และฮิบรู  ตามทัศนะนี้ประกอบกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระพุทธรูป  ทำให้สรุปได้ว่า  การสร้างพระพุทธรูปจัดเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญทั้งต่อผู้สร้าง ในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสิ่งที่นำมาสู่สุนทรียภาพแก่ผู้พบเห็นหรือได้ สักการบูชา  ซึ่งผู้สร้างเองก็ต้องมีสุนทรียภาพภายในตนและจินตนาการที่แฝงไว้ด้วยความงาม และความจริงด้วย  เพราะฉะนั้นผลงานที่ปรากฏนอกจากจะเป็นเครื่องสื่อถึงความเป็นพระพุทธเจ้า  ความงามและความดี  ยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงจิตใจ  ความรู้  และความสามารถอันน่าชื่นชมของผู้สร้างไปในตัว และเมื่อผลงานปรากฏก็เกิดผลดีต่อส่วนรวมหรือประชาชนโดยกว้างขวางในฐานะที่ เป็นผู้เสพหรือผู้สัมผัสกับงานศิลปะนั้น ๆ  ซึ่งในขั้นลึกอาจยังนำไปสู่การเข้าถึงธรรมอันแฝงอยู่ในลักษณะสัญลักษณ์ที่ ปรากฏอยู่ด้วยและเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและมีความ สำคัญดังกล่าวมา

 ๓. ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการกราบไหว้รูปเคารพ
จากทรรศนะเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปนี้ ได้รับการโต้แย้งจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม ที่มองว่า พุทธแท้ไม่มีคำสอนให้กราบไหว้พระพุทธรูป กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า พุทธศาสนาที่แท้จริงต้องไม่ไหว้รูปเคารพ  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เรากราบไหว้ก้อนอิฐ ไม่ได้สอนให้เรายึดติดกับวัตถุ โดยมองว่าชาวพุทธในปัจจุบันที่ไม่มีความรู้จริงในศาสนาพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่   โดยส่วนใหญ่จะเป็นพราหมณ์ฮินดูโดยไม่รู้ตัวคนที่รู้จริงและเข้าถึงศาสนาพุทธจริงๆ มีประมาณไม่ถึง  ๑๐% ของชาวพุทธทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สร้างรูปเคารพและกราบไหว้บูชารูปเคารพต่างๆ ไม่เคยสอนให้อ้อนวอนขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆให้มาช่วยเหลือ ท่านสอนให้พึ่งตนเอง  มีตนเป็นที่พึ่ง  มีธรรมเป็นที่พึ่ง ชาวพุทธสมัยปัจจุบันทําเกินไปจากคําสอนของพระพุทธเจ้าเสียส่วนใหญ่
พระพุทธเจ้าเคยห้ามไม่ให้บูชารูปเคารพหรือพวกศาลเจ้าที่ พระองค์ทรงให้ธรรมะ เป็นศาสดาต่อจากพระองค์ เพราะฉะนั้น การที่ต้องไปไหว้พระเจ็ดวัด มันเป็นประเพณีก็จริง แต่ก็ถือว่าหลงจากหลักคำสอนของพระองค์นั่นเอง เพราะสมัยพระองค์ก็ไม่มีการสร้างรูปหล่ออะไรทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้เกิดจากชาวกรีกที่มาทำหลังจากนั้นนานมาก แต่เราถูกปลูกฝังให้เคารพรูปหล่อ ตะเวนไหว้พระ หรือรดน้ำมนต์ซึ่งถูกศาสนาพราหมณ์กลืนเข้ามาหลังจากพระองค์ปรินิพพาน แถมยังอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นปรางค์หนึ่งของพระเจ้าในศาสนาตนอีก ทำให้ทุกวันนี้ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาแทนที่จะมุ่งทำความดี กลับมุ่งสร้างพระให้องค์ใหญ่ๆ เยอะๆ สร้างสถูปใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังยอมรับอยู่ว่า  เป็นเรื่องที่ดีทางวัฒนธรรม แต่เป็นการหลงจากคำสอนของพระองค์
แม้จะเห็นด้วยที่ว่าการไหว้เพื่อระลึกถึงพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ค่อนข้างดูเหมือนว่า แม้เวลาจะผ่านไปสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วมนุษย์เราก็ยังแทบไม่พัฒนาเลยในเรื่องความเชื่องมงาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ด้วย ทำให้การเคารพรูปเคารพที่มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับคนส่วนใหญ่มันเป็นการงมงาย ผิดจากหลักคำสอนของพระพุทธองค์ที่ให้เคารพพระธรรมแทนพระองค์  ยกตัวอย่างสมมติว่า ถ้าเราได้ครอบครองพระเครื่องเป็นล้านๆ จะทำให้เราเป็นคนดีได้หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ แต่ทุกวันนี้ คนหลงกับวัตถุที่เรียกว่า พระพุทธรูป แทนที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สิ่งนี้เรียกว่าหลงผิด วัดแทนที่จะเป็นที่เผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธองค์ แต่กลับทำพระเครื่อง ปลัดขิก กุมารทอง เสกน้ำมนต์แจก ให้พวกที่เรียกตัวเองว่า พุทธมามะกะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักสิทธิ์ ถามว่า พระพุทธองค์เคยทำอะไรแบบนี้ไหม เคยสอนให้พระสาวกของพระองค์ทำไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ นี่คือการหลง
ถ้าทุกคนสามารถคิดแยกแยะได้ว่าอะไรคือพุทธแท้ เราคงไม่มาแย้งหรอกว่าเป็นหลงหรือไม่ แต่ทุกวันนี้แทบทุกคนที่เข้าวัดก็ยังให้ความสำคัญ กับไหว้พระดัง ไหว้พระให้หวย ทำบุญก็ต้องทำกับเกจิ แต่วัดต่างจังหวัดบางที่หาคนทอดกฐินยังแทบไม่ได้ พระเครื่องก็ต้องหาดังมาใส่ แทนที่จะเอาธรรมะมาปฏิบัติ ตั้งแต่เด็กพวกเราก็ถูกสอนให้ท่องบทสวดมนต์เป็นนกแก้วนกขุนทองเป็นภาษาบาลีที่ไม่เข้าใจความหมาย แต่ไม่เคยปลูกฝังจริงจังให้ปฏิบัติดีตามคำสอนทำยังไง  แต่สอนให้ท่องธรรมมะเพื่อสอบให้ได้ เอานักธรรมให้ได้ พระก็เอาแต่หวังสมณศักดิ์ เพราะมีการแบ่งชั้นวรรณะ ผลของมันคือทุกวันนี้มีแต่ข่าวน่าหดหู่ใจ อย่างเจ้าอาวาสเสพเมถุน เป็นต้น ทุกวันนี้เราจึงถูกบิดเบือนให้ไหว้พระพุทธรูปในฐานะพระเจ้าผู้แสดงอภินิหารสามารถดลบันดารขอได้ทุกสิ่ง แทนที่จะเคารพพระองค์ในฐานะผู้รู้แจ้งในทางสู่นิพพาน
กลุ่มที่ ๒ ได้โต้แย้งแนวคิดของกลุ่มชาวพุทธที่ไม่ยอมรับการกราบไหว้รูปเคารพ โดยอธิบายว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งเคารพ เป็นองค์แทนในการระลึกถึงพระพุทธเจ้า หากไม่เคารพนับถือก็ไม่ควรดูหมิ่น ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองแนวคิดนี้ ล้วนมีฐานการมองศาสนาที่ต่างกัน พระพุทธศาสนาที่แท้ต้องไม่กราบไหว้รูปเคารพเลยจริงหรือไม่ กลุ่มนี้ให้คำตอบว่า ไม่จริง เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มดังกล่าวยกมาสนับสนุน คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาที่ปฏิเสธการแสดงความเคารพต่อวัตถุ โดยอ้างว่าแม้ว่าในยุคพุทธกาลหรือหลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน ยุคแรกเริ่มของพุทธศักราช ก่อนจะมีการสร้างพุทธรูปขึ้น ในสมัยของพระเจ้ามิลินทร์ แห่งแคว้นคันธาระ จะยังไม่มีการสร้างพุทธรูปก็จริงอยู่ แต่คนที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุคนั้น ก็มีการกราบไหว้วัตถุซึ่งเป็นสิ่งเคารพที่เรียกกันว่า เจดีย์ แล้ว
กลุ่มนี้ให้เหตุผลเป็นข้อสนับสนุนว่า เจดีย์ที่คนพุทธสมัยก่อน ในชมพูทวีปสักการบูชากัน มี ๓ ประเภท แบ่งเป็น บริโภคเจดีย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งของเครื่องเคยใช้สอยของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงต้นโพธิ์ที่เคยประทับนั่งตรัสรู้ ประการหนึ่ง อุเทสิกเจดีย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งของที่มีคนสร้างขึ้นอุทิศเจาะจงพระพุทธเจ้า เช่น รอยพระพุทธบาท หรือพระพุทธรูป ประการหนึ่ง และสุดท้าย ธาตุเจดีย์ คือสถูปที่ใส่พระธาตุคือกระดูกของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก แบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างลังกาในยุคสมัยแรกของการนับถือพุทธศาสนา และมีการเริ่มต้นบวชภิกษุณี ก็มีหลักฐานปรากฏชัดว่า มีการบูชาต้นโพธิ์ มีการนำหน่ออ่อนเข้ามาปลูกไว้ พร้อมพร้อมกับการประดิษฐานของพระพุทธศาสนา  ยุคต่อมาก่อนหน้าจะมีการสร้างพระพุทธรูปนั้นอีก ก็มีการสร้างรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นเครื่องแสดงหลักฐานของการเข้ามาหรือการมีอยู่แห่งพระพุทธศาสนาในพื้นที่นั้นนั้น นอกจากรอยพระบาทแล้ว ก็ยังนิยมสร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ใช้เป็นสิ่งเคารพบูชาทั้งสิ้น
กลุ่มที่เชื่อว่าสามารถกราบได้ยืนยันว่า การกราบไหว้รูปเคารพมีมานานแล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาลเองก็มี แต่สัญลักษณ์ของสิ่งแทนความเคารพอาจแตกต่างกันไปตามกาลสมัย พระเจ้าอโศกเองก็ทรงเคยยอมรับว่า เมื่อเวลาผ่านไป กำลังแห่งปัญญาของคนก็น้อยลงไปตามด้วย การจะนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นการสร้างสิ่งแทน จึงเป็นอุบายที่ดีอย่างหนึ่ง แล้วชาวพุทธควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อรูปเคารพ ให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา เพราะถ้าเราไปหลงคิดว่า พระพุทธรูป หรือเจดีย์ หรือต้นโพธิ์ มีค่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยบันดาลอะไรให้เราได้ พุทธรูปจะมีค่าไม่ต่างจากรูปปั้นตายาย หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่นั่นนี่ ตามศาลเจ้าริมทาง ที่คนขี่รถผ่านแล้วต้องบีบแตรใส่ มีข้อเสนอวิธีคิดแบบท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสนี่เคยแสดงปาฐกถาธรรม เรื่องภูเขาปิดกั้นพุทธธรรมว่า ถ้าเข้าใจในพระรัตนตรัยผิด เข้าใจความหมายของพระพุทธรูปผิด สิ่งเหล่านี้ นี่แหละที่จะปิดกั้นการเข้าถึงหลักคำสอนที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาของเรา แต่ถึงท่านจะพูดเรื่องนี้ ท่านก็ไม่ปฏิเสธพระพุทธรูป  คือไม่สุดโต่ง แบบชาวพุทธกลุ่มแรกที่ถึงขั้นว่าให้เผาทิ้ง ตบหน้าพระพุทธรูป แบบนี้สุดโต่ง
ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดว่าการมีอยู่ของพระพุทธรูป ไม่ได้มีไว้ในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบันดาลพรให้กับคนที่ไปกราบไหว้ แต่มีไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์เครื่องเตือนให้ระลึก เช่นเห็นพระพุทธรูป ก็ระลึกได้ถึงพุทธคุณคือความตื่นรู้ของพระพุทธเจ้า การเอาชนะความอยาก ความโลภ และความหลง กลุ่มที่สองนี้จึงสรุปความคิดของตนว่า ถ้าเราเข้าใจได้แบบนี้ พุทธรูปจะไม่เป็นอุปสรรคแห่งการเจริญสติเจริญปัญญาของเราเลย ไม่เป็นภูเขาลูกมหึมาสำหรับปิดกั้นพุทธธรรมอย่างที่ท่านพุทธทาสว่า กลับกันยังจะช่วยอุดหนุนอุปนิสัยให้เรามีความอ่อนโยน และนุ่มเย็นอีกด้วย พุทธศาสนาของคนที่กราบไหว้บูชารูปเคารพเหล่านี้ ด้วยความเข้าใจในอรรถสาระ ก็ยังเป็นพุทธศาสนาที่ให้ผลได้อยู่ ไม่จำกัดกาล

๔. พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ
ประการแรก  พระพุทธศาสนายึดถือหลักแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาสอนให้ตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นคำสอนในเบื้องต้น และสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เป็นสักแต่ว่าทั้งนั้นสุดท้ายมันหมดจดจากกิเลสตัณหา  แม้ความเป็นตัวตนของตนก็ไม่มีและการปฏิบัติของศาสนาพุทธนั้นเป็นของสาธารณะ ใครก็สามารถศึกษาปฏิบัติได้คนพุทธโดยทั่วไปก็กราบไหว้นับถือเทพเทวดา แต่ถ้าเข้ามาศึกษาและปฏิบัติแนวพุทธแล้วก็จะถือพระรัตนตรัยเพียงเท่านั้น ไม่ถือด้วยความหลงงมงาย แต่ถือด้วยความเข้าใจว่าคำสอนและหลักปฏิบัติเหล่านั้นทำให้ดับทุกข์ได้จริง  ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า การกราบไหว้พระพุทธรูปอาจทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนาดีพอ มีแนวโน้มออกห่างจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น จนในที่สุดก็จะกลายเป็นหวังพึ่งผลดลบันดาน เช่นเดียวกับการกราบไหว้ผีสาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ ว่า “คนไม่เคยเห็นเคยฟังพระไตรปิฎกเลย แต่เคยพิจารณาอย่างละเอียดลออทุกครั้งทุกคราวที่ความทุกข์เกิดขึ้นแผดเผาในใจของตน นี้แหละเรียกว่า คนที่กำลังเรียนพระไตรปิฎกโดยตรง”[๒] ซึ่งก็เท่ากับว่าแม้ชาวพุทธจะไม่กราบไหว้พระพุทธรูปหรือรูปเคารพเลย แต่ถ้ารู้วิธีที่จะพิจารณาทุกข์ ดับต้นเหตุของทุกข์ และเข้าใจวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นความถูกต้องตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้หมายความว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มที่เชื่อว่าพุทธแท้ไม่มีรูปเคารพ เพียงแต่ขอเสนอว่า การมีหรือไม่มีพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาผิดเพี้ยนหรือ มีผลต่อผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย การโต้แย้งกันในประเด็นดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ข้อความในพระไตรปิฎกก็ชัดเจนแล้วว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงให้ยึดติดกับวัตถุสิ่งของใดๆ มากกว่าการปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั่นเอง
ประการที่สอง เรื่องการสอนให้กราบไหว้พระพุทธรูป ที่ออกจากพระโอฐของพระพุทธเจ้านั้นไม่มี  ด้วยเหตุที่ว่า สมัยนั้นไม่มีการสร้างพระพุทธรูป และพุทธบริษัทสมัยนั้นถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่เคารพแทนพระพุทธเจ้า เช่นรอยพระบาท พระคันธกุฏิฯ และพระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตามคำสอนมากกว่าความสำคัญในการบูชาด้วยอามิส เช่นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรูปเคารพ การบูชาพระพุทธรูปแท้จริงนั้น เกิดหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปี ก่อนนั้นคนที่ต้องการจะระลึกถึงพระพุทธเจ้าในแง่ของความมีตัวตนจริงของพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน คือที่เกิด ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรมครั้งแรก และที่พระองค์ปรินิพพาน หรือไม่ก็ทำรูปธรรมจักรเป็นเครื่องระลึกถึงธรรม ระลึกถึงการแสดงธรรมของพระองค์พระพุทธรูปมาเกิดขึ้นในลำดับหลัง หลังจากที่ชนชาติที่นิยมทำรูปเคารพได้มานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว การเสนอว่าพระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธการกราบไหว้รูปเคารพนั้นเป็นเพียงการ นำเอาบริบทของสังคมในปัจจุบันมาเป็นข้ออ้างซึ่งขัดแย้งกับหลักการของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้มาจากการที่คนในปัจจุบันต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณที่สามารถจับต้องได้ แทนที่จะปฏิบัติตามคำสอนที่มองไม่เห็นจุดหมายปลายทางที่แน่นอน  ซึ่งชาวพุทธที่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ก็ได้โต้แย้งไปแล้วว่า แม้นไม่มีรูปเคารพในพระพุทธศาสนาเลย ก็สามารถปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชาได้ พุทธประสงค์ก็ทรงต้องการเช่นนั้น 
ประการที่สาม แต่ก่อนการบูชาเป็นเพียงแสดงออกถึงการระลึกถึงพระองค์  ไม่ได้เป็นการอ้อนวอนบนบานศาลกล่าวอย่างที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เข้าในผิดและทำอยู่ และคนที่เข้าใจผิดเดี๋ยวนี้ก็ทำการบูชาสักการะเกินกว่าที่ควรจะทำ เพราะเหตุใดการบูชาพระพุทธรูป (บูชาอย่างถูกต้องไม่งมงาย ไม่เกินไปกว่าที่ควรจะบูชา) จึงเป็นสิ่งที่มีมาในศาสนาพุทธ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างเจดีย์ หรือสถูปแล้วบรรจุอัฐิหรือของใช้ไว้บูชานั้น มี
           ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
           ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
           ๓. พระอรหันต์
          ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ
การบูชาเจดีย์ตามพุทธานุญาต ๔ ข้อนี้ก็บูชาได้ ไม่ผิด แต่การบูชาจนไม่ปฏิบัติตามคำสอนนั้นคือความหลงผิด พระพุทธศาสนาไม่ได้มีคำสอนให้กราบไหว้รูปเคารพแต่อย่างใด แต่มีคำสอนให้พึ่งตนเอง ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน ทีนี้ถ้ามองในมุมมองของพุทธศาสนิกชนที่รับเอาแนวคิดการกราบไหว้รูปเคารพมาตั้งแต่บรรพชน พระพุทธรูปที่พวกเขากราบไหว้  คือผู้เป็นศาสดาของศาสนาที่ชาวพุทธทั้งหลายเคารพกราบไหว้ ที่พวกเขากราบไหว้ก็เพราะถือว่า ท่านเป็นครู  เป็นอาจารย์เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่เรา เพื่อการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับที่เรา ไหว้ครู  ไหว้กราบ พ่อแม่ ซึ่งเมื่อมองจากมุมดังกล่าว จะเป็นการหักหาญน้ำใจกันเพียงใดที่จะมีข้อห้ามในการราบไหว้รูปเคารพเหล่านี้ พระพุทธองค์คงไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะทรงเผยแผ่พระธรรมคำสอนด้วยวิธีการที่ไม่หักหาญความเชื่อดั้งเดิมของเขาแต่อย่างใด แต่จะทรงแสดงให้เห็นว่า อย่างไหนถึงจะเป็นการกราบไหว้บูชาที่ถูกต้องต่างหาก ดังเช่นเรื่อง ทิศทั้ง ๖ ก็ไม่ทรงบอกว่าทรงห้ามกราบไหว้ทิศเหล่านั้น แต่ทรงแสดงให้เห็นว่า ความหมายที่แท้จริงของทิศเหล่านั้นคืออะไร ทำนองเดียวกับเรื่อง รูปเคารพที่ผู้เขียนเห็นว่า แม้จะมีการกราบไหว้พระพุทธรูป แต่พระพุทธศาสนาก็ได้ทำหน้าที่อธิบายให้เข้าใจแล้วว่า พุทธแท้นั้นไม่ได้อยู่ที่องค์พระ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพุทธองค์ ที่ทรงสอนให้พึ่งพาตนเอง ต่างหากเล่า

๕.  สรุป
ผู้เขียนจึงเห็นว่าการมีพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้ศาสนาแย่ลงหรือบิดเบือนอะไรเลย สมัยพุทธกาลเวลาพระเถระสำคัญนิพพาน  พระพุทธเจ้าตรัสให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิให้คนผ่านไปมาสักการะ หรือตอนพระราชาเศรษฐีเมืองสาวัตถีพระอานนท์พระมหาโมคคัลลานะช่วยกันปลูกต้นโพธิ์เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงตอนพระพุทธเจ้าไม่อยู่วัดเชตวัน ตรงนี้แหละทำให้เราทราบว่า  พระพุทธเจ้าไม่ปฏิเสธการกราบไหว้สิ่งของแทนบุคคลเพื่อบูชาคนดี  แต่มีพุทธประสงค์ไม่ให้ลุ่มหลง พระองค์ตรัสว่า เจดีย์มีสามอย่างคือ  ธาตุเจดีย์  เจดีย์บรรจุพระธาตุ  อุทเทสิกเจดีย์  เจดีย์หรือสิ่งของตัวแทนให้ชวนระลึกถึงและบริโภคเจดีย์  เจดีย์บรรจุของใช้ของสอยส่วนตัว พระพุทธรูป ต้นโพธิ์จัดเป็นอุทเทสิกเจดีย์  ทำความเคารพกราบไหว้ได้  เพราะเราไม่ได้ไหว้สิ่งนั้น  แต่เราไหว้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีต่างหาก
ในปรินิพานสูตร กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าล่วงลับไปแล้วให้ทำยังไงกับพระธาตุของท่าน พระองค์ก็ไม่ได้ บอกให้เอาไปโยนทิ้งน้ำ แต่บอกให้ทำตามประเพณีที่ พระเจ้าจักรพรรดิทำกันคือการสร้าง เจดีย์ บรรจุอัฐิ ของพระพุทธเจ้า การสร้างรูปเคารพเพื่อบูชา ก็เป็นการทำตามประเพณี ของการบูชาพระเจ้าจักรพรรดิ การกระทำบ่อยๆ จะส่งผลให้จิตน้อมไปทางกุศล กลุ่มที่อ้างว่าพระพุทธรูปไม่ต้องกราบก็ได้ล้วนแต่ทำให้สะสมนิสัยสอนยาก ทำไปให้ใจหยาบกระด้าง น้อมไปทางกุศลได้ยาก ตรงข้ามกับกลุ่มที่กราบไหว้พระพุทธรูป เป็นการสะสมนิสัย ที่อ่อนน้อม ถ่อมตน สอนง่ายซึ่งนำไปสู่การสร้างศรัทธา ต่อศาสนาพุทธ ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่าย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ให้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม  ก็เพราะทรงเห็นว่า หากไม่มีพื้นฐานพวกนี้ การที่ปุถุชนจะกระทำตนให้บริสุทธิ์จนถึงโสดาบัน หรือแก่นธรรมใดๆ ตามอย่างพระองค์ยิ่งจะเป็นการยาก ซึ่งจะทำตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องเริ่มจากศรัทธาก่อนเป็นเบื้องต้น ดังนั้นสาระกับพิธีกรรมจึงต้องไปคู่กัน จะทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาของโลก พิธีจึงกรรมมีส่วนทำให้ศาสนายืนยาวมาจนปัจจุบัน แม้นักปราชญ์นอกพระพุทธศาสนาบางท่านก็เห็นด้วยกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ ขอยกเอาคำพูดของเซนต์ ออกัสตีน (St. Augustine) เป็นตัวอย่าง เขากล่าวว่า
"เราเข้าใจเพื่อจะได้เชื่อ และเราเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างเราไม่เชื่อจนกว่าจะเข้าใจ แต่ก็มีบางอย่างที่เราจะเข้าใจไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เชื่อเสียก่อน ปัญญาและศรัทธาจึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน" [๓] เพราะพระพุทธคุณ เป็นนามธรรม โดยหลักทั่วไปแล้ว การระลึกถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วนๆ สำหรับคนทั่วไปแล้วทำได้ยาก เหมือนระลึกถึงคุณพ่อคุณแม่ หากจะมีรูปท่านอยู่ด้วยจะให้ความรู้สึกแปลก คือให้ความซาบซึ้งมากกว่าที่คิดถึงในเชิงนามธรรมล้วนๆ ตามความจริงแล้ว ก็หาได้คิดอยู่เพียงรูปถ่ายของท่านไม่ รูปถ่ายท่านเป็นเพียงสื่อให้คิดได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง
แนวคิด การกราบ ไหว้ พระพุทธรูป เจดีย์ แท้จริงแล้วเรากราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเหตุผล แม้พระพุทธศาสนาไม่มีแนวคิดในการกราบไหว้รูปเคารพ  แต่ก็ไม่ปฏิเสธหากพุทธศาสนิกชนประสงค์จะกราบไหว้บูชา เพราะพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมากมายแม้จะสร้างด้วยอะไรก็ตาม หากผู้ไหว้ไม่ติดอยู่เพียงรูปเหล่านั้น รูปเหล่านั้นก็สามารถทำหน้าที่สื่อทางจิตใจเพื่อได้อาศัยรำลึกถึงพระพุทธเจ้า และพระพุทธคุณได้  การกราบไหว้พระพุทธรูปนั้นก็ไม่เหมือนการกราบไหว้รูปเคารพอย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน      เพราะพวกสร้างรูปเคารพประเภทนั้น ผู้ที่ตนนำมาสร้างเป็นรูปไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เป็นแต่คิดฝันขึ้น บอกเล่าสืบต่อกันมา ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากพวกที่ต้องการประโยชน์ จากความนับถือรูปเคารพเหล่านั้นของคนทั้งหลาย คนนับถือรูปเคารพจึงนับถือ เพราะการไหว้รูปเคารพ จึงเป็นการกระทำเพื่อ ๑. ประจบเอาใจรูปเคารพเหล่านั้น ไม่ให้ท่านโกรธ  ๒. ต้องการอ้อนวอน บวงสรวง ให้ท่านประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ตนต้องการ และพิทักษ์รักษาตน พร้อมบุคคลที่ตนต้องการให้รักษา แม้ว่าบุคคลบางคนจะไหว้พระพุทธรูป เพื่อต้องการของสิ่งที่ตนต้องการบ้าง แต่ไม่มีลักษณะของการประจบเอาใจต่อพระพุทธรูป เพื่อไม่ให้ท่านโกรธ อย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน พระพุทธรูปจึงไม่เหมือนกับรูปเคารพอย่างที่คนบางคนเข้าใจ”[๔]
ที่ผ่านมาพุทธจริยศาสตร์ได้ให้คำตอบเพื่อตัดสินว่า การกราบไหว้รูปเคารพในพระพุทธศาสนาสามารถทำได้หรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงความหลงใหลไปกับวัตถุ ที่ชาวพุทธยึดติดเอาไว้อย่างเหนียวแน่นอย่างที่พระพุทธองค์ไม่ทรงประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น 



บรรณานุกรม

พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ, คู่มือมนุษย์, กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด. ๒๕๕๕.
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ,ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา ๒, กรุงเทพมหานคร: พิมพ์
เผยแพร่เพื่อ เป็นพุทธบูชาและธรรมบรรณาการ, พ.ศ. ๒๕๒๒.
วศิน  อินทสระ,ตรรกศาสตร์พุทธศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมดา,๒๕๔๘.
สื่อออนไลน์, ธรรมะและศาสนา. https://www.dek-d.com/board/view/3025741/.
สืบค้นเมื่อ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๐.




[๑] นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
[๒] พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, คู่มือมนุษย์, (กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด. ๒๕๕๕),หน้า ๕๕.
[๓] สื่อออนไลน์,ธรรมะและศาสนา. https://www.dek-d.com/board/view/3025741/.สืบค้นเมื่อ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๐.
[๔] พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ,ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา ๒, (กรุงเทพมหานคร: พิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นพุทธบูชาและธรรมบรรณาการ, พ.ศ. ๒๕๒๒), หน้า ๒๓๐-๒๓๑.

ภาษาศิลปะที่ปรากฎในฮูปแต้มอีสาน


  "ภาษาศิลปะที่ปรากฎในฮูปแต้มอีสาน"

อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ

๑. บทนำ
.....ลักษณะลักษณะอันหนึ่งของความงามทางศิลปะ คือเรื่องของคุณค่าทางความงามในเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรียะและกฎเกณฑ์ทางศิลปะที่เกิดมาจาก ความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ในเรื่องความงาม การค้นหานิยามของความงามทางศิลปะ เช่น ศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม รวมถึงเกณฑ์อื่นที่จะนำมาใช้ตัดสินศิลปะว่าคืออะไรนั้นจึงมีความสำคัญ ในทางปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาภาษา ให้ความหมายของคำว่า ศิลปะไปไกลถึงเรื่องของการสื่อสารด้วยภาษาศิลปะ ซึ่งเป็นภาษาชนิดหนึ่งที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคำพูด ตัวอักษร หรือภาษากาย โดยสมมติฐานว่าถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ นั่นก็หมายถึง มันสามารถสื่อสารกับผู้ชมด้วยภาษาศิลปะได้ ผลงานชิ้นใดที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจด้วยภาษาศิลปะ เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้  ดังนั้น ความหมายของความงามจึงผูกติดอยู่กับภาษาศิลปะ ผลงานศิลปะใดที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นความงามผ่านภาษาศิลปะออกมาได้ดี ผลงานนั้นก็จะได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานศิลปะที่มีมีคุณค่า
          นอกจากภาษาศิลปะจะสื่อให้เห็นความงามแล้ว  ภาษาศิลปะยังสัมพันธ์กับสุนทรียธาตุอีกด้วย ในงานศิลปะทุกชนิดมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น  ซึ่งจะสามารถบรรลุได้ด้วยการที่ผลงานศิลปะนั้นมีสุนทรียธาตุ เช่น ความแปลกตา อารมณ์สะเทือนใจ ความประทับใจ เป็นต้น สุนทรียธาตุอาจแสดงออกให้ผู้ชมผลงานศิลปะสัมผัสได้ในหลายๆ ทาง เช่น ทางตัวอักษร เสียง ภาพ หรือ ภาพเคลื่อนไหว ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการแสดงตัวของภาษาศิลปะที่ศิลปินต้องการสื่อสารถึงผู้ชมผ่านผลงานศิลปะนั่นเอง ซึ่งประเด็นต่อไปจะพิจารณาว่า ภาษาศิลปะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับฮูปแต้มอีสาน ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของผู้คนชาวอีสานในอดีต

๒. ศิลปะในสิมอีสาน
มีงานศิลปะชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า สิม หรือ สิมอีสาน  Sim I San (Northeast Buddhist Holy Temple) คำนี้เป็นคำพื้นถิ่นอีสานเป็นชื่อเรียกอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม  ในพระวินัยเรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสภัคคะ บ้าง โดยทั่วไปเรียกเป็นภาษาปากว่า “โบสถ์” เรียกคำเต็มว่า “อุโบสถ” หรือ “โรงอุโบสถ” ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า “พระอุโบสถ” ขนาดและรูปแบบของอุโบสถไม่ได้มีกำหนดไว้ในพระวินัย  เพราะพระวินัยกำหนดสีมาให้เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสำหรับทำสังฆกรรม   อุโบสถเป็นเพียงอาคารที่สร้างคร่อมพื้นที่  สีมาเพื่อกันแดดกันฝน  มีสภาพเป็นอาคารถาวร  มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน  อุโบสถที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมี “สังฆกรรมเรียกว่า ผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมา” ก่อน สิมหรือโบสถ์  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” ท่านผู้รู้อธิบายถึงคำว่า “สิม” นั้น กลายเสียงมาจากคำว่า “สีมา” นั่นเอง[1]
นอกจากความหมายของ “สิม”ดังกล่าวแล้ว สิมยังประกอบได้ด้วยงานศิลปะหลายแขนงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) และประติมากรรมประดับตกแต่งสิม โดยเฉพาะฮูปแต้มนั้นมีความงดงามโดดเด่นยิ่งกว่าผลงานศิลปะแขนงอื่นๆ ช่างแต้มมักนิยมเขียนฮูปแต้มเหล่านี้ไว้ทั้งภายนอกและภายในสิม เรื่องราวที่ช่างแต้มนิยมเขียนอาทิเช่น พุทธประวัติ ชาดก วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน วิถีชีวิตผู้คนในอดีต และภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น
อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัยได้กล่าวในหนังสือเรื่องสิมม่วนซื่น ถึงวิธีในการทำ ฮูปแต้มเอาไว้ว่า กว่าจะได้ฮูปแต้มให้ดูได้ ขั้นตอนแรก ต้องไล่ความเค็มออกจากปูนก่อน เพื่อไม่ให้สีเพี้ยน โดยการเอาใบขี้เหล็กมาต้ม แล้วเอาน้ำที่ได้ไปฉีดที่ผนัง ทิ้งไว้ประมาณ ๗ วัน ก็เอาขมิ้นไปลองถูดู ถ้าขมิ้นไม่เป็นสีแดง ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ถ้ายังแดงอยู่ ก็ต้องทำซ้ำอีกครั้ง  ถัดไปก็เอาดินสอพองมาละลายน้ำ ล้างสิ่งสกปรกทิ้งไปแล้วแช่น้ำจนตกตะกอนนอนก้น แล้วถึงเอามาผสมกับกาวน้ำมะขามทารองพื้นบางๆ บนผนังที่เตรียมไว้ รอจนรองพื้นแห้ง ถึงจะเริ่มแต้มฮูปได้โดยร่างเส้นด้วยดินสอลงไปบนผนังก่อน  แล้วจึงลงสีพื้นเป็นสีขาว ๆ นวล ๆ ก่อนจะวาดภาพที่เป็นรายละเอียดอีกที และที่ทำยากมากก็คือ การหาสีมาวาด ซึ่งช่างแต้มต้องทำขึ้นมาเองจากสีธรรมชาติ เช่น สีครามจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ สีแดงจากหินและสีขาวจากการเผาเปลือกหอยกี้[2]
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า “ฮูปแต้มนั้นเป็นเพียงผลงานของชาวบ้านไม่ใช่ผลงานทางศิลปะ” ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็น่ารับฟังได้เพราะเมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับผลงานศิลปะอันประณีตอื่นๆ แล้ว ฮูปแต้ม ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของช่างพื้นบ้านที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากสกุลช่างใดๆเลย เป็นแต่เพียงชาวบ้านที่พอมีฝีมือในการวาดเขียนอยู่บ้าง หรือเคยได้ทำงานในวัดหัดวาดเขียนกับหลวงปู่หลวงตาแล้ว วันหนึ่งก็ได้รับเลือกให้มาช่วยวาดอะไรลงไปในสิม ที่ชาวบ้านนั้นแหละช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ช่างมืออาชีพในปัจจุบัน ฮูปแต้มจึงแสดงออกมาอย่างซื่อๆ ไร้มารยา เป็นผลงานที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่ควรจะด่วนตัดสินคุณค่าของฮูปแต้มในขณะนี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ละเอียด

๓.  ความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน

          ในหัวข้อนี้จะพิจารณาเกี่ยวกับความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน ฮูปแต้มเป็นภาษาอีสาน เป็นคำที่ใช้เรียกงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้ในการตกแต่ง สิม หรือ โบสถ์แบบอีสาน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอีสานคติในการสร้างฮูปแต้มเพื่อความงามนั้นมีมานาน ดังเนื้อความในลำพระเวส(เวสสันดรสำนวนอีสาน) กัณฑ์มัทรี ซึ่งปริวรรตจากอักษรธรรมโดยอาจารย์เคน ลาวงศ์เนื้อความกล่าวถึง การรำพันรักที่พระเวสสันดรมีต่อพระนางมัทรีว่า หากนางมัทรีตายจะสร้างโลงบรรจุศพและจะตกแต่งโลงด้วยลวดลายและรูปเขียนต่างๆ[3]
          “บ่สมควรตายพี่นอ ผิว่านางมัททีเมือตาย เมืองแก้วกู่ประเชชัยเวียงกว้าง พี่จักสร้างใส่ไม้โลงลายลวง ภายบนพี่จักใส่ปาสาทแป้นปูลาดพี่จักใส่ลายลวง ดวงปีพี่จักใส่ช่อฟ้า ก้ำหน้าพี่จักแต้มลายวัลย์ ทันกลางพี่จักแต้มฮูปกินรีนะรอนนอนเทียมคู่เกาะเกี้ยวอยู่เวหา ลวงหน้าพี่จักแต้มฮูปนาคาลวงเล่น พี่จักแต้มฮูปท้าวแอ่นนำสาว ทางยาวพี่จักแต้มฮูปลายเครอวงวาด ตีนผาสาดที่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพี่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพ่จักใส่ดอกผักแว่น แป้นอัดหน้าพี่จักใส่ลายจีน ตีนธรณีพี่จักแต้มฮูปเทวดามาถือธุงชัยเดียรดาษ ถัดนั้นพี่จักแต้มฮูปจักรวรรดิราชมา แกว่งจามรดั่งลือ”[4]
          เนื้อความดังกล่าวนี้มีรสทางวรรณคดีสูง แสดงให้เห็นว่าคนอีสานเป็นคนที่มีรสนิยมใช้ฮูปแต้มตกแต่งวัสดุและอาคารต่างๆ คตินิยมนี้ยังคงตกทอดมาให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การวาดภาพบนผืนผ้าผะเหวด และวาดฮูปแต้มบนผนังสิมนอกจากนี้ ผู้ชายอีสานในสมัยก่อนยังนิยมสักลายตามร่างกายเพื่อความงามและความเชื่อของตนอีกด้วย[5]
          ฮูปแต้มบนผนังสิมมาจากภูมิปัญญาและฝีมือของช่างแต้มที่สั่งสมเรียนรู้กันมา ทั้งในด้านการออกแบบ กลวิธี และการใช้วัสดุอุปกรณ์ ฮูปแต้มสะท้อนความคิดเห็นของช่างแต้มอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในผลงานของช่างคือ ความสามารถ ภูมิรู้ และทรรศนะเกี่ยวกับความงามของช่างและชาวบ้านและเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของชุมชนไว้[6]
         

๔. ภาษาศิลปะคือความงามที่ปรากฎในฮูปแต้มสิมอีสาน
          ประเด็นต่อไปผู้เขียนจะพิจารณาเรื่อง ภาษาศิลปะผ่านฮูปแต้มที่สำคัญได้แก่ ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาษาศิลปะที่ปรากฏอยู่ในฮูปแต้มดังกล่าว
ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ถือว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาสิมอีสานที่มีอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร ชาวอีสานเรียกว่า ผะเหวด เป็นการเรียกชื่อ พระเวสสันดร ตามสำเนียงอีสาน พระเวสสันดรนั้นถือว่าเป็นมหาชาติหรือชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอดีตชาติของพระพุทธองค์ จึงพบได้ทุกภาค ทุกภาษาถิ่นของไทยนับพันสำนวนและในศิลปะนานารูปแบบ อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย กล่าวไว้ว่า
 “ที่ทำให้ฉันแปลกใจตอนตามดูฮูปแต้มในสิมต่างๆ ก็คือ ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังของภาคอื่นเท่าที่เคยดูมานั้น นิยมเขียนทศชาติชาดกครบหรือเกือบครบทั้ง ๑๐ ชาติโดยอาจจะให้เนื้อที่กับพระเวสสันดรเท่ากับหรือมากกว่าชาติอื่นๆ แต่ฉันพบว่าฮูปแต้มในสิมอีสานแทบไม่เขียนถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์องค์อื่นเลย มีน้อยวัดมากจริงๆ ที่จะพูดถึงชาติอื่นๆ ด้วย และถ้ามี ก็มักจะให้เนื้อที่นิดเดียวและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่”[7]
          มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[8] ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ยังคงสีสันที่ยังสดใสอยู่และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แม้บางรูปจะลบเลือนไปแต่ก็นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สามารถเห็นถึงความงามและคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้
          ยกตัวอย่างฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ ชูชก วัดสนวนวารีพัฒนาราม เป็นภาพชูชกดื่มกินจนท้องแตกตาย สื่อให้เห็นชัดด้วยการวาดภาพตัวชูชก ให้ใหญ่จนคับศาลา   ฮูปแต้มกัณฑ์ชูชกนับว่าเป็นความงามที่แสดงออกซึ่งภาษาทางศิลปะอย่างชัดเจน
          เรื่องราวมีอยู่ว่า ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปนะ ฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเพื่อแสวงหาทรัพย์อีก เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้น จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชกไป ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์อย่างดี ครั้งนั้นพวกพราหมณ์หนุ่มๆ เหล่าอื่นเห็นอาจารสมบัติของนางจึงคุกคามภรรยาของตน ๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราอย่างดี  พวกเจ้าทำไมละเลยต่อเราทั้งหลายภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้วจึงไปประชุมกันด่านางอมิตตาปนาที่ท่าน้ำ[9] “นางจึงขอให้ชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นคนรับใช้”[10]
          ตามเนื้อความที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า ภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นอำนาจของความรักที่ชูชกมีต่อนางอมิตตตาปนาอย่างสุดซึ้ง ความงามนั้นได้แสดงผ่านตัวเอกในเรื่องนี้คือชูชก ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวท่าทางตลก แสดงให้เห็นถึงการสร้างความเพลิดเพลินให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แล้วประเมินคุณค่าของมัน เช่น เราประเมินคุณค่าของฮูปแต้มพระเวสสันดรกัณฑ์ชูชกว่างาม เพราะเราถ่ายทอดความเพลิดเพลินที่ได้รับจากลักษณะของชูชกลงไปในฮูปแต้มพระเวสสันดร กัณฑ์ชูชกนั้นเอง หากไม่แสดงผ่านฮูปแต้มของชูชกเราก็จะไม่สามารถเข้าใจถึงลักษณะของความงามที่ปรากฏในตัวของชูชกได้เลย


๕.  บทสรุป

             เมื่อเราพูดถึงความงามในเชิงสุนทรียะ  เราไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องของความงามที่เกิดจากวัตถุทางศิลปกรรมอันเป็นผลงานของมนุษย์เท่านั้น  ยังรวมถึงสิ่งต่างๆ  ในธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ผลงานสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ก็มีความงามได้เช่นกัน  เช่น ทิวทัศน์ชายทะเลแห่งหนึ่งเรารู้สึกว่ามีความสวยงาม หรือท้องฟ้ายามรุ่งอรุณในที่บางแห่งและในภาวะของอากาศบางวันอาจจะงามและน่าทึ่งอย่างมากก็ได้ “คำว่า สุนทรียะนี้ ศิลปินได้กล่าวไว้ว่าทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมมีสุนทรียะในตัว ถ้าหากว่าเราผู้ดู เป็นผู้เข้าใจมอง ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่เป็นสุนทรียะ”[11]  ที่เราเห็นอย่างนั้นก็เพราะสิ่งนั้นมีลักษณะที่สื่อออกมาผ่านทางภาษาศิลปะเป็นความงาม ดังพุทธพจน์ความว่า “สิปฺปญฺจ วินโย จ สุสิกฺขิโต” แปลว่า “ ศิลปะเป็นมงคลอย่างหนึ่ง วินัยที่ฝึกมาดีแล้วก็เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง” เรื่องพระศรีลังกาทำสมาธิแล้วไม่ได้ผลแต่พอได้ยินเสียงเพลงขับของเด็กเลี้ยงวัว จิตกับหลุดพ้นสว่างโพลงได้อย่างน่าประหลาด ท่านเล่าเพื่อแสดงว่า “นี่คือตัวอย่างอานุภาพของศิลปะ” ตามตัวอย่างนี้ ท่านผู้อ่านก็คงมองเห็นว่า อานุภาพของศิลปะคือการช่วยยกชีวิตของคนเราให้สูงขึ้นทั้งในทางความคิดและทางคุณธรรม[12]
       ฮูปแต้มที่ปรากฏในสิมอีสานทั้งสองแห่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างก็เช่นกัน เรื่องราวทางความคิดความเชื่อ ความศรัทธา และความดีของบุคคล เรารู้สึกรับรู้มันได้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความงาม ก็โดยที่มันสื่อสารกับเราผ่านภาษาทางศิลปะเท่านั้น สมมติเราตั้งคำถามว่า เมื่อขาดอายตนะใดอายตนะหนึ่งไปเราจะยังรับรู้ความงามของศิลปะบนฮูปแต้มได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ภาษาศิลปะไม่ถูกจำกัดด้วยอายตนะแต่เกิดร่วมกับความดีงาม ฮูปแต้มเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ศิลปินสื่อสารผ่านภาษาศิลปะเท่านั้น ยังมีการแสดงออกทางภาษาศิลปะอีกหลายวิธีเพื่อสื่อความดีงาม ความเชื่อความศรัทธา หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ศิลปินสามารถสื่อเรื่องราวเดียวกันนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หรือนำไปใส่ไว้ในประติมากรรม แต่ภาษาศิลปะนั้นจะต้องไม่แยกต่างหากจากความดีงาม ความเชื่อ ความศรัทธา ดังที่อริสโตเติลเรียกร้องให้งานศิลปะต้องมีอิทธิพลทางศีลธรรมต่อประชาชน ความงามและความดีงามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน[13]  ตัววัตถุทางศิลปะจะเป็นฮูปแต้ม หรือเป็นดนตรี ดังตัวอย่างข้างต้นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์คล้ายๆ ตัวอักษร แต่ภาษาศิลปะนั้นเป็นนามธรรมมองไม่เห็นได้ด้วยตาหรือายตนะ แต่ก็มีอยู่จริงในโลกอีกแห่งหนึ่ง คือโลกของศิลปะ ที่ใครก็สามารถหยิบฉวยเอามาใช้ได้แม้ไม่เคยทำงานศิลปะเลยก็เป็นศิลปะได้ หากเขาสามารถสื่อสารออกมาให้ผู้คนได้รับรู้ถึงอารมณ์นั้น ผลงานทางศิลปะอันทรงคุณค่าทั้งหลายก็เช่นเดียวกันนี้ คือ มันจะมีคุณค่าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่ามันสามารถแสดงออกให้ผู้ชมได้เข้าถึงมันแค่ไหน ฮูปแต้มสิมอีสานที่เราได้ร่วมกันพิจารณามาตัวแสดงทุกตัวที่ปรากฏอยู่นั้น ล้วนแต่แสดงออกให้เราได้เห็นทั้งสิ่งที่มีอยู่จริงและสิ่งที่เป็นความคิด ซึ่งมีอีกมากมายหลายตัวอย่างเกินกว่าบทความนี้เพียงบทความเดียวจะแสดงให้เห็นได้ ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้พยายามนำมาเสนอเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นสุดท้ายก็คงต้องให้ท่านผู้อ่านพิจารณาฮูปแต้มสิมอีสานแห่งอื่นๆ ต่อไป
         




บรรณานุกรม
๑. ภาษาไทย
ก .ข้อมูลปฐมภูมิ
พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
     ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
(๑) หนังสือ:
ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖.
ลีโอ ตอลสตอย, ศิลปะคืออะไร, สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.
    พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง ๒๕๓๘.
    กรุงเทพมหานคร:๒๕๔๘.
เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓.
สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลา
               วงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การ
                สงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.
สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,
              ๒๕๔๘), หน้า ๙.
ศิลป์  พีระศรี, ศิลปะวิชาการ๓ ศิลปะสงเคราะห์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
    อนุสรณ์. ปทุมธานี: ๒๕๕๓.
สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.
อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓,



     [1] ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, (อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖), หน้า ๑๖-๑๗.
      [2]อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, (กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓),หน้า ๑๑-๑๓.
     [3]สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘), หน้า ๙.
     [4]สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลาวงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.หน้า ๘๔-๘๕.
     [5]สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, หน้า ๙.
     [6]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๔.
     [7] อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย, ซ่อนไว้ในสิม,  หน้า ๑๕๑.
     [8] ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑๐/๕๔๗/๒๘๗.
     [9]ขุ.ชา.อ.(ไทย) ๑๐/๖๓๖.
     [10] อ้างแล้ว
[11] เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, (กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓),
หน้า ๑.
[12] สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.หน้า ๘.
[13] ลีโอ  ตอลสตอย,ศิลปะคืออะไร,สิทธชัย กระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.พิมพ์ครั้งที่ ๒.สำนักพิมพ์คมบาง.กรุงเทพมหานคร: ๒๕๓๘.หน้า ๑๘๗-๑๘๘.

เขียนเมื่อ 9 มิ.ย.60

ปรัชญาเต๋า


ปรัชญาเต๋า

...เล่าจื่อ เขียนคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเพียงเพราะมีคนขอให้เขียน แต่ภายหลังคัมภีร์เล่มนี้มีความสำคัญและเป็นรากฐานของปรัชญาจีน แนวคิดแบบเต๋าเป็นแบบธรรมชาตินิยม เช่นเดียวกับพุทธนิกายเซ็น ปกติปรัชญาจีนจะไม่สนใจปัญหาอภิปรัชญา และค่อนข้างจะออกไปทางจริยศาสตร์ แต่คัมภีร์เต๋าเต๋อจริง อาจเรียกได้ว่า เป็นอภิจริยศาสตร์ (Meta Ethics) ในปรัชญาจีนเลยทีเดียว
...เล่าจื่อ เป็นเมธีจีนคนแรกที่สอนเรื่องสิ่งสัมบูรณ์แห่งจักรภพ ที่มิใช่พระเจ้ามีตัวตนอย่างศาสนาเทวนิยม แต่เล่าจื่อเรียกว่า "เต๋า" แปลง่ายๆว่า "ธรรมชาติ หนทาง กฎจารีต ฯลฯ เต๋าคือสมุฏิฐานของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งในทรรศนะของเล่าจื่อคือ ธรรมชาติสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอมตภาวะไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับในเต๋านี้
...ถ้านำเต๋าไปเปรียบเทียบกับคำสอนในปรัชญาพราหมณ์ "เต๋า"ก็คือพรมหณ์ในคัมภีร์ภควัทคีตานั่นเอง.

อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ

ความเรียงเรื่อง “จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐาน”


ความเรียงเรื่อง “จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐาน”

อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ[๑]
         
         
...ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็กล่าวไว้และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญว่า หนทางเดียวเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ บรรลุพระนิพพาน คือการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาจึงดำเนินเรื่อยมาและไม่เคยมีผู้สงสัยจะตั้งคำถามกับวิธีปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ว่า สามารถทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริงหรือไม่และ จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานซึ่งคำตอบก็มีทั้งฝ่ายที่บอกว่าจำเป็นและบอกว่าไม่จำเป็น

          ฝ่ายแรกสนับสนุนว่า จำเป็นที่พระต้องปฏิบัติกรรมฐานเพราะพระพุทธศาสนามีหลักอยู่ว่า มนุษย์ต้องฝึกฝนตนเอง มนุษย์ที่ฝึกฝนตนเองแล้วก็จะประเสริฐในมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายซึ่งอาจตีความได้ว่าหากไม่ฝึกฝนตนเองแล้วก็ไม่แตกต่างจากสัตว์ทั่วๆไป เพราะอีกด้านหนึ่งมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณแบบเดียวกับสัตว์ เมื่อพระพุทธศาสนามีหลักเช่นนี้ การปฏิบัติกรรมฐานจึงถูกคิดขึ้นไว้ให้พระภิกษุสงฆ์รวมถึงพุทธบริษัทอีก ๓ บริษัท นำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการฝึกตนเอง

          ฝ่ายที่สองคัดค้านว่า "ไม่จำเป็นที่พระต้องปฏิบัติกรรมฐานเสมอไป โดยยกเหตุผลว่า จริงอยู่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องฝึกฝนตนเอง แต่ไม่ควรเข้าใจว่ามนุษย์ต้องปฏิบัติกรรมฐานเวลาเราขับรถหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เราต้องการเพียงมีสติในระดับพื้นฐานก็เพียงพอ นอกจากนี้ในชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า พระองค์เองเคยเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์มามากมายหลายครั้งจึงทำให้พระองค์นั้นได้มาบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ ก็ย่อมฝึกตนเองให้เป็นผู้ที่กลายมาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงสุดได้ แต่การปฏิบัติดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำนั้นก็ไม่ควรเข้าใจว่าต้องเป็นการปฏิบัติกรรมฐาน เช่น ในสมัยหนึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เกิดเป็นพยานาคชื่อภูริทัต รักษาศีล และด้วยอานิสงค์ของการักษาศีลนั้นก็ทำให้พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีลบารมีในพระชาติที่มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

          เรื่องนี้แสดงให้เห็นข้อถกเถียงกันในประเด็นว่า การฝึกตนเองมิใช่การปฏิบัติกรรมฐานเท่านั้น แต่อาจเป็นการกระทำอย่างอื่นก็ได้ เช่นการให้ทาน การรักษาศีล ทั้งนี้เพื่อความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติกรรมฐานเสมอไป แต่ฝ่ายที่เห็นว่าจำเป็นโต้แย้งว่า การปฏิบัติกรรมฐานจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาสติปัญญา ทั้งในส่วนของการควบคุมสติอารมณ์ และการเจริญปัญญาตามลำดับ โดยเสนอแนวคิดว่าในส่วนของการพัฒนาสติ สติควรมีสองระดับ คือ ๑) สติระดับสัญชาตญาณ (Instinct) และ๒) สติระดับคุณธรรม (Moral) สติทั้งสองนี้แม้จะมีชื่อเรียกว่าสติเหมือนกันแต่แสดงออกแตกต่างกัน สติระดับสัญชาตญาณทำให้มนุษย์สามารถควบคุมการกระทำในการดำรงชีวิตทั่วๆไป เป็นสติในระดับปัจเจกบุคคล ส่วนสติในระดับคุณธรรมทำให้มนุษย์ดำเนินวิถีแห่งคุณธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติสุขเป็นสติในระดับสังคม ในส่วนของการพัฒนาปัญญา ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติได้ทั้งนี้จะมาถึงขึ้นนี้ได้ก็ด้วยการฝึกกรรมฐานตั้งแต่ต้นเป็นลำดับไป

          ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแรก และเห็นว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานเท่า เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวว่า "มีพระรูปหนึ่งเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้วระลึกเห็นแจ้งว่าโลกนี้ไม่ควรยึดมั่นสิ่งใดๆ เพราะในที่สุดแล้วทุกคนก็ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเดียวกันคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตนของเรา ของเขา การระลึกเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอะไร อาศัยเพียงอายตนะคือการเห็น และการมีสติระลึกในระดับคุณธรรมก็สามารถทำได้ ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆไป ก็ทำได้ด้วยการมีสติระดับสัญชาตญาณ อย่างเช่น นกบินอยู่บนฟ้ารู้ว่า ตอนนี้ฝนกำลังจะตกต้องรีบหาที่หลบฝน ไม่จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัตินกก็สามารถระลึกได้ด้วยสัญชาตญาณของมัน ดังนั้นการปฏิบัติกรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่เกินไปกว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ การควบคุมความคิดของตนด้วยการบังคับใจให้หยุดคิดก็เท่ากับการสะกดจิตตนเอง เป็นการฝืนธรรมชาติของจิต เป็นการบิดเบือนจิตออกไปจากธรรมชาติที่แท้จริง ผลที่ได้อาจไม่ใช่ผลดีต่อมนุษย์ ผู้เขียนเคยอ่านในคัมภีร์ว่าด้วยวิปัสสนากรรมฐานเมื่อสมัยไปฝึกปฏิบัติเป็นพระวิปัสสนาจารย์ว่า “หากฝึกไม่ถูกวิธีก็อาจวิปลาส หรือเป็นบ้า สติฟั่นเฟือนได้ ทำไมเราจึงต้องเสี่ยงกันถึงขนาดนั้นเพื่อที่จะให้มีคุณธรรมสูง แค่เพียงไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ไม่กล่าววาจาว่าร้าย ไม่เสพของมึนเมาและตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี อื่นๆ ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าของเราอีกมากมายเพียงเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตที่ดี” การรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น การรู้จักรักผู้อื่น ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ การพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี การวางตนไว้เหมาะสมเมื่อถึงคราวที่ช่วยอะไรเขาไม่ได้ เท่านั้นผู้เขียนก็ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรมอันยอดเยี่ยมแล้วและยังคิดว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นเสียยิ่งกว่า เข้าไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ เดินวนไปวนมาเพื่อกำหนดสติให้ทันการก้าวเท้า เรามัวแต่นั่นดูลมหายใจเข้าออกในขณะที่เด็กๆ อดอยากยากจน เราเดินจงกลมอย่างสงบเงียบในป่า ในขณะที่ผู้คนกำลังโหยหาอาหารเพื่อประทังชีวิต สัตว์ทั้งหลายถูกฆ่า ถูกทำร้ายทำลายไปอย่างไร้เมตตาปราณีแต่เรายังมัวปิดตาภาวนาให้เขาพ้นทุกข์ พอเหนื่อยก็ลุกขึ้นไปนั่งกินเลือดเนื้อของพวกเขา แล้วจะปฏิบัติไปทำไม

          จากความเห็นนี้ไม่ได้หมายถึงว่าผู้เขียนเห็นว่า “พระสงฆ์ไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐาน” แต่เป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่าเมื่อเราจะกล่าวว่า พระสงฆ์ “จำเป็น” ต้องปฏิบัติกรรมฐานหรือไม่? นั้นเป็นคำที่สามารถตอบได้สองนัย ความหมายของคำว่า “จำเป็น” คือ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างอื่นได้ หรือขาดไม่ได้เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เช่น มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยอากาศหายใจ สัตว์ต้องกินอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย หรือ เด็กชาย ก. จำเป็นต้องเรียนหนังสือ เพราะถ้าไม่เรียนก็จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นต้น  เมื่อนำมาวิเคราะห์ข้อความในประโยคที่ว่า “จำเป็นหรือไม่ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติธรรม” นั่นก็หมายถึงว่า “ ฝ่ายที่เห็นว่า “จำเป็น” จะต้องเข้าใจว่า “เป็นสิ่งที่พระสงฆ์ไม่ทำไม่ได้ หรือขาดไม่ได้” แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติกรรมฐานในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ไม่ใช่ข้อบังคับ หรือพุทธบัญญัติ และไม่มีข้อความใดในพระวินัยบังคับให้พระภิกษุต้องปฏิบัติกรรมฐาน  แต่ทรงแสดงไว้ว่า “การฝึกฝนตนเองนั้นมีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การรักษาศีล เจริญสมาธิ ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของมัน”

          สิ่งที่จำเป็นอาจไม่ใช่การปฏิบัติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว แต่พระสงฆ์จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง กฎมหาเถรสมาคม ขนบธรรมเนียมประเพณี นี่จึงเรียกว่าจำเป็น  หากไม่ปฏิบัติก็จะต้องอาบัติ ต้องโทษต่างๆ กันไป จึงจำเป็นที่พระทุกรูปต้องปฏิบัติตาม ส่วนการเจริญกรรมฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือวิธีการอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนั้น “จำเป็นต่อเมื่อไม่สามารถหาวิธีอื่นได้” แต่ถ้าพระสงฆ์จะปฏิบัติก็จะเป็นการดี และสามารถเลือกทำได้ซึ่งมีหลายวิธี ดังที่ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานสูตร ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พระสงฆ์ก็จะได้อานิสงค์ของการปฏิบัติกรรมฐานนั้นๆ ไปจนตลอดจนบรรลุพระอรหันต์เป็นขั้นสูงสุดแต่ไม่ได้หมายความว่า “ การจะบรรลุพระอรหันต์นั้นมีเงื่อนไขเดียวว่าต้องปฏิบัติกรรมฐานจึงจะบรรลุพระอรหันต์ได้เท่านั้น" เพราะความเป็นจริงปรากฏว่า “พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระสาวกหลายคนด้วยวิธีการใช้ภาษา หรือการเทศนาธรรมเท่านั้น ก็สามารถทำให้พระสงฆ์บรรลุพระอรหันต์ได้เช่นกัน  ส่วนใครที่ปัญญาน้อยไม่อาจฟังธรรมของพระพุทธองค์เข้าใจได้ ก็ทรงให้ใช้ความเพียรมากต้องบำเพ็ญกุศลผลบุญ และปฏิบัติกรรมฐานควบคู่ไปด้วย อย่างพระโมคคัลลานะและพระสาวกองค์อื่นๆ จนในภายหลังได้บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่สองที่เห็นว่า “ไม่จำเป็นเสมอไป”ที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานหากท่านเข้าใจในหลักธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนำมาปฏิบัติได้ถูกต้อง เช่น ยสะกุลบุตร เพียงแค่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เข้าใจจนบรรลุมรรคผล ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพียงแค่ได้ฟัง อนัตตลักขณสูตร ก็บรรลุพระอรหันต์  เป็นต้น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว.




                [๑] นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...