วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อำนาจแห่งความตาย


โดย. พระสมุห์อดิเรก อาทิจฺจพโล 

...ข้อความในคัมภีร์อุปนิษัท(Brihad Upanisads)ของศาสนาพราหมณ์ จารึกไว้ว่า " เมื่อตอนกำเนิดสรรพสิ่ง พระเจ้าได้เกิดขึ้นท่ามกลางความมืดและพบว่าตนเองอยู่เพียงลำพังจึงนึกประหวั่นใจ จึงได้นึกให้มีมนุษย์และสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาเป็นเพื่อน พร้อมสร้างอาหารเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องบรรเทิงใจของพระองค์ ทรงสร้างอะไรต่อมิอะไรตามฉายาของพระองค์ สิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาคือ มฤตยู หรือ ความตายคือ กับดักที่ขังสรรพสิ่งเอาไว้ข้างใน ด้วยความมืด ความหิว และความตายนี้เองที่ทำให้สรรพสัตว์ต้องหลงวนเวียนติดอยู่  มนุษย์และสัตว์ที่เกิด แก่ เจ็บ และลงท้ายด้วยความตาย จึงไม่สามารถหนีพ้นไปจากวัฏจักรนี้ไปได้ชั่วนิจนิรันดร์
...ความเชื่อนี้ในคริสต์ศาสนา ชาวคาทอลิก เชื่อว่า “ความตาย” คือภาวะที่ร่างกายและวิญญาณแยกออกจากกัน มนุษย์เกิดมาครั้งเดียว และตายครั้งเดียว เมื่อตาย ร่างกายซึ่งเป็นสสารจะสลายกลายเป็นธุลีตามเดิม ขณะที่วิญญาณซึ่งแยกออกจากร่างกายจะถูกนำไปพิพากษาทันทีตามบาปบุญของตน ชาวคาทอลิกยังมีความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพภายหลังความตาย คือ มนุษย์จะถูกตัดสินโทษบาปของตนครั้งแรก เมื่อตายภาวะวิญญาณที่แยกออกจากร่างกาย และถูกนำไปยังสวรรค์ หรือสถานไฟชำระ (นรก) ตามบาปบุญของตนเอง
...แต่ชาวมุสลิมเชื่อว่า ความตาย คือ การกลับสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระอัลเลาะฮ์ ซึ่งเรียกว่า “อายัล” เมื่อชาวมุสลิมทราบข่าวการตายของมุสลิมไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม ก็จะกล่าวข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานว่า “แท้จริงเราเป็นของอัลเลาะฮ์ และแท้จริงเราเป็นผู้กลับไปหาพระองค์” 
ความตายตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่า มิใช่การดับสูญหรือการสูญเสีย แต่เป็นการเคลื่อนย้ายสถานที่จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง และถือว่าเนื้อแท้ของมนุษย์มิใช่เรือนร่างอันเป็นวัตถุแต่เป็น “วิญญาณ” (รูห์) ซึ่งยังคงสภาพอยู่ และเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายไปสู่ชีวิตใหม่
...สำหรับพุทธศาสนา ชาวพุทธ มีความเชื่อว่าความตายเป็นการดับของขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร เมื่อขันธ์ 5 ดับ คือกายกับจิตดับลง จุดนั้นเรียกว่าความตาย ในทางการแพทย์ให้ความหมายของความตายว่า “หัวใจหยุดเต้น” หรือ “สมองหยุดทำงาน” จึงจำกัดอยู่เฉพาะทางกาย หรือรูป เท่านั้น ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มุ่งเน้นเฉพาะมิติทางกาย แต่ในทางพุทธศาสนา ความหมายของความตาย ไม่ใช่เฉพาะทางกาย แต่ยังรวมถึงการดับลงของจิตด้วย ดังนั้น แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในทางพุทธ จึงต้องดูแลครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ
...เมื่อนำแนวคิดของทั้งสี่ศาสนามาวิเคราะห์และพิจารณาจะเห็นว่า ทุกศาสนามีลักษณะที่แตกต่างและเหมือนกันอยู่หลายข้อ ความเหมือนและความต่างกันนี้มองได้สองด้าน คือ ๑). มีความเห็นว่า ความตายคือ การที่ร่างกายและจิต ดับ  ๒). ความตาย คือ กายสูญสลายแต่จิตจะไปสู่นรกและสวรรค์ตามกำลังบุญและบาป  และ ๓). ความตายคือการเคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่งกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ที่เหมือนกันก็คือการยอมรับว่ามีจิต นั่นเอง จิตเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความตายขึ้น 
....พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า " เกิด แก่ เจ็บ ตาย" เป็นความทุกข์ยากของมนุษย์ แม้ตายไปแล้วก็ไม่อาจพ้นไปได้ แต่ไม่ทรงยอมจำนนกับความตาย และทรงพิจารณาเห็นถึงเหตุของการเกิด อันเป็นต้นตอของความตายนั้น และทรงค้นพบว่า " ความตายนั้นน่ากลัว หากตายไปโดยไม่รู้ความจริงของชีวิตคืออะไร"
...เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือชีวิต และชีวิตควรดำเนินไปอย่างไร เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไรนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายติดกับดักของมฤตยู และไม่สามารถหลุดออกไปได้ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร สุดท้ายก็จบลงด้วยความตาย แล้วความตายนั้นเองก็เป็นเหตุให้ต้องกลับมาเกิดอีกไม่รู้จบสิ้นสักที นี่แหละอำนาจของมฤตยู หรือ ความตาย
 ... ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลกนับตั้งแต่อดีตมา ล้วนตกอยู่ในข่ายนี้ทั้งนั้น จะมีเล็ดรอดหลุดออกจากวัฏจักรนี้เพียงไม่กี่ท่าน ทั้งนี้ก็เพราะท่านเหล่านั้นรู้ถึงอำนาจของความตายแล้วอย่างแจ่มแจ้งไร้ข้อกังขาใดๆ จึงรีบเร่งชำระจิตใจของตนเองจนหลุดพ้นไปจากอำนาจความตายได้ แต่ก็มีหลายท่านเช่นกันที่ไปได้เพียงชายขอบของแดนแห่งความตายและพ่ายแพ้ที่ตรงนั้น นั่นเพราะเหตุใดวานท่านทั้งหลายช่วยตอบด้วยแล้วกัน.  

บทความพิเศษ "พระราชมุกดาหารคณี (ยอด ยสชาโต) พระมหาเถระผู้เป็นที่รักของชาวมุกดาหาร"


พระราชมุกดาหารคณี(ยอด ยสชาโต)
...พระราชมุกดาหารคณี (ยอด ยสชาโต) หรือหลวงตายอดมีนามเดิมว่ายอด บรรเทิงใจ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2475 เป็นพระที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดและอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา เด็ก,เยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติตนเป็นคนดีจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของศิษยานุศิษย์

...ท่านเจ้าคุณฯเป็นพระมหาเถระที่เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาช้านานจนถึงปัจจุบัน" เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ให้เจริญในพระพุทธศาสนาเป็นพระนักพัฒนาที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่ได้ชื่อว่ามีศีลาจารวัตรที่งดงามซึ่งถ้าจะกล่าวถึงเกียรติคุณของท่านเจ้าคุณฯ นั้นมีมากมายเหลือคณานักและเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของพระอุปัชฌาย์(เป็นพ่อของพ่อ)ผู้ให้กำเนิดพระภิกษุตามพระธรรมวินัย


 ตอนอุปสมบท ผู้ที่ไปตัดปอยผมให้อาตมาเป็นคนแรกก็คือหลวงตายอด นี่แหละครับ ยังจำได้ดี ปีนั้นเป็นปี 2553 พระอุปัชฌาย์พาท่านมาเป็นประธาน ผมจำไม่ได้ว่าเป็นรูปที่เท่าไหร่แต่จำได้ว่า "พวกเราเดินเข่าเข้าไปก้มศรีษะแล้วให้ท่านตัดปอยผมให้ก่อน จากนั้นถึงจะออกมาให้โยมคนอื่นๆ ตัดบ้างแล้วจึงให้พระอาจารย์โกนผม" การบวชครั้งนั้นเป็นการบวชหมู่ใหญ่ในโครงการธรรมทายาท บวช ๑๐๐,๐๐๐ รูปทั่วไทยซึ่งที่มุกดาหารมีพระบวชกันราวๆ ร้อยกว่า ตอนนี้ไม่รู้ว่าเหลือที่ยังเป็นพระอยู่สักกี่รูปแต่ที่แน่ๆ พอครบพรรษาแรกเห็นสึกกันเกือบหมดมีเหลือไม่ถึงสิบรูป 
...ตอนที่เรียนปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ที่วัดศรีมงคลใต้ " นิสิตจะได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านเจ้าคุณฯเป็นพิเศษ เนื่องด้วยห้องพักรักษาตัวของท่านอยู่อาคารเดียวกับห้องเรียน"หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ของอาตมา คือ ท่านพระครูประจักษ์บุญญาธร เจ้าคณะอำเภอเมืองมุกดาหาร ในฐานะที่ท่านเป็นผู้คอยดูแลท่านเจ้าคุณฯมาโดยตลอดจะพานิสิตเข้าไปกราบท่านอยู่บ่อยครั้ง
...ก่อนเข้าพรรษาคณะสงฆ์อำเภอคำชะอี "จะเข้าไปทำพิธีสามีจิกรรมพระมหาเถระทุกปีมิได้ขาด"และถือว่าเป็นกิจวัตรที่ต้องกระทำก่อนแยกย้ายกันไปอธิษฐานพรรษาตามวัดของตนต่อไปแม้ในช่วงหลังๆท่านจะไม่สามารถออกมารับสามีจิกรรมได้เพราะอาพาธแต่คณะสงฆ์อำเภอคำชะอีก็ไปทุกปี
                ...ได้ข่าวว่าท่านเจ้าคุณฯสิ้นแล้วด้วยอาการสงบหลังจากที่เข้ารับการรักษาอาการป่วยมายาวนานเมื่อวันที่19 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 14.05 น.และทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ในวันที่ 21มิ.ย.60 นี้ ที่วัดศรีมงคลใต้ อ.เมือง จ.มุกดาหาร เวลา 15.00น. นี้


...ก็คงไม่มีสิ่งใดจะสามารถยับยั้งความตายไว้ได้ แม้พวกเราก็หนีไม่พ้นเช่นกันมันเป็นเช่นนั้นเอง บรรดาพระลูกพระหลานก็คงทำได้เพียงขอน้อมนำปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสของท่านนั้นเป็นบทเรียนชีวิตอุทิศกายใจรับใช้พระพุทธเจ้าต่อไปดังที่หลวงตาเคยนำพาปฏิบัติมามิให้เสียการพระศาสนา  แม้วันข้างหน้าจะมีอุปสรรคมากมายรออยู่ก็ไม่เกรงกลัวสิ่งใดด้วยจิตใจที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัยย่อมผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลายเหล่านั้นไปได้เหมือนที่หลวงตาได้เคยปฏิบัติจนชนะมาแล้ว..

วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทความเรื่อง “ธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญา” The Nature of Human Being in Buddhist Philosophy




 โดย   พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล (โลกะนัง)[๑]        

๑. บทนำ
             บทความนี้เป็นการศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ที่นับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนมากที่สุด หากเราจะถามว่าท่านเข้าใจเรื่องมนุษย์ดีแล้วหรือ ก็คงมีผู้ตอบยืนยันได้น้อยมากเพราะคนเรามักไม่สนใจหรือทำความเข้าใจเรื่องของตนเอง ไม่สนใจปัญหาของตนเองไปสนใจเรื่องอื่นที่อยู่ภายนอกไกลตัว เมื่อสังคมปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการผลิตวัตถุต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของมนุษย์มาก ในส่วนหนึ่งมนุษย์อาจได้รับความสะดวกสบายนั้น อีกด้านหนึ่งสิ่งเหล่านั้นได้เข้าไปมอมเมามนุษย์ ปิดบังไม่ให้มนุษย์เข้าใจตนเองยิ่งขึ้น                                    การศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่เราเรียกกันในภาษาฝรั่งว่า “The Nature of Human Beings” นั้นจึงสำคัญมาก ก่อนจะไปพูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับคน เช่น จริยศาสตร์ ปรัชญาสังคมและการเมืองเป็นต้น ไม่เริ่มที่เรื่องนี้ก่อนจะยุ่ง เช่น มีคนเสนอว่าเราควรปรองดองกัน การปรองดองนั้นเป็นเรื่องดี ก็แปลว่าเรากำลังเสนอหลักจริยศาสตร์อันหนึ่งให้ผู้คนในบ้านเมืองเอาไปพิจารณา แนวคิดเรื่องการปรองดองนั้นเป็นเรื่องดี และจะดีกว่านั้นหากว่าผู้เสนอได้ศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้วว่าลึกๆ มนุษย์มีธรรมชาติที่จะปรองดองกันในสถานการณ์ที่เหมาะสมบางอย่าง เมื่อศึกษาธรรมชาติของมนุษย์เช่นนั้นแล้ว ต่อมาจึงเสนอหลักการทางจริยศาสตร์อันสอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ อันนี้เราถือว่าชอบแล้วในทางปรัชญา เพราะการเดินไล่ไปเป็นขั้นๆ[๒]

คำสำคัญ : มนุษย์ ,ธรรมชาติ

๒.  แนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
             ปัญหาอภิปรัชญาที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ขั้นแรกนั้น เริ่มจากคำถามว่า มนุษย์คืออะไร จากนั้นก็จะถามไล่ไปเรื่อยๆ ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผู้อื่น หรือว่าทั้งสองอย่าง หรือว่าเป็นกลางๆ อะไรเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์เป็นเช่นนั้น  มนุษย์จะหลุดพ้นจากพันธนาการนั้นได้หรือไม่และอย่างไร ในที่นี้ผู้เขียนได้แยกนักปรัชญาที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ออกเป็น ๒ พวก คือ พวกแรกเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีเฉพาะด้านรูปธรรมที่เกิดจากการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตถ่ายทอดสืบต่อกันไปจากรุ่นสู่รุ่นจนมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ความคิด สติปัญญาของมนุษย์เป็นผลจากส่วนสมองเป็นผู้สั่งการ พฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสัญชาตญาณ เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ ส่วนพวกที่ ๒ มีทรรศนะว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณ ร่างกายนั้นมีสภาพเป็นวัตถุไม่มีชีวิต แต่ที่แสดงพฤติกรรมต่างๆออกมาเป็นเพราะมีจิตวิญญาณคอยควบคุมบังคับบัญชาให้เกิดการกระทำต่างๆ หากจิตวิญญาณดับลง ร่างกายก็ไม่สามารถจะแสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมาได้
             ทรรศนะแรกเป็นมติของนักวิทยาศาสตร์ ที่ได้พยายามศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคของการปฏิวัติของชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้วางรากฐานอันมั่นคงให้กับทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ โดยเฉพาะทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติหรือ กลไกของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ถือได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติวงการวิทยาศาสตร์โลก ซึ่งปรากฏโฉมครั้งแรกในหนังสือ “กำเนิดสปีชี่ส์” ของชาร์ลส์ ดาร์วิน[๓]  การค้นพบครั้งนี้ทำให้โลกตื่นตะลึง จนต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ต่อการมองโลกของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวไปจนถึงมนุษย์ จากข้อเท็จจริงที่เป็นหลักสำคัญของทฤษฏีวิวัฒนาการ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ดาร์วินเน้นหนักไปที่รูปธรรมหรือร่างกายและพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์เป็นส่วนสำคัญ โดยเขาจะพิจารณาเฉพาะพัฒนาการทางด้านรูปร่างลักษณะและพฤติกรรมเท่านั้นเอง ไม่มีการศึกษาถึงอิทธิพลของนามธรรม หรือจิตวิญญาณที่มีต่อสิ่งมีชีวิตแต่อย่างใดเลย  ดังนั้น การที่ทฤษฎีวิวัฒนาการประเมินค่าของสิ่งมีชีวิตเพียงด้านเดียว คือ เฉพาะทางด้านโครงสร้างของรูปร่าง(พืชและสัตว์) และพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์เท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่าทฤษฎีนี้ยอมรับการมีอยู่ของสสารวัตถุ หรือรูปธรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งทัศนคติแนวนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งอย่างหนักจากผู้ทรงคุณวุฒิในปัจจุบัน[๔]
             ทรรศนะที่สองเป็นมติทางในทางศาสนา พุทธศาสนาและปรัชญาอินเดียแทบทุกสำนัก (ยกเว้นปรัชญาจารวาก) มีทัศนะแตกต่างอย่างตรงข้ามกับลัทธิที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มที่สองถือว่าสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์และสัตว์นั้นประกอบด้วยชีวะกับสรีระ สรีระ หมายถึง ร่างกาย ส่วนชีวะนั้น หมายถึง ชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตวิญญาณ นั่นก็หมายความว่า ชีวะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจิตวิญญาณ (ธาตุรู้) ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ นั่นเอง และชีวะกับสรีระก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แยกกันโดยเด็ดขาด ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็มีความสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนมาก ในพุทธศาสนา มีพุทธพจน์รับรองว่า “ดูก่อนผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ดังนี้”[๕] ตามพุทธพจน์ ถึงแม้ว่าชีพ (นามธรรม) กับสรีระ(ร่างกาย)จะไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกัน และก็ไม่ใช่สิ่งที่แยกกันได้โดยเด็ดขาดก็ตามทีแต่ทว่าทั้งชีพและสรีระต่างมีสัมพันธ์กัน และมีความเนื่องกันอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นมติทางพระพุทธศาสนายังก้าวล้ำลึกลงไป อีกด้วยวิธีการแยกร่างกายและจิตใจของมนุษย์และสัตว์ออกจากกันและชี้ว่า ความจริงสูงสุดมี ๔ อย่าง เรียกว่า ปรมัตถธรรม คือ จิต  เจตสิก  รูป  และ นิพพาน[๖] ทำให้เราได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่า ร่างกายกับจิตวิญญาณ หรือกายกับจิตอันนี้ย่อมมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างสลับซับซ้อนมาก
             ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงต้องการจะศึกษาวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นแนวคิดทางอภิปรัชญาในพุทธศาสนาอย่างละเอียด โดยมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ได้แก่ (๑) ศึกษาแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่สำคัญ และ (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญา ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราเป็นอย่างไร  พระพุทธศาสนามีแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร และลักษณะดังกล่าวนี้แตกต่างจากลัทธิอื่นๆ อย่างไร การเป็นสมาชิกของโลกชีววิทยาอันเต็มไปด้วยการต้องแข่งขันและเอาตัวรอด คุณค่าดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดปัญหาภายในของมนุษย์อย่างไร มีแต่คนเท่านั้นหรือที่สามารถมีความขัดแย้งภายในอันลึกซึ้งเช่นนี้ได้ และถึงแม้จะมีนักปรัชญาเห็นต่างกันมากในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับความรู้อันนี้ที่เราสามารถยอมรับร่วมกันได้ ดังนั้นเพื่อให้ธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังเป็นปัญหาทางอภิปรัชญาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และค้นหาคำตอบอีกครั้ง ผู้วิจัยจึงหยิบยกเอาประเด็นดังกล่าวมาอภิปรายในทัศนะของพุทธปรัชญาอย่างเป็นสัดส่วนเป็นเรื่องๆ ไป และนำเอาประเด็นที่ได้ตั้งไว้แล้วนั้นมาวิเคราะห์และสรุปผล พร้อมทั้งนำเสนอในบทความนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต่อไป
๓. ธรรมชาติของมนุษย์ในทรรศนะของนักปรัชญาคนสำคัญ
             ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ในข้อที่ผ่านมาข้างต้นเพื่อแสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ในภาพกว้างๆ พอสังเขป ต่อไปผู้เขียนจะได้นำเสนอธรรมชาติของมนุษย์ของนักปรัชญาคนสำคัญ ต่อไป ซึ่งนักปรัชญาอธิบายเอาไว้หลายท่าน ดังต่อไปนี้
             ๓.๑  ธรรมชาติของมนุษย์ตามทรรศนะของเรอเน  เดการ์ต (Rene Descartes, ค.ศ. ๑๕๙๖ – ๑๖๕๐)   เดส์การ์ตเป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เข้าศึกษาวิชาภาษาโบราณที่วิทยาลัยเยซูอิต ที่ลาแฟล็ซ ต่อมาจึงเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ปรัชญา และคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง ท่านสนใจพิเศษก็คือ วิชาปรัชญา หลังจากจบการศึกษาแล้ว เดส์การ์ต ได้เดินทางไปประเทศต่างๆ ในยุโรปเพื่อหาประสบการณ์ โดยการเข้าพบและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้รู้ทางปรัชญา ในการท่องเที่ยวนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้ปรัชญาแล้ว ท่านยังมีโอกาสได้เรียนวิชาดนตรีและการฟันดาบจนมีความชำนาญ เดส์การ์ตเป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ได้เขียนหนังสือไว้มากมาย เช่น “ข้อคำนึงว่าด้วยอภิปรัชญาเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าและอมตภาพของวิญญาณ” “กิเลสของวิญญาณ” “วิธีหาความจริงโดยแสงสว่างตามธรรมชาติ” เป็นต้น
             ญาณวิทยาของเดส์การ์ตมีปัญหาเหมือนกันกับเบคอนที่ว่าทำอย่างไรคนจึงจะมีความคิดตรงกัน แต่แตกต่างจากเบคอนที่คิดว่าอคติคืออุปสรรคให้คนคิดไม่เหมือนกัน ส่วนเดส์การ์ต บอกว่า อคติไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้คนคิดไม่ตรงกัน อุปสรรคที่แท้จริงก็คือ “วิธีคิด” และวิธีอุปนัยของเบคอนนั้นไม่สามารถจะให้ความมั่นใจแก่เราได้ว่าจะพบความจริง ท่านกล่าวว่า “ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าเคยยอมรับว่าสิ่งที่เป็นจริงและแน่นอนที่สุดก็คือ ความรู้ที่ได้จากผัสสะแต่หลายครั้งประสบการณ์ต่างๆ ก็พิสูจน์ให้เห็นความหลอกลวงของผัสสะ ดังนั้นเราจึงไม่ควรไว้วางใจกับสิ่งที่เคยหลอกลวงเรามาก่อน” เพราะเหตุนี้ เดส์การ์ตจึงประกาศว่า “ เหตุผลทางนิรนัย(Deductive Logic) เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นบ่อเกิดของความรู้ ทุกคนมีเหตุผล สามารถเข้าถึงความรู้โดยเหตุผล และสามารถเข้าถึงความจริงโดยพลังของเหตุผล เขาสรุปปรัชญาของเขาว่า “เมื่อฉันคิด ฉันจึงมีตัวตน”(I think, therefore, I am)
             เดการ์ตได้ชื่อว่าเป็นบิดาของลัทธิเหตุผลนิยม ซึ่งเป็นลัทธิที่ใช้เหตุผลมาพิสูจน์ความคิดของตนเอง เหตุผลที่นำมาพิสูจน์ไม่ใช่เหตุผลที่เกิดมาจากประสบการณ์หรือประจักษ์ แต่เป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นมาจากความคิดของนักปรัชญานั้นๆ  บางทีนักปรัชญาบางท่านอาจมีประสบการณ์มาแล้วก่อให้เกิดความคิด แต่ไม่ได้หมายถึงความว่านักปราชญ์ลัทธิเหตุผลนิยมยอมรับความรู้หรือความจริงที่มาจากประสาทสัมผัส แต่ที่จริงแล้ว ลัทธินี้ปฏิเสธประสบการณ์ทั้งหมดว่าไม่สามารถจะให้ความรู้ที่ถูกต้องและความรู้ที่แท้ได้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เหตุผลนิยมของเดส์การ์ต ถือเอาวิธีการนิรนัยเพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งในเชิงอภิปรัชญาและญาณวิทยา วิธีนิรนัยนี้แหละเป็นการใช้ความคิดล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์หรือประสาทสัมผัส(Sensation)[๗]
             ๓.๒  ธรรมชาติของมนุษย์ในทรรศนะของจอห์น ล็อก (John Locke, 1632-1704) ล็อกเป็นนักปรัชญาลัทธิประสบการณ์นิยมคนหนึ่งของอังกฤษที่มีชื่อเสียงมาก ท่านเกิดที่ซอมเมอร์  เซ็ตเชอร์ (Sommer Setshir) เข้าเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาที่เวสต์มินสเตอร์และเรียนปรัชญาที่ออกซฟอร์ด จบออกมาแล้วได้เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษากรีกวาทศิลป์และปรัชญา อาชีพของท่านได้แตกต่างจากอาชีพของบิดาที่เป็นทนายความ
             ล็อกได้สร้างญาณวิทยาจากงานนิพนธ์ชื่อ An Essay Concerning Human Understanding งานชิ้นนี้ท่านได้ใช้เวลาค้นคว้าอยู่นานถึง ๗ ปี จึงได้พบแนวทางว่าความรู้เกิดมาโดยไม่มีใครเป็นคนสร้าง หรือความรู้เกิดมาเพราะอาศัยประสาทสัมผัส ถึงคนจะมีจิต แต่จิตไม่มีความรู้มาตั้งแต่เกิด จิตมีความรู้หลังจากได้รับอารมณ์ภายนอกเข้ามาที่จิต ดังนั้นความรู้ของล็อกจึงเกิดมาจากประสบการณ์ ข้อความต่อไปนี้เป็นตัวชี้ว่าท่านคือนักประสบการณ์นิยม เมื่อถามว่า “จิต” เกิดมาจากไหน ล็อกตอบว่า “จิต” เกิดมาพร้อมกับร่างกาย พระเจ้าเป็นผู้สร้างจิตและร่างกาย ท่านกล่าวว่า “พระเจ้าสร้างจิตและร่างกายโดยไม่ได้ใช้อะไรเลย เป็นสิ่งที่เกิดอำนาจการเข้าใจของเราก็จริง แต่ถึงกระนั้นข้อความนี้ก็เป็นจริง” และ “ใคร”เป็นผู้สร้าง ล็อกตอบว่า พระเจ้าสร้างจิต แต่จิตเกิดมาพร้อมกับร่างกายนั้นเป็นของว่างเปล่า หรือเหมือนกระดาษขาว ไม่มีรอยเปรอะเปื้อนใดๆ เป็นจิตบริสุทธิ์ ไม่มีจินตภาพใดๆ ในจิตนั้น แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว จิตนั้นๆ ค่อยมีความนึกคิด ความรู้ ความเข้าใจตามมาทีหลัง
             เมื่อถามว่า “ความคิดหรือความรู้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร” ล็อกตอบว่า “ความคิดหรือความรู้ทุกอย่างได้มาจากประสบการณ์ ประสบการณ์คือบ่อเกิดของความรู้หรือความคิดหรือจินตภาพทุกอย่าง โดยอาศัยการสัมผัส ของอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ แล้วสร้างการรับรู้อารมณ์การไตร่ตรอง หรือการรับรู้ภายใน เช่นการรับรู้สัมผัส ความคิด ความสงสัย การใช้เหตุผลเป็นต้น[๘] ล็อกปฏิเสธความรู้ที่ติดตัวมาแต่เกิดของเดส์การ์ต ท่านกล่าวว่า “ความรู้ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ ปราศจากประสบการณ์เสียแล้ว ความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ มนุษย์จะมีความรู้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เกิดมาและมีประสบการณ์เท่านั้น ไม่มีความรู้ใดๆ ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด จิตของมนุษย์เมื่อแรกเกิดก็เหมือนกระดาษขาว หรือกระดาษที่ว่างเปล่า ความคิด ความรู้สึก จินตภาพ ความมีเหตุผลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออายตนะภายใน ได้สัมผัสอายตนะภายนอกเท่านั้น ถ้ามนุษย์มีความรู้ติดตัวมาแต่ตั้งแต่เกิด อย่างพวกเหตุผลนิยมกล่าวไว้มนุษย์ทุกคนย่อมมีความคิดความรู้สึก เหตุผล จินตภาพเหมือนกันหมด แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น มนุษย์เมื่อมีประสบการณ์อย่างไร เขาก็จะมีความรู้อย่างนั้น มนุษย์มีประสบการณ์ต่างกัน เขาก็จะมีความรู้ไปคนละอย่างไม่เหมือนกัน ดังนั้นประสบการณ์จึงเป็นที่มาของความรู้และเป็นตัวตัดสินว่า ความรู้อะไรจริงและความรู้อะไรไม่จริง[๙]

             ๓.๓  ธรรมชาติของมนุษย์ตามทรรศนะของศาสตราจารย์สมภาร พรมทา
 สมภาร พรมทา ได้กล่าวถึง ธรรมชาติของมนุษย์ไว้ในหนังสือเรื่อง พุทธปรัขญา มนุษย์ สังคมและปัญหาจริยธรรม ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความขัดแย้งในตัวเอง ความขัดแย้งในชีวิตมนุษย์อาจมีได้หลายประเภทและหลายระดับ มนุษย์นั้นมีสองภาวะพร้อมกันในตัวเอง อย่างแรกคือการเป็นสมาชิกในโลก “ทางชีววิทยา” ในฐานะสมาชิกของโลกดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าเราจะมีสภาพไม่ต่างจากสมาชิกอื่น ซึ่งได้แก่พืชและสัตว์มีข้อเรียกร้องทางชีววิทยาพื้นฐานอยู่จำนวนหนึ่งที่สมาชิกในโลกแห่งชีวภาพจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความอยู่รอด เช่น ต้องกินอาหาร ต้องสืบต่อเผาพันธุ์ เป็นต้น มนุษย์ต้องปฏิบัติตามกฎพื้นฐานเหล่านี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และที่สำคัญคือ กฎเหล่านี้ไม่เหมือนกฎต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในชีวิต เช่นกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพราะบรรดากฎทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น เปิดช่องทางให้เลือกหรือมีความยืดหยุ่นมากกว่า การเลือกจะทำหรือไม่ทำตามกฎเป็นกิจกรรมของสมองหรือปัญญา ซึ่งอาจพิจารณาจากหลายๆ เงื่อนไขประกอบการตัดสินใจ แต่สำหรับกฎทางชีวภาพ เราไม่มีทางได้เลือกเลยแม้แต่น้อย เมื่อหิวเราต้องกิน เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ เราต้องมีคู่ครอง ต้องมีความรัก และมีสภาพทางจิตหลายๆ อย่างที่เป็นไปเพื่ออำนวยโอกาสและกระตุ้นกิจกรรมการสืบต่อเผ่าพันธุ์ของเรา เราไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นเลย[๑๐]

๔. ธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญา
           ในหัวข้อนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญา ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากแนวคิดแบบตะวันตกที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้า แต่มีทั้งหมดก็รวมอยู่ในแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน
             ๑.มนุษย์ในโลกทางชีววิทยา  ศาสตราจารย์สมภาร พรมทาได้กล่าวถึง ธรรมชาติของมนุษย์ ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความขัดแย้งในตัวเอง ความขัดแย้งในชีวิตมนุษย์อาจมีได้หลายประเภทและหลายระดับ มนุษย์นั้นมีสองภาวะพร้อมกันในตัวเอง อย่างแรกคือการเป็นสมาชิกในโลก “ทางชีววิทยา” ในฐานะสมาชิกของโลกดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าเราจะมีสภาพไม่ต่างจากสมาชิกอื่น ซึ่งได้แก่พืชและสัตว์มีข้อเรียกร้องทางชีววิทยาพื้นฐานอยู่จำนวนหนึ่งที่สมาชิกในโลกแห่งชีวภาพจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความอยู่รอด เช่น ต้องกินอาหาร ต้องสืบต่อเผาพันธุ์ เป็นต้น มนุษย์ต้องปฏิบัติตามกฎพื้นฐานเหล่านี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และที่สำคัญคือ กฎเหล่านี้ไม่เหมือนกฎต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในชีวิต เช่นกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพราะบรรดากฎทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น เปิดช่องทางให้เลือกหรือมีความยืดหยุ่นมากกว่า การเลือกจะทำหรือไม่ทำตามกฎเป็นกิจกรรมของสมองหรือปัญญา ซึ่งอาจพิจารณาจากหลายๆ เงื่อนไขประกอบการตัดสินใจ แต่สำหรับกฎทางชีวภาพ เราไม่มีทางได้เลือกเลยแม้แต่น้อย เมื่อหิวเราต้องกิน เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ เราต้องมีคู่ครอง ต้องมีความรัก และมีสภาพทางจิตหลายๆ อย่างที่เป็นไปเพื่ออำนวยโอกาสและกระตุ้นกิจกรรมการสืบต่อเผ่าพันธุ์ของเรา เราไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นเลย[๑๑]
           ๒.มนุษย์ในโลกแห่งคุณธรรม (inference) หมายถึง ความรู้ภายหลัง คือความรู้ที่ตามมาจากความรู้อื่น เช่น เมื่อเห็นควันไฟอยู่ในบ้าน เราสามารถอนุมานได้ว่าต้องมีไฟอยู่ในบ้าน ความรู้ที่ว่า“มีไฟอยู่ในบ้าน”เป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้โดยตรง แต่เรารู้ได้จากความรู้อื่น คือ การเห็นควันไฟ
           ๓.มนุษย์ในฐานะสมาชิกปัจเจกบุคคล(testimony) หมายถึง ความรู้จากตำราหรือคำบอกเล่าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ เช่นความรู้จากคัมภีร์พระเวท ความรู้จากการบอกเล่าของฤษีหรือเทพ
           ๔.มนุษย์ในฐานะสมาชิกของสังคม (comparison) หมายถึง การเปรียบเทียบ เป็นความรู้ที่เกิดจากการรับรู้ความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งสองสิ่ง เช่น เด็กที่ไม่เคยเห็นเสือ แต่รู้ว่าเสือนั้นมีลักษณะหลายๆอย่างเหมือนแมว และต่างจากแมวตรงที่ขนาด เมื่อเด็กคนนั้นได้พบกับสัตว์ตัวหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายแมว แต่ขนาดใหญ่กว่า จึงรู้ว่าสัตว์ตัวนี้เองที่เรียกว่าเสือ
           ๕.ความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกกับเหตุผล (postulation) หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อข้อเท็จจริง(X)ชุดหนึ่งจะไม่สามารถเป็นไปได้หากปราศจากข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย(Y)อีกชุดหนึ่ง เราจึงต้องสร้างข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย(Y)ขึ้นมาเพื่อรองรับข้อเท็จจริง(X)ชุดแรกนั้น เช่น เรามีข้อเท็จจริง(X)ว่า “เพื่อนเราเป็นคนอ้วนแต่เขาไม่เคยรับประทานอาหารระหว่างวัน” ข้อเท็จจริง(X)ที่เรารับรู้มานี้มีความขัดแย้งกันอยู่ คือความอ้วนกับการไม่รับประทานอาหาร คนที่ไม่รับประทานอาหารไม่สามารถอ้วนได้ คนอ้วนนั้นต้องรับประทานอาหาร ข้อเท็จจริง(X)จะเป็นความจริงได้ต้องอาศัยข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย(Y)ที่ว่า “เพื่อนเราคนนี้ต้องรับประทานอาหารตอนกลางคืนอย่างแน่นอน” ข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย(Y)ที่ว่า “เพื่อนเราคนนี้ต้องรับประทานอาหารตอนกลางคืน” เป็นความรู้แบบอรรถาปัตติที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริง(X)ที่ฟังดูขัดแย้ง
           ๖.ความขัดแย้งของข้อจำกัดทางชีววิทยากับความอยากรู้อยากเห็น (non-perception) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการไม่ปรากฏของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ปรากฏ เช่น เมื่อเรามองไปในชามอาหารที่ว่างเปล่า แล้วเราไม่พบอาหารอยู่เลยภายในชามใบนั้น ทำให้เราทราบว่าในชามนั้นไม่มีอาหาร ความรู้ที่ว่าไม่มีอาหารอยู่ในชาม หรือ รู้ความไม่มีอยู่ของอาหารในชามใบนั้น เป็นความรู้ที่เรียกว่าอนุปลัพธิ
           ปรัชญาอินเดียแต่ละสำนักจะให้ความหมาย คำจำกัดความ และมีการจัดกลุ่มของเครื่องมือและแหล่งความรู้เหล่านี้แตกต่างกันออกไป[๑๒]  ปรัชญาจารวาก เชื่อว่าประจักษ์เป็นแหล่งความรู้เดียวที่สามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่มนุษย์ได้ สางขยะยอมรับประจักษ์ อนุมาน และศัพทะ นยายะยอมรับประจักษ์ อนุมาน ศัพทะ และอุปมานะ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การที่แต่ละสำนักยอมรับแหล่งของความรู้ที่ต่างกัน นั้นมิได้หมายความว่าจะปฏิเสธแหล่งความรู้ที่ไม่ได้กล่าวถึงเสมอไป หากแต่อาจจัดอยู่ในหมวดของแหล่งความรู้อย่างอื่นก็ได้ เช่น บางสำนักอาจกล่าวว่า อรรถาปัตติแท้จริงแล้วก็คือการอนุมานอย่างหนึ่ง หรือบางสำนักอาจจะจัดอนุปลัพธิไปอยู่ในกลุ่มของประจักษ์ ขณะที่อีกสำนักไปจัดอยู่ในส่วนของอนุมาน เป็นต้น
           สำหรับปรัชญาตะวันตกของนักปรัชญาสองท่านอันได้แก่จอห์น ล็อก และเรอเน เดส์การ์ด นั้นแตกต่างไปจากญาณวิทยาอินเดียทั้ง ๓ สำนัก ลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism) ของเรอเน เดส์การ์ด มีพื้นฐานจากแนวคิดที่อธิบายความเป็นจริงว่า จิต/อุดมการณ์ จิต (สติปัญญา) ของมนุษย์เป็นคุณลักษณะพิเศษ สามารถรู้ความจริง เน้นศักยภาพของจิต (สติปัญญา) ซึ่งมีศักยภาพที่จะเข้าใจความจริง ที่เป็นสากล และแน่นอนตายตัว ซึ่งประสาทสัมผัสไม่สามารถให้ได้ ข้อสรุปนี้ เน้นบทบาทของจิต ในการแสวงหาความรู้ด้วยการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการใช้สติปัญญา (จิต) เพื่อการรู้ความจริง ความจริง/ความรู้มีลักษณะที่แน่นอน ชัดเจนและเป็นสากล ดังนั้นต้องใช้จิตมนุษย์ ที่เป็นสากล จึงจะเข้าใจกันได้ (สิ่งเหมือนกัน ย่อมเข้าใจกัน) ซึ่งสรุปความคิดได้ว่าความรู้ที่ถูกต้อง ต้องมีความแน่นอน ตายตัว  มนุษย์มีสติปัญญาที่สามารถบรรลุถึงความจริงได้  เดส์การ์ดปฏิเสธความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัส ของจอห์น ล็อก เขาอ้างว่า เพราะประสาทสัมผัสหลอกลวงเรา (ประสาทสัมผัส เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นกับกาลเวลา สถานที่) ยอมรับการใช้วิธีการ “นิรนัย” กล่าวคือ การพิสูจน์ความจริง อาศัยความจริงที่มีอยู่เดิม
           ส่วนแนวคิดประสบการณ์นิยม/ประจักษ์นิยม (Empiricism) ของ จอห์น ล็อค มีพื้นฐานจากแนวคิดที่เสนอว่าความเป็นจริง เป็นสสาร (สสารนิยม) แนวคิดนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคิดเหตุผลนิยม ด้วยการเน้นบทบาทของประสาทสัมผัส ว่าเป็นแหล่งที่มาของความรู้/ความจริง มนุษย์ไม่มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ซึ่งสรุปความคิดได้ว่า การรู้ความจริงตามแนวเหตุผลนิยม (วิธีการนิรนัย) มีจุดอ่อน คือ ไม่ได้ความรู้ใหม่ ส่งผลให้วิชาปรัชญาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม ล็อกยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ในระดับประสาทสัมผัสในการแสวงหาความรู้ เพื่อได้ความรู้ใหม่ มาเป็นหลักการได้มาซึ่งความรู้ในการแสวงหา/เข้าใจความจริง จึงนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาเป็นวิธีการรู้ความจริงตามแนวปรัชญา และยอมรับการได้ความรู้อาศัยใช้วิธีการอุปนัย กล่าวคือ การกระโดดจากความจริง ส่วนย่อย (ที่มั่นใจแล้ว) ไปสู่ความจริงสากล
          
๕. สรุป/วิพากษ์
           อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับทั้งสองทฤษฎีนี้นักผู้เขียนมีทรรศนะว่า เหตุผลหากปราศจากประสบการณ์ก็ไม่อาจให้ความจริงที่ถูกต้องทั้งหมดได้ ส่วนประสบการณ์หากขาดเห็นผลก็ไม่อาจให้ความรู้ที่เป็นจริงได้เช่นกัน หากเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเราย่อมจะไม่สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะของเรานั้นเป็นอะไรได้เลย ตรงกันข้ามหากเรามีประสบการณ์แล้ว ไม่ส่งต่อไปยังจิตเพื่อคิดและวิเคราะห์เทียบเคียงกับประสบการณ์ในอดีต เราก็จะไม่สามารถแยกแยะ แบ่งแยก จัดประเภทสิ่งที่ผ่านเข้ามาในจิตของเราได้อีกเช่นกัน ดังนั้นทั้งสองทฤษฎีนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่ มากเพราะในปัจจุบันปรากฏว่า มีความรู้หลายชนิดที่มีลักษณะที่อธิบายด้วยเหตุผลและประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เราคงจะต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายทฤษฎีที่มีทรรศนะแตกต่างกับทั้งสองทฤษฎีนี้ เช่น ปฏิบัตินิยม อัตฌัตติกญาณ ปรากฏการณ์วิทยา เป็นต้น.

          








บรรณานุกรม
๑. ภาษาไทย

     (๑) หนังสือ
ประยงค์  แสนบุราณ, ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่,กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๘.
ฟื้น ดอกบัว,ปวงปรัชญาอินเดีย.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๕๕.
สุนทร ณ รังษี, ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ,พระนคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๗
อดิศักดิ์ ทองบุญ,ปรัชญาอินเดีย,พระนคร : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๒.

๒. ภาษาอังกฤษ
Bhelke, S. E. and P. P. Gokhale (eds.). Studies in Indian Moral Philosophy: Problems,
concepts and Perspetives. India: Pune.
Potter, Karl H. 2003. Knowledge and Reality in Indian Philosophy. In Brain Carr and Indira.
Mahalingam (eds.). Companionn Encyclopedia of Asian Philosophy. London and New York: Routledge,







[๑] นิสิตปริญญาเอกสาขาวิชา ปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
[๒] สมภาร  พรมทา,บทความชุด “ความคิดพื้นฐานทางปรัชญาที่สำคัญของพระพุทธเจ้า”,วารสารปัญญา ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๖. หน้า ๓๓๕.
[๓] ดูรายละเอียดใน. ชาร์ล ดาร์วิน,กำเนิดสปีชีส์.นำชัย ชีววิวรรธน์และคณะ แปล.พิมพ์ครั้งที่ ๒, สารคดี,กรุงเทพมหานคร : ๒๕๕๘.
[๔] ดูรายละเอียดใน. ชัยพฤกษ์ เพ็ญวิจิตร,ศาสตร์แห่งจักรวาล 2, เคล็ดไทย,กรุงเทพมหานคร : ๒๕๔๒. หน้า ๓-๑๔.
[๕] มหาลิสูตร, ที.สี. ๙/๑๕๗-๑๕๘.
[๖] จรูญ  วรรณกสิณานนท์,ศึกษาวิเคราะห์ “การปฎิเสธอัตตา”ในพระพุทธศาสนาเถรวาท,วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต,(สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๘).
[๗] ประยงค์  แสนบุราณ, ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่,(กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๘).หน้า ๒๒๕-๒๒๖.
[๘] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๒๖-๒๗.
[๙] เรื่องเดียวกัน.หน้า ๒๘.
[๑๐] สมภาร  พรมทา.มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๔๘.หน้า ๑๙๐,
[๑๑] สมภาร  พรมทา.มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๔๘.หน้า ๑๙๐,
[๑๒] Potter, Karl H. 2003. Knowledge and Reality in Indian Philosophy. In Brain Carr and Indira
Mahalingam (eds.). Companionn Encyclopedia of Asian Philosophy. London and New York: Routledge, pp. 251-265.

พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ

พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ
พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล[๑]

 ๑.  บทนำ
                ปัจจุบันชาวพุทธส่วนหนึ่งละทิ้งการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาไปเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้ขอพร หวังผลดลบันดาล เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นพุทธพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นๆ ทุกวัน โดยสิ่งที่เกิดมากขึ้นที่สุดคือ การบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง และของขลังประเภท ตระกรุด ผ้ายันต์ที่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกโดยพระสงฆ์  สิ่งเหล่านี้ถูกมองจากคนบางกลุ่มว่า เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไป
                 ในพระพุทธศาสนามีการสร้างรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป ถือเป็นการแสดงออกถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้า  แต่ด้วยพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่แล้ว  การจะเข้าเฝ้า  กราบไหว้ บูชาพระองค์จริงของพระพุทธเจ้าจึงไม่อาจกระทำได้  ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธบางส่วนจึงนำแนวคิดการสร้างรูปเคารพ มาสร้างเป็น พระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่สักการบูชาแทนพระพุทธเจ้า  ซึ่งแม้จะมีหลักการทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการเคารพบูชาพระพุทธเจ้าว่าเป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งใน คารวะธรรม    ประการ  ได้แก่  สัตถุคารวตา  การแสดงความเคารพต่อพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่มีการโต้แย้งแนวคิดนี้มาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่ชาวพุทธทั้งสองกลุ่มสามารถยึดถือร่วมกันได้


๒. แนวคิดพุทธจริยศาสตร์กับการสร้างรูปเคารพ
แนวคิดของพุทธจริยศาสตร์ดั้งเดิม (Early Buddhist Ethics) มีหน้าที่สำคัญเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เพื่อต้องการทราบว่าการกระทำลักษณะใดของมนุษย์ที่พระพุทธศาสนาจัดว่ามีคุณค่า เป็นการกระทำดี ถูกต้อง  รวมทั้งหาคำตอบเกี่ยวกับอุดมคติหรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร และพยายามค้นหากฎเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำของมนุษย์นั้น  การสร้างพระพุทธรูปถือเป็นแนวคิดทางพุทธจริยศาสตร์ประการหนึ่งที่บรรดาผู้สร้างมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชาวพุทธมีสัญลักษณ์เตือนใจให้ได้เจริญพุทธานุสสติ คือ  การตรึกระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระคุณต่างๆของพระองค์  เช่น ทรงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วละกิเลสได้  เรียกว่า อรหํแปลว่า ผู้ไกลจากกิเลิศทั้งมวล หรือ พุทโธหรือแปลทับศัพท์ว่า พระพุทธเจ้า”  ทรงมีความเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้ำเลิศ  และทรงมีพระเมตตาและเกื้อกูลประโยชน์สุขต่อมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวง  กล่าวคือ  ทรงเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยพระพุทธคุณโดยย่อที่สุด ๓ ประการ ได้แก่ ๑) พระปริสุทธิคุณ ที่ทรงพ้นแล้วจากห้วงทุกข์ทั้งปวงเป็นแม่แบบที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงของมวลมนุษยชาติ ๒) พระปัญญาคุณ ที่ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ แล้วนำมาเปิดเผยแก่ชาวโลกให้รู้ตาม ๓) พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเมตตาช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์
จากแนวคิดดังกล่าวนี้ การสร้างพระพุทธรูปนอกจากเป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อได้สักการบูชาแล้ว  ยังสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนได้ด้วย  การสร้างพระพุทธรูปจึงก่อให้เกิดคุณค่าทางการปฏิบัติซึ่งหมายถึงการส่งเสริมจริยธรรมของผู้คนในสังคมไปโดยปริยาย  พระพุทธรูปจึงไม่เป็นแต่เพียงศิลปกรรมประเพณี  อันเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางด้านปฏิมากรรมที่ทรงคุณค่าของพระพุทธศาสนาเท่านั้น  แต่พระพุทธรูปยังเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธปรัชญา  เป็นเครื่องหมายของความเคารพ บูชา สักการะและเป็นเครื่องเตือนให้ประกอบความดีอีกด้วย    
ในพุทธจริยศาสตร์มีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักการแห่งความดีมากมาย  พระพุทธรูปแม้เป็นเพียงวัตถุ  แต่คุณค่ามิได้มีอยู่เพียงความเป็นวัตถุ  หากแต่ยังสามารถเป็นสิ่งสื่อถึงหลักการแห่งความดีนั้น ๆ ได้ด้วย  แต่แนวคิดนี้ก็มีเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับตัวบุคคล คือบุคคลที่กราบไหว้บูชาจะได้รับประโยชน์ในแง่นี้ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและหลักธรรมคำสอนของพระองค์เป็นสำคัญเท่านั้น  เพราะข้อเท็จจริงพระพุทธรูปมิสามารถสอนธรรมหรือชี้นำให้ปฏิบัติตนในทางที่ดีได้  แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการกราบไหว้รูปเคารพก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตนว่า พระพุทธรูปสามารถเตือนใจให้ระลึกถึงหลักการความดีที่ได้ศึกษาหรือได้สดับรับฟังมาได้  การมีพระพุทธรูปไว้สักการบูชาจึงเป็นเครื่องมือทางจริยศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นแรงจูงใจให้บุคคลมีจริยธรรม โดยหัวใจสำคัญของจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือ  การละเว้นความชั่ว  การทำความดีและการทำจิตใจให้บริสุทธิ์  ตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเอง  
ยกตัวอย่าง เช่น  เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันด้วยวาจาหรือพาดพิงกันในลักษณะโกรธเคืองต่อหน้าพระพุทธรูปในพระอุโบสถ  หากคู่กรณีมีจิตสำนึกที่ดีงามอยู่บ้าง  ประกอบกับระลึกถึงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละเว้นความชั่ว  ก็จะมีสติว่า ต่อหน้าพระพุทธรูปไม่ควรแสดงกริยาที่ไม่ดี  ไม่ควรเบียดเบียน  ควรละเว้นวาจาหยาบคายเสีย  แม้ความโกรธเคืองไม่พอใจจะมีอยู่ในภายใน  แต่ภายนอกคือพฤติกรรมที่ไม่ดีก็ไม่ควรแสดงออก  นี้เป็นลักษณะของความละอายต่อบาปซึ่งมีพระพุทธรูปเป็นแรงจูงใจ    ในกรณีอื่น ๆ ก็เป็นลักษณะเดียวกันคือ  เมื่อมีพระพุทธรูปอยู่ในบ้านหรือเห็นพระพุทธรูปในสถานที่ต่าง ๆ หากบุคคลมีความศรัทธาอย่างจริงใจอยู่เป็นพื้นฐาน  ย่อมเป็นเครื่องเตือนและเป็นแรงจูงใจให้ประพฤติธรรมได้เสมอ
ส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสัญลักษณ์ที่เป็นสื่อถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในพระพุทธรูป เมื่อพิจารณาถึงทัศนะทางปรัชญาของนักปรัชญา เช่น  เฮเกล (Hegel) มีแนวคิดว่า  ความงาม คือ ความจริงที่ฉายจากสิ่งสมบูรณ์ผ่านโลกทางประสาทสัมผัสตามที่จิตของมนุษย์ สามารถเข้าใจได้ ความงามจึงเป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและความงามที่มีสุนทรียภาพคือความงามในศิลปะ ซึ่งศิลปะที่แฝงความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อไว้ด้วยนั้นจัดเป็นศิลปะเชิง สัญลักษณ์ (Symbolic art) ซึ่งพบได้ในศิลปะทางศาสนาของฮินดู  อียิปต์และฮิบรู  ตามทัศนะนี้ประกอบกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระพุทธรูป  ทำให้สรุปได้ว่า  การสร้างพระพุทธรูปจัดเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญทั้งต่อผู้สร้าง ในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสิ่งที่นำมาสู่สุนทรียภาพแก่ผู้พบเห็นหรือได้ สักการบูชา  ซึ่งผู้สร้างเองก็ต้องมีสุนทรียภาพภายในตนและจินตนาการที่แฝงไว้ด้วยความงาม และความจริงด้วย  เพราะฉะนั้นผลงานที่ปรากฏนอกจากจะเป็นเครื่องสื่อถึงความเป็นพระพุทธเจ้า  ความงามและความดี  ยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงจิตใจ  ความรู้  และความสามารถอันน่าชื่นชมของผู้สร้างไปในตัว และเมื่อผลงานปรากฏก็เกิดผลดีต่อส่วนรวมหรือประชาชนโดยกว้างขวางในฐานะที่ เป็นผู้เสพหรือผู้สัมผัสกับงานศิลปะนั้น ๆ  ซึ่งในขั้นลึกอาจยังนำไปสู่การเข้าถึงธรรมอันแฝงอยู่ในลักษณะสัญลักษณ์ที่ ปรากฏอยู่ด้วยและเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและมีความ สำคัญดังกล่าวมา

 ๓. ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการกราบไหว้รูปเคารพ
จากทรรศนะเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปนี้ ได้รับการโต้แย้งจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม ที่มองว่า พุทธแท้ไม่มีคำสอนให้กราบไหว้พระพุทธรูป กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า พุทธศาสนาที่แท้จริงต้องไม่ไหว้รูปเคารพ  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เรากราบไหว้ก้อนอิฐ ไม่ได้สอนให้เรายึดติดกับวัตถุ โดยมองว่าชาวพุทธในปัจจุบันที่ไม่มีความรู้จริงในศาสนาพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่   โดยส่วนใหญ่จะเป็นพราหมณ์ฮินดูโดยไม่รู้ตัวคนที่รู้จริงและเข้าถึงศาสนาพุทธจริงๆ มีประมาณไม่ถึง  ๑๐% ของชาวพุทธทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สร้างรูปเคารพและกราบไหว้บูชารูปเคารพต่างๆ ไม่เคยสอนให้อ้อนวอนขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆให้มาช่วยเหลือ ท่านสอนให้พึ่งตนเอง  มีตนเป็นที่พึ่ง  มีธรรมเป็นที่พึ่ง ชาวพุทธสมัยปัจจุบันทําเกินไปจากคําสอนของพระพุทธเจ้าเสียส่วนใหญ่
พระพุทธเจ้าเคยห้ามไม่ให้บูชารูปเคารพหรือพวกศาลเจ้าที่ พระองค์ทรงให้ธรรมะ เป็นศาสดาต่อจากพระองค์ เพราะฉะนั้น การที่ต้องไปไหว้พระเจ็ดวัด มันเป็นประเพณีก็จริง แต่ก็ถือว่าหลงจากหลักคำสอนของพระองค์นั่นเอง เพราะสมัยพระองค์ก็ไม่มีการสร้างรูปหล่ออะไรทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้เกิดจากชาวกรีกที่มาทำหลังจากนั้นนานมาก แต่เราถูกปลูกฝังให้เคารพรูปหล่อ ตะเวนไหว้พระ หรือรดน้ำมนต์ซึ่งถูกศาสนาพราหมณ์กลืนเข้ามาหลังจากพระองค์ปรินิพพาน แถมยังอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นปรางค์หนึ่งของพระเจ้าในศาสนาตนอีก ทำให้ทุกวันนี้ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาแทนที่จะมุ่งทำความดี กลับมุ่งสร้างพระให้องค์ใหญ่ๆ เยอะๆ สร้างสถูปใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังยอมรับอยู่ว่า  เป็นเรื่องที่ดีทางวัฒนธรรม แต่เป็นการหลงจากคำสอนของพระองค์
แม้จะเห็นด้วยที่ว่าการไหว้เพื่อระลึกถึงพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ค่อนข้างดูเหมือนว่า แม้เวลาจะผ่านไปสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วมนุษย์เราก็ยังแทบไม่พัฒนาเลยในเรื่องความเชื่องมงาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ด้วย ทำให้การเคารพรูปเคารพที่มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับคนส่วนใหญ่มันเป็นการงมงาย ผิดจากหลักคำสอนของพระพุทธองค์ที่ให้เคารพพระธรรมแทนพระองค์  ยกตัวอย่างสมมติว่า ถ้าเราได้ครอบครองพระเครื่องเป็นล้านๆ จะทำให้เราเป็นคนดีได้หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ แต่ทุกวันนี้ คนหลงกับวัตถุที่เรียกว่า พระพุทธรูป แทนที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สิ่งนี้เรียกว่าหลงผิด วัดแทนที่จะเป็นที่เผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธองค์ แต่กลับทำพระเครื่อง ปลัดขิก กุมารทอง เสกน้ำมนต์แจก ให้พวกที่เรียกตัวเองว่า พุทธมามะกะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักสิทธิ์ ถามว่า พระพุทธองค์เคยทำอะไรแบบนี้ไหม เคยสอนให้พระสาวกของพระองค์ทำไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ นี่คือการหลง
ถ้าทุกคนสามารถคิดแยกแยะได้ว่าอะไรคือพุทธแท้ เราคงไม่มาแย้งหรอกว่าเป็นหลงหรือไม่ แต่ทุกวันนี้แทบทุกคนที่เข้าวัดก็ยังให้ความสำคัญ กับไหว้พระดัง ไหว้พระให้หวย ทำบุญก็ต้องทำกับเกจิ แต่วัดต่างจังหวัดบางที่หาคนทอดกฐินยังแทบไม่ได้ พระเครื่องก็ต้องหาดังมาใส่ แทนที่จะเอาธรรมะมาปฏิบัติ ตั้งแต่เด็กพวกเราก็ถูกสอนให้ท่องบทสวดมนต์เป็นนกแก้วนกขุนทองเป็นภาษาบาลีที่ไม่เข้าใจความหมาย แต่ไม่เคยปลูกฝังจริงจังให้ปฏิบัติดีตามคำสอนทำยังไง  แต่สอนให้ท่องธรรมมะเพื่อสอบให้ได้ เอานักธรรมให้ได้ พระก็เอาแต่หวังสมณศักดิ์ เพราะมีการแบ่งชั้นวรรณะ ผลของมันคือทุกวันนี้มีแต่ข่าวน่าหดหู่ใจ อย่างเจ้าอาวาสเสพเมถุน เป็นต้น ทุกวันนี้เราจึงถูกบิดเบือนให้ไหว้พระพุทธรูปในฐานะพระเจ้าผู้แสดงอภินิหารสามารถดลบันดารขอได้ทุกสิ่ง แทนที่จะเคารพพระองค์ในฐานะผู้รู้แจ้งในทางสู่นิพพาน
กลุ่มที่ ๒ ได้โต้แย้งแนวคิดของกลุ่มชาวพุทธที่ไม่ยอมรับการกราบไหว้รูปเคารพ โดยอธิบายว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งเคารพ เป็นองค์แทนในการระลึกถึงพระพุทธเจ้า หากไม่เคารพนับถือก็ไม่ควรดูหมิ่น ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองแนวคิดนี้ ล้วนมีฐานการมองศาสนาที่ต่างกัน พระพุทธศาสนาที่แท้ต้องไม่กราบไหว้รูปเคารพเลยจริงหรือไม่ กลุ่มนี้ให้คำตอบว่า ไม่จริง เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มดังกล่าวยกมาสนับสนุน คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาที่ปฏิเสธการแสดงความเคารพต่อวัตถุ โดยอ้างว่าแม้ว่าในยุคพุทธกาลหรือหลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน ยุคแรกเริ่มของพุทธศักราช ก่อนจะมีการสร้างพุทธรูปขึ้น ในสมัยของพระเจ้ามิลินทร์ แห่งแคว้นคันธาระ จะยังไม่มีการสร้างพุทธรูปก็จริงอยู่ แต่คนที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุคนั้น ก็มีการกราบไหว้วัตถุซึ่งเป็นสิ่งเคารพที่เรียกกันว่า เจดีย์ แล้ว
กลุ่มนี้ให้เหตุผลเป็นข้อสนับสนุนว่า เจดีย์ที่คนพุทธสมัยก่อน ในชมพูทวีปสักการบูชากัน มี ๓ ประเภท แบ่งเป็น บริโภคเจดีย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งของเครื่องเคยใช้สอยของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงต้นโพธิ์ที่เคยประทับนั่งตรัสรู้ ประการหนึ่ง อุเทสิกเจดีย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งของที่มีคนสร้างขึ้นอุทิศเจาะจงพระพุทธเจ้า เช่น รอยพระพุทธบาท หรือพระพุทธรูป ประการหนึ่ง และสุดท้าย ธาตุเจดีย์ คือสถูปที่ใส่พระธาตุคือกระดูกของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก แบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างลังกาในยุคสมัยแรกของการนับถือพุทธศาสนา และมีการเริ่มต้นบวชภิกษุณี ก็มีหลักฐานปรากฏชัดว่า มีการบูชาต้นโพธิ์ มีการนำหน่ออ่อนเข้ามาปลูกไว้ พร้อมพร้อมกับการประดิษฐานของพระพุทธศาสนา  ยุคต่อมาก่อนหน้าจะมีการสร้างพระพุทธรูปนั้นอีก ก็มีการสร้างรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นเครื่องแสดงหลักฐานของการเข้ามาหรือการมีอยู่แห่งพระพุทธศาสนาในพื้นที่นั้นนั้น นอกจากรอยพระบาทแล้ว ก็ยังนิยมสร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ใช้เป็นสิ่งเคารพบูชาทั้งสิ้น
กลุ่มที่เชื่อว่าสามารถกราบได้ยืนยันว่า การกราบไหว้รูปเคารพมีมานานแล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาลเองก็มี แต่สัญลักษณ์ของสิ่งแทนความเคารพอาจแตกต่างกันไปตามกาลสมัย พระเจ้าอโศกเองก็ทรงเคยยอมรับว่า เมื่อเวลาผ่านไป กำลังแห่งปัญญาของคนก็น้อยลงไปตามด้วย การจะนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นการสร้างสิ่งแทน จึงเป็นอุบายที่ดีอย่างหนึ่ง แล้วชาวพุทธควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อรูปเคารพ ให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา เพราะถ้าเราไปหลงคิดว่า พระพุทธรูป หรือเจดีย์ หรือต้นโพธิ์ มีค่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยบันดาลอะไรให้เราได้ พุทธรูปจะมีค่าไม่ต่างจากรูปปั้นตายาย หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่นั่นนี่ ตามศาลเจ้าริมทาง ที่คนขี่รถผ่านแล้วต้องบีบแตรใส่ มีข้อเสนอวิธีคิดแบบท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสนี่เคยแสดงปาฐกถาธรรม เรื่องภูเขาปิดกั้นพุทธธรรมว่า ถ้าเข้าใจในพระรัตนตรัยผิด เข้าใจความหมายของพระพุทธรูปผิด สิ่งเหล่านี้ นี่แหละที่จะปิดกั้นการเข้าถึงหลักคำสอนที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาของเรา แต่ถึงท่านจะพูดเรื่องนี้ ท่านก็ไม่ปฏิเสธพระพุทธรูป  คือไม่สุดโต่ง แบบชาวพุทธกลุ่มแรกที่ถึงขั้นว่าให้เผาทิ้ง ตบหน้าพระพุทธรูป แบบนี้สุดโต่ง
ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดว่าการมีอยู่ของพระพุทธรูป ไม่ได้มีไว้ในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบันดาลพรให้กับคนที่ไปกราบไหว้ แต่มีไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์เครื่องเตือนให้ระลึก เช่นเห็นพระพุทธรูป ก็ระลึกได้ถึงพุทธคุณคือความตื่นรู้ของพระพุทธเจ้า การเอาชนะความอยาก ความโลภ และความหลง กลุ่มที่สองนี้จึงสรุปความคิดของตนว่า ถ้าเราเข้าใจได้แบบนี้ พุทธรูปจะไม่เป็นอุปสรรคแห่งการเจริญสติเจริญปัญญาของเราเลย ไม่เป็นภูเขาลูกมหึมาสำหรับปิดกั้นพุทธธรรมอย่างที่ท่านพุทธทาสว่า กลับกันยังจะช่วยอุดหนุนอุปนิสัยให้เรามีความอ่อนโยน และนุ่มเย็นอีกด้วย พุทธศาสนาของคนที่กราบไหว้บูชารูปเคารพเหล่านี้ ด้วยความเข้าใจในอรรถสาระ ก็ยังเป็นพุทธศาสนาที่ให้ผลได้อยู่ ไม่จำกัดกาล

๔. พุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการกราบไหว้รูปเคารพ
ประการแรก  พระพุทธศาสนายึดถือหลักแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาสอนให้ตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นคำสอนในเบื้องต้น และสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เป็นสักแต่ว่าทั้งนั้นสุดท้ายมันหมดจดจากกิเลสตัณหา  แม้ความเป็นตัวตนของตนก็ไม่มีและการปฏิบัติของศาสนาพุทธนั้นเป็นของสาธารณะ ใครก็สามารถศึกษาปฏิบัติได้คนพุทธโดยทั่วไปก็กราบไหว้นับถือเทพเทวดา แต่ถ้าเข้ามาศึกษาและปฏิบัติแนวพุทธแล้วก็จะถือพระรัตนตรัยเพียงเท่านั้น ไม่ถือด้วยความหลงงมงาย แต่ถือด้วยความเข้าใจว่าคำสอนและหลักปฏิบัติเหล่านั้นทำให้ดับทุกข์ได้จริง  ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า การกราบไหว้พระพุทธรูปอาจทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนาดีพอ มีแนวโน้มออกห่างจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น จนในที่สุดก็จะกลายเป็นหวังพึ่งผลดลบันดาน เช่นเดียวกับการกราบไหว้ผีสาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ ว่า “คนไม่เคยเห็นเคยฟังพระไตรปิฎกเลย แต่เคยพิจารณาอย่างละเอียดลออทุกครั้งทุกคราวที่ความทุกข์เกิดขึ้นแผดเผาในใจของตน นี้แหละเรียกว่า คนที่กำลังเรียนพระไตรปิฎกโดยตรง”[๒] ซึ่งก็เท่ากับว่าแม้ชาวพุทธจะไม่กราบไหว้พระพุทธรูปหรือรูปเคารพเลย แต่ถ้ารู้วิธีที่จะพิจารณาทุกข์ ดับต้นเหตุของทุกข์ และเข้าใจวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นความถูกต้องตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้หมายความว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มที่เชื่อว่าพุทธแท้ไม่มีรูปเคารพ เพียงแต่ขอเสนอว่า การมีหรือไม่มีพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาผิดเพี้ยนหรือ มีผลต่อผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย การโต้แย้งกันในประเด็นดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ข้อความในพระไตรปิฎกก็ชัดเจนแล้วว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงให้ยึดติดกับวัตถุสิ่งของใดๆ มากกว่าการปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั่นเอง
ประการที่สอง เรื่องการสอนให้กราบไหว้พระพุทธรูป ที่ออกจากพระโอฐของพระพุทธเจ้านั้นไม่มี  ด้วยเหตุที่ว่า สมัยนั้นไม่มีการสร้างพระพุทธรูป และพุทธบริษัทสมัยนั้นถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่เคารพแทนพระพุทธเจ้า เช่นรอยพระบาท พระคันธกุฏิฯ และพระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตามคำสอนมากกว่าความสำคัญในการบูชาด้วยอามิส เช่นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรูปเคารพ การบูชาพระพุทธรูปแท้จริงนั้น เกิดหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปี ก่อนนั้นคนที่ต้องการจะระลึกถึงพระพุทธเจ้าในแง่ของความมีตัวตนจริงของพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน คือที่เกิด ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรมครั้งแรก และที่พระองค์ปรินิพพาน หรือไม่ก็ทำรูปธรรมจักรเป็นเครื่องระลึกถึงธรรม ระลึกถึงการแสดงธรรมของพระองค์พระพุทธรูปมาเกิดขึ้นในลำดับหลัง หลังจากที่ชนชาติที่นิยมทำรูปเคารพได้มานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว การเสนอว่าพระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธการกราบไหว้รูปเคารพนั้นเป็นเพียงการ นำเอาบริบทของสังคมในปัจจุบันมาเป็นข้ออ้างซึ่งขัดแย้งกับหลักการของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้มาจากการที่คนในปัจจุบันต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณที่สามารถจับต้องได้ แทนที่จะปฏิบัติตามคำสอนที่มองไม่เห็นจุดหมายปลายทางที่แน่นอน  ซึ่งชาวพุทธที่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ก็ได้โต้แย้งไปแล้วว่า แม้นไม่มีรูปเคารพในพระพุทธศาสนาเลย ก็สามารถปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชาได้ พุทธประสงค์ก็ทรงต้องการเช่นนั้น 
ประการที่สาม แต่ก่อนการบูชาเป็นเพียงแสดงออกถึงการระลึกถึงพระองค์  ไม่ได้เป็นการอ้อนวอนบนบานศาลกล่าวอย่างที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เข้าในผิดและทำอยู่ และคนที่เข้าใจผิดเดี๋ยวนี้ก็ทำการบูชาสักการะเกินกว่าที่ควรจะทำ เพราะเหตุใดการบูชาพระพุทธรูป (บูชาอย่างถูกต้องไม่งมงาย ไม่เกินไปกว่าที่ควรจะบูชา) จึงเป็นสิ่งที่มีมาในศาสนาพุทธ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างเจดีย์ หรือสถูปแล้วบรรจุอัฐิหรือของใช้ไว้บูชานั้น มี
           ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
           ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
           ๓. พระอรหันต์
          ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ
การบูชาเจดีย์ตามพุทธานุญาต ๔ ข้อนี้ก็บูชาได้ ไม่ผิด แต่การบูชาจนไม่ปฏิบัติตามคำสอนนั้นคือความหลงผิด พระพุทธศาสนาไม่ได้มีคำสอนให้กราบไหว้รูปเคารพแต่อย่างใด แต่มีคำสอนให้พึ่งตนเอง ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน ทีนี้ถ้ามองในมุมมองของพุทธศาสนิกชนที่รับเอาแนวคิดการกราบไหว้รูปเคารพมาตั้งแต่บรรพชน พระพุทธรูปที่พวกเขากราบไหว้  คือผู้เป็นศาสดาของศาสนาที่ชาวพุทธทั้งหลายเคารพกราบไหว้ ที่พวกเขากราบไหว้ก็เพราะถือว่า ท่านเป็นครู  เป็นอาจารย์เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่เรา เพื่อการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับที่เรา ไหว้ครู  ไหว้กราบ พ่อแม่ ซึ่งเมื่อมองจากมุมดังกล่าว จะเป็นการหักหาญน้ำใจกันเพียงใดที่จะมีข้อห้ามในการราบไหว้รูปเคารพเหล่านี้ พระพุทธองค์คงไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะทรงเผยแผ่พระธรรมคำสอนด้วยวิธีการที่ไม่หักหาญความเชื่อดั้งเดิมของเขาแต่อย่างใด แต่จะทรงแสดงให้เห็นว่า อย่างไหนถึงจะเป็นการกราบไหว้บูชาที่ถูกต้องต่างหาก ดังเช่นเรื่อง ทิศทั้ง ๖ ก็ไม่ทรงบอกว่าทรงห้ามกราบไหว้ทิศเหล่านั้น แต่ทรงแสดงให้เห็นว่า ความหมายที่แท้จริงของทิศเหล่านั้นคืออะไร ทำนองเดียวกับเรื่อง รูปเคารพที่ผู้เขียนเห็นว่า แม้จะมีการกราบไหว้พระพุทธรูป แต่พระพุทธศาสนาก็ได้ทำหน้าที่อธิบายให้เข้าใจแล้วว่า พุทธแท้นั้นไม่ได้อยู่ที่องค์พระ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพุทธองค์ ที่ทรงสอนให้พึ่งพาตนเอง ต่างหากเล่า

๕.  สรุป
ผู้เขียนจึงเห็นว่าการมีพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้ศาสนาแย่ลงหรือบิดเบือนอะไรเลย สมัยพุทธกาลเวลาพระเถระสำคัญนิพพาน  พระพุทธเจ้าตรัสให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิให้คนผ่านไปมาสักการะ หรือตอนพระราชาเศรษฐีเมืองสาวัตถีพระอานนท์พระมหาโมคคัลลานะช่วยกันปลูกต้นโพธิ์เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงตอนพระพุทธเจ้าไม่อยู่วัดเชตวัน ตรงนี้แหละทำให้เราทราบว่า  พระพุทธเจ้าไม่ปฏิเสธการกราบไหว้สิ่งของแทนบุคคลเพื่อบูชาคนดี  แต่มีพุทธประสงค์ไม่ให้ลุ่มหลง พระองค์ตรัสว่า เจดีย์มีสามอย่างคือ  ธาตุเจดีย์  เจดีย์บรรจุพระธาตุ  อุทเทสิกเจดีย์  เจดีย์หรือสิ่งของตัวแทนให้ชวนระลึกถึงและบริโภคเจดีย์  เจดีย์บรรจุของใช้ของสอยส่วนตัว พระพุทธรูป ต้นโพธิ์จัดเป็นอุทเทสิกเจดีย์  ทำความเคารพกราบไหว้ได้  เพราะเราไม่ได้ไหว้สิ่งนั้น  แต่เราไหว้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีต่างหาก
ในปรินิพานสูตร กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าล่วงลับไปแล้วให้ทำยังไงกับพระธาตุของท่าน พระองค์ก็ไม่ได้ บอกให้เอาไปโยนทิ้งน้ำ แต่บอกให้ทำตามประเพณีที่ พระเจ้าจักรพรรดิทำกันคือการสร้าง เจดีย์ บรรจุอัฐิ ของพระพุทธเจ้า การสร้างรูปเคารพเพื่อบูชา ก็เป็นการทำตามประเพณี ของการบูชาพระเจ้าจักรพรรดิ การกระทำบ่อยๆ จะส่งผลให้จิตน้อมไปทางกุศล กลุ่มที่อ้างว่าพระพุทธรูปไม่ต้องกราบก็ได้ล้วนแต่ทำให้สะสมนิสัยสอนยาก ทำไปให้ใจหยาบกระด้าง น้อมไปทางกุศลได้ยาก ตรงข้ามกับกลุ่มที่กราบไหว้พระพุทธรูป เป็นการสะสมนิสัย ที่อ่อนน้อม ถ่อมตน สอนง่ายซึ่งนำไปสู่การสร้างศรัทธา ต่อศาสนาพุทธ ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่าย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ให้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม  ก็เพราะทรงเห็นว่า หากไม่มีพื้นฐานพวกนี้ การที่ปุถุชนจะกระทำตนให้บริสุทธิ์จนถึงโสดาบัน หรือแก่นธรรมใดๆ ตามอย่างพระองค์ยิ่งจะเป็นการยาก ซึ่งจะทำตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องเริ่มจากศรัทธาก่อนเป็นเบื้องต้น ดังนั้นสาระกับพิธีกรรมจึงต้องไปคู่กัน จะทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาของโลก พิธีจึงกรรมมีส่วนทำให้ศาสนายืนยาวมาจนปัจจุบัน แม้นักปราชญ์นอกพระพุทธศาสนาบางท่านก็เห็นด้วยกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ ขอยกเอาคำพูดของเซนต์ ออกัสตีน (St. Augustine) เป็นตัวอย่าง เขากล่าวว่า
"เราเข้าใจเพื่อจะได้เชื่อ และเราเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างเราไม่เชื่อจนกว่าจะเข้าใจ แต่ก็มีบางอย่างที่เราจะเข้าใจไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เชื่อเสียก่อน ปัญญาและศรัทธาจึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน" [๓] เพราะพระพุทธคุณ เป็นนามธรรม โดยหลักทั่วไปแล้ว การระลึกถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วนๆ สำหรับคนทั่วไปแล้วทำได้ยาก เหมือนระลึกถึงคุณพ่อคุณแม่ หากจะมีรูปท่านอยู่ด้วยจะให้ความรู้สึกแปลก คือให้ความซาบซึ้งมากกว่าที่คิดถึงในเชิงนามธรรมล้วนๆ ตามความจริงแล้ว ก็หาได้คิดอยู่เพียงรูปถ่ายของท่านไม่ รูปถ่ายท่านเป็นเพียงสื่อให้คิดได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง
แนวคิด การกราบ ไหว้ พระพุทธรูป เจดีย์ แท้จริงแล้วเรากราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเหตุผล แม้พระพุทธศาสนาไม่มีแนวคิดในการกราบไหว้รูปเคารพ  แต่ก็ไม่ปฏิเสธหากพุทธศาสนิกชนประสงค์จะกราบไหว้บูชา เพราะพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมากมายแม้จะสร้างด้วยอะไรก็ตาม หากผู้ไหว้ไม่ติดอยู่เพียงรูปเหล่านั้น รูปเหล่านั้นก็สามารถทำหน้าที่สื่อทางจิตใจเพื่อได้อาศัยรำลึกถึงพระพุทธเจ้า และพระพุทธคุณได้  การกราบไหว้พระพุทธรูปนั้นก็ไม่เหมือนการกราบไหว้รูปเคารพอย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน      เพราะพวกสร้างรูปเคารพประเภทนั้น ผู้ที่ตนนำมาสร้างเป็นรูปไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เป็นแต่คิดฝันขึ้น บอกเล่าสืบต่อกันมา ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากพวกที่ต้องการประโยชน์ จากความนับถือรูปเคารพเหล่านั้นของคนทั้งหลาย คนนับถือรูปเคารพจึงนับถือ เพราะการไหว้รูปเคารพ จึงเป็นการกระทำเพื่อ ๑. ประจบเอาใจรูปเคารพเหล่านั้น ไม่ให้ท่านโกรธ  ๒. ต้องการอ้อนวอน บวงสรวง ให้ท่านประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ตนต้องการ และพิทักษ์รักษาตน พร้อมบุคคลที่ตนต้องการให้รักษา แม้ว่าบุคคลบางคนจะไหว้พระพุทธรูป เพื่อต้องการของสิ่งที่ตนต้องการบ้าง แต่ไม่มีลักษณะของการประจบเอาใจต่อพระพุทธรูป เพื่อไม่ให้ท่านโกรธ อย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน พระพุทธรูปจึงไม่เหมือนกับรูปเคารพอย่างที่คนบางคนเข้าใจ”[๔]
ที่ผ่านมาพุทธจริยศาสตร์ได้ให้คำตอบเพื่อตัดสินว่า การกราบไหว้รูปเคารพในพระพุทธศาสนาสามารถทำได้หรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงความหลงใหลไปกับวัตถุ ที่ชาวพุทธยึดติดเอาไว้อย่างเหนียวแน่นอย่างที่พระพุทธองค์ไม่ทรงประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น 



บรรณานุกรม

พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ, คู่มือมนุษย์, กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด. ๒๕๕๕.
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ,ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา ๒, กรุงเทพมหานคร: พิมพ์
เผยแพร่เพื่อ เป็นพุทธบูชาและธรรมบรรณาการ, พ.ศ. ๒๕๒๒.
วศิน  อินทสระ,ตรรกศาสตร์พุทธศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมดา,๒๕๔๘.
สื่อออนไลน์, ธรรมะและศาสนา. https://www.dek-d.com/board/view/3025741/.
สืบค้นเมื่อ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๐.




[๑] นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
[๒] พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, คู่มือมนุษย์, (กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด. ๒๕๕๕),หน้า ๕๕.
[๓] สื่อออนไลน์,ธรรมะและศาสนา. https://www.dek-d.com/board/view/3025741/.สืบค้นเมื่อ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๐.
[๔] พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ,ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา ๒, (กรุงเทพมหานคร: พิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นพุทธบูชาและธรรมบรรณาการ, พ.ศ. ๒๕๒๒), หน้า ๒๓๐-๒๓๑.

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...