สุนทรียศาสตร์กับศีลธรรม
Aesthetics and Morality
อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ [๑]
บทความนี้เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาข้อวิเคราะห์เชิงปรัชญา เรื่อง สุนทรียศาสตร์กับศีลธรรม เพื่อหาคำตอบของสุนทรียศาสตร์กับศีลธรรม ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญหรือทั้งสองอย่างไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันและแยกต่างหากจากกัน เราจะแยกตรงไหนที่เป็นเส้นแบ่งของสุนทรียศาสตร์ที่สำคัญและจำเป็น อันมีค่ายิ่งต่อมนุษยชาติ ออกจากการประกอบกิจไร้ประโยชน์ เป็นผลงานทางการพาณิชย์ และแม้แต่ผิดต่อศีลธรรม สาระและความสำคัญชนิดไหนกันที่สุนทรียศาสตร์วางอยู่ มีทฤษฎีศิลปะอยู่ทฤษฏีหนึ่งซึ่งพวกที่คัดค้านเรียกกันว่าทฤษฎี “โน้มเอียง” กล่าวไว้ว่า สาระสำคัญของศิลปะที่แท้จริงนั้นตั้งอยู่บนความสำคัญของเองราวที่ได้รับการปฏิบัติออกมา คือเพื่อศิลปะจะเป็นศิลปะได้นั้น จำเป็นที่เนื้อหาของมันจะต้องเป็นอะไรที่สำคัญจำเป็นต่อมนุษย์ ดีงาม มีศีลธรรม และชี้นำ ตามทฤษฎีดังกล่าวศิลปิน ซึ่งก็คือคนที่มีความชำนาญไม่อะไรก็อะไรสักอย่าง ด้วยการหยิบเอาแกนเรื่องราวที่สำคัญที่สุด ซึ่งสร้างความสนใจแก่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ด้วยการตกแต่งมันด้วยสิ่งซึ่งดูเหมือนรูปแบบศิลปะ ก็สามารถผลิตงานศิลปะออกมาได้ตามทฤษฎีดังกล่าว ศาสนา ศีลธรรม สังคม และความจริงทางการเมือง อันห่มไว้ด้วยสิ่งซึ่งดูเหมือนรูปแบบศิลปะ ก็เป็นผลงานทางศิลปะแล้ว[1]
ทฤษฎีต่อมาเรียกตัวเองว่า
“สุนทรียศาสตร์” หรือทฤษฎี “ศิลปะเพื่อศิลปะ” นั้น ถือกันว่าสาระสำคัญของศิลปะที่แท้จริงอยู่ที่ความงามแห่งรูปแบบของมัน
ซึ่งก็คือศิลปะจะเป็นจริงได้ จำเป็นที่สิ่งอันมันได้เสนอออกมาจะต้องสวยงาม
ตามทฤษฎีดังกล่าว
ในการผลิตศิลปะจำเป็นอย่างยิ่งที่ตัวศิลปินจะต้องมีความสามารถทางเทคนิค
และต้องทำให้ปรากฏออกมาซึ่งวัตถุศิลป์อันได้ผลิตออกมานั้น
ให้มีความประทับใจน่ายินดีระดับสูงสุด และดังนั้น ภาพทิวทัศน์ ดอกไม้ ผลไม้
ร่างกายที่เปื่อย และบัลเล่ต์ที่งดงาม ก็จะเป็นงานศิลปะ[2]
ทฤษฎีที่สาม
ซึ่งเรียกตัวเองว่าทฤษฎี “สัจนิยม” กล่าวว่า
สาระสำคัญของศิลปะอยู่ที่การเสนอความจริงที่เป็นจริงและถูกต้องแน่นอน นั่นคือ
เพื่อการเป็นศิลปะที่แท้จริงจำเป็นจะต้องทำให้ปรากฏซึ่งชีวิตอย่างที่มันเป็นอยู่ ตามทฤษฎีนี้
จะตามมาด้วยว่างานศิลปะอาจเป็นอะไรก็ได้ที่ศิลปินได้ยิน ได้เห็น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสามารถนำมาใช้ในการผลิตซ้ำแบบขึ้นโดยไม่ขึ้นตรงต่อความสำคัญของเรื่องราวหรือความงามรูปแบบแต่อย่างใด[3]
ที่กล่าวนั้นคือทฤษฎีต่างๆ
และต่างเป็นรากฐานของผลงานที่เรียกว่าศิลปะมากมาย ซึ่งอาจเข้าอยู่ในทฤษฎีแรก
ทฤษฎีที่สอง หรือทฤษฎีที่สาม ซึ่งนอกจากความจริงที่ว่า
ทฤษฎีเหล่านี้ต่างขัดแย้งกันและกันแล้ว ยังไม่มีทฤษฎีใดเลยที่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจต่อข้อเรียกร้องต้องการในอันที่จะกำหนดแบ่งศิลปะออกจากการผลิตที่ไร้นัยสำคัญ
เป็นเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่เป็นพิษเป็นภัย
ตามความหมายของทฤษฎีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ งานศิลปะสามารถผลิตออกมาได้ไม่ขาดสาย
เช่นเดียวกับการผลิตงานฝีมือทุกชนิดนั่นเอง และอาจเป็นงานที่ไร้นัยสำคัญหรือแม้แต่เป็นพิษเป็นภัยก็ได้
ตามทฤษฎีแรก (ทฤษฎีโน้มเอียง) เรื่องราวที่สำคัญอย่างเช่นศาสนา ศีลธรรม สังคม
หรือการเมืองนั้น มีพร้อมในมือตลอดเวลาอยู่แล้ว
จึงสามารถผลิตงานที่เรียกว่าศิลปะออกมาได้ไม่ขาดสาย ยิ่งกว่านั้น เรื่องราวต่างๆ
ที่กล่าวนั้น อาจเสนอออกมาอย่างคลุมเครือและไม่จริงใจเสียจนงานสำคัญที่สุดนั้น
กลายเป็นงานไร้นัยสำคัญหรือแม้แต่มีพิษมีภัยโดยเนื้อหาสูงส่งนั้นด้อยค่าลงด้วยการแสดงออกที่ไม่จริงใจ
ในทำนองเดียวกัน ทฤษฎีที่สอง (ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์)
นั้นไม่ว่าใครก็ตามที่เรียนรู้เทคนิคสาขาใดสาขาหนึ่งของศิลปะมาแล้ว
เขาก็จะสามารถผลิตสิ่งสวยงามและน่ายินดีออกมา แต่อันนี้ก็เช่นกัน
ที่ความงามและความน่าพึงใจยินดี อาจไร้นัยสำคัญหรือแม้แต่เป็นพิษเป็นภัยได้ และก็แบบเดียวกันนั่นเอง
ตามทฤษฎีที่สาม(ทฤษฎีสัจนิยม)นั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ปรารถนาจะเป็นศิลปิน
ย่อมสามารถผลิตวัตถุอันเรียกว่าศิลปะออกมาได้ไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะคนทุกคนจะต้องสนใจอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา
ถ้าผู้ประพันธ์คนนั้นสนใจสิ่งซึ่งไร้นัยสำคัญและชั่วร้าย งานของเขาที่ออกมาก็ย่อมไร้นัยสำคัญและชั่วร้ายไปด้วย
ประเด็นสำคัญก็คือ ตามทฤษฎีทั้งสามที่กล่าวนี้ “งานศิลปะ”
สามารถผลิตออกมาได้ไม่ขาดสายเช่นเดียวกับงานฝีมือทุกอย่างนั่นเอง
และที่จริงก็กำลังผลิตกันออกมาอย่างนั้นอยู่แล้ว
ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์สุนทรียศาสตร์ที่มีต่อศีลธรรมตามทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท
เป็นการนำเสนอแนวคิดต่างๆของพุทธสุนทรียศาสตร์ที่มีต่อ
๓ ทฤษฎี คือ (๑) ทฤษฎีโน้มเอียง (๒)
ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ และ(๓) ทฤษฎีสัจนิยม เพราะทฤษฎีที่ครอบงำอยู่และไม่อาจยอมรับได้ทั้งสามนี้
ไม่เพียงไม่สามารถกำหนดเส้นแบ่งที่แยกศิลปะออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะเท่านั้น
ตรงข้ามที่ยิ่งกว่าอะไรที่สุดคือ มันยังรับใช้การขยายข่ายครอบงำ
และนำเอาสิ่งไร้นัยสำคัญและเป็นพิษเป็นภัยมารวมไว้ทั้งหมดด้วย ดังนั้นผู้วิจัยจะได้พยายามอธิบายให้เห็นว่า
สุนทรียภาพที่เกิดจากงานศิลปะในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นควรเป็นอย่างไร
แม้จะมีข้อโต้แย้งกล่าวถึงศิลปะว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาและศีลธรรม แต่พุทธปรัชญาเถรวาทก็มิได้ให้คุณค่ากับศิลปะในด้านวัตถุภายนอกแต่เป็นการให้ความสำคัญกับศิลปะในฐานะที่เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้
ฝึกฝนและพัฒนาตนเองของมนุษย์ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องศิลปะแตกต่างกันนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้วิจัยจะได้พยายามพิสูจน์และหาเส้นแบ่งผลงานศิลปะออกจากผลงานที่ไม่ใช่ศิลปะในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่มีเจตนาที่จะเข้าข้างแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งแต่อย่างใด
จากข้อความในหัวข้อที่ผ่านมาอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างสุนทรียศาสตร์กับศีลธรรมเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไป
เพื่อแยกแยะผลงานที่ไม่เป็นศิลปะออกมาเสียจากผลงานที่เป็นศิลปะทั้งหลายที่เราพบดาดเดื่อนอยู่ในทุกวันนี้ตามวัดวาอาราม
ตามร้านขายภาพเขียน ผลงานที่ส่งเข้าประกวดประชันกันในเรื่องเทคนิค
เรื่องความสูงส่ง หรือเรื่องการสะท้อนความจริง
ผู้เขียนจะขอนำภาพเขียนภาพหนึ่งที่ชื่อว่า
“ภิกษุสันดานกา”มาเป็นเครื่องมือในการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวทั้งหมดนี้ และนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของนักปรัชญาตะวันตกและพุทธปรัชญาเถรวาท
ข้อเขียนทั้งหมดจึงมุ่งไปที่ประเด็นข้อโต้แย้งแนวคิดเรื่อง สุนทรียศาสตร์กับศีลธรรม
ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ ๓ ประเด็น ดังต่อไปนี้
![]() |
ภาพภิกษุสันดานกา ศิลปิน อนุพงษ์ จันทร |
|
เมื่อพิจารณาแนวคิดการนำเสนอภาพ “ภิกษุสันดานกา” พบว่ามีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดปรัชญาศิลปะในทรรศนะของพระพุทธศาสนา
ภาพดังกล่าวศิลปินกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของเขาว่า
ต้องการนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ ที่แหลกเหลว ฟอนเฟะ
โดยมิได้มุ่งหมายถึงพระสงฆ์ทั้งหมด แต่มีเจตนาที่จะจำเพาะลงไปที่บรรดาเหล่าภิกษุอลัชชี
ผู้ปลอมบวชอาศัยผ้าเหลืองหากินเท่านั้น แม้ศิลปินและผู้นิยมศิลปะจะมองว่า
เรื่องนี้เป็น "ศิลปะ และพวกเขาก็เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า
"สุนทรียภาพ" สามารถสัมผัสได้โดยผ่านทางประสาทสัมผัส อันได้แก่
ทางตาที่เราเห็น และทางหูที่เราได้ยิน แต่พระพุทธศาสนามิได้มีทรรศนะเช่นนั้นเสียทั้งหมด เป้าหมายของการสร้างศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนานั้น พระพุทธศาสนามีทรรศนะว่าต่างไปจากการสร้าง ศิลปะประเภทอื่นเพราะมีเป้าหมายที่แน่นอนอยู่ที่การศิลปกรรมเพื่อทำจิตให้สงบ
ยกระดับวิญญาณของมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นจนถึงขั้นหลุดพ้นจากกิเลสในที่สุด
ดังนั้นเนื้อหาของศาสนศิลป์จึงเน้นที่ ความจริง
ความดีและความงามเพื่อให้ผู้พบเห็นได้รับ ความรู้สึกนึกคิดบนพื้นฐานที่เป็นปรัชญาของศาสนาแต่ละศาสนา
ดังที่คำบาลีว่า“กุสสะสิปปัง” ศิลปะต้องเป็นกุศล ขอยกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่ามีศิลปินแร็ปเปอร์คนหนึ่ง
แสดงคอนเสริต์หมิ่นศาสนาพุทธ
จนถูกรัฐบาลของประเทศศรีลังกาสั่งงดออกวีซ่าให้กับศิลปินรายนี้ แม้ว่าจะได้รับความนิยมมากก็ตาม
กระแสต่อต้านนี้ยังลุกลามไปยังหมู่ชนชาวศรีลังกาทำให้เกิดความโกรธแค้นจน
ชุมนุมประท้วงที่หน้าบริษัทนำเข้าคอนเสริต์นี้พร้อมกับขว้างปาสิ่งของเข้าใส่
จนทำให้พนักงานบาดเจ็บไป ๔ คนด้วยกัน เท่านั้นยังไม่พอ
ยังมีชาวพุทธที่เป็นชาวไทยหลายคนต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดออกวีซ่า ให้กับนายคนนี้อีกด้วย
![]() |
กลุ่มผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้หยุดการแสดงภาพดูหมิ่นพระสงฆ์ |
ประเด็นนี้เกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องปรัชญาศิลปะในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมุ่งหมายที่จะให้ศิลปินเข้าให้ถึงสุนทรียภาพในชีวิต
และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะจึงจะทำให้ผู้ที่เห็นและชื่นชมงานศิลปะสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนอได้
กรณีภาพวาดภิกษุสันดานกาที่ยกมาเป็นตัวอย่าง นักปรัชญากลุ่มที่สองที่มองว่าภาพนี้ไม่ควรเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม
หรือศาสนา แต่เป็นงานศิลปะเพื่อศิลปะ ดังนั้นจึงยอมให้มีการแสดงผลงานทางศิลปะที่เป็นอิสระจากศาสนาได้
ซึ่งในที่นี้ควรจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า
คำว่า ศิลปะเพื่อศิลปะนั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด
เพราะถ้าหากสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา เช่น ภาพโป้ ภาพเปลือย
หรือภาพที่ทำให้จิตวิญญาณของคนตกต่ำลง แล้วเรียกมันว่า งานศิลปะ
บ้านเมืองเราก็คงจะเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกที่ไร้รสนิยมทางสุนทรียศาสตร์กันเต็มบ้านเต็มเมือง
ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาทางศีลธรรมอยู่นั่นเอง
![]() |
ฮูปแต้มสิมอีสาน มรดกทางภูมิปัญญาของชาวอีสาน |
|
![]() |
ประติมากรรมนูนสูง ถ้ำอชันตา รัฐมหาราษฏร์ อินเดีย |
|
ปัญหาข้อสุดท้ายพิจารณาการที่ศิลปะเป็นการแสดงออก
๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา อีกชนิดหนึ่งเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ
แต่มีจุดหมายอย่างเดียวกัน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ
ส่วนศาสนาก็มีจุดหมายปลายทางทางด้านจิตใจเช่นกัน
คือสอนให้คนเป็นคนดีโดยอาศัยหลักธรรม แต่ศิลปะสอนโดยอาศัยการเรียนรู้จากการประสานกลมกลืนกันและความงาม
ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าปรัชญาของศิลปะและศาสนานั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดกันมาก
จนสิ่งทั้งสองสามารถผสานกลมกลืนกันไปได้เป็นอย่างดี ในอดีตศิลปะหลายประเภท
พัฒนามาจากศิลปะเนื่องในศาสนา ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย
ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งในซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก
ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถ้ำอชันตะ (AJANTA
CAVE) ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นจิตรกรรมเนื่องในพุทธศาสนายุคแรก แตกต่างจากภาพภิกษุสันดานกา
ที่มีลักษณะเป็นเรื่องล้อเลียน (Caricature)[๖]
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวไว้ในศิลปะสงเคราะห์ว่า “การแสดงลักษณะของเหตุการณ์ทางการเมือง
ทางทหาร หรือทางศาสนาก็ดี
หรือเหตุการณ์ข้อเท็จจริงอันเกิดมีขึ้นเป็นประจำวันตามธรรมดาก็ดีอาจถ่ายทอดออกมาให้เป็นเรื่องล้อ
ด้วยวิธีวาดเป็นภาพ...ในเรื่องล้อเลียนเช่นนี้ ที่เป็นเรื่องกระทบกระเทียบ(Sarcastic)
ก็มี เมื่อต้องการจะติชมเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นบางประการ
โดยเอาเรื่องตลกขบขันไปบังไว้[๗]
อีกนัยหนึ่งศิลปะที่เนื่องในศาสนาเป็นต้นกำเนิดของศิลปะหลายประเภท
ที่นอกเหนือจากผลงานศิลปะโดยตรงแล้ว “ช่างและศิลปิน” ผู้สร้างศิลปะเนื่องในศาสนาก็มีบทบาทอย่างสำคัญ
ในการพัฒนาศิลปะให้ก้าวหน้าและมีคุณภาพ ผู้เขียนเห็นว่าช่างและศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเนื่องในศาสนา
จะต้องมีความศรัทธาในศาสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ในจิตใจ จึงจะพยายามที่จะนฤมิตผลงานของตนให้ยิ่งใหญ่
และมีคุณค่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ศิลปินและช่างประเภทนี้จะต้องมีความรู้ทั้งด้านศิลปะและศาสนา
ประกอบกันไปด้วยเพื่อให้ได้ศิลปกรรมที่ตรงตามปรัชญาของศาสนา แต่การจะสะท้อนภาพบุคคลในศาสนาออกมาจนเป็นงานศิลปะชั้นสูงได้นั้น
ศิลปกรรมจักต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก ตั้งแต่ความชำนาญเชี่ยวชาญในศิลปะประเภทนั้นๆ
ความเข้าใจในหลักและปรัชญาของศาสนา
ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีอยู่ในตัวช่างหรือศิลปินผู้สร้างศิลปะ หากศิลปินขาดคุณสมบัติเป็นผู้เข้าใจในหลักปรัชญาศาสนาและปรัชญาศิลปะก็จะไม่อาจสร้างสรรค์ผลงานจนเกิดสุนทรียภาพออกมาได้
ช่างหรือศิลปินสมัยใหม่ส่วนมากมักชอบสร้างศิลปะเพื่อสนองความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นหลัก
แต่ผู้สร้างศาสนศิลป์หรือพุทธศิลป์นั้น จะมุ่งไปที่ผลที่จะเกิดกับผู้เสพซึ่งเป็นศาสนิกชนเป็นสำคัญหากมุ่งไปผิดทางก็อาจนำความเสื่อมเสียมาได้
ดังนั้น
การสร้างศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์สาวก ถือเป็นบุคคลในศาสนาผู้สร้างจะต้องมีศักยภาพในตัวสูงยิ่งที่เดียวจึงจะสามารถถ่ายทอดความเป็นสุนทรียภาพออกมาได้
สิ่งเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจน ในพระพุทธปฏิมาสมัยต่างๆ ของไทย
ซึ่งประติมากรสามารถถ่ายทอดพุทธปัญญาและสารัตถธรรม
ให้หลอมรวมอยู่ในองค์พระปฏิมาได้อย่างหมดจดงดงามอย่างที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยนั้น
ถือว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่มีความเป็นเลิศในทุกทาง เป็นประติมากรรมคลาสสิคของไทย
ที่มีความสมบูรณ์ทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ กรรมวิธีในการหล่อสำริด รูปทรงเค้าโครงที่ได้สัดส่วนงดงามมีพระพักตร์ที่อิ่มเอิบ
แสดงถึงความหลุดพ้นไปจากกิเลส ตัณหาทั้งปวง พระพุทธปฏิมาบางลีลาของสุโขทัยนั้น
เป็นพระพุทธปฏิมาที่มีความงามเป็นเลิศ ด้วยความประสานกลมกลืนกันของเส้นรอบนอก
และปริมาตรที่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่อิ่มเอมหลุดพ้น ภาพลักษณ์พระพุทธรูปนั้นไม่มีนัยยะของภาพเหมือน
แต่เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่ง
ซึ่งไม่เหมือนมนุษย์ภายนอกของภาพลักษณ์ไม่บ่งบอกถึงโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต
ไม่สะท้อนอะไรสักอย่างที่เคยพบเห็นเชิงกายภาพ แต่มันเป็นสูตรอันหนึ่งซึ่งสร้างความเข้าใจได้ดี
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นภูมิปัญญา และความสามารถของปะติมากรไทยในอดีตเป็นอย่างดี
ซึ่งแตกต่างจากภาพวาดภิกษุสันดานกา ที่คำนึงถึงความรู้สึกส่วนตนเพียงอย่างเดียวแม้จะมีองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยมเพียงใดแต่ก็ไม่อาจชักนำให้ผู้ชมเกิดสุนทรียภาพขึ้นมาได้
ทั้งนี้เนื่องจากการที่ศิลปินไม่คำนึงถึงปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ของบุคคลในศาสนาเหมือนกับการสร้างองค์พระพุทธรูปที่อุดมไปด้วยสุนทรียภาพที่ไม่ว่าจะมองจากมุมของศิลปะหรือศาสนาก็รู้สึกได้ถึงศีลธรรมอันดีงามนั่นเอง
บทสรุป/วิพากษ์
ผู้เขียนเชื่อว่าการนำเสนอผลงานทางศาสนศิลป์หรือศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในศาสนาทุกศาสนา
เป็นศิลปะที่มีผลโดยตรงที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมวลมนุษย์มาช้านาน
และศิลปกรรมเหล่านั้นเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็น ภูมิปัญญา
ความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อศาสนา และด้วยความศรัทธาที่มนุษย์มีต่อศาสนานี้เอง
เป็นพลังมหัศจรรย์ที่ทำให้เกิด ศิลปกรรมที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
สำหรับศาสนศิลป์ในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นศาสนศิลป์เนื่องในพุทธศาสนาหรือเป็นพุทธศิลป์ แต่ก็มีศาสนศิลป์ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และอิสลามอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก ก่อนประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นที่ทราบกันดี ว่า เป็นศิลปะลัทธิมหายานของสมัยขอมและศรีวิชัย แต่สำหรับสมัยทวาราวดีนั้น เป็นของอินเดียและมอญลัทธิเถรวาท รวมทั้งในสมัยสุโขทัยของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถือกันว่าเป็นศิลปะของพุทธที่งดงามที่สุดของโลกแบบหนึ่ง ดังคำกล่าวของผู้ที่พบเห็นซึ่งไม่ได้เป็นชาวพุทธ ดังนี้
สำหรับศาสนศิลป์ในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นศาสนศิลป์เนื่องในพุทธศาสนาหรือเป็นพุทธศิลป์ แต่ก็มีศาสนศิลป์ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และอิสลามอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก ก่อนประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นที่ทราบกันดี ว่า เป็นศิลปะลัทธิมหายานของสมัยขอมและศรีวิชัย แต่สำหรับสมัยทวาราวดีนั้น เป็นของอินเดียและมอญลัทธิเถรวาท รวมทั้งในสมัยสุโขทัยของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถือกันว่าเป็นศิลปะของพุทธที่งดงามที่สุดของโลกแบบหนึ่ง ดังคำกล่าวของผู้ที่พบเห็นซึ่งไม่ได้เป็นชาวพุทธ ดังนี้
“ภาพลักษณ์พระพุทธเจ้าสร้างโดย
ปฏิมากรสุโขทัย
นั้นเปล่งประกายความสงบเงียบออกมาให้เห็นเป็นพิเศษและมีพลังวิญญาณที่รู้สึกได้
แม้จะไม่ใช่ชาวพุทธ”
และถ้าในมุมมองของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ผู้มีส่วนได้ศึกษาเรื่องนี้บันทึกเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัยว่า
“แบบของหุ่นประติมากรรม
เสมือนคุณค่าที่นำเข้าสู่จิตภวังค์ มีความรู้ในการใช้วัสดุเป็นอย่างดี
ไม่ลวงตาด้วยความเป็นเนื้อหนังของคนและรอยจีบของผ้า
ซึ่งนำมาเป็นปัจจัยแฝงไว้กับเนื้อโลหะมันเป็นเฉกเช่น การเห็นพลังเพลิง
พื้นผิวของบรอนซ์เปล่งแสงเรืองด้วยโครงร่างรอบนอกคล้ายการพลิ้วสะบัดของเปลวเพลิง” เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบขอยกเอาทรรศนะของท่านศาสตราจารย์
หม่อมเจ้าสุภัทรดิส ดิสกุล ได้กล่าวไว้กับผลงานพระพุทธรูปชิ้นหนึ่งมาอ้างถึงดังนี้
ผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นสื่อถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในงานภาพวาดภิกษุสันดานกา
เมื่อพิจารณาถึงทัศนะทางปรัชญาของนักปรัชญา เช่น เฮเกล (Hegel) มีแนวคิดว่า ความงาม คือ
ความจริงที่ฉายจากสิ่งสมบูรณ์ผ่านโลกทางประสาทสัมผัสตามที่จิตของมนุษย์
สามารถเข้าใจได้ ความงามจึงเป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ในสิ่งต่าง ๆ
รอบตัวและความงามที่มีสุนทรียภาพคือความงามในศิลปะ
ซึ่งศิลปะที่แฝงความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อไว้ด้วยนั้นจัดเป็นศิลปะเชิง
สัญลักษณ์ (Symbolic art) ตามทัศนะนี้ประกอบกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพภิกษุสันดานกา
ทำให้สรุปได้ว่า การสร้างภาพภิกษุสันดานกาจัดเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญทั้งต่อผู้สร้าง
ในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสิ่งที่นำมาสู่สุนทรียภาพแก่ผู้พบเห็น ซึ่งผู้สร้างเองก็ต้องมีสุนทรียภาพภายในตนและจินตนาการที่แฝงไว้ด้วยความงาม
และความจริงด้วย เพราะผลงานที่ปรากฏนอกจากจะเป็นเครื่องสื่อถึงความเป็นพระสงฆ์
ความงามและความดี ยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงจิตใจ ความรู้ และความสามารถอันน่าชื่นชมของผู้สร้างไปในตัว
และเมื่อผลงานปรากฏก็เกิดผลดีต่อส่วนรวมหรือประชาชนโดยกว้างขวางในฐานะที่
เป็นผู้เสพหรือผู้สัมผัสกับงานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งในขั้นลึกอาจยังนำไปสู่การเข้าถึงธรรมอันแฝงอยู่ในลักษณะสัญลักษณ์ที่
ปรากฏอยู่ด้วย สุนทรียศาสตร์กับศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและมีความ
สำคัญดังกล่าวมา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศิลปินมีสถานภาพเป็นชาวพุทธด้วยก็จะต้องเข้าใจถึงบทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดีเท่านั้น
แต่ยังจะต้องทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนอีกด้วย
ดังนั้นการสร้างศิลปกรรมที่เกี่ยวกับบุคคลในศาสนาจึงต้องไม่เพียงแต่ให้เกิดสุนทรียภาพในทางศิลปะเท่านั้น
คือ มิใช่สร้างศิลปะเพื่อศิลปะ แต่ผลงานจะต้องสื่อให้เห็นหลักปรัชญา ความเชื่อ
ความศรัทธา รวมถึงแนวทางที่จะนำหลักธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตแฝงอยู่ในผลงานนั้นๆ
ด้วย ซึ่งก็หมายถึง ให้เกิดดุลยภาพระหว่างสุนทรียศาสตร์กับศีลธรรมนั่นเอง
ซึ่งการที่ศิลปินจะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้ผสานกลมกลืนกันได้ในภาพวาดเพียงภาพใดภาพหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ดังนั้นศิลปินจะต้องแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของผลงานของตนอย่างต่อเนื่อง
คือไม่เพียงแต่ภาพภิกษุสันดานกาที่ได้รับรางวัลนี้เท่านั้น แต่ก็จะต้องสร้างผลงานอื่นๆ ที่สอดคล้องและเกี่ยวเนื่องกันไปจนสามารถเผยให้เห็นสัจธรรมที่พระพุทธศาสนาต้องการจะสื่อสารกับผู้คนได้
จึงจะถือว่า “ศิลปะที่เป็นกุศล”
หาไม่แล้วก็จะเกิดการตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาบริสุทธิ์ของศิลปินดังเช่นที่ผ่านมาและเกิดผลกระทบในด้านลบต่อพระพุทธศาสนาอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกับศิลปินหลายๆ คน
![]() |
พุทธศิลป์ที่ถ้ำผาม่อเกา ที่เป็นถ้ำพุทธเก่าแก่ อายุ ๑,๖๐๐ ปี |
|
สรุปเนื้อหาที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาแล้วนั้นคงจะทำให้ศิลปินหรือผู้ที่สนใจศิลปะหรือคนในวงการพุทธศาสนาได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสุนทรียศาสตร์กับศีลธรรมพอสมควร
ความมุ่งหมายสูงสุดของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนานั้น
ต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยอุดมคติอย่างสูงส่ง ประกอบกับความรู้
ความเชี่ยวชาญอันพึงมีของศิลปินเองด้วย
ผลงานจึงจะสะท้อนส่งผลให้เกิดความเจริญขึ้นทั้งต่อตัวผู้สร้างเองและต่อสังคมประเทศชาติ
เพราะหากมีการสร้างผลงานที่ไม่เป็นศิลปะ(ศิลปะที่ไม่เป็นกุศล)ออกมาแล้วแม้จะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หรือเพราะอ้างสิทธิเสรีภาพก็ตาม
ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงและเกิดความเสื่อมเสียต่อตนเองและส่วนรวมในที่สุด
เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการสิ่งสูงสุดในชีวิต
ก็ต้องพึ่งพากันและกันในการดำเนินชีวิตให้ถูกที่ถูกทางและก็ไม่มีใครปรารถนาจะพบกับสิ่งที่ไม่ดี
ทุกคนต่างต้องการสิ่งที่ดี ที่เจริญด้วยกันทั้งนั้น.
บรรณานุกรม
๑. ภาษาไทย
ก. ข้อมูลปฐมภูมิ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
(๑) หนังสือ
บุญมี แท่นแก้ว, พุทธปรัชญาเถรวาท,กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๕.
ปรีชา
ช้างขวัญยืน,สมภาร พรมทา. มนุษย์กับศาสนา.
พิมพ์ครั้งที่ ๔(ปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ ๒).
กรุงเทพมหานคร
: โครงการเผยแผ่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖,
กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์
จำกัด, ๒๕๕๑.
.พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑/๒
ขนาดตัวอักษรใหญ่, กรุงเทพมหานคร : บริษัทเอส.อาร์.พริ้นติ้งแมสโปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑.
พระมหาหรรษา
ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร),พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่,พิมพ์ครั้งที่
๓.
พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๕๗.
ศิลป์
พีระศรี,ศิลปะสงเคราะห์.พิมพ์ครั้งที่ ๔. ปทุมธานี : มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์.
๒๕๕๓.
สมภาร
พรมทา.มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์ศยาม. ๒๕๔๘.
ลีโอ ตอลสตอย,ศิลปะคืออะไร.พิมพ์ครั้งที่
๒, สุทธิชัย แสงกระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย
ไอล์แมร์ โม้ด. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง. ๒๕๓๘.
[๑] นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย
จ.พระนครศรีอยุธยา
[๓] ลีโอ ตอลสตอย, ศิลปะคืออะไร, สิทธิชัย แสงกระจ่าง
แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด. พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง ๒๕๓๘. หน้า ๘๒.
[๔] อ้างแล้ว.
[๖] ศิลป์ พีระศรี,ศิลปะสงเคราะห์.พิมพ์ครั้งที่
๔. ปทุมธานี : มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์. ๒๕๕๓. หน้า ๗๔-๗๕.
[๗] อ้างแล้ว.