วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

ระบบสังคมนิยมในพระพุทธศาสนา


...ปิดคอร์สหมดทุกวิชาแล้ววันนี้เพื่อให้นิสิตอ่านหนังสือเตรียมสอบภาคเรียนที่ 2/2563  ซัมเมอร์นี้มีวิชาที่ต้องรับผิดชอบอีก 3 วิชา คือ ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น, พุทธปรัชญาเถรวาท,และพระพุทธศาสนามหายาน

...ส่วนตัวแล้วมีหลักว่า "หากจะสอนวิชาใดก็จะต้องทผลงานวิชาการในวิชานั้น ๆ ก่อนจึงจะสอน สามวิชานี้ก็อาจจะเขียนเป็นบทความ หนังสือ ตำรา หรือวิจัยก็ได้แล้วแต่เวลาและโอกาส

...เทอมหน้านี้ที่จริงมีผลงานที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วคือหนังสือ"พุทธปรัชญา" ส่วนงานคณะสงฆ์เลิกทำไปนานแล้วครับ มันมีอะไรที่มืดมิดซ่อนอยู่ที่แก้ไขไม่ได้มากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว   เพราะมีระบบอำนาจนิยมที่อิงอยู่กับ พรบ.คณะสงฆ์ ตำแหน่งเจ้าอาวาส  เจ้าคณะ ฯลฯ เป็นอุปสรรคใหญ่ ( ระบบนี้สวนทางกับแนวคิดโดยรวมของพระพุทธศาสนา) 

...พระพุทธศาสนาเป็นแบบสังคมนิยม พระพุทธเจ้าทรงมอบสิทธิในการปกครองและการบริหารแก่พระภิกษุทุกรูปเท่าเทียมกัน แม้พระองค์จะทรงเป็นประธานแต่การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ นั้นทรงมอบให้คณะสงฆ์ เวลามีทรัพย์สินเกิดขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ก็ทรงให้นำเข้าส่วนกลางเพื่อแจกจ่ายให้แก่พระสงฆ์อื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน พระที่ทำหน้าที่ดูแล ก็ทำแค่เพียงดูแลให้เกิดความสะดวกแก่สมาชิกเท่านั้น 

...ส่วนระบบอำนาจนิยมนั้นไม่มีในพระพุทธศาสนา แต่มีมาตามกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมี พรบ.คณะสงฆ์ มีกฎมหาเถรสมาคม, บัญญัติขึ้น พระภิกษุได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน, เป็นเจ้าคณะ ฯลฯ เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณฯ ตำแหน่งพวกนี้มาจากระบบอำนาจนิยมทั้งสิ้น ระบบนี้มีประโยชน์คือสามารถใช้ปกครองในสภาวะวิกฤตได้ชั่วคราว (บางครั้งก็ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ) แต่หากปล่อยเอาไว้ในระยะยาวจะเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อการพระพุทธศาสนาในทีสุด เพราะจะทำให้พระสงฆ์หลงไหลในอำนาจ ยึดติดกับลาภ ยศ สุข ที่เป็นเรื่องทางบ้านเมือง

...แม้จะเป็นที่รู้กันในทางปรัชญาการเมืองว่า "ไม่มีระบบใดที่ดีที่สุด" แต่อย่างน้อยเราก็พอจะรู้ได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ระบบใดในการทำงานบริหารคณะสงฆ์ ในพุทธประวัติพระพุทธองค์จะไม่ทรงใช้ระบบอำนาจนิยมในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์เลย ทรงยกให้สงฆ์เป็นใหญ่เหนือพระองค์ แม้จะทรงอยู่ในฐานะผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาก็ตามที ทั้งนี้ก็เพราะทรงต้องการให้คณะสงฆ์มีอิสระในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ แม้ในเรื่องพระวินัยก็ทรงผ่อนปรนให้คณะสงฆ์สามารถถอดถอนบัญญัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้หากเห็นว่าสมควร ที่ทรงทำอย่างนั้นก็อาจเป็นเพราะทรงอยากให้คณะสงฆ์มีอายุยืนเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกและมนุษย์ต่อไปนาน ๆ 

...งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ต้องการความเป็นอิสระสูง เช่น อิสระทางวิชาการ อิสระทางความคิด และอิสระทางการตัดสินใจ  จะมีใครไปใช้อำนาจในทางใด ๆ เข้ามาสั่ง มาแทรกแซงบิดเบือนให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองเท่านั้น รังแต่จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาในที่สุด 

...ปัจจุบัน ระบบอำนาจนิยมในคณะสงฆ์ไทยหยั่งรากลึกฝังแน่นเกินกว่าจะขจัดออกไปได้ พระพุทธองค์ไม่ได้มอบให้ใครเป็นใหญ่เหนือคณะสงฆ์ในทางใด ๆ แต่การมีมหาเถรสมาคม  มี พรบ.คณะสงฆ์ มีเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค ที่อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเป็นสิ่งที่หันเหทิศทางจากเดิมไปคนละทิศทาง พระสงฆ์ที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวก็ยึดโยงผูกติดอยู่กับอำนาจที่ได้ประเคนจากรัฐ จนหลงตัวหลงตนไปกับรสชาติอันหอมหวานแห่งอำนาจ มีสถานะไม่ต่างจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ  สวนทางกับแนวทางดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ( อ. อาทิจฺจพโลภิกฺขุ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...