วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

ความเหมา​ะสมและความจำเป็นในการใช้ยานพาหนะ​ของพระสงฆ์​ร่วมสมัย​

 


ใคร ๆ ก็ทำกัน!

...โดยธรรมชาติแล้วตัวเราไม่มีค่าต่ออะไร หรือต่อใคร เราจะมีค่าก็ต่อเมื่อเราทำตัวให้มีค่า คนดีก็ไม่ใช่อยู่ที่กำเนิด หรือเกิดมาดี  คนดีคือคนธรรมดาที่เป็นได้ทั้งดีและชั่ว แต่เขาเลือกจะทำความดี ไม่ทำความชั่ว

...เราจะเห็นคุณค่าของใครต่อเมื่อเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำต้องเลือกระหว่าง "ดี กับ "ชั่ว" ดังนั้นเราจึงไม่ตัดสินคนจากชาติกำเนิดหรือจากสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เป็นคนแบบไหน เขาย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกทำ และท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เขาทำจะเป็นเครื่องหมายบอกคนอื่น ๆ ได้ว่าเขา "เป็นคนแบบไหน" ดี หรือ ไม่ดี

..สมมุติว่า เรามีโอกาสเลือกในการที่จะทำใบขับขี่ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการขับรถอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยผู้ให้สิทธิ์นั้นเป็นของรัฐ และรัฐก็อนุญาต คำถามจึงไม่ใช่ว่า เรามีสิทธิ์ขับรถหรือไม่? แต่คือ เราเลือกที่จะขับหรือไม่? 

...พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไปเสียหมดทุกอย่างเพราะทรงรู้ดีว่า มนุษย์นั้นมีกิเลสอย่างไรบ้าง และอนาคตก็จะเกิดมีเหตุการณ์ที่เป็นมากกว่าในยุคของพระองค์ที่นอกเหนือจากที่ทรงบัญญัติห้ามเอาไว้เกิดขึ้น จึงทรงตรัสเป็นแนวทางวินิจฉัยเฉพาะในทางพระวินัย (great authorities; principal references)เอาไว้อย่างกว้าง ๆ ความว่า

       1. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร 

       2. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร 

       3. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร 

       4. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร 

...การที่ทรงตรัสอย่างนี้ก็เพื่อเป็นหลักการตีความการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์(ในทางพระวินัย)ในอนาคตว่า หากเกิดเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเลือก หรือเกิดความอิหลักอิเหลื่อในทางศีลธรรม จริยธรรม ให้ใช้หลักนี้

...การที่รัฐออกมาให้สิทธิ์แก่พระภิกษุสงฆ์สามารถเลือกได้ ไม่ใช่เรื่องทางพระวินัย เพราะรัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระวินัยหรือหลักการตีความในทางพระวินัยแต่อย่างใด แต่พระภิกษุ-สามเณร ผู้ครองเพศบรรพชิตต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกไม่ใช่กฎหมายของรัฐ แต่เป็นกฎเกณฑ์ทางพระวินัยและมองภาพความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นเรื่องใหญ่ แม้รัฐจะให้พระใช้สิทธิ์ส่วนตนได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

...หากเราเลือกจะใช้สิทธิ์ที่รัฐหยิบยื่นให้ก็จะเกิดกรณีต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ใช่แค่ใบขับขี่ แต่มันจะหมายถึงการที่พระภิกษุจะมีอะไร ๆ เหมือนฆราวาสมากขึ้น ลองนึกภาพว่า " พระไปกิจนิมนต์ขับรถราคาแพงไป " ฯลฯ อีกมากตามมาที่กระทบกระเทือนศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป หรืออาจมีกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนน ที่ทำให้พระ กลายเป็น ผู้ต้องหา หรือ เป็นคู่กรณี ฟ้องร้องในศาล หรือ ตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย  เพราะสิ่งเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นบนท้องถนน มากกว่าในที่อื่น ๆ 

...การอ้างว่า " ที่ไหนก็ทำกัน " เป็นการใช้เหตุผลวิบัติในทางตรรกศาสตร์ เรียกว่า "การอ้างคนส่วนใหญ่ทำกัน" หรือ Fallacy ในภาษาอังกฤษ การใช้เหตุผลแบบนี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะสิ่งที่คนอื่น ๆ เขาทำก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย หรือตามความเหมาะสม ดังนั้นจึงใช้อ้างไม่ได้...

...การเสวนานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรรหาวิทยากรผู้มีความรู้จากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ตำรวจ ขนส่ง นักวิชาการ​ สำนักงาน​พระพุทธศาสนา​ พระผู้ขับขี่ มาให้ความคิดเห็น เป็นการเปิดเวทีสาธารณะให้สนทนาซักถามพูดคุยกัน ก่อนที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ  เราจะไม่ด่วนตัดสินผิด ถูก ควรไม่ควรหากเรายังไม่ได้ใช้ปัญญาขบคิด ตั้งคำถาม และวินิจฉัยอย่างรอบด้านเสียก่อน อริยชนเขาทำกันแบบนี้ แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นยังไม่แน่นอนครับ  ( อ. อาทิจฺจพโลภิกฺขุ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...