วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

 


พระธาตุพนม บรมเจดีย์

                                                                                                                     ดร.อดิเรก โลกะนัง

….เนื่องในวันมาฆบูชา ปี 2567 ที่กำลังจะเวียนมาอีกวาระหนึ่งนี้ น่าจะไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการสนทนาเรื่องของพระอัครสาวก (รวมถึงพระอรหันต์สาวก) ว่า ท่านเป็นบุคคลเช่นไรในอุดมคติของพระพุทธศาสนา เป็นคนประเภทไปบนบานสานกล่าว จุดธูปเทียนไหว้ของพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นคนอย่างไร ทั้งนี้ไม่ใช่ว่า สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องผิด แต่เรากำลังพูดถึงบุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่หลุดพ้นแล้วจากเรื่องเหล่านี้ นั่นเอง

...เรื่องมีอยู่ว่า...แม้แต่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงต้องการให้ใครเชื่อหรือศรัทธาพระองค์เพียงเพราะทำตามๆ กันมา หรือให้เชื่อในสิ่งที่พระองค์สอนทันทีเพราะในประวัติศาสตร์มีคนที่เสียคนเพราะครูมามาก  จึงทรงสอนเอาไว้ในกลามสูตร ๑๐ ประการ ข้อหนึ่งว่า 

..." อย่าพึ่งปลงใจเชื่อว่าสิ่งนั้นจริงเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของเรา(มา สมโณ โน ครูติ) " 

...เรื่องนี้ชี้ให้เห็นในแง่หนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงชี้บอกว่า แม้พระพุทธองค์ก็อนุญาตให้สงสัยได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และตรวจสอบได้ "เคยทดสอบถาม พระสาวก หลังจากที่ทรงแสดงธรรมเสร็จแล้ว ครังหนึ่งว่า"พวกเธอเชื่อตามที่เราสอนหรือไม่ " พระสาวกเหล่านั้นตอบว่า "เชื่อพระเจ้าข้าพระพุทธองค์ตรัสถามว่าเพราะอะไรถึงเชื่อ " พระสาวกตอบว่า "เพราะผู้ที่ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ได้ฟังพระสาวกตอบดังนั้นก็หันไปถามพระสารีบุตร ว่า "สารีบุตรเธอเชื่ออย่างที่เราสอนหรือไม่พระสารีบุตรจึงทูลตอบว่า " ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าข้าพระพุทธองค์ทรงตรัสถามอีกว่า " ทำไมเธอถึงไม่เชื่อเรา " พระสารีบุตรตอบว่า " ถ้าข้าพระองค์เชื่อที่พระองค์สอนทันที ข้าพระองค์ก็ไม่ใช่พระสาวกของพระพุทธองค์นะสิ เพราะพระสาวกของพระพุทธองค์จะต้องมีใจหนักแน่น จะต้องคิดให้รอบคอบก่อน " 

...หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงฟังคำตอบของพระสารีบุตรแล้วก็ทรงหันมาทางหมู่พระสาวกคนอื่นๆ แล้วตรัสว่า "ตถาคตเข้าใจที่พวกเธอตอบอย่างนั้นเพราะพวกเธอยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังเคารพครูอาจารย์อยู่ แต่สารีบุตรนี้เป็นคนมีปัญญามากและทรงแนะนำให้พระสาวกรูปอื่นๆ ไปศึกษาพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง ว่านี้คือบุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนาคือ ค่อยๆ คิดก่อนแล้วค่อยเชื่อแต่ก็มิใช่สงสัยไปเสียทุกเรื่องจนไม่ทำอะไรเลย...(ลูกศิษย์ที่ดีต้องสามารถคิดอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากครูได้ แต่ไม่ควรลบหลู่

...การเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในพระพุทธศาสนาไม่มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนต้องมีเหตุมีปัจจัยอิงกันและกันเกิดขึ้น  มีพระพุทธพจน์ตรัสยืนยันในเรื่องนี้เอาไว้ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไป"  ผู้ที่จะได้เป็นถึงพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า คงไม่ใช่คนที่จะตามใคร ท่านเหล่านี้จะมีความคิดที่เป็นผู้นำ มากกว่าผู้ตาม มีวัฒนธรรมแบบนาย มากกว่าการเป็นทาส รักเสรีภาพมากกว่าการยอมจำนน 

...คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของท่านคือ การเป็นผู้รักในการแสวงหาความรู้ เป็นผู้ช่างคิด ช่างสงสัย และค้นหาคำตอบ มีลักษณะเป็นนักปรัชญาสูง  ไม่เชื่ออะไรหรือสิ่งใดง่ายๆ แต่ก็ไม่ลบล้างความเชื่อถือของสังคม ผู้คนที่มีมาแต่เดิม เวลาที่ท่านไม่เชื่อ ท่านก็จะหาความรู้ และหาคำตอบ เมื่อค้นพบความจริงแล้วท่านจึงค่อยเชื่อ ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์  คือ พิสูจน์ ทดสอบ ทดลอง 

...พระอัครสาวกบางองค์ถึงขั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อค้นหาความจริง ว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสนั้นทำได้จริงๆ หรือไม่  ก่อนที่ท่านจะนำความจริงที่ค้นพบนั้นไปบอกไปสอนผู้อื่นต่อไป  ซึ่งหาได้ยากนักในสมัยปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มักจะนำธรรมะไปสอนทั้งๆ ที่ยังไม่เลยทดลองกับตนเองเลย ซึ่งมีผลให้ผู้ที่ปฏิบัติตาม ก็ปฏิบัติไปงั้นๆ เพราะไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้วมันจะได้ผลหรือเปล่า เพราะผู้สอนเองก็ยังไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า เราก็เลยมีอาจารย์ที่สอนตามความเชื่อ ความศรัทธา มากกว่าสอนด้วยความรู้ ความจริง กันเต็มบ้านเต็มเมืองอย่างทุกวันนี้.


วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ครุยสีทอง



โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ

…นาน ๆ ครั้งเราจึงจะเห็นบัณฑิต สวมชุดครุยสีทอง ของคณะพุทธศาสตร สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ บาลีพุทธศาสตร์  วิปัสสนาภาวนา ฯลฯ ในสายเดียวกัน  จะด้วยสาเหตุอะไรนั้นเราค่อยว่ากันภายหลัง  ตรงนี้อยากพูดถึงว่า ฆราวาสเรียนแล้วได้อะไรมากกว่า 

...ในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ปรัชญา สองสาขานี้มีลักษณะต่างกัน แต่เป้าหมายสูงค่าพอ ๆ กัน คือ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทุกวันนี้เรามุ่งแสวงหาแต่วัตถุสิ่งของ เครื่องดำรงชีพ มีมากแล้วก็อยากมีอีกต่อไปไม่จบสิ้น สังคมวัดคุณค่าของคนด้วยเงิน ทอง ตำแหน่ง ยศศักดิ์ จนลืมเลือนส่วนที่สำคัญที่สุดคือทางด้านจิตใจ และปัญญา 

...การเรียนสาขาวิชาในคณะพุทธศาสตร์ ไม่ว่าสาขาใด ย่อมเป็นการปรับสมดุลของชีวิตให้เสมอกันโดยให้คุณค่ากับความสุขทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่ละทิ้งเรื่องทางโลก ทางวัตถุที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน แต่ถึงกระนั้นคณะพุทธศาสตร์ก็เร่งผลิตบัณฑิตที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ เพื่อออกสู่สังคม สังคมที่พร่องทางศีลธรรม สังคมที่เปลือกนอกห่อหุ้มด้วยทองคำแต่ภายในเน่าเฟะ โดยมีพระพุทธ​ศาสนา​เป็นฐานอันมั่นคง​.

...การเรียนพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาตรี จะทำให้นิสิตสามารถแยกแยะพระพุทธศาสนาอย่างที่เห็น กับพระพุทธศาสนาที่เป็นอยู่จริง ๆ ออกมาได้อย่างถูกต้อง 

....หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (สำหรับฆราวาส) เรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป วิชาบังคับ  ๑๘ หน่วยกิต วิชาเลือก  ๑๒ หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะ  วิชากลุ่มพระพุทธศาสนา  ๓๐ หน่วยกิต กลุ่มวิชาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ๑๔ หน่วยกิต  กลุ่มวิชาพระพุทธศาสนาทั่วไป ๑๒ หน่วยกิต กลุ่มวิชาวิปัสสนาธุระ ๔ หน่วยกิต  วิชาแกนพระพุทธศาสนา  ๓๓ หน่วยกิต   วิชาเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา ๓๒ หน่วยกิต วิชาเลือกเฉพาะสาขาพระพุทธศาสนา ๙ หน่วยกิต 

....จะเห็นว่า ครอบคลุมความรู้ทางพระพุทธศาสนาทุกด้านทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน รวมทั้งพุทธศาสนาประยุกต์และ พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก อรรถกถา ฏีกา ฯลฯ.

....แต่การที่ใครสักคนจะได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ไม่ใช่จ่ายครบจบแน่ หรือเรียน ๆ เล่น ๆ เดี๋ยวก็จบเอง ที่ผ่านมาก็จะเห็นแล้วว่าผู้ที่จบออกไปได้ล้วนมีคุณภาพและศักยภาพแทบทั้งสิ้น บางรูป ก็เรียนต่อจนจบปริญญาเอก บางรูปไปทำงานในองค์กรของรัฐ บางคนก็นำเอาความรู้ไปพัฒนาตนเองจนเจริญก้าวหน้าในสาขาอาชีพที่ตนเองเลือก 

...นิสิตจะต้องมีทั้งสติปัญญา มีความพากเพียร มีความมุ่งมั่น และจะต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลาที่เรียน เพื่อรองรับสรรพความรู้และศาสตร์ต่างๆ  ที่มีอยู่ในหลักสูตรทั้งหมดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หาไม่แล้วนิสิตจะกลายเป็นคนที่มีแต่ใบปริญญา แต่หาคุณค่าไม่ได้ (แม้สาขาอื่น ๆ ก็เช่นกัน) เพราะความรู้ในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตเป็นความรู้ในระดับโลกุตตรธรรมแทบทั้งสิ้น รู้ยาก เข้าใจยาก รู้ตามก็ยาก รู้เองก็ยาก การคิดว่ามันยากเอาไว้ก่อนก็เพื่อพาตนเองให้มุ่งมั่นตั้งใจจริงในอันที่จะแสวงหาความรู้ในระยะเวลา  ๔ ปี ๘ ภาคการศึกษาอย่างมีสมาธิ.


วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

บทความพิเศษ...เนื่องในวันอาสาฬหบูชา 2566

...เรื่อง.ภิกษุ ภิกษุณี กับความสัมพันธ์ระหว่างสามนิกาย 

โดย.อ.อาทิจฺจพโล

....ในวันอาสาฬหบูชา ย้อนกลับไปครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัฒนสูตร จนมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยุคนั้นเรียกยุคพุทธศาสนาดั้งเดิม เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงประทับอยู่ด้วย ภายหลังพระพุทธปรินิพพาน จึงมีการสังคายนาครั้งแรกโดยพระมหาเถระที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนั้น หลังสังคายนาเสร็จสิ้น เราเรียกยุคนี้ว่า เถรวาทยุคต้น 

...กระทั่งประมาณช่วงต้นพุทธศักราชพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นแบบเถรวาทอยู่ คณะสงฆ์ทุกนิกายในปัจจุบัน สามารถย้อนสายธรรมไปได้ถึงคณะสงฆ์ยุคต้นๆ แต่ในบรรดาสำนักคิดของยุคแรก มีสายธรรมเดียว คือ เถรวาท" ที่มีอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

...ทุกสายธรรมมีผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือภิกษุและภิกษุณี ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น "สังฆะ" หรือ "ชุมชนผู้ปฏิบัติธรรม" 

...จนเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน ได้เกิดความเห็นต่างกันขึ้นในหมู่สงฆ์ และค่อยๆ นำไปสู่การก่อตั้งคณะย่อยแต่ละคณะมีรายละเอียดทางพระวินัยบแตกต่างกันเล็กน้อย และต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นสำนักปรัชญาต่างๆ 

...ในบางบริบท "คำว่า สงฆ์" หมายถึง " พระอริยบุคคล" ซึ่งเป็นได้ทั้งบรรพชิตหรือฆราวาสที่บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ หรือบรรลุธรรมบางส่วน แต่เป็นที่นิยมว่า "สงฆ์" หมายถึงพระภิกษุและภิกษุณี ส่วนฆราวาสก็คงใช้คำตามเดิมแม้จะบรรลุธรรมก็ไม่นิยมเรียกตนเองว่าสงฆ์

...พระสงฆ์ทุกนิกายมีหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนิกายของตนแตกต่างกัน เถรวาทตั้งใจที่จะเดินตาม "คำสอน" ของ "พระเถระทั้งหลาย" ซึ่งร่วมกันสังคายนาคำสอนไม่นานหลังพุทธปรินิพพาน โดยจุดมุ่งหมายที่จะสืบทอดและรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาคำสอนจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่กระนั้นก็ได้รับการรักษาไว้ให้ใกล้เคียงกับคำสอนดั้งเดิมมากที่สุด นี่คือจุดเด่นที่สุดของเถรวาท

...ส่วนมหายานเน้นย้ำเรื่องความกรุณาอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวคิดว่าความกรุณาเป็นคุณธรรมที่เป็นหัวใจแห่ง "มรรคาพระโพธิสัตว์" มหายานนำเสนอปรัชญาที่ละเอียดซับซ้อน ซึ่งเป็นการขยายความคำสอนเดิม และภายหลังต่อมามหายานก็ได้พัฒนานิกายย่อยขึ้นมาอีกหลายสาย เช่น นิกายเซน 

...ช่วงเวลาต่อมามหายานพัฒนาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง ได้แก่ มันตรยาน  นิกายนี้มีหลักคำสอนแบบเดียวกับมหายานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้คิดค้นวิธีปฏิบัติแบบใหม่ ที่ทรงพลังขึ้นมา เช่น การพร่ำภาวนามนต์อันศักดิ์สิทธิ์และทรงพลัง และการสร้างนิมิต ซึ่งต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ ๗ วิธีการนี้เป็นที่รู้จักในนาม "วัชรยาน" 

...ขณะที่อินเดียยุคใหม่มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาก็ได้แผ่ขยายออกไปนอกอินเดียทั่วทวีปเอเชียใน ๓พื้นที่ คือ ๑) พระพุทธศาสนาสายใต้ เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก เป็นพุทธศาสนามหายานแบบจีนและ ๓) พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง เป็นพระพุทธศาสนาแบบธิเบต

...เราอาจมองว่านิกายหลักทั้งสามนี้เป็นสาขาของครอบครัวเดียวกันได้ เพราะทั้งสามมี "ความคล้ายคลึงกันของสายตะกูล" คาบเกี่ยวกันระหว่างนิกายทั้งสาม  ถึงแม้แต่ละนิกายจะมีรูปแบบและลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนก็ตาม ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงเรื่องเล่า แต่เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่านั้น เวลาภิกษุอินเดีย พบพระภิกษุไทย ในประเทศอินเดีย หรือที่ไหนในโลก โดยไม่ต้องถามก็เป็นที่รู้กันดี ว่าต้องยกมือไหว้ซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องให้บอกว่าใครเป็นใครวัดไหน นิกายไหน นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไป ระหว่างพระภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้นในโลกและทรงทุ่มเททั้งชีวิตของพระองค์อบรมสั่งสอนพวกเขา ทรงเปรียบพวกเขาว่าเป็นประดุจดอกไม้จากป่านำมาร้อยเรียงกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามเพื่อบูชาแด่คุณความดีทั้งหลายในจักรวาล..

*อ้างอิงจาก : พระไตรปิฎกฉบับสากล : วิถีธรรมจากพุทธปัญญา, หน้า ๗-๘.

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การปฏิเสธระบบวรรณะของพระพุทธเจ้า

 


บทความวันวิสาขบูชา 2566  
เรื่อง การปฏิเสธระบบวรรณะของพระพุทธเจ้า

...คุณคงจะเคยผ่านประสบการณ์ของการถูกกดขี่มาบ้าง ในระดับส่วนตัว เช่น การที่เจ้านายใช้อำนาจบังคับให้ทำงานหนัก แต่กดค่าแรงของคุณให้ต่ำ ทั้ง  ที่คุณมีคุณสมบัติสูง เพียงเพราะคุณเป็นคนชายขอบ และไม่ใช่เด็กเส้น.

...พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการการกดขี่ เหยียดหยามมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกันเอง  ทรงเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดในโลกใบนี้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีผิว ฐานะ ตำแหน่งอายุ พรรษา หน้าที่การงาน หรือ การเงินก็ตาม และไม่ว่ามันจะเกิดที่ไหนเมื่อไหร่กับใคร มันคือ ความป่าเถื่อน ความโหดร้าย และความอยุติธรรม

...ในประเทศไทยเองแม้จะมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างล้นหลาม แต่ก็พบว่า ยังมีการเหยียดผิว และการกดขี่ทางชนชั้น เกิดขึ้นเช่นกัน เช่น เรามักจะให้ค่ากับคนที่ผิวขาว มากกว่าคนผิวดำ แต่ไม่ดูที่ความสามารถ หรือให้ค่าคนที่จบมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศสูงกว่าคนที่จบในประเทศ ให้ค่าคนที่มียศสูงตำแหน่งใหญ่โต สำคัญมากกว่าประชาชนธรรมดา  หาเช้ากินค่ำและเสียภาษี 

...หากคุณได้ศึกษาพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าทรงไม่ยอมรับระบบวรรณะในอินเดียขณะนั้น ที่แยกคนตามชาติกำเนิด แต่ทรงให้ความสำคัญกับทุกสรรพชีวิตเท่ากัน  หากพระองค์ทรงสอนพระภิกษุก็จะไม่ทรงใช้การบังคับ แม้แต่เรื่องของศีล ก็ไม่ใช่ข้อห้ามแต่เป็นแม่บทของการฝึกฝนอบรมตนเองเท่านั้น แต่พอเวลาผ่านไปก็กลับปรากฏว่า แม้แต่ในพระพุทธศาสนาก็ยังมีการกดขี่ เหยียดหยามกันเองในนามศาสนา อันนี้ก็เนื่องมาจากแนวคิดที่มองคุณค่าของคน ผ่านทางวัตถุเงินทอง ยศฐา บรรดาศักดิ์ หรือแม้แต่วุฒิการศึกษาก็ตาม  มีการเลือกปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เป็นธรรมเสมอๆ 

...เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องคนบางคนแต่เป็นเรื่องของทุก  คนที่จะต้องร่วมมือกัน เพื่อป้องกันเราจะต้องปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้แก่เด็กและเยาวชน ไม่ให้เกิดความคิดแบ่งแยกมนุษย์ด้วยสีผิว ด้วยฐานะ หรือวุฒิการศึกษา ด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน 

...เช่นเดียวกับเราจะไม่กล่าวหาเด็กที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่าเป็นอาชญากร ที่จะต้องลงโทษขั้นสูง ต้องตกนรกหมกไหม้ และเราจะไม่โทษคนที่ปฏิบัติในทางศาสนาแตกต่างจากเรา หรือผิดพลาดว่าเป็นคนเลว คนร้าย คนชั่วช้า ที่เราต้องเหยียบให้จมดิน แต่เราควรกระทำกับเขาด้วยความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่เราอยากให้คนอื่นกระทำกับตนเอง 

ในวันวิสาขบูชานี้ ขอให้เราพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างถ่องแท้ จึงจะเกิดประโยชน์ไม่ใช่แค่ไปวัดจุดธูปเวียนเทียน สวดมนตร์ แล้วก็กลับบ้านนอน แต่ควรพิจารณาให้ถึงแก่นของคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ “มนุษย์แต่ละคนเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แม้เขาจะทำผิดไปจากผู้อื่นอย่างไร เขาก็ยังเป็นมนุษย์มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมเท่าเทียมกับคนอื่น  นั่นเอง นี่แหละสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตลอดชีวิต. ( ด๊อกเตอร์ถังขยะ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566

บทความพิเศษเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๕๖๖ เรื่อง สังคมอินเดียและคติความเชื่อของสังคมอินเดียในสมัยพุทธกาล

 


สังคมอินเดียและคติความเชื่อของสังคมอินเดียในสมัยพุทธกาล”

โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ

.....เมื่อกล่าวถึงประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล พบว่า ประเทศอินเดียสมัยนั้นไม่ได้เรียกชื่อว่า “อินเดีย” แต่เรียกว่า “ชมพูทวีป”  ในสมัยพุทธกาลอินเดียหรือชมพูทวีปนั้น แบ่งอาณาเขตเป็น 2 เขตคือ

• เขตภาคกลาง เรียกว่า มัชฉิมชนบทหรือมัธยมประเทศ เป็นที่อยู่ของชนชาติอริยกะ หรืออารยัน แปลว่า ผู้เจริญเป็นดินแดนของชนผิวขาว ชาวอารยันนี้เองมีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่ผิวขาวหน้าตาละม้ายคล้ายชาวกรีก

• เขตรอบนอก เรียกว่า ประจันตชนบทหรือประจันตประเทศ คือ ประเทศปลายเขตเป็นที่อยู่ของชนชาติมิลักขะ หรืออนารยชน เป็นดินแดนของชนพื้นเมือง หรือชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนชนชาวอารยัน 

ว่ากันในทางภูมิศาสตร์ ชมพูทวีป มิได้หมายถึงประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียว แต่มีอาณาเขตรวมหลายๆ ประเทศด้วยกัน คืออาณาเขตที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ และเนปาลในปัจจุบัน (ปัจจุบันเลิกใช้ชื่อชมพูทวีปนี้แล้ว) 

ในสมัยพุทธกาล ชมพูทวีปนอกจากแบ่งเป็น 2 เขตดังกล่าวแล้ว ได้แบ่งเป็นแคว้นต่างๆ มีจำนวน 16 แคว้น แต่ละแคว้นที่มีความสำคัญในสมัยพุทธกาลมีเพียง 6 แคว้น คือ แคว้นมคธ แคว้นวังสะ แคว้นอวันตี แคว้นกาสี แคว้นสักกะ และแคว้นโกศล

ลักษณะทางด้านการปกครอง อินเดียสมัยพุทธกาลแบ่งได้ 2 ระบบ

1. การปกครองแบบราชาธิปไตย พระมหากษัตริย์หรือผู้ครองแคว้นมีอำนาจสิทธิขาดผู้เดียว มีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์แคว้นใหญ่ๆ ส่วนมากปกครองด้วยระบบนี้ เช่น

* แคว้นมคธ มีพระเจ้าพิมพิสารปกครอง * แคว้นโกศล มีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครอง

* แคว้นอวันตี มีพระเจ้าจันปัชโชตปกครอง * แคว้นวังสะ มีพระเจ้าอุเทนปกครอง

การปกครองของกษัตริย์ แม้จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง แต่ก็มีธรรมเป็นหลักในการปกครอง  หลักธรรมสำคัญของกษัตริย์ ได้แก่

* ทศพิธราชธรรม 10 ประการ

* สังคหวัตถุ 4 ประการ  เป็นต้นฯ

2. การปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบนี้ไม่มีพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาด ไม่มีการสืบสันตติวงศ์ การปกครองระบบนี้การบริหารประเทศขึ้นอยู่กับสถาบันสำคัญ คือ รัฐสภา ซึ่งสมัยเรียกว่า สัณฐาคาร มีประมุขรัฐสภาและมีคณะกรรมการรัฐสภาเป็นคณะกรรมการบริหารในสมัยพุทธกาล มีลักษณะดังนี้

ประมุขรัฐสภา  ผู้เคยดำรงตำแหน่งนี้คือพระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ แคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์

ฝ่ายบริหารบ้านเมือง  ในสมัยพุทธกาล ได้แก่ กษัตริย์ลิจฉวี แห่งเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี

กรรมการรัฐสภา  มาจากหัวหน้าครอบครัวใหญ่ๆ ระดับเมือง (ชนบท) ระดับอำเภอ

สมาชิกรัฐสภาจะต้องให้คำปฏิญญาต่อสัณฐาคาร หรือรัฐสภา เช่น จะรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวม จะไม่ขาดประชุม จะแสดงความคิดโดยเปิดเผย จะต้องปราศจากความโกรธแคว้นเมื่อถูกกล่าวหา และจะยอมรับสารภาพถ้ากระทำผิด หลักธรรมที่การปกครองยึดถือปฏิบัติคือ อปริหานิยธรรม มีสาระสำคัญ คือ

* หมั่นประชุมกันอย่างเนืองนิตย์

* พร้อมเพียงกันประชุม พร้อมเพียงกันเลิกประชุม

* ไม่บัญญัติสิ่งใหม่อันขัดต่อหลักการเดิม ไม่ล้มล้างบัญญัติเก่าที่ยังใช้ได้อยู่

* เคารพนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่

* ปกครองสตรี มิให้ถูกข่มเหงรังแก

* เคารพในปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ

* คุ้มครองป้องกันภัยแก่ สมณ ชี พราหมณ์ ผู้เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน

ลักษณะสังคมของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล

สังคม หมายถึง กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน เป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศชาติ โดยมีระบบแห่งความสัมพันธ์ที่มีหลักการ ได้แก่ การปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา ความก้าวหน้าทางศิลปวิทยา และการนันทนาการ

ลักษณะทางสังคมของชมพูทวีปสมัยพุทธกาล ได้มีการแบ่งวรรณะอยู่แล้วเป็น 4 วรรณะคือ

* วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ พวกเจ้า กษัตริย์ นักรบ นักปกครอง สีประจำวรรณะ คือสีแดง

* วรรณะพราหมณ์ ได้แก่ นักบวช ศึกษาคัมภีร์พระเวท มีหน้าที่ติดต่อกับเทวะหรือเทพเจ้า ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สีประจำวรรณะ คือสีขาว

* วรรณะแพศย์ ได้แก่ พ่อค้า คหบดี หรือบุคคลที่ประกอบอาชีพต่างๆ เช่น พาณิชยกรรม เกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม พวกนี้เป็นชนชั้นกลางในสังคม สีประจำวรรณะ คือสีเหลือง

* วรรณะศูทร ได้แก่ กรรมกร ลูกจ้าง เป็นพวกชนชั้นต่ำ ผู้ใช้แรงงาน เป็นชนชั้นล่างของสังคม สีประจำวรรณะ คือสีเขียว หรือสีดำ

นอกจากนี้ ยังมีพวกนอกวรรณะ ที่เรียกว่า จัณฑาล ถือว่าเป็นคนชั้นต่ำสุด เพราะถือกำเนิดจากมารดาที่มีวรรณะสูงกว่าบิดา เช่น มารดาเป็นแพศย์ บิดาเป็นศูทร บุตรจะเกิดมาเป็นจัณฑาล ถูกเหยียดหยามจากวรรณะอื่นๆ ไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใดๆ ทางสังคม

มูลเหตุที่ทำให้เกิดวรรณะ

* ทฤษฏีเกี่ยวกับองคายพของพระผู้สร้าง กล่าวว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์จากอวัยวะส่วนต่างๆของพระองค์ สร้างวรรณะพราหมณ์จากพระโอษฐ์ สร้างวรรณะกษัตริย์จากพระพาหา สร้างวรรณะแพศย์จากพระอูรุ (โคนขาหรือตะโพก) สร้างวรรณะศูทรจากพระบาท

* สันนิษฐานตามหลักวิชา คำว่า วรรณะ แปลว่า สีผิว นักวิชาการสันนิษฐานว่า การแบ่งชนชั้น จะมีที่มาจากการถือเผ่าพันธ์และสีผิว พวกวรรณะสูง ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ และพวกพ่อค้า คือเผ่าอารยัน ส่วนพวกศูทรเป็นพวกเผ่ามิลักขะ หรือพวกดราวิเดียน ชนชาติอารยัน หรือพวกอริยกะ อพยพมาจากทางเหนือของภูมิภาคของชมพูทวีป และได้ขับไล่พวกมิลักขะหรือดราวิเดียนลงไปอยู่ทางใต้

ลักษณะเศรษฐกิจในชมพูทวีป

เศรษฐกิจในครั้งพุทธกาล ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม คือ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ รองลงมา คือการค้าขาย และหัตถกรรมภายในครัวเรือน เช่น ช่างปั้นภาชนะดิน ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างทอผ้า ช่างฝึกม้าฝึกช้าง เป็นต้น เศรษฐกิจในชมพูทวีปโดยเฉพาะในแว่นแคว้นทางตอนเหนือและตอนกลาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำจะมีเศรษฐกิจที่ดี ความเป็นอยู่เรื่องการอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับดี มีกินมีใช้ เพราะสภาพภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์

ลักษณะความเชื่อทางศาสนา

ความเชื่อทางศาสนา แบ่งได้ 3 กลุ่ม

ความเชื่อในวิญญาณและเทพเจ้า เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองเดิม คือพวกมิลักขะเดิม พวกนี้จะเชื่อในสภาพ ดิน ฟ้า อากาศ ภูเขา ต้นไม้ เมื่อสภาพธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุใหญ่ ชนพื้นเมืองจะเข้าใจว่าเป็นการกระทำของวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกมิลักขะได้ยกให้เป็นเทพเจ้า ซึ่งพวกอารยันที่มาภายหลังก็ยอมรับนับถือตามไปด้วย และได้ตั้งหลักการเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือเทวดาไว้ 3 ประเภท คือ

* สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ เช่น พวกมหากษัตริย์ พระราชเทวี พระราชโอรส

* อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด เช่น เทวดาในสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ความสุข ถ้าใครรักษาความดี ก็จะเกิดเป็นเทวดา เพราะเทวดาเป็นผู้ที่มีคุณธรรม

* วิสุทธิเทพ เทวดาโดยบริสุทธิ์ หมายถึง การเป็นเทวดาด้วยความเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมองจากความชั่ว วิสุทธิเทพนี้ หมายถึง พระพุทธเจ้า พระอรหันต์

ความเชื่อของพวกพราหมณ์ ได้แก่ ความเชื่อในคัมภีร์ไตรเพท มีความเชื่อว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก จักรวาล และสรรพสิ่งทั้งปวง ความเชื่อของพราหมณ์อีกประการหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ ความเชื่อในเรื่องการล้างบาป มีความเชื่อว่า บาปของมนุษย์นั้นชำระล้างได้ด้วยแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ แม่น้ำคงคา ถ้าใครได้อาบ หรือได้กินน้ำในแม่น้ำคงคา ถือว่าได้บุญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองพาราณาสี ซึ่งเป็นเมืองของพระศิวะ และที่เมืองคยา ถือว่าเป็นเมืองของพระวิษณุ ผู้ที่ได้อาบ หรือดื่มกินน้ำในแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะเมืองดังกล่าวถือว่าได้บุญมาก ความชั่วทั้งหมดจะถูกลอยไปกับสายน้ำกลายป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งทางกายและทางใจ

ลัทธิอิสระ คือ กลุ่มที่มีความเชื่ออิสระเป็นพวกนักบวชที่มีความมุ่งหมายที่จะค้นหาความจริงอย่างเป็นอิสระ มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า มีถึง 336 ลัทธิ แต่หลักฐานทางพระพุทธศาสนากล่าวว่ามี 62 ลัทธิ แต่ที่ตั้งสำนักสั่งสอนในกรุงราชคฤห์แคว้นมคธนั้น มีลัทธิอิสระ 6 ลัทธิ สรุปได้ดังนี้

* ปูรณกัสสป มีความเห็นว่า บุญบาปไม่จริง การกระทำใดๆ ไม่ว่าดี เลว จะไม่มีผลอะไรตอบสนอง ลัทธินี้เรียกว่า อกิริยทิฐิ ซึ่งมีความเห็นว่าทำก็เท่ากับไม่ทำ

* มักขลิโคสาล มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์และความมัวหมอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ และเศร้าหมองเองตามธรรมชาติ ลัทธินี้เรียกว่า อเหตุกทิฐิ เห็นว่าไม่มีเหตุ ไม่มีผล

* อชิตเกสกัมพล มีความเห็นว่า คนไม่มี สัตว์ไม่มี มีแต่การประชุมแห่งธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

* ปกุธกัจจายนะ มีความเห็นว่า สิ่งที่เที่ยงแท้มีอยู่ 7 อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม สุข ทุกข์ และชีวะไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น มีอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เรียกว่า สัสตทิฐิ (เห็นว่านิรันดร) ในด้านจริยธรรม ถือว่าไม่มีการฆ่า ไม่มีคนถูกฆ่า เป็นเพียงแต่อาวุธชำแหละผ่านอวัยวะที่ไม่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ชีวะที่เที่ยงแท้ไม่มีใครฆ่าได้

* นิครนถ์นาฏบุตร มีความเห็นว่า การทรมานกายให้ลำบากด้วยวิธีต่างๆ เป็นทางหลุดพ้น คือการไม่เบียดเบียน ไม่มีสมบัติที่จะครอบครอง ประพฤติตนสันโดษ เชื่อว่าการทรมานกายจะทำให้หลุดพ้นทุกข์ เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

* สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นลัทธิที่ไม่ติดกับทรรศะใดๆ เป็นลัทธิลื่นไหลไม่ตายตัวแน่นอน เรียกว่า อมราวิกเขปิกาทิฐิ….

สังคมอินเดียหรือชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล รวมถึงแนวคิดคติความเชื่อของคนอินเดียในสมัยโบราณเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อน จึงจะทำให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องเพราะ  พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางสังคมและความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าใจพุทธประวัติและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หากเราละเลยที่จะศึกษาแนวคิดต่างๆ ของลัทธินิกายต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล. 

๑ มิถุนายน ๒๕๖๖

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

บทความพิเศษ เรื่อง "การแต่งงานของเพศทางเลือก

 


การแต่งงานของเพศทางเลือกมีประเด็นน่าสนใจดังนี้ครับ ประเด็นในเรื่องที่ฝ่ายสนับสนุนและยอมรับการแต่งงานของเพศทางเลือกที่ยกขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ ความเสมอภาค และ เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ เป็นต้นว่า เขาก็คนเราก็คน ทำไมถึงต้องมาตั้งกรอบว่าคนที่จะแต่งงานกันได้จะต้องเป็นคนละเพศ ทำไมกฎหมายต้องมาจำกัดสิทธิ ในการเลือกของเรา ว่าเราจะต้องแต่งงานกับคนเพศไหน ในเมื่อสิทธินี้ควรจะเป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด 

...อีกประเด็นคือเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการแต่งงาน ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่งานแต่งแต่ประเด็นมันอยู่ที่ทะเบียนสมรส เพราะทะเบียนสมรสทำให้เกิด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการจดทะเบียนตามมาตัวอย่างเช่น การรับมรดก ในฐานะคู่สมรส หรือ การได้มาซึ่งทรัพย์สินหลังจากแต่งงานซึ่งจะตกเป็นสินสมรส หรือ เป็นของทั้งสองฝ่ายโดยทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้หากไม่มีทะเบียนสมรส บุคคลสองคนที่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกัน และต้องการให้รัฐรับรองให้ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะรัฐได้กำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องมีเงื่อนไขอย่างไร

...ทั้งสองเหตุผลดูหนักแน่นพอสมควรที่จะทำให้เรา อยากลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง หรือ ผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในส่วนของฝ่ายต่อต้านนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ละเอียดมากแต่ได้ประเด็นที่น่าสนใจมากเหมือนกัน 

 แต่ถ้าเราจะด่วนตัดสินลงไปจากเหตุผลเหล่านี้เพียงพอรึยัง ก็คงต้องตอบว่า ยัง เพราะเรายังไม่ได้พิจารณาถึงธรรมชาติมนุษย์ มนุษย์ เป็นสัตว์สังคมซึ่งอยู่รวมกัน ซึ่งประกอบขึ้น สถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดที่เรียกว่าครอบครัว ขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็น เผ่า และขยายตัวใหญ่ขึ้นไปอีกเรื่อยๆจนเป็นสังคมเมืองซึ่งมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนมาก ซึ่งหน่วยที่เล็กที่สุดในโครงสร้างอันสลับซับซ้อนนี้ ก็คือสถาบันครอบครัว เปรียบเสมือนฐานรากของตึกสูง เพราะฉะนั้น ตึกจะตั้งอยู่ได้ มั่นคงและยาวนานเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความมั่นคงของฐานรากนั้น ครอบครัว ตามธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงและดั้งเดิมคืออะไร คือการที่ชายและหญิงรักชอบกันอยู่ด้วยกัน และมีลูก ซึ่งลูกนั้นย่อมได้รับการดูแล จาก"พ่อ และ แม่ตามแต่หน้าที่ของแต่ละคนซึ่งเป็นกลไกลตามธรรมชาติและเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ และจะสืบต่อมาเรื่อยๆด้วย ประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้สถาบันครอบครัวดำเนินต่อมาได้เรื่อยๆ


...ดังนั้นในเรื่องนี้จะไม่ถามว่า เพศเดียวกันมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกันหรือไม่"เพราะมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่จะถามคำถามสำคัญคือ การอนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ และสามารถรับบุตรบุญธรรมได้เป็นการเปลี่ยนคำนิยาม ของคำว่า "ครอบครัวหรือไม่ เมื่อครอบครัวไม่ได้ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกอีกต่อไป แต่อาจจะประกอบด้วยคำว่า พ่อพ่อลูก หรือ แม่แม่ลูก สถาบันครอบครัวที่เคยมีมาแต่เดิมจะเสื่อมเสียหรือ มีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดู จะเข้าใจความหมายของคำว่าครอบครัวในรูปแบบใหม่ว่าอย่างไร และเมื่อเป็นเช่นนั้น สถาบันครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม จะยังคงแข็งแรงเช่นเดิมหรือไม่ มนุษย์จะโดนสังคมใหม่นี้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติดั้งเดิม ในการสืบเผ่าพันธุ์ไปเพียงใดถ้าเกิดกรณีที่ว่า เด็กรุ่นใหม่โดนหล่อหลอมว่าตนจะชอบเพศใดก็ได้ ถ้าเราส่งลูกไปเข้าโรงเรียนจะเกิดอะไรขึ้น ลูกชายเราจะไปชอบเพื่อนร่วมห้อง ก็ไม่ผิดนะซิ...

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการที่คำว่าครอบครัวโดนนิยามใหม่ให้ผิดไปจากธรรมชาติอันแท้จริง และเราไม่อาจรู้หรือควบคุมได้ว่า ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ในอนาคตภายภาคหน้าผลดีก็มีแต่ผลร้ายก็ไม่อาจมองข้ามได้จริงๆครับ. (ดร.ถังขยะ)

วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2566

ความเห็นผิด!เกี่ยวกับ อธิปไตย ๓

 


...พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับอธิปไตย หรือความเป็นใหญ่ 3 ประการคือ อัตตาธิปไตยโลกาธิปไตยธรรมาธิปไตย  แต่มีการตีความผิดไป คือ  

...ตีความผิด

        1. อัตตาธิปไตยคือ การถือตัวเองเป็นใหญ่ อันได้แก่ การยึดถือความคิดของตนเองเป็นศูนย์กลางและต้องการให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรอบข้างเชื่อถือและทำตามความคิดแห่งตน

        ดังนั้น ผู้ที่ยึดถือแนวคิดนี้ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ไม่ต้องการให้ใครคัดค้านหรือปฏิเสธความคิดแห่งตน จึงเทียบได้กับผู้นำที่เป็นเผด็จการ หรือลัทธิเผด็จการ

        2. โลกาธิปไตยคือ การถือโลกหรือคนหมู่มากเป็นใหญ่ ผู้ที่ยึดถือแนวคิดนี้จะเห็นด้วยและคล้อยตามกระแสแห่งโลกเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าจะสอดคล้องกับแนวคิดของตนเอง หรือให้พูดง่ายๆ ก็คือ แล้วแต่กระแสจะพาไป จึงง่ายต่อการเป็นเหยื่อของกระแสโลก

        ดังนั้น จะเป็นคนโชคดีถ้าเผอิญกระแสโลกที่พาเขาไปเป็นสิ่งถูกต้อง และเป็นธรรม ในทางกลับกันอาจเป็นคนโชคร้ายถ้าเผอิญกระแสที่ว่านี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และก่อทุกข์ให้โทษแก่ตนเอง และสังคมในโอกาสต่อมา

        3. ธรรมาธิปไตยคือ การถือธรรมหรือความถูกต้องเป็นใหญ่ ผู้ที่ดำเนินตามแนวคิดนี้ได้จะต้องประพฤติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมจนถึงขั้นยกระดับจิตใจให้อยู่เหนือความต้องการอย่างหยาบ ที่จะเป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมทุจริตทางกาย และวาจารุนแรงถึงขั้นผิดศีลธรรมอันเป็นกติการักษาความเรียบร้อยของสังคม หรือที่เรียกว่า นิจศีลหรือศีล 5


ที่ถูกต้องคือ 

...เธอทำตนเองแลให้เป็นใหญ่ แล้วละ อกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย 

...เธอทำโลก ให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มี โทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโลกาธิปไตย

...เธอย่อม สำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้ว จักไม่หลงลืมกายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมี อารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำธรรมนั่นแหละให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญ กุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย


...อธิบายง่ายๆ ได้ว่า " อธิปไตย  ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงมีนัย สรุปคือ

1.   คุณที่เกิดโดยทำตนให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าอัตตาธิปไตย

2.  คุณที่เกิดโดยทำชาวโลกให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าโลกาธิปไตย

3.  คุณที่เกิดโดยทำโลกุตรธรรม  ให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าธัมมาธิปไตย.  


...อธิปไตย  ตามที่ทรงแสดงไว้นั้น มีความหมายแสดงให้เห็นวิธีการในการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ แต่มีผู้ตีความผิดไปจากพุทธประสงค์กลายเป็น มติที่มีนัยยะการประพฤติที่ไม่ดี ไม่น่าปราถนา และไม่ควรปฏิบัติ เช่น ตีความว่า อัตตาธิปไตย คือ การเอาแต่ใจตนเอง ถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เผด็จการ ฯลฯ เป็นต้น 

...ซึ่งการตีความแบบนี้ดูไม่สอดคล้องและไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย . (ด๊อกเตอร์ถังขยะ)

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...