วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ครุยสีทอง



โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ

…นาน ๆ ครั้งเราจึงจะเห็นบัณฑิต สวมชุดครุยสีทอง ของคณะพุทธศาสตร สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ บาลีพุทธศาสตร์  วิปัสสนาภาวนา ฯลฯ ในสายเดียวกัน  จะด้วยสาเหตุอะไรนั้นเราค่อยว่ากันภายหลัง  ตรงนี้อยากพูดถึงว่า ฆราวาสเรียนแล้วได้อะไรมากกว่า 

...ในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ปรัชญา สองสาขานี้มีลักษณะต่างกัน แต่เป้าหมายสูงค่าพอ ๆ กัน คือ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทุกวันนี้เรามุ่งแสวงหาแต่วัตถุสิ่งของ เครื่องดำรงชีพ มีมากแล้วก็อยากมีอีกต่อไปไม่จบสิ้น สังคมวัดคุณค่าของคนด้วยเงิน ทอง ตำแหน่ง ยศศักดิ์ จนลืมเลือนส่วนที่สำคัญที่สุดคือทางด้านจิตใจ และปัญญา 

...การเรียนสาขาวิชาในคณะพุทธศาสตร์ ไม่ว่าสาขาใด ย่อมเป็นการปรับสมดุลของชีวิตให้เสมอกันโดยให้คุณค่ากับความสุขทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่ละทิ้งเรื่องทางโลก ทางวัตถุที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน แต่ถึงกระนั้นคณะพุทธศาสตร์ก็เร่งผลิตบัณฑิตที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ เพื่อออกสู่สังคม สังคมที่พร่องทางศีลธรรม สังคมที่เปลือกนอกห่อหุ้มด้วยทองคำแต่ภายในเน่าเฟะ โดยมีพระพุทธ​ศาสนา​เป็นฐานอันมั่นคง​.

...การเรียนพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาตรี จะทำให้นิสิตสามารถแยกแยะพระพุทธศาสนาอย่างที่เห็น กับพระพุทธศาสนาที่เป็นอยู่จริง ๆ ออกมาได้อย่างถูกต้อง 

....หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (สำหรับฆราวาส) เรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป วิชาบังคับ  ๑๘ หน่วยกิต วิชาเลือก  ๑๒ หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะ  วิชากลุ่มพระพุทธศาสนา  ๓๐ หน่วยกิต กลุ่มวิชาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ๑๔ หน่วยกิต  กลุ่มวิชาพระพุทธศาสนาทั่วไป ๑๒ หน่วยกิต กลุ่มวิชาวิปัสสนาธุระ ๔ หน่วยกิต  วิชาแกนพระพุทธศาสนา  ๓๓ หน่วยกิต   วิชาเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา ๓๒ หน่วยกิต วิชาเลือกเฉพาะสาขาพระพุทธศาสนา ๙ หน่วยกิต 

....จะเห็นว่า ครอบคลุมความรู้ทางพระพุทธศาสนาทุกด้านทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน รวมทั้งพุทธศาสนาประยุกต์และ พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก อรรถกถา ฏีกา ฯลฯ.

....แต่การที่ใครสักคนจะได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ไม่ใช่จ่ายครบจบแน่ หรือเรียน ๆ เล่น ๆ เดี๋ยวก็จบเอง ที่ผ่านมาก็จะเห็นแล้วว่าผู้ที่จบออกไปได้ล้วนมีคุณภาพและศักยภาพแทบทั้งสิ้น บางรูป ก็เรียนต่อจนจบปริญญาเอก บางรูปไปทำงานในองค์กรของรัฐ บางคนก็นำเอาความรู้ไปพัฒนาตนเองจนเจริญก้าวหน้าในสาขาอาชีพที่ตนเองเลือก 

...นิสิตจะต้องมีทั้งสติปัญญา มีความพากเพียร มีความมุ่งมั่น และจะต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลาที่เรียน เพื่อรองรับสรรพความรู้และศาสตร์ต่างๆ  ที่มีอยู่ในหลักสูตรทั้งหมดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หาไม่แล้วนิสิตจะกลายเป็นคนที่มีแต่ใบปริญญา แต่หาคุณค่าไม่ได้ (แม้สาขาอื่น ๆ ก็เช่นกัน) เพราะความรู้ในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตเป็นความรู้ในระดับโลกุตตรธรรมแทบทั้งสิ้น รู้ยาก เข้าใจยาก รู้ตามก็ยาก รู้เองก็ยาก การคิดว่ามันยากเอาไว้ก่อนก็เพื่อพาตนเองให้มุ่งมั่นตั้งใจจริงในอันที่จะแสวงหาความรู้ในระยะเวลา  ๔ ปี ๘ ภาคการศึกษาอย่างมีสมาธิ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...