บทความสั้น: ธรรมะซัมเมอร์แคมป์
โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ
...ปิดเทอมยาวช่วงซัมเมอร์พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนไม่อยากให้ลูก ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ จึงเลือกส่งลูกไปเข้าแคมป์ต่างๆ ที่ลูกชอบ แต่หลายคนเลือกส่งลูกเข้าวัดฝึกหัดตน ด้วยการให้บวชในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน หวังให้พระสงฆ์ช่วยฝึกหัดกาย วาจา และขัดเกลาจิตใจ รวมทั้งให้การศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาตามสมควรแก่วัย
...การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน หรือถ้าพูดให้เข้ากับสมัยนิยมก็เป็นแคมป์แคมป์หนึ่ง เรียกว่า "ธรรมะซัมเมอร์แคมป์" ถือเป็นกิจกรรมที่วัดและองค์กรทางศาสนาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ ศูนย์หรือสำนักปฏิบัติธรรม มูลนิธิที่เกี่ยวกับศาสนา ตลอดจนบริษัทเอกชนบางแห่งจัดขึ้น โดยมีชื่อเรียกโครงการ วัตถุประสงค์และรูปแบบกิจกรรมที่เหมือนและต่างกันบ้าง แต่จุดมุ่งหมายหลักเหมือนกัน คือ ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างในช่วงดังกล่าวมาฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ศึกษาไตรสิกขา และเรียนรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชีวิตต่อไป
...ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนนั้น ต่างจากการเข้าแคมป์ทั่วไป ตรงที่การสมัครเข้าแคมป์ส่วนใหญ่จะต้องมีค่าสมัคร ซึ่งมีตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับแต่ละแคมป์ แต่โครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนรับสมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผ้าไตรจีวร บาตร ของใช้ต่าง ๆ ทางโครงการก็จัดหาให้ พ่อแม่ไม่ต้องควักเงินซื้อ อาหาร น้ำปานะฟรีตลอดโครงการ ขอเพียงแค่เด็กสมัครใจและพ่อแม่เห็นด้วยเท่านั้น นี่คือความต่างระหว่างเข้าแคมป์กับบวชภาคฤดูร้อน
....ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ แคมป์ทั่วไปมักจะเป็นการสอนในเรื่องวิชาการ และวิชาชีพเป็นหลัก แต่โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จะสอนวิชาชีวิต การใช้ชีวิตแบบพระ เณร ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบฆราวาสที่เด็ก ๆ คุ้นเคย เช่น การออกบิณฑบาตร สวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ เป็นการฝึกความอดทน ความขยัน ความรับผิดชอบ เพราะเณรต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อลงมาทำวัตรทุกวัน ต้องออกบิณฑบาตรหาอาหารเอง ฝึกกิริยา มารยาท (เสขิยวัตร)ฯลฯ
...สิ่งสำคัญคือวัดหรือองค์กรที่จัดบวชภาคฤดูร้อนต้องมีทุนดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญต้องขึ้นกับผู้นำองค์กร เช่น วัดก็ขึ้นกับเจ้าอาวาส สำนักหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมก็ขึ้นกับเจ้าสำนักหรือเจ้าของศูนย์ฯ บริษัทเอกชนก็ขึ้นกับผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท ถ้าเกิด "หัวไม่นำหางหรือจะกล้ากระดิก" และด้วยสองปัจจัยที่กล่าวมาจึงทำให้วัดบางวัด ซึ่งเดิมเคยจัดโครงการบวชภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี หรือจัดต่อเนื่องมาหลายปี บางปีจึงงดเว้นไม่จัด บางทีก็เลิกจัดถาวรไปเลยก็มี...
..ส่วนผู้ที่เป็นผู้บริหารโครงการ หรือ หัวหน้าโครงการ แม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงใด หากขาดการสนับสนุนจากบุคคลปัจจัยหลักทั้งสองข้างต้น ก็ไม่อาจนำพาโครงการให้สำเร็จลงได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย หัวหน้าฯ ต้องจัดการบริหารด้านภัตตาหาร การฝึกอบรม การทัศนศึกษา และการดูแลด้านสุขภาพให้แก่เณรผู้เข้ามาบวชภาคฤดูร้อนตลอดระยะเวลาของโครงการ หากขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโครงการมักจะไปไม่รอด และปิดตัวลงในที่สุด
...ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การที่วัด เจ้าอาวาส หรือผู้บริหารบริษัท จัดหางบประมาณตั้งต้นให้จนเพียงพอเสียก่อน ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ต้องจัดหาให้เพียงพอที่จะนำมาบริหารโครงการจนจบได้ โดยไม่ต้องรอคอยปัจจัยในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน
...หัวหน้าโครงการจะต้องวางแผนประชาสัมพันธ์โครงการออกไปยังสาธารณะชนอย่างทั่วถึง เพราะแรงหนุนด้านปัจจัย ๔ จากชาวบ้านไม่อาจตัดออกไป การประชาสัมพันธ์ที่จะให้เกิดประสิทธิภาพ จึงต้องมีการลงทุน แต่ต่างกันตรงที่ การลงทุนนี้ไม่ได้แสวงหากำไร เพียงมีลักษณะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาอุปภัมภ์โครงการได้รับความสะดวกเท่านั้น
...โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนอาจแตกต่างจากงานโดยทั่วไปที่จัดขึ้นโดยวัดที่เราเห็นเป็นประจำ เช่น งานประเพณีทางศาสนา ที่มีลักษณะที่มุ่งระดมทุนเพื่อกิจกรรมทางศาสนา เช่น สร้างโบถส์ วิหาร ฯลฯ ตรงกันข้ามกลับเป็นงานที่ต้องนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ของวัดนั้น ๆ กลับคืนให้แก่ชาวบ้านเป็นการตอบแทน เป็นการที่วัด ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องตรงตามหลักการของการสร้างวัดที่แท้จริงเท่านั้นเอง
...หากเราคิดว่า "ชีวิตคือสิ่งที่มีค่าที่สุด(รวมถึงชีวิตของเราเอง) โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งอันเป็นความภาคภูมิใจของพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าควรแก่การสนับสนุน เพราะเป็นการให้ธรรมเป็นทานแก่ชีวิตของลูกหลาน เรียกว่า ให้อาหารใจ อาหารกายนั้นให้มากแล้ว จนเด็กอ้วน แต่ใจผอม เพราะขาดอาหารใจ คือ ศีลและธรรม
...สามเณรภาคฤดูร้อนเปรียบเสมือนเหล่ากอของสมณะ คือ ผู้ที่เป็นพยานแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบใดที่ยังมีสามเณร ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่า ยังคงมีลมหายใจอยู่ แต่หากขาดเสียซึ่งพระสงฆ์สามเณรเสียแล้ว ศาสนาย่อมตายลงในที่สุด ต่อให้มีทองคำ เพชรนิลจินดา ห่อหุ้มพระธาตุ เจดีย์ มากมายเพียงใดก็ไร้ความหมาย
....ดังคำของพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคิริมานนทสูตร ว่า " ผู้ที่ทำลายสถูป เจดีย์ โบถส์ วิหาร ยังไม่ได้ชื่อว่าทำลายพระพุทธศาสนา แต่หากทำลายพระ เณร ทำให้พระ เณร เสื่อมไปจากพระศาสนา นั่นชื่อว่าทำลายพระศาสนาอย่างแท้จริง.
อ้างอิงบางส่วนจาก โพสต์ทูเดย์ https://www.posttoday.com/life/healthy/546668
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น