วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

 






ความรัก และความตายในบริบทสังคมร่วมสมัย

    โดย..ด๊อกเตอร์ถังขยะ

ความรักเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือเป็นเพียงมายาและไม่มีอยู่จริง

          ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของความรักก็คือ ในความรักของมนุษย์นั้นมีหลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินว่า ความรักนั้นดีอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือ ดีในบางสถานการณ์แต่ในบางสถานการณ์อาจไม่ดีในเรื่องนี้มีแนวคิดที่ขัดแย้งกัน  ๒  กลุ่ม คือ

          ๑. สัมพัทธนิยม (Ethical Relativism) เป็นกลุ่มที่เห็นว่า ค่าทางจริยธรรมของความรักนั้นไม่ใช่สิ่งตายตัว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือปัจจัยอีกหลายอย่าง ในสถานการณ์หนึ่ง ความรักอย่างหนึ่งอาจจะดี แต่ในสถานการณ์อีกอย่างหนึ่ง ความรักอย่างเดียวกันนั้นแหละ   อาจจะกลายเป็นความชั่วก็ได้ เช่น 

นาย ก มีความรัก  ซึ่งโดยปรกติเราถือว่าการมีความรักเป็นสิ่งที่ดี  แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่ง  นาย ก มีความรักโดยการไปบอกรักหญิงสาวที่เขามีเจ้าของแล้ว ผลปรากฏว่า  นาย  ก  ถูกแฟนเขารุมทำร้ายด้วยความไม่พอใจ  จากตัวอย่างนี้พวกสัมพัทธนิยมจึงถือว่า  ความรักไม่ได้เป็นความดีโดยตัวของมันเอง  แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้พูดในโอกาสแบบไหนมากกว่า ความรักจึงไม่มีค่าที่ตายตัว

“สัมพัทธนิยม (Ethical Relativism) เป็นกลุ่มที่เห็นว่า ค่าทางจริยธรรม คือ ความดี หรือ ชั่วนั้นไม่ใช่สิ่งตายตัว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือปัจจัยอีกหลายอย่าง ในสถานการณ์หนึ่ง การกระทำอย่างหนึ่งอาจจะดี แต่ในสถานการณ์อีกอย่างหนึ่ง การกระทำอย่างเดียวกันนั้นแหละ   อาจจะกลายเป็นความชั่วก็ได้” พฤติกรรมของคนในสังคม จะมีค่าทางจริยธรรมไม่เป็นตายตัวแน่นอน  ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ  ในสถานการณ์หนึ่งอาจจะดี และในสถานการณ์หนึ่งอาจจะชั่ว ได้ ในการกรทำอย่างเดียว เช่นการข่มขืน กระทำชำเรา บางประเทศให้ค่าพฤติกรรมเป็นการผิดกฎหมายหรือชั่ว เลว บางประเทศไม่ถือเป็นกระทำที่ชั่วหากผู้ถูกข่มยอมรับคนข่มเป็นสามี  พฤติกรรมนี้ไม่กลายเป็นความผิด หรือเลวทราบแต่อย่างใด

          ๒. สัมบูรณนิยม (Absolutism) เป็นกลุ่มที่เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่ดีโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข  เช่น  ในกรณีการรักผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี  จะใช้ในที่ไหน  รักกับใคร  ในสถานการณ์แบบไหน  ความรักก็ต้องดีวันยังค่ำ  การจะถูกพวกขี้เมารุมทำร้ายหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญ

          จากข้อขัดแย้งกันของทฤษฎีทั้งสองที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเรื่องความรัก เราจึงต้องทำการวิเคราะห์เรื่องความรักในแง่มุมต่าง ๆ อย่างละเอียด  ทั้งแง่ตัวบุคคลและแง่สังคม

 

ความรักเป็นสัมพัทธนิยม (Relativism)

          คำว่า สัมพัทธนิยม แปลว่า  แนวคิดที่ว่าด้วยสิ่งที่ไม่สามารถเป็นอยู่ได้ด้วยตัวเอง    เช่น  น้ำ  โดยปกติเรามักเข้าใจว่ามันมีคุณสมบัติเป็นของเหลว  แต่โดยธรรมชาติจริง ๆ  ของน้ำนั้นจะมีสภาพเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เข้าไปสัมผัสกับน้ำ  ถ้าน้ำอยู่ในอุณหภูมิที่  ๐ องศาเซลเซียส  ความเป็นของเหลวของน้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง  ถ้าน้ำอยู่ในอุณหภูมิที่ ๑๐๐  องศาเซลเซียส  น้ำจะเดือดและระเหยกลายเป็นไอ จากเหตุการณ์เช่นนี้  ทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติที่แท้จริงของน้ำจะเป็นอะไรนั้น  ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัย    น้ำไม่สามารถเป็นอยู่ได้โดยตัวของมันเอง   มันจึงมีลักษณะสัมพัทธ์

ความรักในแบบสัมพัทธนิยม  แบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ

                   ๑. แบบสัมพัทธนิยมทางตัวบุคคล

                   ๒. แบบสัมพัทธนิยมทางสังคม

๑) ความรักแบบสัมพัทธนิยมทางตัวบุคคล หมายถึง การยึดความเห็นของตนเป็นหลัก  ดี คือสิ่งที่ฉันชอบ  ชั่ว คือสิ่งที่ฉันเกลียด  แนวคิดนี้ เช่น  แนวคิดของพวกกรีกคือกลุ่มโซฟิสต์ (Sophists 5 th cent. B.C)  มีแนวคิดของโปรทากอรัส (Protagoras 480-410 B.C) เป็นต้น เป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า  

Man is the   measure of all things         คนเป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง

คนเป็นผู้ให้ค่าดี –ชั่ว  เป็น  เอกัตวาท  (Individualism)   ฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง ธรรมะ คือสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ฉัน  ความดี คือการยืนอยู่บนตำแหน่งแชมป์เปี้ยน  ความสำเร็จ คือชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยอำนาจ  มั่นนี่ และเซ็กซี่   สุขและทุกข์เท่านั้นคือสัจธรรม  ดี ชั่วจริง ๆ ไม่มี  ถูกคือพาเราไปสู่สิ่งที่ชอบ ผิดคือสิ่งที่เป็นตัวกีดขวางหนทางเรา  ความยุติธรรม คือความพอใจของฉัน  การที่พวกโซฟิสต์มีความเห็นเช่นนั้น  ก็สืบเนื่องมาจากพวกเขาได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ  จึงได้พบความแตกต่างกันแห่งวัฒนธรรม  บางที่สิ่งหนึ่งเป็นความดี  แต่พออีกที่หนึ่งกลายเป็นความเลว  กลุ่มนี้จึงมีความเห็นว่า  ดี  ชั่ว  ไม่น่าจะมีจริง เป็นเรื่องของความรู้สึกเฉพาะตส โปรทากอรัสจึงได้พูดประโยคดังกล่าว

ศีลธรรมและรสนิยมเป็นเรื่องเดียวกัน  เอดเวดร์  เวสเตอร์มาร์ค  (Edward Westermarck : 1862 – 1939)   นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษ ถือว่า การตัดสินศีลธรรมเกิดจากความรู้สึกทางศีลธรรม  การตัดสินความประพฤติผู้อื่นก็มาจากความรู้สึกของเราเอง  ศีลธรรมเป็นเรื่องของอารมณ์  เมื่อมีคนมารักเรา  เราก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีกับเขา  สำนึกในความดีและอยากรักตอบแทนเขา  แต่ถ้าใครทำไม่รักเรา  เราก็จะเกิดความไม่พอใจ  และถ้าเกลียดเรา เราก็อยากจะเกลียดตอบแทน เช่นกัน

สรุป  สัมพัทธนิยม ถือว่า  ความรักขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคน เป็น เอกัตวาท  คือฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง  เป็น อัตนัยนิยมถือว่าความรักไม่มีมาตรการที่ตายตัว  โปรดสังเกตว่าแนวคิดที่เป็น สัมพัทธนิยม อัตนัย  และเอกัตวาทจะมีแนวความคิดเดียวกัน  คือมี ตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง  ไม่มีความรักที่ตายตัว  ไม่มีความรักที่เป็นสากล

๒) ความรักแบบสัมพัทธนิยมทางสังคม   มนุษย์อยู่ในสังคม  อารมณ์หรือความรู้สึกเรื่องความรักนั้น  ได้รับการถ่ายทอดทางจารีตประเพณี พฤติกรรมของคนในสังคมจะเป็นเครื่องบอกแก่สมาชิกในสังคมว่า  อะไรควรรัก อะไรไม่ควรรัก  เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกเรื่องความรักจากบรรพบุรุษในกรอบของวัฒนธรรม แต่ที่น่าพิจารณาก็คือ  กรอบของคนแต่ละวัฒนธรรมนั้น จะแตกต่างกันจนถึงขัดแย้งกัน  อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง  เช่น  สถานที่  เวลา  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์ เราจะพบเรื่องเหล่านี้ได้จากวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา  มีตัวอย่างมากมายในเรื่องเหล่านี้  เช่น  จากบันทึกประวัติศาสตร์ของเฮโรโดตุส  ได้กล่าวถึง  เรื่องราวของกษัตริย์ดาริอุส  แห่งเปอร์เซีย  ได้พบเห็นความแตกต่างของชาวกาลาเทียกับชาวกรีก  โดยที่ชาวกาลาเทีย  เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต  ลูก ๆ จะต้องกินเนื้อบิดามารดาจนหมด  ในขณะที่ชาวกรีกจะใช้พิธีเผาศพบิดามารดา 

ชาวเอสกิโม  ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่า  ๑  คน  ผู้นำชุมชนสามารถมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของผู้อื่นได้  ผู้หญิงถ้าเบื่อสามีคนเก่าจะหย่าก็ด้วยวิธีไปอยู่กับสามีใหม่ได้เลย  การให้เกียรติแขกอย่างสูงสุดคือการให้ภรรยาของตนเองนอนกับแขก ทารกหญิงจะถูกฆ่าตายมากที่สุดเกือบ ๕๐  %  คนสูงอายุที่ไม่มีประโยชน์จะถูกปล่อยให้หนาวตาย หรือที่มองโกล  ถ้าเป็นเพื่อนรักกันแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเพื่อนได้

บางแห่งเมื่อสามีตาย  ภรรยาจะต้องกระโดดเข้ากองไฟเพื่อตายตามสามี  อันเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสามี  เรียกว่า พิธีสตรี ในอินเดีย  ประเพณีแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป  แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ  แต่ละสังคมก็มักจะนึกว่าวัฒนธรรมของตนประเสริฐที่สุด  ถูกที่สุดและมักดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมของกลุ่มอื่น 

แนวคิดที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเรียกว่าเป็น  สัมพัทธนิยมทางสังคมวิทยา  (Sociological  Relativism)  โดยยอมรับข้อเท็จจริง  ๓  ประการ

๑. เพราะประเพณีที่ต่างกันจึงทำให้มีระบบจริยธรรมเรื่องความรักที่ต่างกัน

๒. จากเหตุผลในข้อที่ ๑ มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

๓. แต่ละกลุ่มถือว่าประเพณีของตนดีที่สุด

นี้เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์จากด้านสังคมวิทยาซึ่งพูดถึงสิ่งที่ความรักกำลังเป็นอยู่  แต่เมื่อจะสรุป  เป็น สัมพัทธนิยมในด้านจริยศาสตร์ (Ethical  Relativism) นั้นคือ  ควรเป็นจะได้ข้อสรุป ๒ ข้อคือ

๑. จารีตประเพณี ควรเป็นเกณฑ์ตัดสินความรัก

๒.ไม่ควรนำเกณฑ์เรื่องความรักของสังคมหนึ่งไปตัดสินความรักของคนอีกสังคมหนึ่ง

ในข้อที่ ๑ นั้น มีคำอธิบายว่า  การใช้ประเพณีเป็นการตัดสินความรักนั้น   เป็นการปลอดภัย เนื่องจากประเพณีนั้น  เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ของบรรพบุรุษให้แก่อนุชนรุ่นหลัง  และเป็นสิ่งที่ได้รับการทดสอบมาเป็นเวลานานแล้ว  จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

ในข้อที่ ๒ นั้น  มีคำอธิบายว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเกณฑ์สากลที่ใช้ได้กับทุกที่ทุกเวลากับเรื่องความรัก              แต่ละสังคมก็จะมีเกณฑ์ของแต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกัน  เกณฑ์ที่นำมาใช้กับความรักของแต่ละสังคม ย่อมเหมาะสมเฉพาะแก่สังคมนั้น  เป็นไปตามกฏแห่งเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละสังคม จึงไม่ควรจะตำหนิหรือประณามเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกับสังคมของตน  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความชอบธรรมที่ชาวมองโกลจะให้เพื่อนรักสามารถมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเพื่อนได้ เพราะเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นต้น 

 

๓) วิพากษ์ความรักแบบสัมพัทธนิยมจากมุมมองของสัมบูรณนิยม

          ๑. ถ้าความรักของสัมพัทธนิยมถูกต้อง จะไม่มีการโต้เถียงเรื่องศีลธรรม  เพราะแนวคิดของคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน เช่น นายอับดุลชาวมุสลิมเถียงกับนายสมศักดิ์ชาวพุทธ  นายอับดุลบอกว่าการกินหมูเป็นบาป  แต่นายสมศักด์บอกไม่บาป  ดูเหมือนจะเป็นการขัดแย้งกัน  แต่อันที่จริงไม่ได้เป็นความขัดแย้ง  เพราะเป็นความคิดของคน ๆ ละสังคมกัน อันที่จริงถ้าเชื่อแนวคิดสัมพัทธนิยม  น่าจะทำให้โลกสงบได้  แต่ความจริงที่ปรากฏอยู่ก็คือยังมีการโต้เถียงกันอยู่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์เชื่อว่า น่าจะมีความรักสากลที่มนุษย์ยอมรับเหมือนกัน

          ๒. ประเพณีก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นการฉลาด  ที่จะเอาประเพณีมาเป็นตัวตัดสินความรัก เมื่อโลกเจริญขึ้น ประเพณีต่าง ๆ  ก็เปลี่ยนแปลงไป  ประเพณีบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์คนก็ล้มเลิกกันไป  เนื่องจากคนฉลาดมากขึ้น  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยความจริงมากมายที่คนสมัยก่อนไม่เข้าใจจึงได้สร้างประเพณีที่ผิด ๆ  และถ่ายทอดแนวคิดที่ผิด ๆ  ให้อนุชนรุ่นหลัง  เช่น  แนวคิดในอินเดียที่ว่า ภรรยาเป็นสมบัติของสามี  เมื่อสามีตายเวลาจะเผาศพสามีให้ภรรยากระโดดเข้ากองไฟ  ในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นความโง่สิ้นดีที่จะทำเช่นนั้น  ความรักที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้  ถ้ามนุษย์ยึดประเพณีว่าถูกต้อง  ศาสดาต่าง ๆ ในโลกนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  เพราะศาสดาทั้งหลายล้วนมีท่าทีเป็นกบถต่อประเพณีเก่าแทบทั้งสิ้น

          ๓.  ประเพณีที่ต่างกันมาจากสติปัญญาที่ต่างกัน ถ้าใช้เหตุผลที่ถูกต้องโดยปราศจากอคติ เราจะพบความรักสากล คือ มโนธรรมที่มีอยู่ในใจมนุษย์ สิ่งนี้จะทำให้เราเศร้าใจเมื่อพบว่ามี การข่มขืน หรือการละเมิดคนรักของผู้อื่นเกิดขึ้น

๔.  ความรักนั้นจะต้องมีอยู่จริง ดังนั้น แม้ประเพณีจะมีความแตกต่างกัน แต่เราสามารถสืบหาสาเหตุแห่งความแตกต่างนั้นได้ ความรักที่ดีที่สุดจะต้องมีแน่ ๆ

๕. ความรักสากลมีอยู่ในรูปกฎสากล แต่การเอากฎแห่งความรักไปใช้แตกต่างกัน ตามสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ เช่น อาจจะมีกฎข้อหนึ่ง ที่ทุกสังคมถือเหมือนกันคือ กฎที่ว่า จงทำให้สังคมอยู่รอดปลอดภัย เพราะกฎนี้จึงทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มอาจนำเอาสาวพรหมจารีมาฆ่าเซ่นสรวงพระเจ้า หรือบางกลุ่มอาจฆ่าคนต่างเผ่าทุกคนที่เจอและตัดคอเสียบประจาน เพื่อทำให้เผ่าตัวเองปลอดภัยจะพบว่าใน  ๒  กรณีนี้มาจากหลักอันเดียวกัน  แต่พฤติกรรมแตกต่างกัน  มีทั้งฆ่าพวกเดียวกันและฆ่าพวกอื่น  แนวคิดที่วิจารณ์ความรักแบบสัมพัทธนิยมทางสังคมวิทยาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นมุมมองการวิพากษ์ของพวกสัมบูรณ์นิยมทางสังคมวิทยา 

 

ความตายทางเลือก

เมื่อเร็วๆ นี้มีชายหนุ่มคนหนึ่งได้โพสต์ลงไปในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาว่า หลังจากจบโพสต์นี้ ผมจะรับยาและจากไปอย่างถาวร  ที่ผมมาทำการุณยฆาตนี้ เพราะไม่อยากให้ป๊ากับคุณแม่ต้องมาคอยดูแลผม หากในการผ่าตัดครั้งต่อไป มันทำให้ผมต้องเป็นอัมพาต หรือเจ้าชายนิทรา

ผมรู้สึกมีความสุขมากในตอนนี้ ทั้งกับตัวเองที่จะไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีก และกับป๊าและแม่ที่จะไม่ต้องลำบาก ต้องมาดูแลคนที่นอนเป็นผัก ในเวลาที่ป๊ากับแม่ ควรจะต้องอยู่อย่างสบายกายแล้ว...ลาก่อนครับป๊า..ลาก่อนครับคุณแม่.../ก๊อป

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการ "การุณยฆาต" (Euthanasia)  ซึ่งมักจะมีคำถามมากมาย ชายหนุ่มตัดสินใจเผชิญหน้าไปกับความตายอย่างกล้าหาญเพื่อคนที่เขารักที่สุด เพราะรู้ตัวดีว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเขายังมีชีวิตอยู่ต่อไป จึงเลือกที่จะเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีการอนุญาตให้หมอทำการุณยฆาตได้  ท่านผู้อ่านมีคำถามมากมายที่อยากจะถามเขา และหากคุณสามารถไปยืนอยู่ต่อหน้าชายหนุ่มคนนี้แล้วยืนจ้องเข้าไปในดวงตาของเขาตอนที่เขากำลังบอกเรื่องนี้กับคุณ คุณจะห้ามหรือจะปล่อยให้เขาเดินทางจากไปตามความต้องการของเขา

เรื่องการุณยฆาตอิงอยู่บนหลักการต่างๆ มากมาย ทั้งในแง่ปรัชญาและศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ อดีตที่ผ่านมาเรารู้อะไรบ้าง เกี่ยวกับความตาย ทำไมเราต้องกลัว ทำไมเราจึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะตายอย่างไร และทำไมในบางศาสนาถึงกล่าวว่าการกระทำนี้ผิด และต้องตกนรก ทั้งๆ ที่ศาสดาของศาสนาเหล่านั้นต่างก็ไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตของใคร

ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องการกระทำการุณยฆาต มีจุดเริ่มต้นมาจากคำถามเรื่องความเหมาะสมในการยืดชีวิตของผู้ป่วยออกไปด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางการแพทย์ จริยธรรม สังคม หรือกฎหมาย ซึ่งเหตุผลเหล่านี้อาจจะทำให้บุคคลที่ถูกยืดชีวิตออกไปซึ่งเป็นผู้หมดหวังได้ทวงถามสิทธิการตายของตนอย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้มีการเรียกร้องสิทธิการตายกันมากขึ้นโดยเฉพาะในต่างประเทศ โดยเห็นว่าความตายนั้นควรจะให้ดำเนินไปตามสภาพของมนุษย์มากกว่าการใช้เทคโนโลยี  ดังนั้น ความตายที่ได้ถูกเรียกร้องถึงจึงเป็นความตายที่ผู้ป่วยได้ใช้สิทธิการตายซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของตน โดยยินยอมให้บุคคลอื่นทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไปและบุคคลผู้มีวิชาชีพเฉพาะกระทำการุณยฆาตตนเองได้

     เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เลือกที่จะให้หมอจบชีวิตของตนลง เนื่องจากประสบโรคร้ายหลายอย่างและอายุมากแล้ว และเขาก็ต้องการเลือกวิธีการตายของตนเอง โดยให้หมอกระทำการฉีดสารเคมีเข้าไปในร่างกาย และตายอย่างสงบ การกระทำเช่นนี้มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า “การุณยฆาต หรือ ปรานีฆาต” (อังกฤษ : euthanasia หรือ mercy killing; การุณยฆาต เป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ ส่วนปรานีฆาต เป็นศัพท์ทางแพทยศาสตร์) หรือ แพทยานุเคราะห์ฆาต (อังกฤษ: physician-assisted suicide) หมายถึง

           ๑. การทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือ

          ๒. การงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ ทั้งนี้ เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา

          นักปรัชญากรีกในยุคโบราณส่วนมากจะมีความคิดที่เห็นที่จะให้มีการการุณยฆาต โดยเห็นว่าการกระทำการุณยฆาตเป็นเรื่องธรรมดา มิใช่เป็นเรื่องที่ผิดแต่เป็นเรื่องที่พึงกระทำ เนื่องจากคนในสมัยกรีกเห็นว่าความตายเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญ จึงไม่มีแนวความคิดของคนในสังคมที่จะต่อต้านความตาย อีกทั้งวิทยาการการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนดังเช่นปัจจุบัน ความสามารถในการช่วยชีวิตผู้ป่วยมีขอบเขตจำกัดมากนักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงที่เห็นด้วยกับการการุณยฆาตมีดังนี้

          โสกราตีส (Socrates)  มีความเห็นที่เกี่ยวกับเด็กที่เกิดมามีร่างกายพิการหรือจิตใจ กับเด็กที่ป่วยด้วยโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาได้ว่า ควรจะทำให้เด็กๆ นั้น ตายไปเสีย ไม่ควรจะให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

          เพลโต(Plato) มีความเห็นเช่นเดียวกับ โสกราตีส

          อริสโตเติล(Aristotle)  มีความเห็นว่ารัฐในอุดมคตินั้นไม่ควรจะปล่อยให้เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือพิการอยู่ต่อไป

          ต่อมาในยุคกลางซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศาสนาคริตส์นิกายโรมันแคธอลิกเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดและคริตส์จักรได้เข้ามามีอิทธิพลต่อราชอาณาจักรต่างๆ ในทวีปยุโรปและประชาชนของราชอาณาจักรนั้นๆ และเนื่องจากคำสอนที่มีอยู่ในบัญญัติสิบประการ(The Ten Commandment)  ข้อที่ ๖ ว่า “อย่าฆ่าคน”และในบัญญัติหกประการของพระเยซูคริสต์ ข้อ ๑ ได้บัญญัติว่า “อย่าฆ่า”   ดังนั้นคริสตจักรจึงไม่ยอมรับและคัดค้านการฆ่าชีวิตมนุษย์ผู้อื่นหรือการฆ่าตัวตายโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้พ้นจากความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน จึงเป็นผลให้ราชอาณาจักรและประชาชนมีความเห็นคล้อยตามในเรื่องดังกล่าว โดยเห็นว่า “การการุณยฆาต” เพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งผิด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และเป็นบาปมหันต์ไม่ว่าบุคคลที่ถูกทำให้ตายจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม จนถึงยุคปัจจุบันทางคริสตจักรได้มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “การการุณยฆาต” เปลี่ยนไปในแนวทางที่สามารถยอมรับการกระทำดังกล่าวได้ในบางกรณี ไม่ได้ปฏิเสธ “การการุณยฆาต”เสียทั้งหมด โดยมีการตีความหมายของคัมภีร์ที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ “Pope Pius XII”ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วทางด้านศีลธรรมที่จะกระทำการระงับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้ป่วยที่กำลังจะตายได้รับความตายเร็วขึ้น และยังได้กล่าวอีกว่า “ถ้าผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่หมดหวังคนใด ยอมรับว่าความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดเป็นวิถีทางที่จะนำคนไปสู่การแสดงออกต่อความรักที่มีต่อพระเจ้าและไม่ปฏิเสธพระประสงค์ของพระองค์แล้ว ย่อมจะไม่เรียกหาความตายก่อนกำหนดเวลาที่จะมาถึง แต่จะต้องยอมรับสภาพต่อไปอย่างสงบและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่พระองค์ต้องการ นอกจากนี้ ยาใดๆ ที่จะให้แก่ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายพึงให้ด้วยเจตนาที่มุ่งที่จะบรรเทาอาการเจ็บปวด มิใช่มุ่งที่จะยุติชีวิตของผู้ป่วย”

          อาเธอร์ เจ ไดค์ (Arthur J. Dyck) นักจริยศาสตร์แห่ง Harvard Divinity School ได้ให้ความเห็นในประเด็นเดียวกันไว้ว่า

          ๑). ชีวิตของแต่ละคนนั้นเป็นหน้าที่ของเขาที่จะสามารถกำหนดตามที่เขาปรารถนา

          ๒). ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในเรื่องของอิสรภาพในการเลือกสิ่งทั้งหลายนั้นรวมไปถึงอิสระในการเลือกความตายด้วย

          ๓). ไม่สมควรจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เมื่อมีความทุกข์ยาก ลำบาก เจ็บป่วย พิการทางกายหรือจิตใจ หรือมีความผิดหวังอย่างรุนแรงในบางสิ่ง

          ๔). สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในความสามารถของมนุษย์ที่จะเลือกและควบคุมชีวิตและความตายของตน

          ทรรศนะของคริตศาสนาและนักจริยศาสตร์ต่างก็เห็นแตกต่างกันไปคนละทางสาเหตุเกิดจากมุมมองที่มีต่อชีวิตที่แตกต่างกัน คริสต์ศาสนามองชีวิตว่าเป็นสมบัติของพระเจ้าที่ควรได้รับการปกป้องจนถึงที่สุดมิให้ถูกกำจัดหรือถูกทำลาย การการุณยฆาตในทรรศนะของคริสตศาสนาจึงถูกมองว่าขัดพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงให้กำเนิดชีวิตทุกชีวิตดังนั้นสิทธิในการตายจึงควรเป็นของผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงคือพระเจ้า ในขณะที่นักจริยศาสตร์อย่าง อาเธอร์ เจ ไดค์ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและมองในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์พระเจ้าไม่ใช่เจ้าของชีวิตที่แท้จริง มนุษย์ต่างหากเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง

          ในศาสนาอิสลามได้กล่าวถึงการุณยฆาตไว้ว่า มนุษย์ไม่อาจหลีกหนีหรือปฏิเสธปรากฏการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตนได้เว้นแต่อัลลอฮ์จะทรงให้เป็นไป เมื่อมนุษย์คนใดเจ็บป่วยแพทย์คือผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือตามความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ แต่การที่จะบรรเทาอาการป่วยให้บรรเทาหรือหายขาดอยู่ในอำนาจอัลลอฮ์” ในอัล-หะดิษ ของอิหม่าม Bukkhari กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อใดที่ท่านศาสดาไปเยี่ยมผู้ป่วยอาหรับที่อยู่ในทะเลทราย ท่านมักกล่าวว่า ไม่มีอันตรายใดๆเกิดขึ้นแก่ผู้บริสุทธิ์ถ้าพระผู้ทรงอานุภาพทรงประสงค์และถ้าผู้ป่วยที่มีอาการหนักใกล้จะถึงแก่ความตาย ท่านศาสดาก็มักจะกล่าวว่า จงปล่อยให้เป็นไปตามพระประสงค์”  แนวคิดของศาสนาอิสลามนั้นเป็นแนวคิดที่ไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์มีสิทธิในการกำหนดความตายให้แก่ตนเอง พระอัลลอฮ์เท่านั้นที่ทรงมีสิทธิที่จะทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นแม้มนุษย์จะมีสิทธิในการกระทำบางอย่างเพื่อให้ตนเองบรรลุวัตถุประสงค์แต่การบรรลุวัตถุประสงค์นั้นก็ไม่ใช่เพราะอำนาจของมนุษย์ที่มีอยู่ แต่เป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานไว้ จึงเป็นแนวคิดที่ไม่สนับสนุนการการุณยฆาต หากกระทำก็จะเป็นการผิดต่ออัลลอฮ์ทั้งผู้กระทำและผู้สนับสนุน

          สำหรับพระพุทธศาสนา กรณีการทำการุณยฆาตมนุษย์ เช่น การฆ่ามนุษย์ให้ตายโดยสงบอย่างไม่ทรมาน เนื่องจากเขาป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย อาการหนัก ระบาดติดสู่คนและสัตว์อื่นได้ หรือการฆ่าสัตว์ปีกเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก การฆ่าวัวเพื่อป้องกันโรควัวบ้า การกระทำเช่นนี้มีปัญหาว่า จะถือว่าเป็นบาปหรือเป็นบุญ เพราะเหตุผลในการฆ่านั้นเพื่อมุ่งเน้นการช่วยให้พ้นทุกข์ เรื่องนี้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องความเป็นปฏิกูลของร่างกาย ภิกษุกลุ่มหนึ่งฟังเทศนาเรื่องนี้แล้วเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตและร่างกาย จึงจ้างให้เพชฌฆาตสมัครเล่นคนหนึ่งมาปลงชีวิตของตัวเอง ปรากฏว่าคราวนั้นมีภิกษุเต็มใจฆ่าตัวตายจำนวนมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงปรับอาบัติภิกษุที่ทำเช่นนั้นว่ามีโทษหนักถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิก คือ ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

          การที่ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุที่ตั้งใจฆ่าตัวตายเอง หรือขอให้คนอื่นฆ่าตัวเองด้วยความเต็มใจ รวมทั้งรู้เห็นเป็นใจให้มีการฆ่าตัวตาย ก็เพราะการฆ่าเป็นอาชญากรรมที่ตัดรอนชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสูงค่าที่สุดที่มนุษย์มีอยู่ให้ขาดไป เมื่อเราตายลงจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงสิ่งดีๆ ทั้งปวงได้หลุดลอยขาดหายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสอันสำคัญที่สุดก็คือโอกาสในการบรรลุธรรม การฆ่าจึงเป็นการสังหารผลาญทั้งชีวิต ทั้งร่างกาย และทั้งโอกาสในการพัฒนาทางจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน ในทัศนะของพระพุทธศาสนา การฆ่าในทุกความหมายจึงถือว่าเป็นบาป คำสอนเบื้องต้นที่สุดของพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วย “การไม่ฆ่า” (ปาณาติปาตา เวรมณี) คำสอนทั่วๆ ไปก็ล้วนมุ่งเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต เช่น การสอนให้มองสรรพสัตว์ สรรพชีพว่าล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การฆ่าที่จะถือว่าเป็นบาปสมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยเหตุปัจจัย ๕ ประการ คือ (๑) สัตว์มีชีวิต(๒) รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต(๓) มีจิต (เจตนา) คิดจะฆ่า(๔) พยายามฆ่า(๕) สัตว์ตาย  ถ้าครบองค์ประกอบทั้งห้าถือว่าเป็นบาปโดยสมบูรณ์ ทุกๆ ครั้งที่มีการฆ่าเกิดขึ้นในนามของความกรุณา เราคงต้องถามว่า ผู้ฆ่าได้ทำให้องค์ประกอบทั้งห้าสมบูรณ์หรือไม่ โดยมากล้วนแล้วแต่ทำให้องค์ประกอบทั้งห้าสมบูรณ์ทั้งนั้น เพราะคงไม่มีนักเรียนแพทย์หรือแพทย์คนไหนที่ไม่รู้ว่าสัตว์ที่ตนจะฆ่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ถ้ามีการฆ่าเกิดขึ้น แม้จะด้วยเจตนาดี ก็ยังคงถือว่าเป็นบาปอยู่นั่นเอง

          แต่ถามต่อไปว่า บาปมากหรือบาปน้อย ท่านก็ให้หลักเกณฑ์การพิจารณาต่อไปว่า ถ้าสัตว์นั้นมีคุณมากก็บาปมาก มีคุณน้อยก็บาปน้อยลงไปตามส่วน แต่ที่จะไม่บาปเลยนั้นเป็นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ถ้าเธอฆ่า เธอก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับบาป ในความหมายว่า อาจเป็นกรรมติดตัวต่อไปในอนาคต ต่างแต่ว่ากรรมนั้นอาจไม่รุนแรงมากนักเพราะเจตนาฆ่านั้นไม่ได้เกิดจากเจตนาร้าย แต่เป็นเจตนาดี ในต่างประเทศ การฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อถือเป็นเรื่องปกติ ก็เพราะต่างชาติมีระบบความเชื่อต่างออกไปจากศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น ถ้าเธอคิดจะฆ่าด้วยความกรุณา ก็คงต้องถามด้วยว่า เธอฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบไหน ถ้าฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ อาจไม่บาปเลยก็ได้  ถ้าฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบศาสนาอื่นๆ (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) ก็คงต้องพิจารณากันไปตามกรณีนั้นๆ ว่าอ้างศาสนาไหน

          ผู้เขียนมีความเห็นแตกต่างออกไปจากแนวทางข้างต้นโดยมองว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบในภาวะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่หมดหวัง การชะลอความตายถือได้ว่าเป็นเจตนาที่มีเมตตาอย่างหนึ่งและถ้าการชะลอนี้ ไม่เกิดประโยชน์และทำให้ทุกข์ทรมานทั้งผู้ป่วยและผู้พบเห็น การปล่อยให้ผู้ป่วยได้จบชีวิตโดยสงบตามธรรมชาติก็น่าจะถือได้ว่าเป็นเจตนาที่ดีได้เช่นกัน  แพทย์และผู้ป่วยต้องถามตัวเองว่าจะชะลอความตายเพื่ออะไร หากมีเป้าหมายสนองผลประโยชน์ของคนอยู่หรือเพื่อความสมบูรณ์ของความรู้ทางการวิจัยทางการแพทย์แล้ว เป้าหมายนี้ย่อมไม่ถูกต้อง  เพราะคุณค่าของความเป็นมนุษย์นั้นมีลักษณะที่มีค่าอยู่ในตัวเอง แต่ละคนจะนำไปสัมพันธ์เปรียบเทียบหรือวิถีแห่งการทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้   เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น ผู้วิจัยจึงยกข้อความในคัมภีร์อรรถกถาพระวินัยปิฎกตอนที่พระพุทธเจ้าทรงได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมาเทียบเคียงไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

          ดังกรณีการตายของพระโคธิกะ เรื่องเล่าว่าท่านผู้นี้สุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อเจริญสมาธิจนได้ฌานแล้วฌานนั้นก็ดำรงอยู่ไม่ได้นาน ท่านเห็นว่าหากท่านตายในขณะที่ท่านอยู่ในฌานจะเป็นประโยชน์มากกว่าจึงได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการเชือดคอ ทีแรกนั้นท่านคิดว่าจะฆ่าตัวตายเพื่อประโยชน์ในโลกหน้า คือขณะที่เชือดคอก็เจริญสติให้ได้ฌาน แต่ผลที่เกิดนั้นเกินคาดท่านสามารถเจริญจิตจนบรรลุพระนิพพาน การกระทำนี้ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ตรัสว่าสิ่งที่ท่านผู้นี้กระทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว โดยตรัสว่า “ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต โคธิกะภิกษุ ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว” 

     การตายของพระโคธิกะเป็นความตายที่เกิดขึ้นจากเจตนาที่จะจบชีวิตของตนเองโดยเลือกพิจารณาจากหลักประโยชน์ ๓ ประการคือ ๑) ประโยชน์ในปัจจุบัน ๒) ประโยชน์ในอนาคต และ ๓)ประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ อาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงของพระโคธิกะนั้นทำให้ท่านสูญเสียประโยชน์ในปัจจุบันที่ควรได้รับดังนั้นท่านจึงเลือกจบชีวิตตนเองในขณะที่ยังพอมีสติสมบูรณ์อยู่เพื่อหวังประโยชน์ในโลกหน้าซึ่งประเสริฐกว่า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพุทธพจน์ตรัสรับรองเรื่องดังกล่าว และพุทธพจน์นั้นก็สอดคล้องกับท่าทีเรื่องความตายของพระองค์ที่ว่า “ การมีชีวิตอยู่โดยไม่ชอบธรรมกับความตายโดยชอบธรรม ความตายโดยชอบธรรมประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร ชนเหล่าใดละกามละความโกรธได้แล้ว มีจิตสงบระงับเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ในโลก ชนเหล่านั้นไม่มีความรักความชัง บุคคลเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ และพละ ๕ แล้ว บรรลุถึงความสงบอันยอดเยี่ยม หาอาสวะมิได้ ย่อมปรินิพพาน” 

      จากข้อความข้างต้นเราอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า มีวิธีหนึ่งที่พระพุทธศาสนาเห็นว่าสามารถกระทำได้ กรณีที่ว่านั้นคือ

          ๑). คนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่มีข้อบ่งชัดว่าอย่างไรเสียก็รักษาไม่หาย การรักษาความเจ็บป่วยในสภาพเช่นนี้เป็นเพียงการประคับประคองชีวิตไว้รอความตายเท่านั้น กรณีดังกล่าวนี้พระพุทธศาสนาเห็นว่า หากผู้ป่วยร้องขอให้กระทำการุณยฆาต ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด เพราะพระพุทธศาสนามองไปที่ประโยชน์ของผู้ป่วย ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน การที่ผู้ป่วยต้องการจากไปอย่างสงบโดยให้แพทย์ช่วยเหลือให้เขาจากไปท่ามกลางญาติพี่น้องนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนายอมรับได้

          ๒). ผู้ที่เกี่ยวข้องประสบความทุกข์ที่ต้องแบบรับการดูแลรักษา ความทุกข์นั้นเช่น ฐานะทางการเงินไม่อยู่ในสภาพที่จะรับภาระนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องทางความรู้สึก เช่น มีเงินพอ แต่รังเกียจที่จะดูแล ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็สามารถยอมรับการการุณยฆาตได้ แต่กระบวนการยุติชีวิตของผู้ป่วยทั้งหมดจะต้องเกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ป่วยมีเจตนาดีที่จะช่วยปลดเปลื้องภาระในการดูแลตนเองแก่ครอบครัวญาติมิตร ส่วนครอบครัวญาติมิตรก็เข้าใจว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากความจำเป็นอย่างที่สุด ไม่มีทางหลีกเลี่ยงต่อไปได้ การเห็นคนที่ตนเองรักยอมตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ แต่เมื่อทางนี้เป็นทางเดียวที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เราก็ต้องจำใจเลือก หลักธรรมเรื่อง อุเบกขาอันหมายถึงการปล่อยให้สิ่งที่สมควรปล่อยได้ผ่านพ้นไปตามหนทางของมันอาจช่วยได้มากในเรื่องการทำใจ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนหลักเมตตา และกรุณามาก่อน ที่จะสอนหลักอุเบกขา นั่นหมายความว่า ญาติพี่น้องจะต้องพยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะช่วยรักษาความเจ็บไข้นั้น

      แต่อย่างไรก็ตามพุทธจริยศาสตร์นั้นตระหนักดีว่าชีวิตมนุษย์นั้นบางทีก็ต้องเลือกระหว่างสองทางเลือกขึ้นไป ที่ว่าเลือกทางไหนก็จะมีปัญหาไปคนละอย่าง หลักนี้เรียกว่า ทางสายกลาง (middle part) ในพระพุทธศาสนานอกจากจะมีทางสายกลางทางอภิปรัชญาแล้ว ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า มีทางสายกลางทางจริยศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากทางสายกลางทางอภิปรัชญาตรงที่ว่า ทางสายกลางทางจริยศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ส่วนทางสายกลางทางอภิปรัชญานั้นจะเป็นเรื่องของความจริงที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่ทั้งสองก็มีความเกี่ยวข้องกันและกันอยู่ การเข้าใจความจริงตามธรรมชาติจะทำให้เราสามารถเลือกปฏิบัติตนได้ถูกทางนั่นเอง

       ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาใช้หลักทางสายกลางนี้กับกรณีการการุณยฆาต ทางสายกลางที่ว่านี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์หลัก ๓ ประการมาเป็นเกณฑ์ตัดสินเกี่ยวกับเรื่องโลกทัศน์เรื่องความตายในพระพุทธศาสนาร่วมด้วย ประโยชน์ในโลกนี้ หมายเอา ประโยชน์ในทางกายภาพ เช่น การมีสุขภาพดี การมีสภาพชีวิตที่ดี การอยู่ในสังคมที่ดี เป็นต้น  แต่ประโยชน์ในโลกนี้พระพุทธศาสนาถือว่าไม่ได้แยกขาดจากประโยชน์ในโลกหน้า หรือประโยชน์อย่างยิ่ง  การมีชีวิตที่ดีในปัจจุบันพระพุทธศาสนาถือว่าจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิต  เมื่อประยุกต์ใช้เกณฑ์เรื่องประโยชน์กับการทำการุณยฆาต เราอาจพิจารณาไล่เป็นเรื่องๆ ไปว่า ประโยชน์ในโลกนี้เป็นอย่างไร ประโยชน์ในโลกหน้าเป็นอย่างไร และประโยชน์อย่างยิ่งเป็นอย่างไร  มีข้อน่าสังเกตว่า มีกรณีตัวอย่างบางตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่อาจตีความได้ว่า บางครั้งการยุติชีวิตของตน เป็นการเลือกประโยชน์ในโลกหน้าและประโยชน์อันสูงสุด มากกว่าประโยชน์ในโลกนี้ เช่น กรณีการฆ่าตัวตายของพระโคธิยะ  เป็นต้น

      อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์เกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติ  เกี่ยวกับการการุณยฆาต เพราะมาตรฐานในทางศีลธรรมไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยคำสอนในพระพุทธศาสนา  ยังมีอีกหลากหลายแนวทางที่อาจจะต้องนำมาวินิจฉัยร่วมกัน ตัวอย่างของพระโคธิยะนี้แม้จะเป็นเรื่องฆ่าตัวตายไม่ใช่การุณยฆาต แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เราเห็นท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อชีวิตสองเรื่องคือ  เรื่องการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดหรือการเลือกประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ชีวิตบนพื้นฐานของทางสายกลาง และ โลกทัศน์เรื่องความตาย พระพุทธวจนะที่ว่า “ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต”นั้น บอกเราว่าปราชญ์ย่อมจะเลือกประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิต ในกรณีของท่านโคธิกะท่านต้องเลือกระหว่างการเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในขณะที่ร่างกายไม่สามารถเจริญฌานได้ กับการฆ่าตัวตายในขณะที่ร่างกายของท่านยังสามารถเจริญฌานจนได้สมาธิจิตในระหว่างที่ตายได้ ท่านจะต้องเลือกเอาการฆ่าตัวตาย เพราะเป็นทางที่จะทำให้ท่านได้ประโยชน์ที่ดีกว่า การที่ต้องแบกรับความเสี่ยงอันไม่แน่นอน

          ที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เห็นความหมายของการการุณยฆาตชัดเจนขึ้น “การุณยฆาต” ตามรูปศัพท์นั้นแปลว่า การฆ่าด้วยความกรุณา ในที่นี้หมายถึง ผู้ตาย มีความประสงค์จะตาย หรือทางการแพทย์วินิจฉัยว่า หากผู้ป่วยเสียชีวิตลงจะช่วยให้พ้นจากความทรมาน จากนั้นแพทย์ได้ช่วยถอดเครื่องช่วยหายใจ หรือฉีดยาเพื่อช่วยระงับความเจ็บปวด กระทั่งสิ้นลมหายใจ ในกรณีเหล่านี้มีความผิด หรือเข้าข่ายปาณาติบาตหรือไม่  ผู้วิจัยมองว่า “จะผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ ให้ดูที่เจตนาหรือเจตจำนงของผู้กระทำเป็นหลัก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”  หมายความว่า จะเป็นกรรมหรือไม่ อยู่ที่ความตั้งใจในการกระทำ กรณีดังกล่าวผู้ตายหรือผู้ฆ่ามีเจตนาในการฆ่าหรือไม่ โดยปกติ การฆ่าตัวตายแม้จะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธเจตนากรรมไม่ได้  เพราะผู้ตายหรือ ผู้ฆ่า ย่อมรู้แก่ใจว่า การกระทำอย่างนี้ต้องตายแน่นอน จากนั้นก็ตัดสินใจกระทำการฆ่า เช่น การถอดสายยางเครื่องช่วยหายใจ ย่อมมีเจตนาคือรู้แก่ใจว่า การถอดสายยาง ผู้ป่วยต้องตายแน่นอน จากนั้นก็ตั้งใจถอด ฉะนั้นเจตนาในการทำให้ชีวิตตกล่วงต้องมีแน่นอน หากวิเคราะห์ตามหลักวินิจฉัยของปาณาติบาต การการุณยฆาตก็เข้าข่าย ผิดศีล เพราะมีจิตหรือเจตนาคิดจะฆ่า แต่หากวินิจฉัยตามหลักเจตนาในพุทธจริยศาสตร์ ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ เจตนาดี (กุศลเจตนา) และเจตนาชั่ว (อกุศลเจตนา) หลายเหตุการณ์ในทางพุทธจริยศาสตร์บ่งบอกว่า มีเจตนาในการฆ่าเกิดขึ้น แต่ทำไมความผิดในการฆ่าจึงไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะเจตนาในการฆ่าที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในกรณีการุณยฆาต แม้จะมองว่า ผิดศีล ในฐานะที่มีเจตนาฆ่า แต่ความผิดหรือผลของการฆ่าก็มีน้อย เพราะข้อพิจารณาทั้ง ๓ ประการ โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยเจตนาและประโยค ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า

     ๑. เจตนาผู้ฆ่า ในกรณีนี้คือหมอ มีเจตนาประกอบด้วยโลภะโทสะ และโมหะน้อยและ

มุ่งประโยชน์ของผู้ตาย ไม่ให้ทรมานเป็นหลัก ดังนั้น จึงวินิจฉัยว่า โทษจึงมีน้อยไปด้วย

      ๒. ประโยคหรือความพยายามในการฆ่า หมอไม่ได้ใช้ความพยายามให้ผู้ตายเจ็บปวด หรือทรมานก่อนตาย ตรงข้ามช่วยให้พ้นจากความทรมาน จึงวินิจฉัยได้ว่า มีโทษน้อยเหมือนกัน

         เมื่อวิเคราะห์ตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่า พุทธปรัชญาเถรวาทยังยืนยันบนหลักการที่ว่าผิดก็คือผิด แต่ในความผิดก็มีข้ออะลุ่มอล่วยตามเหตุปัจจัยที่มาประกอบ เช่น เมื่อครบหลักวินิจฉัยทั้ง ๕ ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าความผิดนั้นมีเหตุผลอื่นที่เป็นประโยชน์มาประกอบ ความผิด ก็มีโทษน้อยลง ดังนั้นดูเหมือนว่า ความผิดกับโทษที่ได้รับต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

        ปัญหาที่อาจตามมาของการุณยฆาต คือเจตนาอันบริสุทธิ์ของหมอหรือผู้ฆ่า ว่ามีเจตนาดีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เจตนาของผู้ฆ่าก็ไม่บริสุทธิ์เพราะมี โลภะ ถ้ามีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน เจตนาก็ไม่บริสุทธิ์เพราะมีโทสะ แม้ความประสงค์ของผู้ตายที่ร้องขอให้ฆ่า ก็เป็นเจตนาที่ประกอบด้วยโมหะได้ เพราะการหนีความเจ็บปวด เพื่อเผชิญหน้ากับความตาย เป็น การขาดสติในปัจจุบัน และเป็นความประมาทต่อภพภูมิที่จะไปเกิดในอนาคตข้างหน้า

     ดังนั้น การที่พุทธจริยศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับการุณยฆาต นอกจากจะผิดศีลข้อปาณาติบาตแล้ว อาจเป็นเพราะขัดกับหลักการทางพุทธจริยศาสตร์เอง เช่น

   ๑. การสอนให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน คนที่หนีความเจ็บปวด เหมือนไม่มีสติอยู่กับปัจจุบัน พุทธจริยศาสตร์ถือว่า ความเจ็บปวดในปัจจุบันสามารถใช้พิจารณาให้เห็นธรรมะ คือเห็นทุกข์ในร่างกายตนได้ แต่คนไข้มองความเจ็บปวดเป็นทุกข์ที่ต้องหนี จึงหาทางออกด้วยความตาย ความตายไม่ใช่ทางหนี แต่ ความตายคือ ทางที่ทุกคนต้องเจอ เพราะฉะนั้น การพยายามตายอย่างไร้สติ ทำให้ชีวิตไม่มีคุณค่าตามทัศนะของพุทธจริยศาสตร์

    ๒. หมอ คนดูแล หรือญาติพี่น้องของ ผู้ใกล้ตาย ควรมีเจตนาช่วยเหลือให้เขาตายอย่างมีสติ ไม่ใช่มีเจตนาสนับสนุน ส่งเสริมให้ตายอย่างหวาดกลัว บางทีเจตนาของหมอ คนดูแล ญาติพี่น้อง อาจเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลให้การช่วยเหลือ มีอคติได้ ฉะนั้น เจตนาของคนเหล่านี้ อาจไม่ใช่เจตนาของกัลยาณมิตร หรือเพื่อนแท้ ในการตัดสินใจแทนผู้ตาย 

แต่ประเด็นเหล่านี้ผู้เขียนมีความเห็นแตกต่างออกไปอีกว่า

  ๑. พุทธจริยศาสตร์ควรให้สิทธิของผู้ตายได้ตัดสินตนเองว่า จะอยู่หรือจะตาย ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว ถ้าฝึกจิตให้เข้มแข็ง พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการฝึกจิต ฉะนั้นถ้าคนไข้จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ระลึกถึงมรณานุสสติเป็นประจำ มองเห็นความตายเป็นสะพานไปยังฝั่งหนึ่ง ก็ควรให้เขาข้ามสะพานไปเจริญวิปัสสนาต่อไปในโลกฝั่งข้างหน้า เพราะการุณยฆาตของผู้ฝึกสติ อาจมีค่าด้านจริยธรรมมากกว่าคนตายตามธรรมชาติที่ไร้สติ

    ๒. พุทธจริยศาสตร์ให้ความสำคัญกับโยนิโสมนสิการ คือการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างละเอียดรอบคอบก็จริง แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธหลักของ ปรโตโฆสะ คือการแนะนำ ช่วยเหลือจากคนอื่น พุทธจริยศาสตร์สอนให้ใช้หลัก ๒ ประการ คือทั้งปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องดีงาม ในกรณีการุณยฆาต ผู้ใกล้ตายเองคงคิดพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วถึงความตายและความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่อาศัยหมอ คนดูแล ญาติพี่น้อง ในฐานะมิตรแท้หรือปรโตโฆสะมาช่วยเหลือตัดสินให้ความอุ่นใจยามทุกข์ยากในคราวบั้นปลายของชีวิต

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

ความเรียงพิเศษเนื่องในวันมาฆบูชา ๒๕๖๔ : พระอรหันต์คือใคร?

 



***ความเรียงพิเศษเนื่องในวันมาฆบูชา ๒๕๖๔ เรื่อง " พระอรหันต์คือใคร?"

...ในหมู่ชาวพุทธเป็นที่ทราบกันดีว่าในวันมาฆบูชา เป็นวันที่มีพระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเวฬุวัน โดยไม่ได้นัดหมายกัน พระอรหันต์ทั้งหมดนี้ได้รับอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้เอง) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ตามที่เหล่าชาวพุทธทั้งหลายได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างนั้น
...มีคำถามอยู่ว่า แล้วบุคคลเช่นใดถึงพอจะเรียกได้ว่า "พระอรหันต์" เรื่องนี้มีหลายท่านได้ออกมาให้คำตอบ ทั้งพระสงฆ์,ภิกษุณี,อุบาสก,อุบาสิกา ทั้งหมดนั้นล้วนแต่ให้คำตอบกันไปต่างๆ นาๆ มีทั้งที่เป็นคำตอบที่เห็นพ้องต้องกัน และมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างมาก บางคนถึงกับดูหมิ่นผู้ที่จะพยายามหาคำตอบว่า "ดูสิช่างไม่เจียมตัว ริอ่านจะไปตอบแทนพระอรหันต์" เพราะพวกเขาเชื่อว่า "พระอรหันต์นั้นมีคุณธรรมสูงสุด" จะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่นั้น บุคคลนั้นต้องมีคุณธรรมเทียบเท่ากันเท่านั้น
...แม้จนถึงปัจจุบันคำตอบของคำถามว่า "พระอรหันต์คือใคร" ก็ยังคงไม่ได้รับการอธิบายได้อย่างชัดแจ้ง ที่เรามีคำตอบอยู่ตอนนี้ก็มีเพียงในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา และปกรณ์วิเสธ รวมไปถึงตำราทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในยุคหลังจำนวนมากมายเท่านั้น
...สรุปก็คือ เรามีเพียงแค่คัมภีร์หนังสือตำราที่เขียนขึ้นโดยผู้ที่อ้างว่า "รู้จักพระอรหันต์" เขียนเอาไว้เท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีใครเอาพระอรหันต์ออกมาแสดงให้เห็นสักที และถึงมีบ้างก็ถูกหาว่าเป็นพวก "อวดอุตริมนุษย์ธรรม" ไปเสีย ตกลงเราก็เลยไม่แน่ใจว่า "ใครเป็นพระอรหันต์" และถึงมีก็ไม่มีใครกล้าแสดงตน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า "พระอรหันต์คือใครกันแน่ เรื่องนี้ในสมัยพุทธกาลก็มีผู้ถามพระพุทธเจ้าเช่นกัน ในมหาปรินิพพานสูตร สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ในบรรดาครูทั้ง ๖ มีใครได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือใครไม่ได้ตรัสรู้บ้าง
...พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า "ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใดไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ(สมณะที่ ๑-๒-๓-๔ ที่ทรงแสดงนั้นก็ได้แก่ พระอริยสงฆ์ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์)
...พระพุทธองค์ทรงยกเอามรรคมีองค์ ๘ มาเป็นเกณฑ์อธิบายตอบข้อสงสัยของสุภัททปริพาชก แต่ก็ดูเหมือนว่า พระองค์จะตอบโดยย่อๆ เพื่อให้สุภัททะคลายความสงสัยเพื่อที่พระองค์จะได้แสดงธรรมอันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ให้แก่สุภัททปริพาชกเสียมากกว่า ที่จะมุ่งอธิบายให้กระจ่างเกี่ยวกับสภาวะธรรมของพระอรหันต์ แต่ก็พอจะอนุมานเอาได้ว่า "พระอรหันต์ดำเนินชีวิตตามหลักมรรคมีองค์ ๘ "
...อาตมาคิดว่านอกจากพระสูตรนี้ยังมีคำตอบที่พระพุทธเจ้าทรงตอบเรื่องของพระอรหันต์ที่ชัดเจนมากกว่า คือ คำตอบที่ทรงให้แก่พราหมณ์ ที่ทรงถามพระองค์ว่าทรงเป็นใคร เรื่องมีอยู่ว่า
...ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จพุทธดำเนินทางไกล พรามณ์ผู้หนึ่งได้เดินทางไกลไปทางเดียวกับพระองค์ มองเห็นรูปจักรที่รอยพระบาทแล้วมีความอัศจรรย์ใจ ครั้นพระองค์เสด็จลงไปประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งข้างทาง พราหมณ์เดินตามรอยพระบาทมา มองเห็นพุทธลักษณาการที่ประทับนั่งสงบลึกซึ้งน่าเลื่อมใสยิ่งนัก จึงเข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามว่า
"..ท่านผู้เจริญคงจักเป็นเทพเจ้า พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใช่ ทูลถามต่อไปว่า ท่านผู้เจริญคงจักเป็นคนธรรพ์ ยักษ์ หรือ เป็นมนุษย์ พระพุทธองค์ทรงปฎิเสธหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านผู้เจริญจะเป็นใครกันเล่า
..พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า " นี่แน่ะพราหมณ์ อาสวะเหล่าใดที่เมื่อยังละไม่ได้จะเป็นเหตุให้เราเป็นเทพเจ้า เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว หมดสิ้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกต่อไป เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก ซึ่งเกิดในนํ้า เจริญในนํ้า แต่ตั้งอยู่พ้นนํ้า ไม่ถูกนํ้าฉาบติด ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกันเกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก แต่เป็นอยู่เหนือโลก ไม่ติดกลั้วด้วยโลก ฉันนั้น นี่แน่ะพราหมณ์ จงถือว่าเราเป็น พุทธะ เถิด..."
...ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า "คำตอบที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เป็นการอธิบายผ่านสภาวะของพระองค์เอง เพราะพระองค์เป็นพระอรหันต์ และยังเป็นพระอรหันต์ที่เราเชื่อว่าสูงสุดยิ่งกว่าพระอรหันต์องค์ใดๆ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอีกด้วย
...ดังนั้นเราจึงได้ทราบถึงสภาวะของ "พระอรหันต์ในทรรศนะของพระพุทธองค์ว่า " บุคคลที่จะเป็นพระอรหันต์ได้นั้นคือ มิใช่มนุษย์ทั่วๆไป แต่เป็นมนุษย์ที่ละอาสวะสิ้นแล้ว ดังที่ทรงยกอุปมาอุปมัยว่า แม้จะทรงเกิดมามีลักษณะทางกายภาพเช่นเดียวกับมนุษย์แต่ ก็ดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ดังที่ทรงตรัสว่า แม้จะทรงเกิดในโลกขึ้นมาแล้วก็เจริญเติบโตในโลก แต่ในขณะที่พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ การดำเนินชีวิตของพระองค์ก็เป็นการกระทำที่อยู่เหนือการดำเนินชีวิตแบบโลกิยวิสัย เป็นมนุษย์ที่ไม่เป็นทุกข์เพราะโลกธรรม ไม่หลงไหลไปกับความสุขหรือความทุกข์แบบชาวโลก ซึ่งก็คือการอยู่เหนือโลก นั่นเอง
...คำตอบนี้อาตมาคิดว่าเป็นคำตอบของคำถามว่า พระอรหันต์คือใครและดำเนินชีวิตไปอย่างไร ได้ชัดเจนที่สุดแล้วครับ . ( ด๊อกเตอร์ถังขยะ )

บทความสั้น: ธรรมะซัมเมอร์แคมป์

 



บทความสั้น: ธรรมะซัมเมอร์แคมป์

โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ

...ปิดเทอมยาวช่วงซัมเมอร์พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนไม่อยากให้ลูก ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ จึงเลือกส่งลูกไปเข้าแคมป์ต่างๆ ที่ลูกชอบ แต่หลายคนเลือกส่งลูกเข้าวัดฝึกหัดตน ด้วยการให้บวชในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน หวังให้พระสงฆ์ช่วยฝึกหัดกาย วาจา และขัดเกลาจิตใจ รวมทั้งให้การศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาตามสมควรแก่วัย
...การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน หรือถ้าพูดให้เข้ากับสมัยนิยมก็เป็นแคมป์แคมป์หนึ่ง เรียกว่า "ธรรมะซัมเมอร์แคมป์" ถือเป็นกิจกรรมที่วัดและองค์กรทางศาสนาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ ศูนย์หรือสำนักปฏิบัติธรรม มูลนิธิที่เกี่ยวกับศาสนา ตลอดจนบริษัทเอกชนบางแห่งจัดขึ้น โดยมีชื่อเรียกโครงการ วัตถุประสงค์และรูปแบบกิจกรรมที่เหมือนและต่างกันบ้าง แต่จุดมุ่งหมายหลักเหมือนกัน คือ ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างในช่วงดังกล่าวมาฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ศึกษาไตรสิกขา และเรียนรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชีวิตต่อไป
...ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนนั้น ต่างจากการเข้าแคมป์ทั่วไป ตรงที่การสมัครเข้าแคมป์ส่วนใหญ่จะต้องมีค่าสมัคร ซึ่งมีตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับแต่ละแคมป์ แต่โครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนรับสมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผ้าไตรจีวร บาตร ของใช้ต่าง ๆ ทางโครงการก็จัดหาให้ พ่อแม่ไม่ต้องควักเงินซื้อ อาหาร น้ำปานะฟรีตลอดโครงการ ขอเพียงแค่เด็กสมัครใจและพ่อแม่เห็นด้วยเท่านั้น นี่คือความต่างระหว่างเข้าแคมป์กับบวชภาคฤดูร้อน
....ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ แคมป์ทั่วไปมักจะเป็นการสอนในเรื่องวิชาการ และวิชาชีพเป็นหลัก แต่โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จะสอนวิชาชีวิต การใช้ชีวิตแบบพระ เณร ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบฆราวาสที่เด็ก ๆ คุ้นเคย เช่น การออกบิณฑบาตร สวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ เป็นการฝึกความอดทน ความขยัน ความรับผิดชอบ เพราะเณรต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อลงมาทำวัตรทุกวัน ต้องออกบิณฑบาตรหาอาหารเอง ฝึกกิริยา มารยาท (เสขิยวัตร)ฯลฯ
...สิ่งสำคัญคือวัดหรือองค์กรที่จัดบวชภาคฤดูร้อนต้องมีทุนดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญต้องขึ้นกับผู้นำองค์กร เช่น วัดก็ขึ้นกับเจ้าอาวาส สำนักหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมก็ขึ้นกับเจ้าสำนักหรือเจ้าของศูนย์ฯ บริษัทเอกชนก็ขึ้นกับผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท ถ้าเกิด "หัวไม่นำหางหรือจะกล้ากระดิก" และด้วยสองปัจจัยที่กล่าวมาจึงทำให้วัดบางวัด ซึ่งเดิมเคยจัดโครงการบวชภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี หรือจัดต่อเนื่องมาหลายปี บางปีจึงงดเว้นไม่จัด บางทีก็เลิกจัดถาวรไปเลยก็มี...
..ส่วนผู้ที่เป็นผู้บริหารโครงการ หรือ หัวหน้าโครงการ แม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงใด หากขาดการสนับสนุนจากบุคคลปัจจัยหลักทั้งสองข้างต้น ก็ไม่อาจนำพาโครงการให้สำเร็จลงได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย หัวหน้าฯ ต้องจัดการบริหารด้านภัตตาหาร การฝึกอบรม การทัศนศึกษา และการดูแลด้านสุขภาพให้แก่เณรผู้เข้ามาบวชภาคฤดูร้อนตลอดระยะเวลาของโครงการ หากขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโครงการมักจะไปไม่รอด และปิดตัวลงในที่สุด
...ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การที่วัด เจ้าอาวาส หรือผู้บริหารบริษัท จัดหางบประมาณตั้งต้นให้จนเพียงพอเสียก่อน ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ต้องจัดหาให้เพียงพอที่จะนำมาบริหารโครงการจนจบได้ โดยไม่ต้องรอคอยปัจจัยในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน
...หัวหน้าโครงการจะต้องวางแผนประชาสัมพันธ์โครงการออกไปยังสาธารณะชนอย่างทั่วถึง เพราะแรงหนุนด้านปัจจัย ๔ จากชาวบ้านไม่อาจตัดออกไป การประชาสัมพันธ์ที่จะให้เกิดประสิทธิภาพ จึงต้องมีการลงทุน แต่ต่างกันตรงที่ การลงทุนนี้ไม่ได้แสวงหากำไร เพียงมีลักษณะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาอุปภัมภ์โครงการได้รับความสะดวกเท่านั้น
...โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนอาจแตกต่างจากงานโดยทั่วไปที่จัดขึ้นโดยวัดที่เราเห็นเป็นประจำ เช่น งานประเพณีทางศาสนา ที่มีลักษณะที่มุ่งระดมทุนเพื่อกิจกรรมทางศาสนา เช่น สร้างโบถส์ วิหาร ฯลฯ ตรงกันข้ามกลับเป็นงานที่ต้องนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ของวัดนั้น ๆ กลับคืนให้แก่ชาวบ้านเป็นการตอบแทน เป็นการที่วัด ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องตรงตามหลักการของการสร้างวัดที่แท้จริงเท่านั้นเอง
...หากเราคิดว่า "ชีวิตคือสิ่งที่มีค่าที่สุด(รวมถึงชีวิตของเราเอง) โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งอันเป็นความภาคภูมิใจของพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าควรแก่การสนับสนุน เพราะเป็นการให้ธรรมเป็นทานแก่ชีวิตของลูกหลาน เรียกว่า ให้อาหารใจ อาหารกายนั้นให้มากแล้ว จนเด็กอ้วน แต่ใจผอม เพราะขาดอาหารใจ คือ ศีลและธรรม
...สามเณรภาคฤดูร้อนเปรียบเสมือนเหล่ากอของสมณะ คือ ผู้ที่เป็นพยานแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบใดที่ยังมีสามเณร ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่า ยังคงมีลมหายใจอยู่ แต่หากขาดเสียซึ่งพระสงฆ์สามเณรเสียแล้ว ศาสนาย่อมตายลงในที่สุด ต่อให้มีทองคำ เพชรนิลจินดา ห่อหุ้มพระธาตุ เจดีย์ มากมายเพียงใดก็ไร้ความหมาย
....ดังคำของพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคิริมานนทสูตร ว่า " ผู้ที่ทำลายสถูป เจดีย์ โบถส์ วิหาร ยังไม่ได้ชื่อว่าทำลายพระพุทธศาสนา แต่หากทำลายพระ เณร ทำให้พระ เณร เสื่อมไปจากพระศาสนา นั่นชื่อว่าทำลายพระศาสนาอย่างแท้จริง.
อ้างอิงบางส่วนจาก โพสต์ทูเดย์ https://www.posttoday.com/life/healthy/546668

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ความแตกต่างระหว่างการใช้เหตุผลทางพระพุทธศาสนา กับการใช้เหตุผลทางพุทธปรัชญา


“ รู้อะไรรู้ให้จริงเพียงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล

อาจจะชักเชิดชูฟูสกล     ถึงคนจนพงไพร่คงได้ดี”

          เมื่อเราตั้งปรัชญาของมหาจุฬาฯ ว่า จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ “ เวลาท่านบูรณาการท่านบูรณาการแบบวิชาการหรือลากเข้าวัด พระพุทธศาสนาที่ท่านบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ กับปรัชญาเป็นเชิงเผยแผ่คือให้คนเชื่อโดยไม่เสนอเหตุผล หรือนำเสนอเหตุผลบนหลักฐานแห่งงานวิจัยหรืออะไรต่าง ๆ ตอบได้ไหมว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา อะไรคือความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

          มีพระรูปหนึ่งไปเรียนมหาวิทยาลัยในยุโรป คงเรียนปรัชญา ถึงเวลาทำวิทยานิพนธ์ก็ไปเสนออาจารย์ฝรั่ง่วาจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ อาจารย์ก็ถามว่า แล้วจะทำเรื่องอะไรตอบว่าจะทำเรื่องตายแล้วไปไหน เกิดหรือไม่เกิด ชีวิตหลังความตาย ตายแล้วไปไหน อาจารย์ถามว่า แล้วตัวท่านเชื่อว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ พระตอบว่า อาตมาเชื่อว่าตายแล้วเกิดทำไมเชื่ออย่างนั้นฝรั่งถามอีก ถ้าเป็นพระ ไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง กลายเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งเพราะฉะนั้นพระทุกรูปต้องตอบว่าตายแล้วเกิด ฝรั่งบอกว่าถ้าอย่างนั้นทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ไปทำไมในเมื่อท่านมีคำตอบอยู่แล้ว มันมี Pre supposition อยู่แล้วไม่ต้องทำ ทำเรื่องอื่น เขาไม่ให้ท่านทำ

          “งานวิจัย คือ เข้าไปสู่ดินแดนที่เรายังไม่รู้ มีความสงสัยใคร่รู้”

          แต่การที่อาจารย์พูดอย่างนี้ เขาพูดในภาควิชาปรัชญา ถ้าภาควิชาพระพุทธศาสนาทำได้ เพราะอะไร เพราะอาตมาเป็นพระ อาตมาก็ต้องเขียนว่าตายแล้วเกิด ไปเกิดที่ไหนอย่างไร แล้วก็เขียนไป เขาจะให้ท่านเขียน  ศาสนาอย่างไรก็ต้องเชื่อเรื่องศรัทธา มี Faith มีศรัทธา มี Believe ในศาสนาคริสต์เรียกว่า มี Live of Faith มีปาฏิหาริย์ มี element นี้ แต่ปรัชญาเป็นเรื่องของเหตุผลแล้วแต่ว่า เหตุผลจะนำไปหาความจริงขั้นไหน จะมีลิมิตหรือไม่มีลิมิตต้องเป็นเรื่องของเหตุผล แต่คำว่าเหตุผลในภาษาไทยเราใช้กันสองความหมาย เวลาที่เราพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล หมายถึงอะไร เราพูดกันไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ เป็น Key word ของปรัชญาด้วย คำว่า เหตุผล ม่าจากคำสองคำ ในภาษาอังกฤษที่สำคัญมา คำหน่งมาจากคำว่า Reason แปลว่า เหตุผล อีกคำคือคำว่า Cause และ Effect แปลว่า เหตุผลอีก Cause คือ เหตุ Effect คือ ผล ปฏิจฺจสมุปบาทเป็นเรื่องของการศึกษา Cause และ Effect “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด” เป็นเรื่องของเหตุผล แต่ปฏิจฺจสมุปบาทเป็นเรื่องของเหตุผลกับ Reason เป็นคนละเรื่อง เพราฉะนั้น พระเวลาเรียนเรื่องเหตุผล ก็จะไปนึกถึง มีเหตุทำให้เกิดผล เป็นเรื่องของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ปรัชญาเป็นเรื่องของเหตุผล ในคนละความหมายกับ Reason คนละเรื่อง ที่เราเรียกภาษาฝรั่งว่า Rationality ความเป็นเหตุ ความมีเหตุผล

          เหตุผลในทาง Cause และ Effect หมายถึงการกระทำหรือพลังอันหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง เช่น รถมาชนคนตาย อันนี้เป็นเหตุเป็นผล ผลงคือคนตาย เหตุคือมีการกระทำ เพราฉะนั้นเรื่องกรรมเรื่องปฏิจฺจสมุปบาท ที่เราคุ้น เป็นเหตุผลในแง่ของ sequence คือ ลำดับเหตุการณ์ แต่เหตุผลในปรัชญา ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างวันนี้ที่เรามาพูดเรื่องเหตุผล เป็นปรัชญาไม่ใช่เรื่องนั้นเลย แต่ภาษาหลอกเรา ทั้ง ๆ ที่เราพูดเรื่องเหตุผล แต่คนละเรื่อง คำว่า Rationality กับ Reason หมายถึง เวลาพูดอะไรก็ตามซึ่งเป็นประโยคประพจน์ คำพูด ท่านต้องมีหลักฐานสนับสนุน หลักฐานสนับสนุน ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดอันนั้น เช่น เราคุ้นกันดี เมื่อคืนฝนตก เราตื่นเช้าขึ้นมา เดินงัวเงียขึ้นมาเปิดประตูบ้านไป ไปเห็นทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นไม่มีฝนตกตอนเช้า บอกว่า เมื่อคืนฝนตก อ้างอิง เพราะถนนเปียก ถนนเปียก เป็น Evident เป็นหลักฐาน ที่ทำให้ท่านสามารถกล่าวสรุป (หรือเช่น) มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ต้องตาย โสกราตีสเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นโสกราตีสเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เหตุผลที่ว่านี้เป็นเรื่อง Logic, Validity ความสมเหตุสมผล คนละอย่างกับ Cause และ Effect เพราะฉะนั้น เมื่อเราพูดกันในปรัชญา เราพูดหา Validity คือ เราบอกว่าวันหนึ่ง นาย ก. ต้องตาย สมมุติว่า นี้คือประโยคประพจน์ของเรา นาย ก. ต้องตาย ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ตอนนี้ยังไม่ตาย แล้วทำไมพูด เพราะว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่ต้องตาย แล้วนาย ก. เป็นมนุษย์ไหม “เป็น” เพราะฉะนั้น นาย ก. เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นสัตว์ที่ต้องตาย การพูดในลักษระที่มีที่อ้างที่มาที่ไปอย่างนี้เราเรียกว่าความเป็นเหตุเป็นผล ฉะนั้นเวลาพระเทศน์ มีวิธีพูดสองแบบ พูดแบบปรัชญา กับพูดแบบศาสนา โดยเหตุผลด้วยกันทั้งคู่[๑]



            [๑] พระพรหมบัณฑิต, สัมโทนียกถาต้องรับ ศ.ดร.สมภาร พรมทา, ในหนังสือ พุทธทรรศน์ , (พระนครศรีอยุธยา: ศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา มจร. ๒๕๕๙). หน้า ๑๙-๒๑.


 





วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...