วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ภาษาศิลปะในฮูปแต้มสิมอีสาน Language art in Mural Northeast Buddhist Holy Temple


ภาษาศิลปะในฮูปแต้มสิมอีสาน[๑]

 Language art in Mural Northeast Buddhist Holy Temple



พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล

Phraadirek arthitchapalo

นิสิตปริญญาเอก สาขา ปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย





บทคัดย่อ

บทความนี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ ๑) เพื่อเสนอแนวคิดเรื่องภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสาน และ ๒) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาศิลปะกับฮูปแต้มสิมอีสาน ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นปรัชญาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งหลักคำสอนที่เป็นพุทธจริยศาสตร์ และหลักคำสอนที่มีลักษณะเป็นอภิปรัชญาสองสิ่งนี้ก่อให้เกิดความงามได้อย่างไร  ซึ่งในทรรศนะของนักปรัชญาก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม ผู้เขียนจึงได้เสนอว่า ความงามที่ปรากฎอยู่ในฮูปแต้มสิมอีสานได้แสดงออกผ่านภาษาศิลปะ เพราะมนุษย์มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ผ่านภาษา ดังนั้นจึงควรพิจารณาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ผ่านภาษาศิลปะจึงจะสามารถเข้าถึงความงามของศิลปะที่แท้จริงได้



คำสำคัญ: ภาษาศิลปะ, ฮูปแต้มสิมอีสาน





Abstract



Article, the author aims to 2 reasons: 1) To the concept of language arts in the mural Buddhist northeast holy temple and 2) to analyze the relationship between art and language mural Buddhist northeast holy temple. In order to demonstrate philosophical beliefs related to the principles of the Buddhist doctrine of Buddhism. And is a metaphysical doctrine that these two things have caused great beauty. In view of the philosopher, it also has different opinions on what value the aesthetic criteria that any piece of art or aesthetic beauty. The authors therefore suggested that Beauty depicted in the mural Buddhist northeast holy temple was expressed through the language of art. Because human beings have certain limitations as humans cannot reach the truth directly. Human access reality through language. So consider the aesthetic values through the language of art in order to access the beauty of true art has



Keywords: Language arts, mural Buddhist northeast holy temple





๑. บทนำ

          ความงามทางศิลปะ คือเรื่องของคุณค่าทางความงามทางสุนทรียะและ การค้นหานิยามของความงามทางศิลปะ ว่าศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม เมื่อกล่าวถึงแนวความคิดในทางปรัชญาภาษา ให้ความหมายของคำว่า ภาษาศิลปะ หมายถึงเรื่องของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคำพูด ตัวอักษร หรือภาษากาย โดยสมมติฐานว่าถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ มันสามารถสื่อสารกับผู้ชมด้วยได้อย่างไร ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไรที่เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้  ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าความงามแสดงออกผ่านภาษาศิลปะ ผลงานศิลปะใดที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นความงามผ่านภาษาศิลปะออกมาได้ดี ผลงานนั้นก็จะได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานศิลปะ

          ภาษาศิลปะจะสื่อให้เห็นความงามได้โดยที่ไม่สัมพันธ์กับสุนทรียธาตุได้หรือไม่ ในทฤษฎีศิลปะกล่าวไว้ว่า งานศิลปะจะไม่สามารถบรรลุถึงคุณค่าในตัวของมันได้หากไม่ประกอบขึ้นมาจากสุนทรียธาตุ เช่น ความแปลกตา อารมณ์สะเทือนใจ ความประทับใจ เป็นต้น แต่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงสุนทรียธาตุได้ทางใด หรือว่ามันแสดงออกได้ในหลายๆ ทาง เช่น ทางตัวอักษร เสียง ภาพ หรือ ภาพเคลื่อนไหว ต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ามันหมายถึงการแสดงตัวของภาษาศิลปะนั่นเอง ซึ่งประเด็นต่อไปจะพิจารณาว่า ภาษาศิลปะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับฮูปแต้มอีสาน



๒. ศิลปะในสิมอีสาน

งานศิลปะชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า สิม หรือ สิมอีสาน  Sim I San (Northeast Buddhist Holy Temple) คำนี้เป็นคำพื้นถิ่นอีสานเป็นชื่อเรียกอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม  ในพระวินัยเรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสภัคคะ บ้าง โดยทั่วไปเรียกเป็นภาษาปากว่า “โบสถ์” เรียกคำเต็มว่า “อุโบสถ” หรือ “โรงอุโบสถ” ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า “พระอุโบสถ” ขนาดและรูปแบบของอุโบสถไม่ได้มีกำหนดไว้ในพระวินัย  เพราะพระวินัยกำหนดสีมาให้เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสำหรับทำสังฆกรรม   อุโบสถเป็นเพียงอาคารที่สร้างคร่อมพื้นที่  สีมาเพื่อกันแดดกันฝน  มีสภาพเป็นอาคารถาวร  มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน  อุโบสถที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมี “สังฆกรรมเรียกว่า ผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมา” ก่อน สิมหรือโบสถ์  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” ท่านผู้รู้อธิบายถึงคำว่า “สิม” นั้น กลายเสียงมาจากคำว่า “สีมา” นั่นเอง (ชวลิต อธิปัตยกุล 2556: 16-17)

นอกจากความหมายของ “สิม”ดังกล่าวแล้ว สิมยังประกอบได้ด้วยงานศิลปะหลายแขนงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) และประติมากรรมประดับตกแต่งสิม โดยเฉพาะฮูปแต้มนั้นมีความงดงามโดดเด่นยิ่งกว่าผลงานศิลปะแขนงอื่นๆ ช่างแต้มมักนิยมเขียนฮูปแต้มเหล่านี้ไว้ทั้งภายนอกและภายในสิม เรื่องราวที่ช่างแต้มนิยมเขียนอาทิเช่น พุทธประวัติ ชาดก วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน วิถีชีวิตผู้คนในอดีต และภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น

จากการตั้งข้อสังเกตว่า “ฮูปแต้มนั้นเป็นเพียงผลงานของชาวบ้านไม่ใช่ผลงานทางศิลปะ” ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็น่ารับฟังได้เพราะเมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับผลงานศิลปะอันประณีตอื่นๆ แล้ว ฮูปแต้ม ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของช่างพื้นบ้านที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากสกุลช่างใดๆเลย เป็นแต่เพียงชาวบ้านที่พอมีฝีมือในการวาดเขียนอยู่บ้าง หรือเคยได้ทำงานในวัดหัดวาดเขียนกับหลวงปู่หลวงตาแล้ว วันหนึ่งก็ได้รับเลือกให้มาช่วยวาดอะไรลงไปในสิม ที่ชาวบ้านนั้นแหละช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ช่างมืออาชีพในปัจจุบัน ฮูปแต้มจึงแสดงออกมาอย่างซื่อๆ ไร้มารยา เป็นผลงานที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่ควรจะด่วนตัดสินคุณค่าของฮูปแต้มในขณะนี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ละเอียด



๓.  ความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน



          เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน ฮูปแต้มเป็นภาษาอีสาน เป็นคำที่ใช้เรียกงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้ในการตกแต่ง สิม หรือ โบสถ์แบบอีสาน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอีสานคติในการสร้างฮูปแต้มเพื่อความงามนั้นมีมานาน ดังเนื้อความในลำพระเวส(เวสสันดรสำนวนอีสาน) กัณฑ์มัทรี ซึ่งปริวรรตจากอักษรธรรมโดยอาจารย์เคน ลาวงศ์เนื้อความกล่าวถึง การรำพันรักที่พระเวสสันดรมีต่อพระนางมัทรีว่า หากนางมัทรีตายจะสร้างโลงบรรจุศพและจะตกแต่งโลงด้วยลวดลายและรูปเขียนต่างๆ(สุมาลี  เอกชนนิยม 2548: 9)

          “บ่สมควรตายพี่นอ ผิว่านางมัททีเมือตาย เมืองแก้วกู่ประเชชัยเวียงกว้าง พี่จักสร้างใส่ไม้โลงลายลวง ภายบนพี่จักใส่ปาสาทแป้นปูลาดพี่จักใส่ลายลวง ดวงปีพี่จักใส่ช่อฟ้า ก้ำหน้าพี่จักแต้มลายวัลย์ ทันกลางพี่จักแต้มฮูปกินรีนะรอนนอนเทียมคู่เกาะเกี้ยวอยู่เวหา ลวงหน้าพี่จักแต้มฮูปนาคาลวงเล่น พี่จักแต้มฮูปท้าวแอ่นนำสาว ทางยาวพี่จักแต้มฮูปลายเครอวงวาด ตีนผาสาดที่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพี่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพ่จักใส่ดอกผักแว่น แป้นอัดหน้าพี่จักใส่ลายจีน ตีนธรณีพี่จักแต้มฮูปเทวดามาถือธุงชัยเดียรดาษ ถัดนั้นพี่จักแต้มฮูปจักรวรรดิราชมา แกว่งจามรดั่งลือ”(สุภน  สมจิตศรีปัญญา 2539 : 84-85)

          เนื้อความดังกล่าวนี้มีรสทางวรรณคดีสูง แสดงให้เห็นว่าคนอีสานเป็นคนที่มีรสนิยมใช้ฮูปแต้มตกแต่งวัสดุและอาคารต่างๆ คตินิยมนี้ยังคงตกทอดมาให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การวาดภาพบนผืนผ้าผะเหวด และวาดฮูปแต้มบนผนังสิมนอกจากนี้ ผู้ชายอีสานในสมัยก่อนยังนิยมสักลายตามร่างกายเพื่อความงามและความเชื่อของตนอีกด้วย(สุมาลี  เอกชนนิยม 2548 : 9)

          ฮูปแต้มบนผนังสิมมาจากภูมิปัญญาและฝีมือของช่างแต้มที่สั่งสมเรียนรู้กันมา ทั้งในด้านการออกแบบ กลวิธี และการใช้วัสดุอุปกรณ์ ฮูปแต้มสะท้อนความคิดเห็นของช่างแต้มอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในผลงานของช่างคือ ความสามารถ ภูมิรู้ และทรรศนะเกี่ยวกับความงามของช่างและชาวบ้านและเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของชุมชนไว้

         











๔. ภาษาศิลปะคือความงามที่ปรากฎในฮูปแต้มสิมอีสาน

          ภาษาศิลปะผ่านฮูปแต้มที่สำคัญได้แก่ ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาษาศิลปะที่ปรากฏอยู่ในฮูปแต้มดังกล่าว

ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ถือว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาสิมอีสานที่มีอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร ชาวอีสานเรียกว่า ผะเหวด เป็นการเรียกชื่อ พระเวสสันดร ตามสำเนียงอีสาน พระเวสสันดรนั้นถือว่าเป็นมหาชาติหรือชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอดีตชาติของพระพุทธองค์ จึงพบได้ทุกภาค ทุกภาษาถิ่นของไทยนับพันสำนวนและในศิลปะนานารูปแบบ อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย ได้กล่าวถึงฮูปแต้มสิมอีสานไว้ว่า

 “ที่ทำให้ฉันแปลกใจตอนตามดูฮูปแต้มในสิมต่างๆ ก็คือ ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังของภาคอื่นเท่าที่เคยดูมานั้น นิยมเขียนทศชาติชาดกครบหรือเกือบครบทั้ง ๑๐ ชาติโดยอาจจะให้เนื้อที่กับพระเวสสันดรเท่ากับหรือมากกว่าชาติอื่นๆ แต่ฉันพบว่าฮูปแต้มในสิมอีสานแทบไม่เขียนถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์องค์อื่นเลย มีน้อยวัดมากจริงๆ ที่จะพูดถึงชาติอื่นๆ ด้วย และถ้ามี ก็มักจะให้เนื้อที่นิดเดียวและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่”(อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย 2548 : 151)

          มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑๐/๕๔๗/๒๘๗.) ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ยังคงสีสันที่ยังสดใสอยู่และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แม้บางรูปจะลบเลือนไปแต่ก็นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สามารถเห็นถึงความงามและคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้

          ยกตัวอย่างฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ ชูชก วัดสนวนวารีพัฒนาราม เป็นภาพชูชกดื่มกินจนท้องแตกตาย สื่อให้เห็นชัดด้วยการวาดภาพตัวชูชก ให้ใหญ่จนคับศาลา   ฮูปแต้มกัณฑ์ชูชกนับว่าเป็นความงามที่แสดงออกซึ่งภาษาทางศิลปะอย่างชัดเจน

          เรื่องราวมีอยู่ว่า ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปนะ ฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเพื่อแสวงหาทรัพย์อีก เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้น จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชกไป ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์อย่างดี ครั้งนั้นพวกพราหมณ์หนุ่มๆ เหล่าอื่นเห็นอาจารสมบัติของนางจึงคุกคามภรรยาของตน ๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราอย่างดี  พวกเจ้าทำไมละเลยต่อเราทั้งหลายภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้วจึงไปประชุมกันด่านางอมิตตาปนาที่ท่าน้ำ(ขุ.ชา.อ.(ไทย) ๑๐/๖๓๖.) “นางจึงขอให้ชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นคนรับใช้”

          ตามเนื้อความที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า ภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นอำนาจของความรักที่ชูชกมีต่อนางอมิตตตาปนาอย่างสุดซึ้ง ความงามนั้นได้แสดงผ่านตัวเอกในเรื่องนี้คือชูชก ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวท่าทางตลก แสดงให้เห็นถึงการสร้างความเพลิดเพลินให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แล้วประเมินคุณค่าของมัน เช่น เราประเมินคุณค่าของฮูปแต้มพระเวสสันดรกัณฑ์ชูชกว่างาม เพราะเราถ่ายทอดความเพลิดเพลินที่ได้รับจากลักษณะของชูชกลงไปในฮูปแต้มพระเวสสันดร กัณฑ์ชูชกนั้นเอง หากไม่แสดงผ่านฮูปแต้มของชูชกเราก็จะไม่สามารถเข้าใจถึงลักษณะของความงามที่ปรากฏในตัวของชูชกได้เลย



๕.  บทสรุป



             เมื่อพูดถึงความงามในเชิงสุนทรียะ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องของความงามที่เกิดจากวัตถุทางศิลปกรรมอันเป็นผลงานของมนุษย์เท่านั้น  ยังรวมถึงสิ่งต่างๆ  ในธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ผลงานสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ก็มีความงามได้เช่นกัน  เช่น ทิวทัศน์ชายทะเลแห่งหนึ่งเรารู้สึกว่ามีความสวยงาม หรือท้องฟ้ายามรุ่งอรุณในที่บางแห่งและในภาวะของอากาศบางวันอาจจะงามและน่าทึ่งอย่างมากก็ได้ “คำว่า สุนทรียะนี้ ศิลปินได้กล่าวไว้ว่าทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมมีสุนทรียะในตัว ถ้าหากว่าเราผู้ดู เป็นผู้เข้าใจมอง ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่เป็นสุนทรียะ”(เสถียร โพธินันทะ 2543 : 1) จะเห็นได้ว่าสุนทรียะนั้นมีลักษณะที่สื่อออกมาผ่านสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า ภาษาศิลปะ ดังตัวอย่างในธรรมบทกล่าวว่า พระศรีลังกาทำสมาธิแล้วไม่ได้ผลแต่พอได้ยินเสียงเพลงขับของเด็กเลี้ยงวัว จิตกับหลุดพ้นสว่างโพลงได้อย่างน่าประหลาด ท่านเล่าเพื่อแสดงว่า “นี่คือตัวอย่างอานุภาพของศิลปะ” (สมภาร  พรมทา 2557 : 8)

       ฮูปแต้มที่ปรากฏในสิมอีสานจึงเป็นการนำเสนอผลงานทางศาสนศิลป์หรือศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับในศาสนา เป็นศิลปะที่มีผลโดยตรงที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมวลมนุษย์มาช้านาน และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็น ภูมิปัญญา ความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นสื่อถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในฮูปแต้มสิมอีสานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาถึงทัศนะทางปรัชญาของนักปรัชญาอีกท่านหนึ่ง คือ  เฮเกล (Hegel) มีแนวคิดว่า  ความงาม คือ ความจริงที่ฉายจากสิ่งสมบูรณ์ผ่านโลกทางประสาทสัมผัสตามที่จิตของมนุษย์ สามารถเข้าใจได้ ความงามจึงเป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและความงามที่มีสุนทรียภาพคือความงามในศิลปะ ซึ่งศิลปะที่แฝงความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อไว้ด้วยนั้นจัดเป็นศิลปะเชิง สัญลักษณ์ (Symbolic art)

แต่มนุษย์มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ผ่านภาษา ดังนั้นจึงควรพิจารณาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ผ่านภาษาศิลปะจึงจะสามารถเข้าถึงความงามของศิลปะที่แท้จริงได้ สัญลักษณ์ที่ปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสานจัดเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ  ซึ่งในขั้นลึกอาจยังนำไปสู่การเข้าถึงธรรมอันแฝงอยู่ในลักษณะสัญลักษณ์ที่ ปรากฏอยู่ด้วย ภาษากับศิลปะจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและมีความสำคัญดังกล่าวมา แต่อย่างไรก็ตามการสร้างฮูปแต้มสิมอีสานก็ไม่เพียงแต่ให้เกิดสุนทรียภาพในทางศิลปะเท่านั้น คือ มิใช่สร้างศิลปะเพื่อศิลปะ แต่ผลงานจะต้องสื่อให้เห็นหลักปรัชญา ความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงแนวทางที่จะนำหลักธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตแฝงอยู่ในผลงานนั้นๆ ด้วย ซึ่งก็หมายถึง การใช้ภาษาศิลปะให้เกิดดุลยภาพระหว่างสุนทรียศาสตร์กับการรับรู้ของมนุษย์ และการที่ศิลปินจะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้ผสานกลมกลืนกันได้นั้น ศิลปินต้องแสดงออกให้เห็นถึงสัจธรรมที่พระพุทธศาสนาต้องการจะสื่อสารกับผู้คนได้ผ่านภาษาทางศิลปะ และภาษาศิลปะนั้นจะต้องไม่แยกต่างหากจากความดีงาม ความเชื่อ ความศรัทธา ดังที่อริสโตเติลเรียกร้องให้งานศิลปะต้องมีอิทธิพลทางศีลธรรมต่อประชาชน ความงามและความดีงามจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน (ลีโอ ตอลสตอย 2538 : 187-188) 

         


บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย

ก .ข้อมูลปฐมภูมิ

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ

     ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.

ข. ข้อมูลทุติยภูมิ

(๑) หนังสือ:

ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖.

ลีโอ ตอลสตอย, ศิลปะคืออะไร, สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.

    พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง ๒๕๓๘.

    กรุงเทพมหานคร:๒๕๔๘.

เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓.

สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลา

               วงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การ

                สงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.

สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,

              ๒๕๔๘).

ศิลป์  พีระศรี, ศิลปะวิชาการ๓ ศิลปะสงเคราะห์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

    อนุสรณ์. ปทุมธานี: ๒๕๕๓.

สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.

อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓,

              























[๑] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งการศึกษารายวิชา ปรัชญาภาษา ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...