วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มุมมองสรรพสิ่งในพุทธศาสนานิกายเซน



พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล 

บทคัดย่อ
บทความนี้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายเซน ที่ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์จะนำเสนอ ๕ ประเด็น คือ  ๑) เซนคืออะไร ๒) การทำลายแบบแผนเชิงตรรกะด้วยโกอาน ๓)การทำซาเซ็น ๔)แนวคิดเรื่องความว่าง และ ๕)มุมมองของสรรพสิ่งและการพ้นทุกข์ในพุทธศาสนานิกายเซน จากคำถามที่ว่า“เซนคืออะไร” ผู้เขียนได้ค้นพบว่า เซนไม่ใช่การศึกษาพระสูตรหรือตำรา แต่เป็นการเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านทาง “ชีวิตประจำวัน” เพราะการที่จะเข้าใจเซน จะผ่านคำพูดไม่ได้ต้องไปปฏิบัติ  เพราะมนุษย์ชอบจะมีความคิดการแบ่งแยกสรรพสิ่งออกเป็นสอง แบ่งตัวเองออกจากสิ่งอื่นๆ นี่คือสิ่งที่ปิดกั้นความจริง” สิ่งที่เซนเสนอ คือการเพิกถอนสมมุติบัญญัติ ระบบคุณค่า ตลอดจนกรอบความคิดอันเป็นมายาทั้งหมดเพื่อกลับไปสู่ความจริงแท้อันไร้คำพูด ความจริงแท้ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนที่ความคิดหรือคำอธิบายใดจะก่อตัวขึ้น ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเขา ไม่มีกำแพง ไม่มีสัจจะที่ต้องไปถึงเพราะสรรพสิ่งเป็นพุทธะอยู่แล้ว.
คำสำคัญ:  เซน, ซาเซน, ซันเซน,
Abstracts
This article is about Zen Buddhism. The author's purpose is to present 5 issues: 1) What is Zen? 2) The logical schema destruction with Sanzen 3) making a sign 4) the concept of emptiness and 5) the viewpoints of all things and the freeing of suffering in Zen Buddhism. From the question "What is Zen?" Zen is not a study of sutras or texts. But it is the access to the teachings of the Buddha through "Daily life" because of to understand Zen To pass the words do not have to go to practice. Because men like to have the idea of divide things into two. Divide yourself from other things. This is what blocks the truth. " It is to revoke the hypothetical assumptions, the system of values, and the whole paradigm of thought to return to verbal truth. The true truth that exists before any thought or description is formed, no body, no body, no wall, no truth to go, because all things are enlightened.
Keywords: Zen, Zazen, Sanzen,

๑. บทนำ
ต้นกำเนิดของเซ็นว่ากันว่า เริ่มจากที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิฏชกูฏ   วันหนึ่งท่านแสดงธรรมโดยยกดอกบัวขึ้นดอกหนึ่งแล้วนิ่งเฉยไม่พูดอะไรต่อ ตอนนั้นก็ไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมายในการแสดงธรรมในครั้งนั้น มีแต่พระมหากัสสปะที่ยิ้มออกมาน้อยๆ ด้วยความเข้าใจความหมายในธรรมเทศนาอันปราศจากถ้อยคำนั้น    สันนิษฐานกันว่าเหตุการณ์นั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นบทแรกในการแสดงธรรมแบบเซ็น เพราะว่า ในการสอนธรรมะแบบเซ็นคือการแสดงความจริงด้วยการให้เห็นความจริง โดยที่ไม่ต้องผ่านคำพูด “ก่อนเริ่มเรียนเซ็น  เราจะมองภูเขา เป็นภูเขา  มองแม่น้ำเป็นแม่น้ำ  พอเริ่มเรียนเซ็นแล้ว ภูเขาก็จะไม่เป็นภูเขา แม่น้ำก็ไม่เป็นแม่น้ำ  แต่พอบรรลุเซ็นแล้ว     ภูเขาก็จะกลับมาเป็นภูเขา แม่น้ำถึงจะกลับมาเป็นแม่น้ำ อีกครั้งหนึ่ง”  เพราะว่า เซ็นเชื่อกันว่าคำพูดก็คือมายา ทันทีที่จะอธิบายความจริงด้วยคำพูด แสดงว่าผิดไปจากความจริงแล้ว”  
ความเป็นมาของนิกายได้เท้าความไปถึงครั้งพุทธกาล คือ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ ทรงชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางธรรมสภา โดยมิได้ตรัสอะไรเลย ที่ประชุมไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมาย เว้นแต่พระมหากัสสปนั่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระศาสดาจึงตรัสว่า กัสสป ตถาคตมีธรรมจักษุได้ และนิพพานจิต ตถาคตมอบหมายให้แก่เธอ ณ บัดนี้ และได้มอบบาตรและจีวรให้พระมหากัสสป เซ็นจึงเคารพพระกัสสปว่า ผู้ให้กำเนิดนิกาย
พระอานนท์ เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 2 ของนิกายเซน สำหรับพระอานนท์นี้ มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ผู้มีความจำเป็นเลิศ และเป็นผู้ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าผู้ใด ยังเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่มีภาระกิจจะต้องเข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฏก จึงได้เร่งบำเบ็ญเพียรปฏิบัติธรรมอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งอ่อนล้า และล้มตัวลงนอน จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนนั้นเอง หลังจากที่ การสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นลงแล้ว พระมหากัสสปจึงได้มอบบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าให้แก่พระอานนท์
ต่อมาเซ็นได้มีการสืบต่อไปอีก 28 องค์ โดยแต่ละช่วงที่รับสืบทอด ก็จะได้รับบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของสังฆปรินายก สืบต่อกันมาจนถึงพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) "พระโพธิธรรม" เดิมเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราช ประเทศอินเดีย หลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ก็เดินทางจากอินเดียเข้าสู่ประเทศจีน และได้สถาปนาเซ็นขึ้น ในประเทศจีน ช่วงเวลานั้น แม้ในประเทศจีนจะมีพระพุทธศาสนาสถาปนาขึ้นแล้ว แต่พุทธบริษัททั้งหลายปฏิบัติธรรมกันแต่เพียงผิวเผิน การสวดมนต์ภาวนา ศึกษาธรรม ก็มิได้ทำอย่างจริงจังกระทั่งเล่าเรียนพระไตรปิฎก ก็หวังเพียงประดับความรู้ หรือไม่ก็ใช้เป็นข้อถกเถียงเพื่ออวดภูมิปัญญา
ท่านเว่ยหลาง หรือในภาษีจีนกลาง "ฮุ่ยหนิง" เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 พื้นเพเป็นชาวมณฑลกว่างตงบิดาเป็นชาวเมือง ฟั่นหยาง ถูกถอดออกจากราชการและได้รับโทษเนรเทศไปอยู่เมืองซินโจวและถึงแก่กรรมขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงยังเล็กๆอยู่ สองแม่ลูกพากันโยกย้ายไปอยู่กว่างโจวท่านฮุ่ยเหนิงประกอบอาชีพตัดฟืนไปขายเพื่อเลี้ยงดูมารดาวันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งให้แก่เจ้าจำนำรายหนึ่งในตลาดพลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้าน ซึ่งท่านฮุ่ยเหนิงเอาฟืนไปส่งนั่นเอง ชายคนนั้นสาธยายมนต์มาถึงถ้อยคำที่ว่า "พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ" เมื่อได้ยินถ้อยคำเช่นนี้จิตใจของท่านฮุ่ยเหนิงก็สว่างโพลงในพุทธธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า"ท่านกำลังสวดอะไร""เรากำลังสวดวัชรสูตร" "ท่านไปเรียนมาจากที่ไหน""เราเรียนมาจากท่านอาาจารย์หงเหย่น แห่งวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมย เมืองฉีโจว ท่านมีศิษย์อยู่เป็นพันๆ คน โดยสั่งสอนให้ศิษย์ทั้งหลายบริกรรมพระสูตรนี้ เพื่อจักได้ค้นพบธรรมญาณแห่งตนและเข้าถึงความป็นพุทธะ"
ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงกำลังซักไซร้ เรื่องราวด้วยความสนใจและแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปเฝ้าพระอาจารย์หงเหย่น เพื่อเรียนพรระสูตรนี้ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่มากจนชายใจบุญผู้อารีอยากสนับสนุนจึงให้เงินท่านฮุ่ยเหนิง 10 ตำลึงเพื่อนำไปให้มารดาไว้ใช้สอย ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงไม่อยู่ และหลังจากที่ได้จัดแจงให้มีผู้ดูแลมารดาแล้วท่านก็มุ่งหน้าเดินทางไปยังวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมยทันที ใช้เวลาเกือบสามสิบวันจึงถึงจุดหมาย
เมื่อเข้าไปนมัสการพระอาจารย์หงเหยิ่น ท่านก็ถามว่า "เจ้ามาจากไหนหรือ และต้องการอะไร" "กระผมเป็นคนเมืองซินโจว มณฑลกว่างตง กระผมต้องการมากราบท่านอาจารย์และต้องการหาหนทางความเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเท่านั้น นอกจากนี้แล้วกระผมไม่ต้องการอะไรเลย" "เธอเป็นชาวกว่างตงหรือ เป็นคนป่าคนดงยังจะหวังเป็นพุทธะได้ยังไงกัน" "ทิศเหนือทิศใต้เป็นเพียงแบ่งทิศทาง แต่หาได้แบ่งแยกความเป็นพุทธะไม่กระผมแตกต่างไปจากท่านอาจารย์ก็ตรงที่ร่างกายเท่านั้นแต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่แตกต่างกันเลย"ท่านสังฆปริณายกรู้ทันทีว่าเด็กหนุ่มบ้านอกคนนี้ ได้รู้สัจธรรมระดับหนึ่งแล้วแต่เพื่อมิให้เป็นภัยแก่เขา จึงแสร้งดุให้เขาเงียบเสียง แล้วให้ไปช่วยทำงานในครัว
วันหนึ่งท่านอาจารย์เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้แต่ละคนเขียน "โศลก" บรรยายธรรมคนละบทเพื่อทดสอบภูมิธรรม "ชินเชา (ชินชิ่ว)" หัวหน้าศิษย์ เป็นผู้ที่ใคร ๆ ยกย่องว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งกว่าคนอื่น และมีหวังจะได้รับมอบบาตรและจีวรจากท่านอาจารย์แน่ ๆ ได้แต่งโศลกบทหนึ่ง เขียนไว้ที่ผนังว่า
"กาย คือต้นโพธิ์
ใจ คือกระจกเงาใส
จงหมั่นเช็ดถูเป็นนิตย์
อย่าปล่อยให้ฝุ่นละอองจับ"

ท่านอาจารย์อ่านโศลกของชินเชาแล้ว ชมเชยต่อหน้าศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ่ง (แต่ตอนกลางคืนเรียกเธอเข้าไปพบตามลำพังบอกว่าชินเชา "ยังไม่ถึง" ให้พยายามต่อไป) เว่ยหล่างได้ฟังโศลกของหัวหน้าศิษย์แล้ว มีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่า ผู้แต่โศลกยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง จึงแต่โศลกแก้ เสร็จแล้ววานให้เพื่อนช่วยเขียนให้ เพราะเว่ยหล่างอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ โศลกบทนั้นมีความว่า
"เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร"

รินไซเซน
รินไซเซนเป็นเซนหนึ่งในห้าสายหลักของเซนสายใต้ ปรมาจารย์ของเซนสายนี้คือท่าน หลินจิ อี้เสวียน ท่านเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ ฮวงโป ซนสายนี้รุ่งเรืองทั้งในและนอกประเทศจีน ในญี่ปุ่น ท่านเมียวอัน เออิไซ เป็นผู้นำเข้าไปเผยแผ่ ในญี่ปุ่น ในราวปีค.ศ. 1191 ท่านติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์เซนยุคปัจจุบัน ชาวเวียดนาม ก็เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดเซนสายนี้ เซนสายนี้มีลักษณะเด่นคือ มีการใช้การตวาด การฟาดตี หรือคำพูดที่รุนแรง ในการกระตุ้นให้ผู้ศึกษาบรรลุธรรมอย่างฉับพลัน จนมีคำกล่าวในญี่ปุ่นว่า เซนสายรินไซ เป็นเซนสำหรับ โชกุน ส่วนเซนสายโซโต ซึ่งนุ่มนวลกว่า เป็นเซนสำหรับชาวบ้าน

๒. เซนคืออะไร
“เซนคืออะไร” เป็นคำถามที่คนทั่วไปมักคิดไปถึงประสบการณ์จากการปฏิบัติในรูปแบบ  การเข้าถึงคำสอนโดยผ่านชีวิตประจำวัน เช่น การทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน หรือการทำงานในออฟฟิศ ความสามารถในการเข้าถึงธรรมด้วยการงานประจำวันเหล่านี้  นี่คือวิธีการแบบเซน ซึ่งเน้นไปยังสิ่งที่คุณสัมผัสอยู่จริงๆ  
“เซนพยายามสอนวิธีการเจริญสติในชีวิตประจำวัน และเชื่อว่าคุณค่าความสำคัญของศาสนาไม่ได้อยู่ที่การท่องจำคัมภีร์ใดๆ  แต่อยู่ที่การนำคำสอนไปใช้ให้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นั่นสำคัญที่สุด  ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมานั่งปฏิบัติในรูปแบบ แต่ให้นำหลักการไปประยุกต์เพื่อเจริญสติในชิวิตประจำวันให้ได้  นี่คือหลักการสอนของเซน ผู้ศรัทธาเซ็นไม่จำเป็นต้องบวชเป็นพระเพื่อจะปฏิบัติธรรม เขาอาจทำงานธนาคาร เป็นหมอ เป็นชาวประมง หรือชาวนา  ไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็ปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา  เพียงแค่รู้สึกตัว  อยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้เท่านั้น นั่นคือแก่ของการปฏิบัติ  ส่วนวิธีการปฏิบัติเซ็น แบ่งได้เป็น 3 ประการคือ
๑. ซาเซ็น (Zazen) หมายถึงการนั่งสมาธิอย่างสงบและเพ่งสมาธิ
๒. ซันเซ็น (Sanzen) หรือ วิธีการแห่งโกอัน โกอัน หมายถึง เอกสารข้อมูลที่รับรู้กันโดยทั่วไป (public document) มักจะเป็นเรื่องราวของอาจารย์เซ็นในอดีต หรือบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ มักเป็นปริศนาธรรม ใช้เป็นเครื่องมือทำลายความคิดทางตรรกะ เพื่อที่จะช่วยนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความเป็นจริงแห่งเซ็น
๓. ม็อนโด (Mondo) คือการถามและการตอบอย่างอย่างทันทีทันใด โดยไม่ใช้ระบบความคิดหรือเหตุผลไตร่ตรองว่าเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่ อาจารย์จะเป็นผู้ตั้งคำถามและพิจารณาคำตอบที่ลูกศิษย์ตอบในขณะนั้น

๓. การทำซาเซ็น (Zazen)
ในการสอนธรรมแก่ศิษย์ บางครั้งอาจารย์เซ็นจะใช้วิธีกระตุ้นที่ร่างกาย เช่น ตีศิษย์ด้วยไม้เท้า เป็นต้น การกระตุ้นที่ร่างกายนี้ที่จริงไม่สามารถแยกออกจากการกระตุ้นจิต เพราะนิกายเซ็นถือว่าจิตกับกายแยกจากกันไม่ได้ การกระตุ้นร่างกายโดยนัยหนึ่งก็คือ การกระตุ้นจิตนั่นเอง  การที่อาจารย์เซ็นใช้ไม้เท้าตีศิษย์มีค่าเท่ากับการสอนศิษย์ด้วยคำพูด เพราะไม้เท่าที่กระทบร่างกายก็ดี เสียงที่กระทบหูก็ดี สามารถเชื่อมไปถึงจิตได้เหมือนกัน   วิธีการนี้เรียกว่า “การทำซาเซ็น หรือว่านั่งสมาธิ”  เซ็นเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยภาษาไม่ได้ ถ้าใช้ภาษาอธิบายก็จะกลายเป็นการโกหก ทุกอย่างในชีวิตเป็นเซ็น ไม่ว่าการเกาหัว นอน ทานข้าว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเซ็น อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้อันนี้ก็เซ็น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่เซ็นทุกอย่างเป็นเซ็นทั้งหมด ปกติ “การกระทำ”กับ “จิตใจ” ของคนเรามักไม่ได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันเช่น การที่จิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ ย่อมเปิดโอกาสให้ความคิดหรือทุกข์แทรกเข้ามา  เพราะจริงๆแล้วตัวเราคือพุทธะ แต่สิ่งที่ทำให้ไขว้เขวก็คือความคิดเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ตอนที่นั่งซาเซ็น เราต้องทิ้งความคิดเล็กๆ เหล่านี้ให้หมด จนตัวเรากลมกลืนเป็นหนึ่งกับจิตอันไพศาลนี้ ในแง่หนึ่งการปฏิบัติซาเซ็นก็คือการตัดกิเลสปล่อยวางทั้งหมด  จนเข้าถึงความว่าง หรือความกลมกลืนกับจักรวาล ซึ่งก็คือเซ็นนั่นเอง
วิธีการนั่งสมาธิซาเซ็นต่างกับสมาธิแบบทั่วๆไป แม้จะเป็นการนั่งขัดสมาธิเหมือนกันแต่ว่าจะให้ลืมตา เพราะว่าทันทีที่เราหลับตา เราจะคิด เพราะเราไม่เห็นเราก็เลยคิด เซ็นให้เรารู้เห็นสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้นอยู่รอบตัวตลอดเวลา แต่ก็ยังคงโฟกัสอยู่ที่ลมหายใจ

๔.  การทำลายแบบแผนเชิงตรรกะด้วยซันเซน (Sanzen) หรือ วิธีการแห่งโกอัน
             โกอาน คืออะไร “โกอาน” คือ คำถามที่ยอกย้อน เป็นปริศนาธรรม เราไม่สามารถตีความปริศนาเหล่านี้ ด้วยตรรกะเหตุผลได้  ตรรกะมักอยู่บนพื้นฐานของแม่แบบที่ตายตัว โดยทั่วไปเรามักจะมองโลกโดยจัดกลุ่มและตีตราสรรพสิ่งล่วงหน้า ภายใต้แม่แบบที่อยู่ในหัว(ซึ่งแตกต่างจากความจริงตรงหน้า) โกอาน ฉีกทำลายแบบแผนตรรกะทั้งหมด และบีบให้เราพยายามไขปริศนาด้วยหนทางอื่น จุดประสงค์ก็คือเพื่อทำลาย “แม่แบบ”เกี่ยวกับความจริงในหัวของเรา(ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ความจริงแท้) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ทันทีที่เห็นดอกบัว นักชีววิทยาอาจนึกถึงชนิดพันธ์และถิ่นกำเนิดของมัน  ศิลปินก็อาจจะนึกถึงความงามของสีสันและแสงเงา ส่วนพ่อค้าก็อาจจะนึกถึงผลกำไรจากการลงทุนค้าขายดอกบัว
พุทธปรัชญาเซ็นเห็นว่าความคิดทั้งหมดเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นมายาแม้คำว่าดอกบัวนั้นก็เป็นเพียงเรื่องสมมุติที่คนเพียงกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้นมาเท่านั้น ต่อเมื่อโยนความคิดหรือ คอนเซ็ป ทั้งหลายทิ้งหมดธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนี้จึงจะปรากฏขึ้น นั่นก็คือยิ่งเราพยายามสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับความจริงให้ยืดยาวเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพล่าจากความจริงไปยิ่งไกลเท่านั้น ต่อเมื่อหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง สัจจะเดิมแท้จึงจะปรากฏให้เห็น“เคยมีเรื่องเล่าว่ามีอาจารย์เซ็นท่านหนึ่งชูไม้ท้าวขึ้นมา แล้วก็ถามว่า ถ้าเกิดว่าท่านไม่เรียกมันว่าไม้ท้าว ท่านจะเรียกมันว่าอะไร มีชายคนหนึ่งเดินออกไปและก็ดึงไม้ท้าวจากมืออาจารย์คนนั้นมาแล้วก็หักทิ้ง”

๔. แนวคิดเรื่องความว่าง
แนวคิดอันหนึ่งที่ดูเหมือนเซ็นจะเน้นเป็นพิเศษ แนวคิดนี้คือ “ความว่าง” หรือ “ศูนยตา” ความว่างนี้เป็นมโนทัศน์พื้นฐานสำคัญของพุทธศาสนา โลกและชีวิตในทรรศนะของพุทธศาสนาคือ ความว่างเปล่า พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องความว่างเปล่าในฐานะมโนทัศน์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง “ความมีอยู่” กับ “ความไม่มีอยู่”  บทสวดบทหนึ่งที่นิยมสวดกันในวัดเซ็นก็คือ หฤทัยสูตร ซึ่งมีข้อความทำนองว่า “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ประกอบด้วยโลกุตรปัญญาอันลึกซึ้ง ได้มองเห็นว่า โดยธรรมชาติแท้แล้ว ขันธ์ทั้งห้านั้นว่างเปล่า และด้วยเหตุที่เห็นเช่นนั้น จึงได้ก้าวล่วง พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ สารีบุตร รูปไม่ต่างจากความว่าง ความว่าง ก็ไม่ต่างไปจากรูป รูปคือความว่างนั่นเอง และความว่างก็คือรูปนั่นเอง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นดังนี้ด้วย สารีบุตร ธรรมทั้งหลาย มีธรรมชาติแห่งความว่าง ไม่ได้เกิดขึ้นและไม่ได้ดับลง ไม่ได้สะอาดและไม่ได้สกปรก ไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง
ดังนั้น ในความว่างจึงไม่มีรูป ไม่มีเวทนา หรือสัญญา ไม่มีสังขาร หรือวิญญาณ ไม่มีตาหรือหู ไม่มีจมูกหรือลิ้น ไม่มีกายหรือจิต ไม่มีรูปหรือเสียง ไม่มีกลิ่นหรือรส ไม่มีโผฏฐัพพะหรือธรรมารมณ์ ไม่มีโลกแห่งผัสสะ หรือวิญญาณ ไม่มีอวิชชา และไม่มีความดับลงแห่งอวิชชา ไม่มีความแก่และความตาย และไม่มีความดับลงซึ่งความแก่ และความตาย ไม่มีความทุกข์ และไม่มีต้นเหตุแห่งความทุกข์ ไม่มีความดับลงแห่งความทุกข์ และไม่มีมรรคทางให้ถึง ซึ่งความดับลงแห่งความทุกข์ ไม่มีการประจักษ์แจ้งและไม่มีการลุถึง เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องลุถึง”
แนวคิดเรื่องความว่างเปล่าในนิกายเซ็นนี้มีอิทธิพลลึกซึ้งต่อแนวคิดอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้เช่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นที่แสดงออกในหลายรูปแบบ เช่น ไม่ยึดมั่นคัมภีร์ ไม่ยึดมั่นในตัวบุคคล แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตาม ดังเช่น คำพูดของอาจารย์เซ็นท่านหนึ่งที่รู้จักกันดีในวงการเซ็นว่า “หากพบพระพุทธเจ้า จงฆ่าเสีย)  ดังนั้นเซ็นจึงไม่ใช่อะไรที่พิสดาร แต่ว่า มันคือความจริงในชีวิตประจำวัน และดูเหมือนว่าทุกกิจกรรมสามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น  หลังจากที่เซ็นบอกให้เราโยนสมมติทั้งหมดทิ้งไปแล้ว สิ่งต่างๆ ก็ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีคุณค่าความหมายที่แตกต่างกันออกไปแต่อย่างใดสิ่งนี้ ก็คือสิ่งนี้ และเป็นอยู่อย่างที่มันเป็นอยู่ คำที่ใกล้เคียงที่สุดอาจจะเป็นคำว่า “เช่นนั้นเอง”    

๕. มุมมองของสรรพสิ่งและการพ้นทุกข์ 
เมื่อกล่าวถึงสรรพสิ่งย่อมรวมทุกสิ่งเหล่านี้เข้าไว้ด้วยคือ มนุษย์ โลก และจักรวาล พุทธศาสนาในยุคแรกมีทรรศนะเกี่ยวกับมนุษย์ ว่าเป็นองค์รวมของขันธ์ห้าประการ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ  องค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้เมื่อรวมกันแล้วเราเรียกว่า คน และต่างก็มีลักษณะตรงกันอยู่สามประการคือ ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง และไม่มีแก่นสารเป็นอมตะ นี่คือธรรมชาติของคน นิกายเซ็นก็มองมนุษย์ว่าประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งห้าประการนี้เช่นกัน ดังข้อเขียนของประสกปังยุ่น (Pang Yun, 740-808 A.D.) ศาสนิกคนสำคัญแห่งนิกายเซ็นสมัยราชวงศ์ถังกล่าวไว้ว่า
ง่าย! ง่ายเหลือเกิน!
ขันธ์ห้าเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง
หลักคำสอนทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลนี้
ต่างก็คือเอกยานอันเดียวกัน
ไฉนเล่าธรรมกายอันไร้รูปจะเป็นสอง
ถ้าท่านขจัดความอยากที่จะบรรลุโพธิได้
พุทธเกษตรจะไปไหนเสีย 

เซ็นไม่พูดถึงทุกข์หรือความพ้นทุกข์เลย แต่สิ่งที่แนวทางนี้เน้นย้ำ ก็คือการละทิ้งมายาคติทั้งหลาย เพื่อกลับมามองเห็นโลกตามที่มันเป็นอยู่จริง  กรอบความคิดที่ผิดพลาดไปจากความจริงของเรานั่นแหละที่ทำให้เกิดทุกข์ เมื่อเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง สิ่งที่ตามมาโดยอัตโนมัตินั่นแหละก็คือ การเลิกหลง เลิกยึด และเลิกทุกข์ และเมื่อทวิภาวะทั้งหลายเป็นเพียงมายา ความจริงไม่มีทั้งฝั่งนี้ ฝั่งโน้น ไม่มีสังสารวัฏ ไม่มีนิพพาน ทุกสิ่งทุกชีวิตล้วนเป็นความจริงแท้ หรือพุทธะในตัวเองอยู่แล้ว ชีวิตในวัดเซ็นจึงเต็มไปด้วยการงานพื้นๆ อย่างผาฟืน กินข้าว ล้างจาน หรือทำความสะอาดวัด สลับกับการทำซาเซ็น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการพยายามทำอะไรนอกจากการเฝ้าดูจักรวาลอย่างเงียบสงบ
ภิกษุโคคูกอน  โยชิโน ศูนย์เซ็น โฮเซ็นจิกล่าวว่า “ถ้าเราตั้งใจหายใจ หรือพยายามรู้สึกถึงการหายใจ นั่นคือยังมี “ตัวเรา” กับ “การหายใจ” ที่แยกจากกันอยู่ ไม่กลมกลืนเป็นหนึ่ง สติที่แท้คือกลมกลืนเป็นหนึ่ง หายใจโดยกลมกลืนเป็นหนึ่ง แม้คนที่ปฏิบัติซาเซ็นตลอดชีวิต อาจมีวินาทีแห่งการเห็นธรรมแค่ไม่กี่ครั้งก็ได้ วินาทีนั้นเราจะกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล จิตจะเบาสบายขึ้นเป็นครั้งแรก เราจะรู้สึกถึงความสบายใจ โดยไม่ต้องพยายามรักษาสภาวะนั้นเอาไว้ ถึงตรงนั้นเราจะเข้าใจคำว่าพุทธะ พอเรารู้สึกถึงความสบายใจนั้นแล้ว ชีวิตประจำวันของเราจะเปลี่ยนไป เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตคนได้เลยทีเดียว” คำที่ท่านพูดบ่อยๆ ทำนองว่าการบรรลุธรรม การที่ตัวเองกลมกลืนกับธรรมชาติหรือกลมกลืนกับตัวเอง ก็ดูจะเข้าใจยากพอสมควร แต่ผมก็เดาเอาว่า เป็นสิ่งเดียวกับการได้เห็นอนัตตา คือการไม่มีตัวตน ตลอดจนขอบเขตที่แบ่งแยกตัวเรากับคนอื่นๆ หรือระหว่างตัวเรากับสรรพสิ่งภายนอกเนี่ย เลือนหายไปนั่นอาจจะเป็นความกลมกลืนที่หลวงพ่อพูดถึงหรือเปล่า
“สิ่งที่ปิดกั้นเราจากความจริง คือความคิดส่วนเกิน ที่ไม่จำเป็น ถ้าจำกัดความคิดแบ่งแยกนี้ออกไปได้ เราก็จะสามารถใช้มีชีวิตตามธรรมชาติเดิมแท้ของเรา  ที่กลมกลืนกับสรรพสิ่ง  มนุษย์มักคิดอะไรหลายอย่างแล้วหลงว่าตนเองเป็นเอกเทศ แยกขาดจากมนุษย์คนอื่นๆ หรือสิ่งอื่นๆ แต่ความจริงแล้วทั้งหมดคือตัวเรา ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีอะไรที่แยกจากกันได้ หนึ่งคือทั้งหมด และทั้งหมดคือหนึ่ง แต่เรามักมองไม่เห็นความจริงนี้ ที่เรานั่งซาเซ็นกันก็เพื่อกำจัดความคิดแบ่งแยก เพื่อให้เห็นความจริงว่าโลกและจักรวาลทั้งหมดกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีเรา ไม่มีคนอื่น ยกตัวอย่างถ้าถามว่าการหายใจคืออะไร คนทั่วไปก็จะตอบโดยใช้ความคิด  ถ้าตอบแบบเซ็น การหายใจก็คือลงมือปฏิบัติการหายใจ เพราะความคิดที่พยายามอธิบายว่า การหายใจคืออะไร มันเป็นส่วนเกิน ไม่ใช่ตัวการหายใจที่แท้จริง ความคิดทำให้เกิดมายาภาพ แบ่งแยกการหายใจออกจากตัวเรา เราคิดว่าการหายใจเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายนอกแยกจากตัวเรา ความคิดแบบนี้แหละทำให้เกิดความลังเลสงสัย  “การหายใจคือการหายใจจริงๆ ไม่ใช่การคิดด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ถ้าเช่นเดียวกับคำถามว่า ชีวิตคืออะไร คำตอบก็คือการมีชีวิต นี่แหละชีวิต  เหมือนกับคำถามในหัวข้อเริ่มต้นว่า  เซ็นคืออะไร  ก็นั่งลงสวดมนต์ก็ได้  นั่นแหละคือเซ็น”
โดยสรุป คือความคิดการแบ่งแยกสรรพสิ่งออกเป็นสอง แบ่งตัวเราออกจากสิ่งอื่นๆ นั่นแหละคือสิ่งที่ปิดกั้นความจริง”อีกอย่างหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือเวลาที่เราไปปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆสิ่งหนึ่งที่ทุกสถานที่เน้นย้ำก็คือ สติ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามขอให้มีสติอยู่เสมอ แต่ว่าคำว่า “สติ” ที่ศูนย์โฮเซ็นจิ แทบจะไม่ได้ยินเลยก็ว่าได้นะครับยกเว้นช่วงที่ทำซาเซ็นก็ให้มีสติอยู่กับช่วงเวลานั้น ไม่มีใครมานั่งบอกว่า ระหว่างที่ล้างจานต้องมีสติ กินข้าวต้องมีสติ หรือว่าช่วงที่ออกไปทำกิจกรรมในช่วงสายต้องมีสติ หรือว่าสติ สำหรับปุถุชนเนี่ยก็เป็นเพียงความคิด เป็นคอนเซ็ปอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะไปยึดถือหรือสร้างมันขึ้นมา เพราะสำหรับเซ็นแล้วไม่มีความคิด ไม่มีคอนเซ็ปใดๆ ที่มีคุณค่าเลยถ้ามันยังเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่ตัวธรรมชาติหรือประสบการณ์จริง  “วิธีสอนแบบเซ็น ก็อาจจะเป็นการให้ลงไปสัมผัสกับประสบการณ์ชีวิต และก็ประสบการณ์จริงๆด้วยตัวเอง โดยที่คุณก็อยู่กับสิ่งนั้นนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกมันว่าสติก็ได้ ถ้าเราลองสังเกตจากคนที่อยู่ที่นี่มานานหลายๆคน ก็จะรู้สึกว่าเขาทำสิ่งนั้นอย่างมีสติมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว ตอนที่ออกไปทำกิจกรรมในช่วงสายนะครับ เขาอาจจะไม่ได้มานั่งคิดก็ได้ว่าจะต้องมีสติ แต่ว่าเขาอยู่กับสิ่งนั้นและก็ทำสิ่งนั้นในช่วงเวลานั้นอย่างเต็มที่
ท่านอาจารย์ชุนโดน อาโอยาม่า ภิกษุณีที่ได้รับการยอมรับนับถือมาที่สุดในญี่ปุ่นในปัจจุบัน กล่าวถึงก็คือความแตกต่างระหว่างความคิดกับความจริงว่า  “ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้  แต่คนเราก็พยายามใช้ความคิดและคำพูดมาอธิบายความจริง ความคิดหรือคำพูด กับความจริง ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ยกตัวอย่างเรื่องไฟ ไฟจริงๆ กับคำว่าไฟก็ไม่เหมือนกัน ถ้าคำว่าไฟเป็นตัวความจริงเอง ทุกครั้งที่พูดปากก็คงไหม้  หรือพอเขียนคำว่าไฟลงไปที่กระดาษ กระดาษก็คงไหม้หมด แต่เห็นได้ว่าทุกครั้งที่คุณคิด พูด หรือเขียนถึงไฟ มันไม่เคยมีอะไรลุกไหม้ขึ้นมาซักอย่าง เพราะมันเป็นแค่ความคิดไม่ใช่ความจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรอธิบายความจริง เราสามารถคิดและอธิบายความจริงจนถึงขีดจำกัดที่ภาษาจะใช้อธิบายได้ เพียงอย่าลืมว่าความคิดหรือคำพูดไม่ใช่ตัวความจริง เปรียบได้กับนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ นิ้วก็คือความคิด หรือคำอธิบายเกี่ยวกับความจริง นิ้วช่วยชี้ทิศทางให้ตามองไปยังดวงจันทร์ เป้าหมายของเราย่อมอยู่ที่ดวงจันทร์ไม่ใช่นิ้ว นั่นหมายความว่าความคิดหรือคำอธิบายต่างๆก็มีความสำคัญ แต่ที่สุดแล้วเราก็ต้องข้ามให้พ้นความคิดเพื่อไปถึงความจริงแท้ให้ได้ และผมก็ถามท่านนะครับว่า “อะไรที่เป็นสิ่งที่ปิดกั้นระหว่างมนุษย์กับสัจจะ คำตอบของเซ็นเป็นการสลายกรอบความคิดนั้นแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่มีตัวผม ไม่มีตัวท่าน ไม่มีกำแพง ไม่มีสัจจะที่ต้องไปถึงเพราะสรรพสิ่งเป็นพุทธะอยู่แล้ว  “แน่นอน มนุษย์ทุกคนคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดในโลกก็คือ “ตัวฉัน” นั่นดูจะเป็นเหตุผลของคำถามต่างๆ เช่น ฉันเป็นใคร ฉันควรใช้ชีวิตอย่างไร ทำไมฉันจึงต้องปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์โดเก็นกล่าวไว้ว่า “การศึกษาพุทธธรรม ก็คือการศึกษาตัวตนของเราเอง ในประโยคถัดมาท่านอาจารย์กล่าวว่า การศึกษาตัวตนอย่างถ่องแท้ จะทำได้ต่อเมื่อละทิ้งตัวตนไปโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น เมื่อเข้าถึงความจริง คุณจะอิ่มเอมกับเอกภาพ ท่ามกลางความหลากหลายของจักรวาล ระหว่างเส้นทางนี้คุณจะค่อยๆเข้าใจว่า ตัวคุณไม่ได้แยกขาดจากสรรพสิ่ง คุณได้รับการอุ้มชูจากดวงอาทิตย์ อากาศ ดอกไม้ อาหารนานาชนิด จากจักรวาลทั้งมวล เมื่อคุณเข้าใจความจริงนี้ คุณจะรู้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร คุณจะหลุดพ้นจากมายาภาพของตัวตน.

๖. บทสรุป 
              จะเห็นได้ว่านิกายเซ็นเป็นนิกายที่เร็วและแรง เน้นการบรรลุธรรมแบบฉับพลัน มีโกอันท้าทายดึงดูดผู้มีปัญญา มาไขปริศนาธรรม เพื่อฝึกฝนวิธีคิดแบบอริยะ ทำลายความคิดทางตรรกะ เพื่อให้เห็นสัจธรรม เซ็นจึงพุ่งตรงไปที่แก่นของพุทธศาสนา เป็นนิกายที่เน้นให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงประสบการณ์ของสภาวะธรรม และ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่สุด มิใช่แต่เพียงท่องจำ แล้วนำไปใช้แบบฝืนธรรมชาติ การศึกษาเซ็น จำเป็นต้องละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นไปเสียก่อน แม้แต่การยึดมั่นถือมั่นใน พระไตรปิฎก หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า
ชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ จอห์น  มิลเลอร์ เคยกล่าวว่า “จักรวาลทั้งมวลเคลื่อนไหว ดวงอาทิตย์ฉายแสง แม่น้ำหลากไหล ทั้งหมดนี้เพื่อให้ดอกไวโอเล็ตดอกเล็กๆ ดำรงอยู่ สรรพสิ่งทั้งหมดก็เช่นเดียวกัน  ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่รวมถึงดอกไม้นานาชนิด ตู้โต๊ะ ทุกสิ่งทุกอย่าง  เมื่อเข้าใจเช่นนี้จะไม่มีการแบ่งแยก ระหว่างฉันกับเธอ หรือฉันกับคนอื่นๆ นั่นคือ กำแพงทั้งหมดย่อมพังทลายลง” ดูเหมือนว่า “เซ็น” คือการเพิกถอนสมมุติบัญญัติ ระบบคุณค่า ตลอดจนกรอบความคิดอันเป็นมายาทั้งหมดเพื่อนำเรากลับไปสู่ความจริงแท้อันไร้คำพูด ความจริงแท้ซึ่งอยู่ตรงหน้าเราอยู่แล้วก่อนที่ความคิดหรือคำอธิบายใดจะก่อตัวขึ้น
เมื่ออาจารย์เซนประกาศว่า สิ่งหนึ่ง มีอยู่ในสิ่งทั้งปวง และสิ่งทั้งปวงมีอยู่ในสิ่งหนึ่ง พวกเขามิได้หมายความว่า มีอยู่สิ่งหนึ่งที่รู้จักกันว่าเป็น สิ่งหนึ่ง หรือเป็นสิ่งทั้งปวง และว่าสิ่งหนึ่งก็คือสิ่งอื่นๆ และโยนัยตรงกันข้ามสิ่งอื่นๆ ก็คือสิ่งหนึ่งโดยเหตุที่ สิ่งหนึ่งมีอยู่ สิ่งทั้งปวง ประชาชนบางคนจึงสันนิษฐานว่า เซนเป็นคำสอนแบบสกลเทพบูชาชนิดหนึ่ง นอกเหนือไปจากนี้แล้ว เซนไม่เคยทำสิ่งหนึ่งหรือสิ่งทั้งปวงให้เป็นสิ่งที่จะสามารถยึดได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสเลย วลีที่ว่า “หนึ่งในทั้งปวงและทั้งปวงในหนึ่ง” นั้น เราจะต้องเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกซึ่งสหัชญาณทาง “ปรัชญา” ที่สมบูรณ์ และมิใช่สิ่งที่เราจะวิเคราะห์โดยอาศัยการสร้างมโนภาพเอาเองได้ เมื่อเราเห็นดวงจันทร์ เราก็ทราบว่า มันคือดวงจันทร์เพียงเท่านั้นก็พอแล้ว พวกที่ดำเนินการเพื่อวิเคราะห์ประสบการณ์และพยายามสร้างทฤษฎีแห่งความรู้ขึ้นมาหาใช่สานุศิษย์ของเซนไม่ ถ้าหากเขาเคยเป็นสานุศิษย์ของเซนมาก่อน พวกเขาก็ย่อมสิ้นสุดความเป็นสานุศิษย์ของเซนในทันทีที่พวกเขาเริ่มปฏิบัติการในฐานะเป็นนักวิเคราะห์ เซนสนับสนุนประสบการณ์เช่นนั้นเสมอ และไม่ยอมเอาตัวเข้าไปผูกพันอยู่กับระบบปรัชญาใดๆ ทั้งสิ้น
 สรุปว่าสิ่งต่างๆที่ผู้คนมักจะหลงใหลไปกับมัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากการศึกษาเล่าเรียน หรือความคิดจินตนาการ เซนเสนอว่าควรที่จะลบทิ้งไป เซนไม่ใช่วัด ไม่ใช่จริยธรรมไม่ได้เรียกร้องการยอมรับของพระคัมภีร์ใด ๆ หรือประเพณีใด ๆ   “เซน” มีเพียงความว่าง ไม่มีฉัน ไม่มีคุณ ไม่มีผม ไม่มีของผมหรือของใคร ทุกอย่างที่ผมมีอยู่นั่นก็ไม่ใช่ของผม   เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสมมติบัญญัติที่มากเกินความจำเป็น  ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า “บางทีผู้เขียนอาจจะต้องศึกษาเซ็นไปพร้อมๆกับศึกษาพุทธศาสนาแบบเถรวาทเดิมๆ  เพื่อที่จะทำให้มองทุกอย่างตรงตามความเป็นจริงชัดเจนยิ่งขึ้นมากที่สุด จนเพิกถอนสมมติบัญญัติทั้งหลายลงได้โดยใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป เพราะ ในความคิดของผู้เขียนตอนนี้       “ เถรวาท หรือ มหายาน เป็นเพียงคำพูดหรือบัญญัติที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เรียกสิ่งๆหนึ่งเท่านั้นเอง” “เพราะความจริงแล้ว ไม่มีทั้งเถรวาท หรือมหายาน ไม่มีนิกาย” ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นอนัตตา.


บรรณานุกรม 
๑. ภาษาไทย
ก .ข้อมูลปฐมภูมิ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
      ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
(๑) หนังสือ:
สมภาร พรมทา,พุทธศาสนานิกายเซน.พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย,๒๕๔๖.
ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ,เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ ๒, ศ.พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ,แปลจาก, Zen and
Japanese Culture by Daisetz T.Suzuki. กรุงเทพมหานคร : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๗.

๒. ภาษาอังกฤษ
1. Primary Sources:
Ruth Fuller Sasaki, Yoshitaka Iriya, and Dana R. Fraser, trs., A Man of Zen : The Recorded Sayings of Layman Pang.New York: Weatherhill, 1976.
Arthur Waley,. Zen Buddhism and Its Relation to Art. London: Luzac & Co., 46, Great Russell Steet, W.C.1. 1922.
๓.  ข้อมูลออนไลน์
https://th.wikisource.org/wiki/ปรัชญาปารมิตาสูตร,สืบค้นเมื่อ24 สิงหาคม 2560
http://sudoku.in.th/zen-intro.html. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560


วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ภาษาศิลปะในฮูปแต้มสิมอีสาน Language art in Mural Northeast Buddhist Holy Temple


ภาษาศิลปะในฮูปแต้มสิมอีสาน[๑]

 Language art in Mural Northeast Buddhist Holy Temple



พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล

Phraadirek arthitchapalo

นิสิตปริญญาเอก สาขา ปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย





บทคัดย่อ

บทความนี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ ๑) เพื่อเสนอแนวคิดเรื่องภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสาน และ ๒) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาศิลปะกับฮูปแต้มสิมอีสาน ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นปรัชญาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งหลักคำสอนที่เป็นพุทธจริยศาสตร์ และหลักคำสอนที่มีลักษณะเป็นอภิปรัชญาสองสิ่งนี้ก่อให้เกิดความงามได้อย่างไร  ซึ่งในทรรศนะของนักปรัชญาก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม ผู้เขียนจึงได้เสนอว่า ความงามที่ปรากฎอยู่ในฮูปแต้มสิมอีสานได้แสดงออกผ่านภาษาศิลปะ เพราะมนุษย์มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ผ่านภาษา ดังนั้นจึงควรพิจารณาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ผ่านภาษาศิลปะจึงจะสามารถเข้าถึงความงามของศิลปะที่แท้จริงได้



คำสำคัญ: ภาษาศิลปะ, ฮูปแต้มสิมอีสาน





Abstract



Article, the author aims to 2 reasons: 1) To the concept of language arts in the mural Buddhist northeast holy temple and 2) to analyze the relationship between art and language mural Buddhist northeast holy temple. In order to demonstrate philosophical beliefs related to the principles of the Buddhist doctrine of Buddhism. And is a metaphysical doctrine that these two things have caused great beauty. In view of the philosopher, it also has different opinions on what value the aesthetic criteria that any piece of art or aesthetic beauty. The authors therefore suggested that Beauty depicted in the mural Buddhist northeast holy temple was expressed through the language of art. Because human beings have certain limitations as humans cannot reach the truth directly. Human access reality through language. So consider the aesthetic values through the language of art in order to access the beauty of true art has



Keywords: Language arts, mural Buddhist northeast holy temple





๑. บทนำ

          ความงามทางศิลปะ คือเรื่องของคุณค่าทางความงามทางสุนทรียะและ การค้นหานิยามของความงามทางศิลปะ ว่าศิลปะชิ้นใดงามหรือไม่งาม เมื่อกล่าวถึงแนวความคิดในทางปรัชญาภาษา ให้ความหมายของคำว่า ภาษาศิลปะ หมายถึงเรื่องของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคำพูด ตัวอักษร หรือภาษากาย โดยสมมติฐานว่าถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ มันสามารถสื่อสารกับผู้ชมด้วยได้อย่างไร ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไรที่เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้  ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าความงามแสดงออกผ่านภาษาศิลปะ ผลงานศิลปะใดที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นความงามผ่านภาษาศิลปะออกมาได้ดี ผลงานนั้นก็จะได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานศิลปะ

          ภาษาศิลปะจะสื่อให้เห็นความงามได้โดยที่ไม่สัมพันธ์กับสุนทรียธาตุได้หรือไม่ ในทฤษฎีศิลปะกล่าวไว้ว่า งานศิลปะจะไม่สามารถบรรลุถึงคุณค่าในตัวของมันได้หากไม่ประกอบขึ้นมาจากสุนทรียธาตุ เช่น ความแปลกตา อารมณ์สะเทือนใจ ความประทับใจ เป็นต้น แต่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงสุนทรียธาตุได้ทางใด หรือว่ามันแสดงออกได้ในหลายๆ ทาง เช่น ทางตัวอักษร เสียง ภาพ หรือ ภาพเคลื่อนไหว ต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ามันหมายถึงการแสดงตัวของภาษาศิลปะนั่นเอง ซึ่งประเด็นต่อไปจะพิจารณาว่า ภาษาศิลปะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับฮูปแต้มอีสาน



๒. ศิลปะในสิมอีสาน

งานศิลปะชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า สิม หรือ สิมอีสาน  Sim I San (Northeast Buddhist Holy Temple) คำนี้เป็นคำพื้นถิ่นอีสานเป็นชื่อเรียกอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม  ในพระวินัยเรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสภัคคะ บ้าง โดยทั่วไปเรียกเป็นภาษาปากว่า “โบสถ์” เรียกคำเต็มว่า “อุโบสถ” หรือ “โรงอุโบสถ” ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า “พระอุโบสถ” ขนาดและรูปแบบของอุโบสถไม่ได้มีกำหนดไว้ในพระวินัย  เพราะพระวินัยกำหนดสีมาให้เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสำหรับทำสังฆกรรม   อุโบสถเป็นเพียงอาคารที่สร้างคร่อมพื้นที่  สีมาเพื่อกันแดดกันฝน  มีสภาพเป็นอาคารถาวร  มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน  อุโบสถที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมี “สังฆกรรมเรียกว่า ผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมา” ก่อน สิมหรือโบสถ์  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” ท่านผู้รู้อธิบายถึงคำว่า “สิม” นั้น กลายเสียงมาจากคำว่า “สีมา” นั่นเอง (ชวลิต อธิปัตยกุล 2556: 16-17)

นอกจากความหมายของ “สิม”ดังกล่าวแล้ว สิมยังประกอบได้ด้วยงานศิลปะหลายแขนงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) และประติมากรรมประดับตกแต่งสิม โดยเฉพาะฮูปแต้มนั้นมีความงดงามโดดเด่นยิ่งกว่าผลงานศิลปะแขนงอื่นๆ ช่างแต้มมักนิยมเขียนฮูปแต้มเหล่านี้ไว้ทั้งภายนอกและภายในสิม เรื่องราวที่ช่างแต้มนิยมเขียนอาทิเช่น พุทธประวัติ ชาดก วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน วิถีชีวิตผู้คนในอดีต และภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น

จากการตั้งข้อสังเกตว่า “ฮูปแต้มนั้นเป็นเพียงผลงานของชาวบ้านไม่ใช่ผลงานทางศิลปะ” ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็น่ารับฟังได้เพราะเมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับผลงานศิลปะอันประณีตอื่นๆ แล้ว ฮูปแต้ม ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของช่างพื้นบ้านที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากสกุลช่างใดๆเลย เป็นแต่เพียงชาวบ้านที่พอมีฝีมือในการวาดเขียนอยู่บ้าง หรือเคยได้ทำงานในวัดหัดวาดเขียนกับหลวงปู่หลวงตาแล้ว วันหนึ่งก็ได้รับเลือกให้มาช่วยวาดอะไรลงไปในสิม ที่ชาวบ้านนั้นแหละช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ช่างมืออาชีพในปัจจุบัน ฮูปแต้มจึงแสดงออกมาอย่างซื่อๆ ไร้มารยา เป็นผลงานที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่ควรจะด่วนตัดสินคุณค่าของฮูปแต้มในขณะนี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ละเอียด



๓.  ความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน



          เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับความงามในฮูปแต้มสิมอีสาน ฮูปแต้มเป็นภาษาอีสาน เป็นคำที่ใช้เรียกงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้ในการตกแต่ง สิม หรือ โบสถ์แบบอีสาน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอีสานคติในการสร้างฮูปแต้มเพื่อความงามนั้นมีมานาน ดังเนื้อความในลำพระเวส(เวสสันดรสำนวนอีสาน) กัณฑ์มัทรี ซึ่งปริวรรตจากอักษรธรรมโดยอาจารย์เคน ลาวงศ์เนื้อความกล่าวถึง การรำพันรักที่พระเวสสันดรมีต่อพระนางมัทรีว่า หากนางมัทรีตายจะสร้างโลงบรรจุศพและจะตกแต่งโลงด้วยลวดลายและรูปเขียนต่างๆ(สุมาลี  เอกชนนิยม 2548: 9)

          “บ่สมควรตายพี่นอ ผิว่านางมัททีเมือตาย เมืองแก้วกู่ประเชชัยเวียงกว้าง พี่จักสร้างใส่ไม้โลงลายลวง ภายบนพี่จักใส่ปาสาทแป้นปูลาดพี่จักใส่ลายลวง ดวงปีพี่จักใส่ช่อฟ้า ก้ำหน้าพี่จักแต้มลายวัลย์ ทันกลางพี่จักแต้มฮูปกินรีนะรอนนอนเทียมคู่เกาะเกี้ยวอยู่เวหา ลวงหน้าพี่จักแต้มฮูปนาคาลวงเล่น พี่จักแต้มฮูปท้าวแอ่นนำสาว ทางยาวพี่จักแต้มฮูปลายเครอวงวาด ตีนผาสาดที่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพี่จักแต้มลายโคมขัด ถัดนั้นโบกข่วมพี่จักใส่ลวงลาย ลวงหงายพ่จักใส่ดอกผักแว่น แป้นอัดหน้าพี่จักใส่ลายจีน ตีนธรณีพี่จักแต้มฮูปเทวดามาถือธุงชัยเดียรดาษ ถัดนั้นพี่จักแต้มฮูปจักรวรรดิราชมา แกว่งจามรดั่งลือ”(สุภน  สมจิตศรีปัญญา 2539 : 84-85)

          เนื้อความดังกล่าวนี้มีรสทางวรรณคดีสูง แสดงให้เห็นว่าคนอีสานเป็นคนที่มีรสนิยมใช้ฮูปแต้มตกแต่งวัสดุและอาคารต่างๆ คตินิยมนี้ยังคงตกทอดมาให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การวาดภาพบนผืนผ้าผะเหวด และวาดฮูปแต้มบนผนังสิมนอกจากนี้ ผู้ชายอีสานในสมัยก่อนยังนิยมสักลายตามร่างกายเพื่อความงามและความเชื่อของตนอีกด้วย(สุมาลี  เอกชนนิยม 2548 : 9)

          ฮูปแต้มบนผนังสิมมาจากภูมิปัญญาและฝีมือของช่างแต้มที่สั่งสมเรียนรู้กันมา ทั้งในด้านการออกแบบ กลวิธี และการใช้วัสดุอุปกรณ์ ฮูปแต้มสะท้อนความคิดเห็นของช่างแต้มอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในผลงานของช่างคือ ความสามารถ ภูมิรู้ และทรรศนะเกี่ยวกับความงามของช่างและชาวบ้านและเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของชุมชนไว้

         











๔. ภาษาศิลปะคือความงามที่ปรากฎในฮูปแต้มสิมอีสาน

          ภาษาศิลปะผ่านฮูปแต้มที่สำคัญได้แก่ ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ เป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาษาศิลปะที่ปรากฏอยู่ในฮูปแต้มดังกล่าว

ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ถือว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาสิมอีสานที่มีอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร ชาวอีสานเรียกว่า ผะเหวด เป็นการเรียกชื่อ พระเวสสันดร ตามสำเนียงอีสาน พระเวสสันดรนั้นถือว่าเป็นมหาชาติหรือชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอดีตชาติของพระพุทธองค์ จึงพบได้ทุกภาค ทุกภาษาถิ่นของไทยนับพันสำนวนและในศิลปะนานารูปแบบ อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย ได้กล่าวถึงฮูปแต้มสิมอีสานไว้ว่า

 “ที่ทำให้ฉันแปลกใจตอนตามดูฮูปแต้มในสิมต่างๆ ก็คือ ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังของภาคอื่นเท่าที่เคยดูมานั้น นิยมเขียนทศชาติชาดกครบหรือเกือบครบทั้ง ๑๐ ชาติโดยอาจจะให้เนื้อที่กับพระเวสสันดรเท่ากับหรือมากกว่าชาติอื่นๆ แต่ฉันพบว่าฮูปแต้มในสิมอีสานแทบไม่เขียนถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์องค์อื่นเลย มีน้อยวัดมากจริงๆ ที่จะพูดถึงชาติอื่นๆ ด้วย และถ้ามี ก็มักจะให้เนื้อที่นิดเดียวและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่”(อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย 2548 : 151)

          มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑๐/๕๔๗/๒๘๗.) ฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกภายในสิมอีสานวัดศรีมหาโพธิ์ยังคงสีสันที่ยังสดใสอยู่และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แม้บางรูปจะลบเลือนไปแต่ก็นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สามารถเห็นถึงความงามและคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้

          ยกตัวอย่างฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ ชูชก วัดสนวนวารีพัฒนาราม เป็นภาพชูชกดื่มกินจนท้องแตกตาย สื่อให้เห็นชัดด้วยการวาดภาพตัวชูชก ให้ใหญ่จนคับศาลา   ฮูปแต้มกัณฑ์ชูชกนับว่าเป็นความงามที่แสดงออกซึ่งภาษาทางศิลปะอย่างชัดเจน

          เรื่องราวมีอยู่ว่า ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปนะ ฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเพื่อแสวงหาทรัพย์อีก เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้น จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชกไป ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านพราหมณ์ชื่อทุนนิวิฏฐะในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์อย่างดี ครั้งนั้นพวกพราหมณ์หนุ่มๆ เหล่าอื่นเห็นอาจารสมบัติของนางจึงคุกคามภรรยาของตน ๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราอย่างดี  พวกเจ้าทำไมละเลยต่อเราทั้งหลายภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้วจึงไปประชุมกันด่านางอมิตตาปนาที่ท่าน้ำ(ขุ.ชา.อ.(ไทย) ๑๐/๖๓๖.) “นางจึงขอให้ชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นคนรับใช้”

          ตามเนื้อความที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า ภาษาศิลปะที่ปรากฏในฮูปแต้มพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นอำนาจของความรักที่ชูชกมีต่อนางอมิตตตาปนาอย่างสุดซึ้ง ความงามนั้นได้แสดงผ่านตัวเอกในเรื่องนี้คือชูชก ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวท่าทางตลก แสดงให้เห็นถึงการสร้างความเพลิดเพลินให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แล้วประเมินคุณค่าของมัน เช่น เราประเมินคุณค่าของฮูปแต้มพระเวสสันดรกัณฑ์ชูชกว่างาม เพราะเราถ่ายทอดความเพลิดเพลินที่ได้รับจากลักษณะของชูชกลงไปในฮูปแต้มพระเวสสันดร กัณฑ์ชูชกนั้นเอง หากไม่แสดงผ่านฮูปแต้มของชูชกเราก็จะไม่สามารถเข้าใจถึงลักษณะของความงามที่ปรากฏในตัวของชูชกได้เลย



๕.  บทสรุป



             เมื่อพูดถึงความงามในเชิงสุนทรียะ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องของความงามที่เกิดจากวัตถุทางศิลปกรรมอันเป็นผลงานของมนุษย์เท่านั้น  ยังรวมถึงสิ่งต่างๆ  ในธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ผลงานสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ก็มีความงามได้เช่นกัน  เช่น ทิวทัศน์ชายทะเลแห่งหนึ่งเรารู้สึกว่ามีความสวยงาม หรือท้องฟ้ายามรุ่งอรุณในที่บางแห่งและในภาวะของอากาศบางวันอาจจะงามและน่าทึ่งอย่างมากก็ได้ “คำว่า สุนทรียะนี้ ศิลปินได้กล่าวไว้ว่าทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมมีสุนทรียะในตัว ถ้าหากว่าเราผู้ดู เป็นผู้เข้าใจมอง ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่เป็นสุนทรียะ”(เสถียร โพธินันทะ 2543 : 1) จะเห็นได้ว่าสุนทรียะนั้นมีลักษณะที่สื่อออกมาผ่านสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า ภาษาศิลปะ ดังตัวอย่างในธรรมบทกล่าวว่า พระศรีลังกาทำสมาธิแล้วไม่ได้ผลแต่พอได้ยินเสียงเพลงขับของเด็กเลี้ยงวัว จิตกับหลุดพ้นสว่างโพลงได้อย่างน่าประหลาด ท่านเล่าเพื่อแสดงว่า “นี่คือตัวอย่างอานุภาพของศิลปะ” (สมภาร  พรมทา 2557 : 8)

       ฮูปแต้มที่ปรากฏในสิมอีสานจึงเป็นการนำเสนอผลงานทางศาสนศิลป์หรือศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับในศาสนา เป็นศิลปะที่มีผลโดยตรงที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมวลมนุษย์มาช้านาน และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็น ภูมิปัญญา ความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นสื่อถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในฮูปแต้มสิมอีสานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาถึงทัศนะทางปรัชญาของนักปรัชญาอีกท่านหนึ่ง คือ  เฮเกล (Hegel) มีแนวคิดว่า  ความงาม คือ ความจริงที่ฉายจากสิ่งสมบูรณ์ผ่านโลกทางประสาทสัมผัสตามที่จิตของมนุษย์ สามารถเข้าใจได้ ความงามจึงเป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและความงามที่มีสุนทรียภาพคือความงามในศิลปะ ซึ่งศิลปะที่แฝงความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อไว้ด้วยนั้นจัดเป็นศิลปะเชิง สัญลักษณ์ (Symbolic art)

แต่มนุษย์มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ผ่านภาษา ดังนั้นจึงควรพิจารณาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ผ่านภาษาศิลปะจึงจะสามารถเข้าถึงความงามของศิลปะที่แท้จริงได้ สัญลักษณ์ที่ปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสานจัดเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ  ซึ่งในขั้นลึกอาจยังนำไปสู่การเข้าถึงธรรมอันแฝงอยู่ในลักษณะสัญลักษณ์ที่ ปรากฏอยู่ด้วย ภาษากับศิลปะจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันและมีความสำคัญดังกล่าวมา แต่อย่างไรก็ตามการสร้างฮูปแต้มสิมอีสานก็ไม่เพียงแต่ให้เกิดสุนทรียภาพในทางศิลปะเท่านั้น คือ มิใช่สร้างศิลปะเพื่อศิลปะ แต่ผลงานจะต้องสื่อให้เห็นหลักปรัชญา ความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงแนวทางที่จะนำหลักธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตแฝงอยู่ในผลงานนั้นๆ ด้วย ซึ่งก็หมายถึง การใช้ภาษาศิลปะให้เกิดดุลยภาพระหว่างสุนทรียศาสตร์กับการรับรู้ของมนุษย์ และการที่ศิลปินจะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้ผสานกลมกลืนกันได้นั้น ศิลปินต้องแสดงออกให้เห็นถึงสัจธรรมที่พระพุทธศาสนาต้องการจะสื่อสารกับผู้คนได้ผ่านภาษาทางศิลปะ และภาษาศิลปะนั้นจะต้องไม่แยกต่างหากจากความดีงาม ความเชื่อ ความศรัทธา ดังที่อริสโตเติลเรียกร้องให้งานศิลปะต้องมีอิทธิพลทางศีลธรรมต่อประชาชน ความงามและความดีงามจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน (ลีโอ ตอลสตอย 2538 : 187-188) 

         


บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย

ก .ข้อมูลปฐมภูมิ

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ

     ราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.

ข. ข้อมูลทุติยภูมิ

(๑) หนังสือ:

ชวลิต  อธิปัตยกุล, สิมญวน ในอีสาน, อุดรธานี : เต้า-โล้. ๒๕๕๖.

ลีโอ ตอลสตอย, ศิลปะคืออะไร, สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ไอล์เมอร์ โม้ด.

    พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คมบาง ๒๕๓๘.

    กรุงเทพมหานคร:๒๕๔๘.

เสถียร  โพธินันทะ, พุทธธรรมกับปรัชญา, กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓.

สุภน  สมจิตศรีปัญญา, ลำพระเวส-เวสสันดรชาดกอีสาน กัณฑ์มัทที(มัทรี) ๙๐ พระคาถา เคน ลา

               วงศ์ ปริวรรต” ในเทียนภูมิปัญญาที่ดับไป, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การ

                สงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๓๙.

สุมาลี  เอกชนนิยม, ฮูปแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,

              ๒๕๔๘).

ศิลป์  พีระศรี, ศิลปะวิชาการ๓ ศิลปะสงเคราะห์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

    อนุสรณ์. ปทุมธานี: ๒๕๕๓.

สมภาร  พรมทา. แนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี,วารสารปัญญา ฉบับ ศิลปะวรรณกรรม เล่มที่ ๑ ปี ๒๕๕๗.

อู่ทอง  ประศาสน์วินิจฉัย,  สิมม่วนซื่น, กรุงเทพมหานคร:คณะบุคคลบ้านเรียนน้ำริน , ๒๕๕๓,

              























[๑] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งการศึกษารายวิชา ปรัชญาภาษา ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๖๐

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ศาสนาแห่งเสรีภาพในปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ (Freedom Religion in Postmodern Philosophy)




ศาสนาแห่งเสรีภาพในปรัชญายุคหลังสมัยใหม่
Freedom Religion in Postmodern Philosophy

พระอดิเรก  อาทิจฺจพโล
นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          จากการศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ในปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ ข้าพเจ้าพบว่า ปรัชญายุคหลังสมัยใหม่มีหลักการ และทฤษฎี ที่เน้นอิสรเสรีภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ   แต่มนุษย์ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ผ่านภาษา ดังนั้นโพสต์โมเดิร์นจึงไม่เชื่อว่า มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่เห็นว่าความจริงอาจมีได้หลายมุม
          หลักที่สำคัญที่น่าจะเป็นหลักใหญ่ที่สุดของแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นคือ การที่โพสต์โมเดิร์น ปฏิเสธอำนาจของกรอบระเบียบโครงสร้าง และรูปแบบจารีตประเพณีเดิมที่ยึดถือปฏิบัติตามๆ กันมา  โดยสรุปแล้วนักปรัชญาในยุคหลังสมัยใหม่ จะมีแนวคิดที่ประกอบไปด้วย ๕ แนวทาง  ดังต่อไปนี้
               .      Resisting Grandnaratives.  การปฏิเสธอภิมหาเรื่องเล่า
               .      Attacking Science            การต่อต้านวิทยาศาสตร์
               .      Deconstruction               การรื้อสร้าง
               .      Language Game              เกมส์ภาษา
               .      Rewriting History.            การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่
แนวทางทั้ง ๕ ประการนี้มักจะมีอยู่ในแนวคิดของนักปรัชญายุคโพสต์โมเดิร์นทุกคน ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น  ฟูโกและการวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ของเขา ,Lyotard และการเล่นเกมโพสท์โมเดิร์น,  อลาสแดร์ แม็คอินไทร์ กับแนวคิดประเพณีและการฟื้นคืนของจริยศาสตร์เชิงคุณธรรม ยังมีนักปรัชญาอีกหลายคนที่เป็นตัวแทนของแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นที่สำคัญ เช่น อัลแบร์ การ์มูส์, รอว์ที, ฯลฯ
ขอยกตัวอย่างที่สามารถนำแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นไปอธิบายปรากฎการณ์ของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น พอสังเขป ดังต่อไปนี้
“เรื่องมีอยู่ว่า วัดทุกวัดในประเทศไทยปัจจุบัน จะมีบุคคลหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับแรกก็เป็นมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหนฯ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เลขาเจ้าอาวาส และพระลูกวัด สามเณร การแบ่งระบบนี้เป็นไปตามกฎหมายคณะสงฆ์ ที่ออกมาบังคับใช้กับวัดทุกวัดทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการปกครองดูแลวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อำนาจสูงสุดอยู่ที่ มหาเถรสมาคม ไล่ลงมาตามลำดับ รั้งท้ายสุดคือ พระลูกวัดและสามเณร เมื่อถือตามรูปแบบนี้ คำสั่งต่างๆ มักจะมาจากข้างบน สั่งลงมาข้างล่าง  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการถามความเห็นหรือการลงมติแต่อย่างใด ผู้ได้รับตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้คือผู้ได้รับสิทธิและอำนาจทั้งหมดในการปกครอง นั้นสามารถสั่งให้ใครอยู่หรือออกจากวัดได้ในทันที  แม้จะมีพรรษามากก็ตาม
  แนวคิดสมัยใหม่บอกเราว่า ให้เราทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ โครงสร้างที่ผู้มีอำนาจไตร่ตรองว่าดีแล้ว และเราก็ต้องเห็นว่ามันดีงามด้วย แต่มีหลายครั้งที่ระบบดังกล่าวสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น  ในอดีตพระสงฆ์จะเคารพกันตามอายุพรรษา ซึ่งก็ถือเป็นประเพณีสืบทอดต่อๆ กันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่เมื่อเมื่อมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ออกมาใช้วิถีทางเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป กลายเป็นต้องทำตามระบบโครงสร้างการบริหารงาน ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกฎหมาย โดยมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ ใช้อำนาจต่างๆ ออกกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้กับพระสงฆ์ทุกรูป โดยส่งผ่านอำนาจนั้นจากบนลงล่าง ท้ายที่สุดบุคคลที่ไม่เคยได้ออกเสียง ไม่เคยได้ให้ความยินยอม และต้องถือปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียวคือ พระลูกวัด หรือสามเณร ที่ไม่มีตำแหน่งใดๆ แม้จะมีพรรษามากก็ไม่มีข้อยกเว้น
พวกเรากำลังถูกระบบบริหารงานที่ผิดพลาดอันนี้ ชี้ทางให้เดินไปสู่หายนะ เรามีมหาเถรสมาคม มีสำนักงานพระพุทธศาสนา มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ และการศึกษาของพระสงฆ์อีกมากมาย แต่ทำไมมีแต่ข่าวโจมตีพระสงฆ์ มีข่าวเงินทอนวัด มีข่าวพระเสพกามมั่วสีกา มีข่าวเณรประพฤติผิดพระธรรมวินัย  ระบบที่ดีที่ออกโดยกฎหมายคณะสงฆ์ทำไมแก้ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้  ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังเป็นเหตุให้เกิดระบบชนชั้นวรรณะขึ้นในคณะสงฆ์ มีสมเด็จฯ ,มีพระพรหม, พระธรรม,พระเทพฯ,พระราชาคณะหลายระดับจนจำไม่ไหว 
จะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วเราควรแก้ไขการใช้กฎหมายคณะสงฆ์ใหม่หรือไม่ จากนั้นรื้อสร้าง (Deconstruction) ระบบที่มีคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนากันใหม่  เรามีกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ทำไมถึงมีพระปลอม พระตุ๊ด พระเสพกาม พระมั่วสุรายาเมา ฯลฯเต็มไปหมด  เรามีคณะมหาเถรสมาคม แต่พระพุทธศาสนากลับอ่อนแอ  เรื่องเหล่านี้มันเกิดจากระบบที่เราคิดว่า “ดีที่สุด”แล้วหรือ  พระธรรมดาเป็นใครในสังคมแบบชนชั้น. พระธรรมดาอยู่จุดไหนของระบบกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งไม่มีแม้แต่มาตราเดียวที่กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของพระภิกษุธรรมดาๆ เอาไว้ เขาเหล่านั้นกลายเป็นบุคคลผู้มีตัวตนแต่ถูกทำให้ไม่มีตัวตนและจะมีตัวตนได้ก็แต่ในความคิด เวลาที่ลุกขึ้นมาพูด เวลาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนา หรือเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ 
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพ ภราดรภาพ พระพุทธเจ้าเป็นบุรุษที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ เป็นมหาบุรุษผู้ยึดมั่นในแนวทางแห่งคุณความดี เป็นต้นแบบของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ระบบที่กำลังนำพาเราอยู่นี้มันทำให้เราเห็นแต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธไม่เข้าไปข้องเกี่ยว เพราะมันจะทำให้เสรีภาพของเราลดลง ภราดรภาพของเราถูกขัดขวาง คุณความดีกลายเป็นธุรกิจ และความเมตตาที่แท้จริงกลายเป็น ความไม่จริงใจ ระบบที่ข้าพเจ้าว่านี้หยั่งรากลึกลงไปในวิถีชีวิตของเรา กัดกร่อนเราให้อ่อนแอลงทุกวันเหมือนมะเร็งร้าย หากเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วรื้อสร้างและการเขียนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาใหม่ ในไม่ช้าพระพุทธศาสนาอาจไม่เหลืออยู่บนแผ่นดินไทยของเราอีกต่อไป

     ท้ายที่สุดแม้ข้าพเจ้าจะปฏิเสธหลักการใหญ่ ๆ ของกฎหมายคณะสงฆ์แบบเดิม ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธกฎหมาย แต่ปฏิเสธการยกเอากฎหมายขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานเดียวแบบอำนาจเผด็จการต่างหาก   ตรงกันข้ามข้าพเจ้ากลับคิดว่า เราจะใช้ชีวิตยังไงก็ต้องใช้กฎหมาย เพราะคนเราหากไม่มีกฏหมายมันก็อยู่ไม่ได้ แต่อย่ามาเอากฎหมายมาอ้างเพียงเท่านั้น ควรคำนึงถึงทุกบริบทที่เกี่ยวข้องด้วยข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิเสธกฎหมายคณะสงฆ์ไปเสียทุกเรื่อง แต่ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายคณะสงฆ์มีช่องโหว่และกำลังนำพาเราไปสู่หายนะ  ข้าพเจ้าไม่ได้เสนอให้โละกฎหมายคณะสงฆ์ทิ้ง เพียงแต่ว่าควรมีการรื้อสร้างการใช้กฎหมายกันใหม่ และต้องทำด้วยความระมัดระวัง ต้องคำนึงบริบทและปัจจัยเฉพาะที่มาเกี่ยวข้องในทุกส่วนของคณะสงฆ์ไม่ใช่หลงลืมใครบางคนไป  ข้าพเจ้าต้องการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากฎหมายคณะสงฆ์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จในตัวของมันเอง.  


  

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...