วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566

การเมืองบนเส้นทางใหม่

 


….เมื่อประเทศเดินทางมาถึงยุคที่พลเมืองทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันเลือกเส้นทางใหม่ผ่านมุมมอง ความคิดของตนตามวัยของแต่ละคน การพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สามารถที่จะทำที่ไหน เวลาใด ก็ได้วันนี้จึงขอยกคำวลี  หนึ่งที่เขียนเอาไว้ว่า 

นกบางตัวไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในกรง เพราะขนของมันเจริดจรัสจนเกินไป "

...เมื่อก่อนการเมืองมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจบางกลุ่ม  เด็กๆเยาวชนจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง​ และเขาก็จะได้รับจัดสรรกฎ ระเบียบ กรอบเกณฑ์ต่างๆ มากมายเสียจน กลายเป็น การลดทอนความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอันเจริดจรัสทางการเมืองลงเหลือเพียง การดำเนินชีวิตตามโปรแกรมคำสั่ง ต้องการให้ทำอะไรก็ออกคำสั่ง แล้วเราก็ทำตามโดยไม่เคยมีคำถาม ใครปฏิบัติตามได้สังคมก็จะบอกว่า "เธอเป็นคนดีแต่หากมีใครก็ตามพยายามคิดนอกกรอบ แหกกฏ หรือขบถต่อกฎเกณฑ์ขบธรรมเนียม เขาก็จะกลายเป็นคนเลว และถูกประณามจากสังคม

...ชีวิตแห่งการเมืองในแบบนี้ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจาก การเขียนโปรแกรมขึ้นมาด้วยคำสั่งชนิดต่าง แล้วป้อนเข้าไปในระบบฮาร์ดแวร์ จากนั้นสมองกลเหล่านั้นก็จะคิดและคำนวณออกมาเป็นผลลัพภ์ที่ถูกต้อง ตรงตามที่ผู้เขียนโปรแกรมต้องการ นี่คือระบบการเมืองไทยแบบเก่าที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในบ้านเราตอนนี้

..บรรดารัฐบาลทั้งหลายที่ผ่านมาในอดีตก็มักจะมองว่า " การควบคุมประเทศโดยกฏเกณฑ์ต่างๆ  นั้นเป็นเรื่องที่ดี และจำเป็นต้องมีในระบบการเมือง โดยกลุ่มพวกเขาจะพากันร่างต้นฉบับ ระเบียบ แบบแผนออกมาชุดหนึ่งและใช้มัน เสมือนหนึ่งว่า เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะละเมิดมิได้ มีสถานะที่คอยบังคับว่า “ พลเมืองอย่างเราต้องทำอย่างไร ประชาชนต้องพูด ห้ามพูดอะไร " (ตามนโยบาย หรือ ซอฟแวร์ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ )

...คำถามที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้จึงมีว่า " หากมีนักการเมืองคนหนึ่งมาบอกว่า รู้จักประชาชนดีที่สุด รู้จักการเมืองการปกครองดีที่สุดและอาสามาเพื่อลิขิตกฎเกณฑ์ให้ประชาชนทำตาม หรือไม่ให้ทำอะไร ให้ทำอะไรมาก หรือ ให้ทำอะไรน้อย " คุณจะยอมทำตามหรือไม่คงไม่มีมนุษย์คนใดยอมให้เขาทำเช่นนั้นเป็นแน่

...เพราะเหตุว่า พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นมีมากมายเกินจินตนาการ มีพลังอำนาจที่สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ต่าง  ได้ยิ่งเสียกว่าตัวนักการเมืองผู้นั้นเองจะคาดไปถึง ขีดความสามารถแห่งสติปัญญาของประชาชนจึงขัดแย้งกับกฎเกณฑ์และกรอบต่าง  ที่นักการเมืองผู้นั้นพยายามจะเขียนและล้อมกรอบเอาไว้เสมอ  และแน่นอนว่า มันจะพยายามทำลายกรอบเมื่อมีโอกาส ซึ่งไม่ใช่ความชั่วร้ายไม่ใช่ความเลว แต่เพราะหัวใจของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิต มีอิสระและเสรีภาพ มากกว่าที่จะถูกขังไว้ ให้ตายไปอย่างเงียบงัน นั่นเอง ด๊อกเตอร์ถังขยะ)

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

พระพุทธศาสนากับจักรวาลฟิสิกสมัยใหม่



“พระพุทธศาสนากับจักรวาลฟิสิกส์สมัยใหม่” Buddhism and modern cosmic physics


โดย ด๊อกเตอร์ถังขยะ


ในฐานะที่ฉันเรียนและจบมาในด้านปรัชญา และส่วนตัวมีความสนใจ ความสัมพันธ์กันระหว่างจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนากับจักรวาลฟิสิกส์สมัยใหม่มาตั้งแต่ครั้งยังเรียนปริญญาตรีด้านพระพุทธศาสนา ครั้งแรกที่ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนา ทำให้เห็นความสอดคล้องต้องกันระหว่างประสบการณ์ตรงจากภายในของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับความรู้ว่าด้วยจักรวาลวิทยาสมัยใหม่ที่เพิ่งค้นพบ จนเกิดความสงสัยอัศจรรย์ใจว่าความจริงที่ได้มาจากทั้งสองเส้นทางในระยะเวลาที่ห่างกันหลายพันปีมันเกิดมาตรงกันในหลักการสำคัญๆ ได้อย่างไรซึ่งก็สงสัยตามประสาคนที่ชอบค้นหาความจริงบทความนี้ออกจะยาวสักหน่อย แต่ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาพอสมควร โดยเปรียบเทียบกันระหว่างคัมภีร์กาลจักร ของทิเบตกับจักรวาลวิทยาฟิสิกซ์ เพื่อให้เห็นความสอดคล้องต้องกันในหลายประเด็น


...คัมภีร์กาลจักรนั้นอ้างว่าหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วหนึ่งปี ในกลางเดือนสามพระองค์ได้ไปปรากฏที่เขาคิชกูฏและพร้อมกันนั้นก็ได้ส่งกายทิพย์ของพระองค์ไปที่มหาเจดีย์ของเมืองอมราวัตถี (มัทราสที่อินเดียตอนใต้เพื่อแสดงความสำคัญของโพธิวิมุตติด้วยระบบกาลจักราตันตระซึ่งต่อมาได้บันทึกไว้เป็นภาษาสันสกฤต และแพร่ไปถึงทิเบตโดยภิกษุชูลีปะจากนาลันธะกับบัณฑิตที่ชื่อ นารถภัตชาวอินเดีย(ผู้มีชื่อเรียกหากันในทิเบตว่านาโรปะเมื่อปีพ..1026 ต่อมาคัมภีร์ที่เป็นภาษาสันสกฤตเล่มนั้นก็ถูกนำมาแปลเป็นภาษาทิเบตโดยโสมณะภัตที่เป็นศิษย์ของนาโรปะ


คัมภีร์กาลจักรเล่าว่าจักรวาลนั้นจริงๆ แล้วเป็นอนันต์ (infinity) ไม่มีการเกิดการดับแต่จะให้ลูกหลานจากการพองๆ ยุบๆ เรื่อยไปนั่นหมายถึงไม่มีเหตุที่ก่อผล ขณะที่จักรวาลที่มีโลกและสัตว์โลกอาศัยอยู่แห่งนี้เป็นเพียงหนึ่งของจักรวาลที่มีนับจำนวนไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตและมนุษย์รวมทั้งสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดมาจากธาตุห้าธาตุ คือดิน น้ำไฟ ลม และอากาศธาตุ (อากาศธาตุถูกแยกเป็นสองธาตุในบาลีไตรปิฎกของเถรวาทเป็นที่ว่างหรือเรียกซ้ำว่าอากาศธาตุกับวิญญาณธาตุ)โดยมีดิน น้ำ ไฟลมที่ล้วนวิวัฒนาการขึ้นมาจากอากาศธาตุ (space element) เป็นความว่างเปล่า หรือสุญตาเป็นพื้นฐานที่มาคัมภีร์กาลจักรบอกว่าอากาศธาตุนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นความว่างที่ไม่มีอะไรเลยหากจะประกอบด้วย"อนุภาคว่างเปล่า" (empty particles or space particles) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ให้กำเนิดแก่สสารอนุภาคที่รวมตัวกันเป็นดิน น้ำ ไฟ ลมโดยที่อนุภาคว่างเปล่าเองก็ประกอบด้วยอนุภาคที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง -ละเอียดจนประหนึ่งเป็นความว่างเปล่า - อีกทีและเป็นอนุภาคว่างเปล่านี้เองที่ให้วิวัฒนาการ(ของลม ไฟ น้ำ ดิน)และวิวัฒนาการย้อนกลับ (สลายด้วยการดูดซึมกลับสู่ความว่างเปล่าของดิน น้ำ ไฟลม)ที่ประกอบเป็นรูปกายและพลังงานของจักรวาล (นี้รวมทั้งชีวิตทั้งหลายทั้งปวงหรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า อากาศ (space) และอนุภาคว่างเปล่า (space particles) คือที่มาของกระบวนการทั้งหมดของจักรวาล คำว่าอนุภาคนั้น - ในระบบกาลจักร -ให้ความหมายที่ไม่ได้แปลว่าเป็นสสารเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงศักยภาพ (potentialities) ของความเป็นสสารหรือพลังงานด้วย


ฟิสิกส์จักรวาลวิทยาใหม่ให้ข้อมูลที่อาจชี้บ่งว่าจักรวาลมีจำนวนเป็นอนันต์ (infinity or multiverses) โดยงอก (budding) หรือให้ลูกหลานออกจากจักรวาลแม่ตลอดเวลา ที่ไร้สาเหตุ (non-local) สสารและ/หรือพลังงานรวมชีวิตและมนุษย์วิวัฒนาการขึ้นมาจากอนุภาคเทียม (virtual particles) - ไร้มวลไร้พลังงานชั่วคราวที่ประกอบเป็นความว่างของที่ว่าง (และเวลา) -ที่มีศักยภาพให้อนุภาคจริงๆได้


ระบบกาลจักรบอกว่าการเกิดและการสลายของจักรวาลมีลักษณะเป็นวงจรหรือวัฏจักรที่ประกอบด้วยสี่ระดับหรือสี่ช่วงระยะคือหนึ่ง การเกิดของจักรวาล สอง การตั้งอยู่และการเปลี่ยนแปลงไป สามการสลายตัวของจักรวาล และสี่ ระดับหรือช่วงระยะแห่งความว่างเปล่าเมื่อดิน น้ำ ไฟ ลมสลายและถูกดูดซึมกลับสู่ความว่างและแล้วจักรวาลใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาจากซากของจักรวาลเก่าที่ซ่อนเร้นอยู่ในอนุภาคว่างเปล่านั้น


จักรวาลวิทยาใหม่ชี้บ่งว่าจักรวาลเกิดจากการสั่นสะเทือน (quantum fluccuation) ของพลังงานหลงเหลือจากการสลายตัวของจักรวาลเก่าสู่สภาพว่างทางแควนตัม (quantum vacuum) โดยเริ่มต้นด้วยอนุภาคเทียม ที่จะกลายเป็นอนุภาคจริง (real particle) หรือสสารทีหลัง โดยนักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่ากระบวนการที่เป็นวงจรของจักรวาลวิทยาใหม่ (ขึ้นอยู่กับการหากฎแห่งความเป็นเอกภาพที่ยิ่งใหญ่grand unified theory or GUT ที่รวมกฎทั้งหมดทางฟิสิกส์ให้พบจะประกอบด้วยสี่ช่วงระยะคือ หนึ่งซิงกูลาริตี้เมื่อกฎและสมการทางคณิตศาสตร์ล่มสลายไปทั้งหมดและเกิดการระเบิดที่เรียกกันว่าบิ๊กแบงจากการสั่นสะเทือนของพลังงานหลงเหลือที่ซ่อนอยู่ในความว่างเปล่าทางแควนตัมที่ว่านั้นสอง การดำรงอยู่ของจักรวาลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา สามการสลายตัวของจักรวาลบิ๊กครันช์หรือบิ๊กฟรีซ (big crunch or big freeze) โดยการรวมตัวกันของหลุมดำที่อยู่ในใจกลางของกาแล็กซีหรือที่อี่นใด และสี่ความว่างเปล่าทางแควนตัม เมื่อสสารและพลังงาน (ซากของจักรวาลเก่า)ถูกดูดซึมกลับสู่ความว่างนั้น


คัมภีร์กาลจักรยังบอกต่อไปด้วยว่าแม้ว่าจักรวาลนี้เองก็มีความกว้างใหญ่ไพศาลอย่างยิ่งโดยใช้คำว่าพันล้านเท่าของจำนวนโลก หรือจำนวนของโลกที่คาดคิดไม่ได้ยกกำลังสอง (square untold) ในมัชฌิมจักรวาล (กาแล็กซี)ของเราเองก็มีระบบดาวที่เกิดใหม่และระบบดาวที่ตายไปตลอดเวลาและระบบสุริยะของเราก็เกิดมาด้วยกระบวนการนั้นดาวทั้งหมดรวมทั้งดาวเคราะห์หรือโลกล้วนมีลักษณะทรงกลมแขวนโคจรอยู่ในที่ว่างของอวกาศ (empty space) ฉะนั้น จากคัมภีร์ที่มีในช่วงแรกๆของพุทธศาสนาจึงไม่เพียงแต่กล่าวถึงระบบโลกที่มีมากมาย (multiple world systems) หรือมีมากยิ่งกว่าเม็ดทรายที่เรียงรายอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเท่านั้นหากยังระบุว่าระบบดาวแต่ละระบบมีการเกิดใหม่และมีการดับสลายตลอดเวลา โดยผ่านวัฏจักร (a cycle of an aeon) สี่ช่วงระยะ หรือสี่ยุค (era)


ว่าไปแล้วโดยหลักการรวมทั้งบางครั้งแม้ในรายละเอียดจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่บันทึกไว้ในกาลจักราตันตระนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากจักรวาลวิทยาที่ตั้งบนฟิสิกส์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้นั่นคือจักรวาลทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่มีการเกิดและการดับอย่างสิ้นสูญไปจริงมีแต่การไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ นักฟิสิกส์ยุคใหม่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักเชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างที่มิชิโอะ กากุ กล่าวว่า จักรวาลมีความเป็นอนันต์ (multiverses) - เกิดใหม่และดับสลายไป - แบบไม่มีความจบสิ้นโดยมีจักรวาลของเราเฉพาะจักรวาลที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นหนึ่งในนั้นยิ่งไปกว่านั้น มิชิโอะ กากุยังกล่าวต่อไปว่าพุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลไม่มีเกิดไม่มีดับเป็นวัฏจักรของวิวัตตาและสังวิวัตตา  มีบิ๊กแบงที่ไม่มีการจบสิ้น  นั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะพุทธศาสนาหมายถึงจักรวาลที่เป็นทั้งหมด (multiverses) จึงไม่มีความจบสิ้นส่วนศาสนาอื่น เช่น คริสต์ศาสนาที่บอกว่ามีการสร้างจักรวาลนั้นก็เป็นเรื่องถูกต้องอีกเหมือนกัน เพราะเป็นการกล่าวถึงเฉพาะจักรวาลนี้หรือจักรวาลของมนุษย์ที่มีการสร้างขึ้นหลังจากที่มีการระเบิดบิ๊กแบงเพียงครั้งเดียว


อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากจักรวาลแห่งรูปกายและปรากฏการณ์ที่ดูจะตรงกันระหว่างข้อมูลของกาลจักราตันตระกับข้อมูลจักรวาลวิทยาใหม่ในทางวิทยาศาสตร์แต่เนื่องจากหลักการและวิธีการของวิทยาศาสตร์ต้องจำกัดตัวเองโดยการพิสูจน์ในห้องทดลองและ/หรือสนับสนุนด้วยสูตรและสมการทางคณิตศาสตร์ผ่านประสาทสัมผัสภายนอกที่รับรู้ด้วยจิตรู้อีกทีดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงต้องทิ้งเรื่องของจิต(consciousness) หรืออย่างดีสามารถแตะได้เพียงบางส่วนบางตอน (ของ mental pathway) ที่เล็กน้อยเท่านั้นทำให้เรื่องของจิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณจะดำรงอยู่นอกวิทยาศาสตร์ในขณะที่ศาสนารวมทั้งระบบกาลจักรอธิบายเรื่องของจิตจากประสบการณ์ภายในของผู้ปฏิบัติศาสนาถึงระดับวิมุตติประสบการณ์ที่สาธารณชนคนทั่วไปจะต้องเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อฉะนั้นเองเรื่องของจิตทั้งกระบิสติ เวทนา สัญญา  รวมทั้งจิตรู้ ที่ประกอบเป็นความคิดมโนทัศน์ทั้งหลายทั้งปวงที่ส่วนหนึ่งวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาหรืออธิบายดังที่กล่าวมาข้างบน  และเรื่องของจิตไร้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกหรือเป็นเรื่องจิตเหนือสำนึกที่เป็นธรรมจิต จึงเป็นประสบการณ์ที่ได้จากเส้นทางภายในหรือศาสนา


พุทธศาสนาและกาลจักราตันตระล้วนพูดถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกำเนิดของจักรวาล(นี้กระทั่งวิวัฒนาการของโลกแห่งสสารและโลกแห่งชีวิต -สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งมนุษย์ - กับวิวัฒนาการของจิต หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาบอกว่า กำเนิดของจักรวาล (นี้)มีขึ้นมาได้ก็เพื่อให้สัตว์โลกและมนุษย์สามารถวิวัฒนาการตามขึ้นมาได้และวิวัฒนาการทางกายภาพมีขึ้นมาก็เพื่อให้จิตเข้าไปอาศัยอยู่และเรียนรู้โลกเรียนรู้ตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างกันและรวมทั้งการเรียนรู้จักรวาลหรือสัทธรรมความจริงได้ซึ่งตรงกับจักรวาลวิทยาใหม่ที่อธิบายว่าจักรวาลนี้มีขึ้นมาก็เพื่อมนุษย์สามารถมีขึ้นมาได้และสุดท้ายก็สามารถเรียนรู้ตัวเองรู้จักรวาลได้ (cosmological anthropic principle) 

...เพราะฉะนั้นเองจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาจึงพูดถึงกฎหรือกลไกที่บริหารและควบคุมวิวัฒนาการของจักรวาลโลกและภพภูมิต่างๆรวมทั้งสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์และสังคมของมนุษย์ว่า มีอยู่ด้วยกันสองกฎหรือสองกลไกซึ่งจะมีปฏิสัมพันธ์กันและกัน นั่นคือ กฎแห่งกรรมกับกฎแห่งการเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน หรือ อิทัปจยตาในขณะที่จักรวาลวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์จะรู้จักและเน้นเฉพาะประเด็นหลังประเด็นเดียว...

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บทความวันพระ เรื่อง ความแตกต่างและความเหมือนระหว่างพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

 

โดย พระสมุห์อดิเรก  อาทิจฺจพโล, ดร.

..ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปรัชญา (Philosophy) ที่แปลว่าความรักในความรู้กับศาสนานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในลำดับแห่งวิวัฒนาการที่ผ่านมาบรรดาวิชาทั้งปวง ปรัชญาเป็นวิชาแรกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ต่อมาก็คือศาสนา หากกล่าวเฉพาะพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา ก็จะได้ลักษณะเฉพาะว่า พุทธปรัชญามีลักษณะเป็นคำถามส่วนพุทธศาสนามีลักษณะเป็นคำตอบ มีบ่อเกิดมาจากแหล่งเดียวกันคือจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า

...พุทธปรัชญามีฐานะเป็นทฤษฎี พุทธศาสนาเป็นภาคปฏิบัติ

...พุทธปรัชญาเป็นความคิด พุทธศาสนาเป็นการกระทำ

พุทธปรัชญาเกิดจากความสงสัย พุทธศาสนาเป็นการตอบสนองความสงสัยและเป็นคำตอบที่ตอบแล้ว 

ปรัชญาทุกระบบ โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออกซึ่งรวมทั้งพุทธปรัชญาด้วย มุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต เช่นเดียวกับปรัชญาตะวันตก แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว โดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตกอาจดำเนินชีวิตไปในทางตรงกันข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนา คือแยกออกเป็นคนละส่วนกับศาสนา ส่วนปรัชญาตะวันออกไม่อาจแยกออกจากศาสนาได้เด็ดขาด ทั้งนี้เพราะนักปรัชญาตะวันออก เมื่อแสวงหาความจริงจนพบแล้ว ก็พยายามที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดขึ้นไว้ เพื่อเข้าถึงความจริงนั้น ๆ ฉะนั้น ปรัชญาตะวันออกเช่นพุทธปรัชญาที่กำลังกล่าวถึงนี้ จึงเป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวความคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น ได้นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน (way of life) ด้วย โดยลักษณะดังกล่าวนี้ พุทธปรัชญากับพุทธศาสนาจึงแยกออกจากกันได้ยาก ไม่เหมือนปรัชญาตะวันตกซึ่งเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ส่วนปรัชญาตะวันออกโดยทั่วไปได้กลายมาเป็นรากฐานของศาสนาดั่งเช่นพระพุทธศาสนา เป็นต้น


ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

แม้ว่าพุทธศาสนากับพุทธปรัชญาจะมีบ่อเกิดมาแหล่งเดียวกันคือ ประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ก็ตาม แต่มีลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างตามธรรมชาติของประสบการณ์ วิธีการ และจุดหมายของแต่ละวิชา ซึ่งอาจยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นประเด็นได้ดังนี้

๑.พุทธศาสนามุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบวิถีทางและอิทธิพลของตนที่มีต่อชีวิตและสังคมรวมทั้งการตีความหลักคำสอนต่าง ๆ พยายามตอบปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับชีวิต โดยการยึดหลักเอาศรัทธาเป็นหลักเป็นพื้นฐาน,ส่วนพุทธปรัชญามุ่งแสวงหาการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพยายามเข้าใจตนเองและโลกโดยอาศัยเหตุผลเป็นหลักการและจุดยืนในการมองปัญหาต่าง ๆ

๒.พุทธปรัชญามุ่งแสวงหากฎทั่วไป ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของมนุษย์โดยทั่วไป, ส่วนปรัชญาไม่ได้มุ่งแสวงหากฎทั่วไปเหมือนวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา เป็นการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานอ้นมีลักษณะเป็นนามธรรม สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและสถานที่

๓.พุทธศาสนาไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียวมาอธิบายประสบการณ์ของชีวิต แต่อาศัยความงาม อารมณ์ และความรู้ความศรัทธามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อที่จะเข้าใจในหลักธรรมของศาสนา ส่วนพุทธปรัชญามิได้แสวงหาความชื่นชมและความงามในตัวของมันเองในการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ อาจจะเกิดมีความชื่นชมและความงามควบคู่ไปด้วย

๔.พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะต้อง”พิสูจน์” ความจริง อันเป็นคำตอบปัญหาเรื่องชีวิต ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตนในแต่ละศาสนาบางอย่างอาจจะสอดคล้องลงรอยกันกับวิธีการ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทุกกรณี เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อต่อสิ่งนอกเหนือกฎเกณฑ์เหนือธรรมชาติ, แต่พุทธปรัชญาพยายามหลีกเลี่ยงการพิสูจน์ตามแบบวิทยาศาสตร์ คงมุ่งแต่ค้นคว้าหาคำตอบ คือปัญหาที่เกิดขึ้นอันอาจเป็นเพียงคำอธิบายเบื้องต้น ซึ่งอาจได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาอยู่แล้ว

๕.พุทธศาสนายึดมั่นในเรื่องคุณค่า และข้อเท็จจริง ถือว่ามีมาในศาสนาเพราะทำให้การปฏิบัติตามหลักมีความหมาย แต่พุทธปรัชญามีปัญหาเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงแสดงบทบาทแตกต่างกันกล่าวคือ พุทธอภิปรัชญาเกี่ยวข้องกับความจริงสูงสุด พุทธญาณวิทยาเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ส่วนพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า และแต่ละประเภทของปรัชญาจะเน้นบทบาทของคุณค่าไม่ตรงกัน 

อย่างไรก็ตาม หากเราถือหลักการอันเป็นสากลโดยทั่วไปซึ่งเป็นธรรมชาติของระบบแนวคิดในโลกทางตะวันออกแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ศาสนากับปรัชญาไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ไม่อาจแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ ทั้งศาสนาและปรัชญาต่างมีข้อเหมือนกันคือ “เป็นผลผลิตของประสบการณ์ชีวิต”

ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

๑. จุดมุ่งหมายของการศึกษา พระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ ผู้ศึกษาจะปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนโดยตรงเพื่อเขาถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

ส่วนพุทธปรัชญาศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุและผลอันเป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการของตน คือจะศึกษาให้เกิดความรู้ว่าอะไร ทำไป อย่างไรเท่านั้น

๒. การนับถือพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนามักถือพระไตรปิฎกว่าเป็นคำประศาสน์ของผู้ตรัสรู้อย่างจริงจัง ไม่มีบกพร่อง และไม่กล้ามองในแง่ผิดหรือบกพร่อง ผู้ใดสงสัยคำประศาสน์ของพระศาสดาที่ตนนับถือและวิพากษ์วิจารณ์คำประศาสน์นั้น ผู้นั้นจะถูกประณามว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ส่วนพุทธปรัชญายอมรับว่าสิ่งใดจริงก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมีเหตุผลพอ หรือทนต่อการพิสูจน์ตามหลักเหตุผล หาได้นับถือพระพุทธเจ้าในฐานะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เพียงแง่เดียวไม่

๓. ในเรื่ององค์ประกอบ พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบทั้งหมด ๕ องค์ประกอบคือ ศาสดา, ศาสนธรรม, ศาสนทายาท, ศาสนสถาน, และศาสนพิธี

ส่วนพุทธปรัชญา ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าว แต่เน้นเรื่องของทฤษฎีล้วน ๆ โดยที่จริงศึกษาในแง่หลักการเพื่อให้เกดความรู้ว่า อะไร ทำไม อย่างไรเท่านั้น

๔. ในเรื่องการปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเมื่อศึกษาไม่อาจแยกจากการปฏิบัติได้ คือต้องลงมือปฏิบัติได้จริง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนพุทธปรัชญาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพุทธปรัชญาไม่ยอมรับความเชื่องมงาย แม้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามหลักเหตุผลก็จะไม่ยอมเชื่อ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย และทรงแสดงทางสายกลางเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้องตามลำดับคือ ศีล สมาธิ และปัญญา.

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

บทความพิเศษ เนื่องในวันเกิด 2 พฤษภาคม 2565 เรื่อง เพียงเกิดมาเป็นคน


 

..บทความพิเศษ.เนื่องในวันคล้ายวันเกิดวันที่  2  .. 2565 

...ฉันคงไม่กล้าที่จะบอกว่ารู้จักชีวิตดีแล้ว แต่พอจะพูดได้ว่า " ชีวิตนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของอาตมาภาพ เป็นจุดกำเนิดเกิดขึ้นแห่งดวงจิตที่จะล่องลอยเดินทางไกลในสังสารวัฏ อันยาวไกล แม้ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าในระหว่างทางทั้งชาตินี้และชาติต่อ  ไป เราจะเจอกับอะไร จะเกิดเป็นอะไร ดีขึ้นหรือไม่ (ซึ่งไม่มีใครที่จะรู้ล่วงหน้าแต่อย่างน้อยก็พอใจแล้วกับการออกตัวที่จุดสตาร์ทนี้ 

ชีวิตเป็นเพียงมายาการของจิต หรือชีวิตเป็นจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า หรือมันก็แค่การเคลื่อนไปของอนุภาค  หนึ่ง  ในจักรวาล ความลับของชีวิตยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนตามหากันจนกระทั่งทุกวันนี้ 

ฉันเกิดที่บ้านหลังหนึ่ง เกิดมาก็ร้องไห้เสียงดัง เป็นการร้องบอกคนอื่นว่า บัดนี้ฉันเกิดมาแล้ว ฉันในวัยเด็กก็ไม่มีอะไรต้องกังวล และไม่เข้าใจชีวิต  ความสนุกสนานที่ได้รับจากการเล่นกับเพื่อน มันปิดบังความจริงบางอย่างเอาไว้มิดชิด จนในวันนี้เด็กคนเดิมได้รู้แน่ชัดแล้วว่า " ชีวิตกำลังเดินไปสู่บางสิ่งและไม่มีทางหลีกเลี่ยงมันได้ฉันจึงตั้งคำถามกับตนเองว่า " ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไรจากนั้นจึงเริ่มแสวงหาคำตอบให้กับตนเองฉันบอกไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะพบคำตอบนั้นหรือไม่ ฉันเขียนเรื่องราวสั้นๆ เอาไว้เมื่อปีที่แล้ว เรื่อง"ฉันเกิดมาเป็นมนุษย์ธรรมดา ข้อความว่า " สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันเกิดคงมิใช่การเฉลิมฉลองสนุกสนาน เพราะฉันไม่อาจทำได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ " การได้อยู่เงียบๆ แล้วทบทวนตนเอง ว่าที่ผ่านมาเราทำตัวได้สมกับการเกิดมาบนโลกนี้แล้วหรือยัง เพื่อจะกำหนดทิศทางในอนาคตว่าควรแก้ไขปรับปรุงหรือเดินหน้าในเรื่องใดบ้างฉันมักตั้งคำถามว่าการย้อนกลับไปมองอดีตและมองล่วงไปในอนาคต จะทำให้เราใช้ชีวิตจริงๆ ได้อย่างไร และมักจะได้คำตอบสำหรับทุกปัญหาเสมอๆ"

"วันนี้เป็นวันเกิด ก็เปรียบการเกิดของรูปนี้เหมือนดอกบัวดอกหนึ่ง ชีวิตที่ผ่านมาเริ่มต้นจากความมืดบอดทางวิญญาณความไม่รู้ในความจริงของโลกและชีวิต ต่อมาเมื่อต้นบัวได้รับอาหารจากโคลนตมนั้นเองก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นบัวตูม เหมือนกับชีวิตในระยะปานกลาง ที่ได้รับความรักความอบอุ่น ความเอื้ออาทรจากครอบครัว คนรอบข้างและเพื่อนมนุษย์ และค่อยๆ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้รอดพ้นจากหอย ปลาและเต่ามากัดกินเป็นอาหารสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองมากขึ้น และเมื่อดอกบัวตูมต้องแสงพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณก็ ผลิดอกบานสะพรั่ง สวยงาม ให้ทั้งหมู่แมลงและผู้คนได้ชื่นชม ก็เหมือนกับชีวิตในระยะสุดท้ายที่สั่งสมภูมิปัญญามาอย่างเต็มที่ พรั่งพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ ทั้งการเรียนและการทำงาน สามารถที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  

แต่อีกไม่นานฉันก็จะพ้นวัยนี้ไป แล้วดอกบัวที่เคยเบ่งบานงดงาม ก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉา ร่วงโรยรา หมดความงามภายนอกไปคงเหลือทิ้งไว้เพียงแต่เรื่องเล่าในอดีตกาลอันนานไกล ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นเท่านั้น..ท้ายที่สุดแมลงที่เคยมาตอม ผู้คนที่เคยมาชม ก็จะลืมไปว่าครั้งหนึ่งดอกบัวดอกนี้เคยเกิดขึ้นมาบนโลก...เปรียบเหมือนวัยแก่เฒ่าชราภาพมาเยือน ความจำเลอะเลือน ทำประโยชน์ให้แก่ใครไม่ได้อีกต่อไป ในที่สุดก็ล้มหายตายจากไปเอง 

..วันเกิดปีนี้มีความหมายสื่อให้เห็นถึงอะไรอะไรอีกมากมายนัก หากเรามองย้อนกลับมาดูตนเอง ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาแล้วไซร้ เราก็จะพบคุณค่าของวันเกิด ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่มีไว้เพื่อเฉลิมฉลองอะไรเลย แต่มีไว้เพื่อให้เราคิดทบทวนตนเอง ว่าที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดมานั้น เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกและชีวิตบ้าง แล้วเราจะทำอะไรต่อไป "

****ขอบคุณ และขออนุโมทนากับทุกท่านทั้งที่อยูรในประเทศไทยรวมถึงในต่างประเทศ ที่ส่งข้อความแสดงถึงความปราถนาดีของท่านเนื่องใน "วันเกิดของอาตมาภาพ ปีนี้อายุครบ 51 ปี พรรษา 12 มีอะไรผ่านมาและผ่านไปมากอาจจะเล่ากันไม่จบ

ท้ายที่สุดนี้ อาตมาภาพขออุทิศบุญกุศลทุกอย่างที่ทำมาแล้วตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันให้แก่คุณตา คุณยาย คุณพ่อ-คุณแม่บังเกิดเกล้า และญาติพี่น้อง มิตรสหายทุกคนไม่ว่าท่านจะอยู่  แห่งหนภพภูมิใดก็ขอให้ทราบและได้รับบุญกุศลที่อาตมาได้กระทำบำเพ็ญส่งไปให้นี้ด้วยเทอญ.

พระสมุห์อดิเรก อาทจฺจพโล,ดร. )

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

ไฟสีเหลือง

 


โดย: ด๊อกเตอร์​ถังขยะ

.. จากกรณี​ที่​เป็นข่าวเกี่ยวกับ​ 2 พระสงฆ์​ เรื่องนี้คณะสงฆ์​ไทยควรจัดการเรื่องนี้ทำให้เป็นแบบอย่าง​แก่พุทธบริษัท​ชาวไทย จะไปอวยกันไม่ได้​ ถ้าจะปกป้อง ต้องปกป้องที่พระธรรม​วินัย​ ไม่ใช่ปกป้องพรรค​พวก​

... วัดสร้อย​ทองตอนนี้ดังดับ​  ไม่ใช่เจริญ​ แค่คนได้ยิน​ชื่อเขาก็เอือมระอาแล้ว​  จากจุดที่สองท่านนี้ทำอยู่​จะเห็​นได้ว่า ทำให้สังคมประณาม​ ​ พระสงฆ์​เป็นศูนย์กลาง​ของ​คุณ​ความดี​ แต่มาทำให้สังคม​ประณาม​เสียเอง​แบบนี้่.. ท่าจะแย่...

... มจร.​ ยกย่องสองท่านนี้ว่าเป็นบุคคล​ต้นแบบ​ แต่ตอนนี้​กลายเป็นต้นแบบของตัวตลก​ ล้อการเมือง​ โฆษณา​สินค้า​ ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา​ในองค์กร​สงฆ์​ไทย​ หากยังปล่อยไว้และช่วยกันปกป้อง​ สุดท้ายเขาก็จะเป็นแม่แบบที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว​ให้แก่คนรุ่นใหม่​

... การอ้างว่าพระที่ทำแบบเก่าๆ​ นั้นคนรุ่นใหม่​ไม่สนใจ​ ไม่ถูกต้องตามหลักการใช้เหตุผล​ และอาจมีคนแย้ง​ว่า​ เทศน์​แบบใหม่มีคนเข้าถึงธรรมะสักกี่คน​ (ความเข้าถึงธรรมวัดไม่ได้จากยอดคนดู)​ 

... พระพุทธ​เจ้าตั้งศาสนธรรมไว้เพื่อให้คนใช้ดับทุกข์​ ไม่ได้ให้คนมาศรัทธา​ในตัวพระองค์​หรือพระสงฆ์​ คนรุ่นใหม่​ตอนนี้ต่อไปก็กลายเป็นคนรุ่นเก่า​ตกรุ่น​ไปเช่นกัน​ แล้วรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ​ ถ้าหากจะปรับเปลี่ยนไปตาม​ยุคตาม​สมัย​ ต่อไปคงหาแก่นไม่เจอ..

...​ทางที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือ​ พระสงฆ์​ผู้ใหญ่​ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและรัดกุม​เพื่อรักษา​ไว้ซึ่งพระธรรม​วินัย​ การว่ากล่าวตักเตือน​ห้ามปรามนั้น​ คณะสงฆ์​เคยทำมาแล้ว​ แต่ก็สังเกต​ได้ชัดเจนว่าไม่ได้ผล​ ควรหาวิธีอื่น​ ซึ่งคิดว่ามีอีกหลายวิธีที่พระพุทธเจ้า​ทรงวางกฏไว้

... ครั้งนี้เป็นสัญญานเตือน​ เป็นไฟสีเหลือง​ ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสีแดงในเร็วๆ​ นี้​ แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและสามารถปล่อยผ่านไปได้​ แต่ในไม่ช้าไม่นาน​ ไฟเหลือง​จะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงแน่นอน​ และเมื่อวันนั้น​มาถึง​ เราจะโทษใครไม่ได้นอกจากชาวพุทธ​เราเอง... 

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

จดหมายเปิดผนึกถึง มจร.

 


จดหมายเปิดผนึก ถึง มจร 

(ตอนที่ 1) มูลเหตุแห่งการล่มสลาย)

    ฉันเริ่มเขียนถึง มจร.ครั้งแรก ตอนงานรับน้องใหม่ของชมรมปรัชญา มจร. เมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นก็ไม่เคยเขียนถึงอีกเลย แม้ชีวิตในช่วงสิบสามปีมานี้จะวนเวียนอยู่กับ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาตลอด แต่ก็ยังไม่คิดจะเขียนคงเขียนอย่างอื่นเสียมากกว่า ตอนนี้คิดว่าคงถึงเวลาที่จะเขียนถึง มจร.ในบทความขนาดยาวรวมเอาประสบการณ์สิบสามปี ตั้งแต่เป็นนิสิตจนถึงเป็นอาจารย์ มจร. มาลงไว้บ้างสักเล็กน้อย เพื่ออะไรนะหรือ? ฉันเองก็ไม่แน่ใจนัก เอาเป็นว่า เมื่อคุณอ่านไปเรื่อยๆ คุณก็จะพบวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ด้วยตนเอง ไม่แน่ว่า เมื่อคนรุ่นใหม่ได้มาอ่าน บางทีองค์กรแห่งนี้อาจจะยังพอมีความหวังอยู่บ้าง ก่อนที่มันจะล่มสลายไป

1). ความสง่างาม

    วรรณกรรมโบราณของอินเดียมักกล่าวถึงหลายนิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ลูกที่สง่างามเมื่ออยู่ท่ามกลางประชุมชน ความสง่างามนั้นเกิดไม่ได้หากเราไม่มีความรู้ และความรู้ที่จะทำให้เกิดความสง่างามต้องเป็นความรู้ที่มาจากความคิดของเราเอง ไม่ใช่ความรู้ในรูปชุดอันสำเร็จรูปมาแล้วของสิ่งที่คนอื่นได้พูดไก่อนหน้านี้ คนมีเงินอาจส่งลูกไปเรียนต่างประเทศได้ แต่การที่ลูกของเขาจะมีความรู้อันสง่างามหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเงินของพ่อแม่ แต่เกี่ยวกับตัวเขาเอง ถ้าเขาเป็นคนมีความคิด เขาก็ดีด้วยตนเอง แต่ถ้าเขาไม่ใช่คนที่มีความคิด อานิสงฆ์แห่งทรัพย์ของตระกูลก็ช่วยให้เขาได้มาเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง กระดาษแผ่นนั้นอาจช่วยให้เขาดูเหมือนจะสง่างามได้ตราบเท่าที่เขายังไม่ได้พูดแสดงความคิดออกมา “หิโตปเทศ” กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า " คนโง่ที่สวมใส่แพรพรรณอันงดงามอาจไปนั่งปะปนอยู่ในหมู่ของนักปราชญ์ในที่ประชุมได้ เขาอาจจะหลอกคนอื่นๆ เชื่อว่าเป็นคนฉลาด แต่เมื่อใดที่เขาเอ่ยปากพูดแสดงความคิดเห็นออกมา แพรพรรณอันงดงามนั้นก็จะไร้ความหมายทันที " แผ่นปริญญาบัตรและเสื้อครุยนั้น บางครั้งก็ซื้อได้ด้วยเงิน แต่ของพวกนี้ก็ไม่ต่างจากแพรพรรณราคาแพงที่คลุมกายของคนโง่ตามที่ “หิโตปเทศ”กล่าวเอาไว้ คนเรานั้นต้องพูดสักวันหนึ่ง ทำอย่างไรศิษย์ของเราจึงจะยืนอยู่ท่ามกลางสมาคมของผู้รู้และกล่าวแสดงความคิดออกมาได้ อย่างสง่างาม 

    พันธกิจทางจริยธรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ " การทำตนให้สง่างามทั้งวิชาการและจริยธรรม " คำว่า อาจารย์ กับ ครู แม้มีความหมายที่แตกต่างกันแต่ก็ใช้ร่วมกันได้ หลายคนแม้มีการงานและหน้าที่ในการสอน แต่ก็ไม่เรียกว่า อาจารย์ หรือครู เพราะปัญหาที่มันไม่เป็นไปตามความหมายที่แท้ของคำ ๆ นี้นั่นเอง มีภาษิตต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับเรืองดังกล่าว ว่า 

        "มีแต่ปาก วากวอน สอนคนอื่น
        มีดาดดื่น เหลือรับ นับไม่ไหว
        สอนตนเอง ฝึกตนเอง บ้างเป็นไร
        สอนเขาได้ ตนทำได้ นั่นแหละดี"(พระเทพวรมุนี)
        
        "บัณฑิต พึงตั้งตนไว้ในที่อันสมควรก่อน
        สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง" (พระพุทธเจ้า)

        "ยิ่งคุณเรียนรู้มากเท่าไหร่ ควรจะยิ่งมีจิตใจที่กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่
        มันจะต้องทำให้คุณรู้สึกตัวเล็กลง"
        "ตัวอย่างที่ดีดีกว่าคำสอนปฏิบัติดีดีกว่าขอพร เป็นแต่สอนทำไม่ได้ไม่ใช่ครู "
      
    ในโลกแห่งการดิ้นรนเอาตัวรอด ต่างคนก็ต่างเห็นแก่ตัวของตนเป็นที่ตั้ง มนุษย์ในอุดมคติทางศาสนากลายเป็นสิ่งเลื่อนลอยในสายตาของผู้คน "นิพพานเป็นเรื่องที่เอาไว้พูดเพื่อเรียกศรัทธา จากบรรดาศาสนิก เพื่อให้พวกเขาบริจาคให้กับวัด แต่ไม่เคยมีใครเคยคิดจะไปจริง ๆ "
    วิถีของครูบาอาจารย์ทางศาสนาที่ในอดีตมีฐานะเป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นครุ ได้กลายเป็นเพียงข้าราชการ พนักงานภาครัฐ ที่ใครมีวุฒิการศึกษาสูง ๆ และสอบเข้าได้ ก็ได้เป็นแล้ว การกลับมาสู่วิถีทางที่ถูกต้อง เป็นเรื่องน่าหัวร่อ และดูถูกดูแคลน ผู้คนพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า " การมีชีวิตรอดด้วยการอยู่ในตำแหน่งที่สูง ๆ การตะเกียกตะกายขึ้นไปตายบนหอคอยที่ประดับด้วยยศฐา อันอุดมด้วยเพชรนิลจินดา คือ วิถีที่ดี และเหมาะสม"
    วิถีชีวิตแบบนี้จึงเข้ากันไม่ได้กับวิถีของ "ผู้สอนศาสนา" มีเพียงวิธีเดียวที่พอจะยอมรับได้ คือ เขาต้องเดินตามวิถีของพระศาสดา และตะกายลงมาจากปราสาทราชวัง ดำเนินอยู่ในป่า ดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงเล็กน้อย ไร้ยศ ไร้ตำแหน่ง หลีกเร้นอยู่ในป่าเขา สำหรับภาวนา เพื่อกลับสู่วิถีที่ถูกต้องแท้จริง และสอนในสิ่งที่เขาค้นพบจากการกระทำของเขาเอง อันจะทำให้ การเป็นอาจารย์ หรือ ครู ในทางศาสนานั้นมีความงดงาม สง่างาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด ดำเนินรอยตามอย่างพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาไม่แล้วเขาก็จะเป็นเพียงผู้ที่สอนวิชาและลัทธิที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ และพาบรรดาศาสนิกหลงโลก หลงทาง เป็นเพียงผู้อาศัยศาสนาเพื่อหาเลี้ยงชีพเท่านั้น หาใช่ครู อาจารย์ ที่แท้จริงไม่ และเมื่อหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัย คือ ตัวครู อาจารย์ ไม่ใช่ครูอาจารย์ที่แท้ก็เท่ากับว่า นี่เป็นมูลเหตุของการล่มสลายของ มจร.ข้อแรก


2) ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ
    ข้อต่อมาคือ การขาดลักษณะแห่งความยุติธรรม มจร.ที่อาตมาพูดถึงนี้ อาจไม่เหมือนกับ มจร.ในความคิดของใครหลายคน หรือ มจร.ในสายตาคนนอก การมองมจร.ต้องมองจากข้างในจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเริ่มก้าวเท้าเข้าสู่รั้ว มจร. คุณจะไม่เห็นอะไรมากไปกว่ามีพระเณร ชี้เดินตามท้องถนนภายในมหาวิทยาลัย และนึกสงสัยว่า “ท่านมาทำอะไรที่นี่”  พระก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจบรรลุคุณธรรมวิเศษตามอุดมคติของพระศาสดามิใช่หรือ แต่ที่เห็นอยู่ต่อหน้าในขณะนี้คืออะไร สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ในความคิดคนนอกนั้นไม่ได้มีความหมายมากไปกว่านี้ แต่หากมองอย่างคนที่เรียนมจร. แล้ว มจร.ไม่ได้มีความหมายอื่นใด มากไปกว่า สถาบันทางการศึกษาแห่งหนึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาที่เข้ามาเรียน และให้ปริญญาในระดับต่างๆ  ต่างกันก็เพียงแต่อาภรณ์ที่สวมใส่อาจเป็นจีวร หรือ ชุดขาวของแม่ชี และศรีษะที่โล้น เท่านั้น แต่ระบบอื่นๆ  นั้นก็เหมือนกัน มีพิธีประสาทปริญญาบัตรเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ
    ลักษณะหนึ่งของธรรมชาติ คือ ธรรมชาติจะไม่มีการเสแสร้งหรือแกล้งทำธรรมะชาตินั้นตรงไปตรงมาเสมอ ไม่ว่าจะกับคนหรือสัตว์ หรือสิ่งไม่มีชีวิตก็ตามธรรมชาติจะไม่เลือกว่า เป็นพระ หรือเป็นฆราวาสและเลือกจะปฏิบัติกับสิ่งหนึ่งแตกต่างจากสิ่งหนึ่ง  ธรรมชาติของมจร. ก็เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นพระเป็นเณร เป็นชี หรือเป็นฆราวาส เมื่อเข้ามาเป็นนิสิตของมจร.ย่อมจะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน แม้นิสิตด้วยกันเองก็รู้สึกอย่างนั้น ดังนั้นเราจะเห็นภาพที่คนนอกมองแล้วอาจจะดูไม่เหมาะสม หลายอย่างครั้งหนึ่งแท็กซี่เข้าไปส่งอาตมาที่ มจร. ในระหว่างที่ขับรถจะเข้าหอพักคนขับแท็กซี่คันนั้นก็พูดขึ้นมาว่า “ พระอาจารย์เห็นมั้ยครับมีพระนั่งคุยใกล้ชิดกันกับแม่ชี นั่งติดกันเลย ไม่เหมาะสม นั่นไง ตรงต้นไม้นั่น”อาตมามองตามไปเห็นแล้วก็เลยพูดกับคนขับรถแท็กซี่คันนั้นไปว่า“เห็นทุกวันนั่นแหละโยม” แท็กซี่แกก็บ่นพึมพัมของแกจนถึงหอพัก ซึ่งตอนนั้นก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรต่อไป คงปล่อยให้เขาคิดของเขาต่อไป

    เหตุการณ์ภายในมจร.นั้น คนนอกเข้ามาเห็นเป็นของใหม่ แต่คนในจะเห็นเป็นของเก่า เวลามีคนพูดถึง มจร. พวกเขาพูดถึงพระพุทธศาสนา พูดถึงพระอริยสงฆ์ พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพูดถึงมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  เหตุการณ์ที่คนขับรถแท็กซี่เห็นนั่นไม่ใช่เขาไม่เคยเห็น เพราะในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มีให้เห็นดาดเดื่อน มันจึงไม่แตกต่างกันเมื่อนำมามองเข้าไปในมจร. แต่การมองโดยมีอคติว่า นี่เป็นพระ นี่เป็นชี นี่เป็นโยม เข้าไปร่วมด้วย โดยไม่ได้มองว่าเป็นนิสิตนักศึกษาและเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั่นมีปัญหา และที่ผ่านมาปัญหามันก็เกิดขึ้นเพราะมายาคติเหล่านี้  แต่ มจร.เองก็ดูเหมือนจะเข้าใจความอึดอัดใจของคนนอก จึงพยายามมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ออกมาเพื่อป้องกันความเสียหายเหล่านี้ด้วย ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจของนิสิตนักศึกษาหรือแม้แต่คณาจารย์มากนัก เพราะขัดแย้งกันกับหลักการของความเป็นมหาวิทยาลัย ของ มจร.อย่างแรง

   มหาวิทยาลัยนั้นต้องมีความยุติธรรมโดยธรรมชาติ ไม่อาจเลือกปฏิบัติโดยอ้างสถานะของบุคคลได้  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร ไม่ว่าเขาจะมีสถานะใด นับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด นุ่งห่มอย่างไร มจร.จะต้องไม่กำหนดว่า เขาไม่ควรจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ด้วยเหตุแห่งสถานะโดยเด็ดขาด การห้ามพระคุยกับโยม ห้ามนั่งใกล้ชิดกัน กฎพวกนี้ออกมาไม่ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว มีครั้งหนึ่งพระพม่า แตะบอลกันบริเวณหอพัก แล้วมีคนนอกเข้ามาเห็นเขาก็ตำหนิติเตียน มจร.ก็ออกกฎมาว่า ห้ามพระเตะฟุตบอล แม้จะเป็นเรื่องที่ดีงามตามพระธรรมวินัย แต่มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานะของบุคคล ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และหลักการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยควรต้องมีความยึดมั่นในหลักการนี้ ไม่ใช่ทำลายมันเสียเองอย่างที่เคยทำมา

    ความยุติธรรมนี้ยังต้องรวมไปถึงการชำระค่าเล่าเรียนอีกด้วย มจร.มีระบบการจ่ายค่าเล่าเรียนที่แปลกประหลาดคือ ถ้าเป็นพระจ่ายครึ่งจำนวน แต่เป็นฆราวาสจ่ายเต็มจำนวน ยกตัวอย่างค่าเทอมในระดับปริญญาตรี ตามมาตรฐานของ มจร. จะอยู่ประมาณ  7,000 บาท / เทอม แต่หากเป็นพระภิกษุ หรือสามเณร จะได้รับการลดจำนวนลงอยู่ที่ประมาณ 3,500- 4,000 บาท/เทอม ด้วยเหตุผลว่า “ท่านเป็นพระ เณรไง หาเงินเองไม่ได้ เลยต้องลดราคาเพื่อช่วยเหลือให้โอกาสพระเณรที่ไม่มีทุน” แต่หากเป็นฆราวาส เหตุผลนี้จะไม่นำมาพิจารณาร่วมด้วยเพราะ มจร.ให้เหตุผลว่า ฆราวาส ทำงานหาเงินเรียนเองได้ ซึ่งทำให้นิสิตฆราวาสที่เคยเข้ามาเรียนในมจร. ต้องเก็บความขับข้องใจนี้เอาไว้แล้วก้มหน้าจ่ายค่าเล่าเรียนในอัตราเต็มกันต่อไป เพราะอย่างน้อย มจร.ก็ยังถูกกว่า มหาวิทยาลัยอื่นอยู่ดี หากเทียบกันแล้ว

    เมื่อมจร เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานะแล้ว มจร.ย่อมสูญเสียความน่าเชื่อถือ และความเป็นกลางทางศีลธรรม เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดเขามีระเบียบดังกล่าว ทำไมเราถึงเลือกปฏิบัติกับฆราวาสแตกต่างจากพระภิกษุที่เป็นนิสิต แต่กับอาจารย์เรากลับให้ค่าตอบแทนเท่ากันในอัตราปกติ เช่น อาจารย์ตำแหน่งบรรจุ ก็จะได้รับอัตราเงินเดือนตามอัตราราชการจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวนเต็มตามวุฒิ เช่นเดียวกับฆราวาส โดยทั่วไป ก็เพราะว่า ระเบียบราชการตรงนี้ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานะบุคคล เพราะถ้าคิดตามนี้ การจ่ายเงินเดือนให้กับพระก็ถือว่า ผิดพระธรรมวินัยเช่นกัน แต่ก็ไม่มีกฎหมายออกมาห้าม ทั้งนี้เพราะขัดกับหลักความเท่าเทียม ความยุติธรรมดังกล่าว แต่มจร. ก็ไม่ได้นำความยุติธรรมนี้มาใช้อย่างตรงไปตรงมา เอื้อประโยชน์ให้กับพระนิสิต มากกว่า นิสิตฆราวาส และมีท่าทีว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนาน

    อาจารย์หลายท่าน ตัดสินใจละทิ้ง มจร.เพราะเบื่อหน่ายกับระบบเส้นสาย เด็กท่าน หลานเธอ และพวกประจบสอพลอเจ้านาย รับจ้างทำวิจัย รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์และนิสิต ฯลฯ อีกมากมายที่เป็นการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ ภาพของวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในอุดมคติหายไปหมดสิ้น กลายเป็นองค์กรอะไรก็ไม่รู้ ที่อาศัยพระศาสนาบังหน้า เพื่อที่อาจารย์ภายในจะได้เสพสุขสำราญกับลาภ ยศ เงิน ทอง และชื่อเสียงประดามี แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า "สิ่งที่ทำอยู่นั้นผิดศีล" แต่ก็ไม่มีใครยี่หระเพราะได้สถาปนาตัวตนไว้ในตำแหน่งที่มั่นคง( บรรจุแล้ว ) แล้วนั่นเอง ทีนี้อาจารย์ใหม่ๆ ที่พึ่งเริ่มต้นเริ่มแรกก็จะก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน(ของตน)โดยคิดว่า มันเป็นวิธีที่ถูกต้อง และดำเนินไปตามกฎ ระเบียบ แบบแผนประเพณีอันดีงาม คนเหล่านี้กลับพบว่า ไม่ได้รับความสนใจใยดีจากผู้บริหารที่นั่งคอยคิดจะตักตวงผลประโยชน์ใส่ตนอยู่ทุกวัน หากเขาไม่ได้ให้ประโยชน์ใด ๆ ต่อเจ้านายของเขา เขาก็จะได้รับเพียงเศษอาหาร (เงินเดือนอันน้อยนิด) เพื่อแลกกับการมีงานทำ 

    ดังนั้นเขาถูกสอนว่าอยากก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีการงานที่มั่นคงมันจึงไม่ใช่การที่เขาเป็นคนดี แต่คือ การที่เขาต้องทำให้เจ้านายพอใจ ด้วยการช่วยทำให้เจ้านายได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น เขียนงานให้เจ้านาย ทำวิจัยให้ เพื่อให้เจ้านายนำไปใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ หากเขาทำสำเร็จ เจ้านายจะพอใจเขา และอวยประโยชน์ต่าง ๆให้เขา ความยุติธรรม ความมีศีลธรรม กลับกลายเป็นสิ่งที่จะมาขัดขวางเสียด้วยซ้ำหากอยู่ในองค์กรแบบนี้ แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบประจบสอพลอ และไม่ต้องคิดคำนึงว่า การกระทำใดผิดจริยธรรม ขอเพียงเจ้านายชอบใจเท่านั้นคุณก็อยู่ได้และเจริญก้าวหน้าไปเท่าที่ เจ้านายคุณมีอำนาจอยู่ แต่หากเจ้านายคนนั้นหมดสิ้นอำนาจแล้ว คุณก็ต้องไปประจบคนใหม่ต่อไป นี่เป็นชะตากรรมของ คนในองค์กรที่น่าสงสาร ไม่ต่างอะไรกับระบบทาส


3)  การปกปิดความล้มเหลว 

    เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การไม่ยอมรับความล้มเหลวของตนเอง และดันทุรังเพื่อที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ล้มเหลวนั้นต่อไป โดยไม่คิดจะถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้อื่น เป็นเหตุแห่งการล่มสลายได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อผู้บริหารไม่ยอมรับความล้มเหลวที่ตนเองได้ก่อไว้ และไม่ยอมลงจากอำนาจ ก็ทำให้เกิดความล้มเหลวซ้ำ ๆ จน มจร.เองนั้นบอบช้ำจนถึงที่สุด การจัดการศึกษา ที่วน ๆ อยู่แต่เรื่องเดิม ๆ  ไม่มีอะไรใหม่ในการประชุม ไม่มีอะไรเปลี่ยน แม้ว่าจะประชุมกันสักกี่ครั้ง ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรได้  เพราะความคิดแบบเดิมๆ คนเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ไอน์สไตน์บอกว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่ทำแบบเดิมๆ ซ้ำ ๆ แต่หวังให้ได้พบความก้าวหน้า และค้นพบสิ่งใหม่ๆ 

   การเรียกประชุมเป็นเหมือนการเรียกมาเพื่อจะถามว่า ใครมีอะไรใหม่ และเมื่อแต่ละคนเสนอความคิดเห็น ก็จะถูกบล๊อคจากคนที่มีความคิดแบบเดิมๆ และถ้ายิ่งความคิดใหม่ๆ นั้นมันทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า พวกตนจะยุ่งยาก และต้องลงแรงหนักขึ้น หรือผลประโยชน์ส่วนตนถดถอย ก็จะยิ่งถูกมองผ่านไป ดังนั้นวิธีการที่คนกลุ่มนี้ใช้ในการบริหารการศึกษาก็คือ การที่คิดว่า เอาคนใหม่ ๆ หนุ่มๆ เข้ามาทำงาน เพื่อหวังจะให้ได้พบสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่น่าขบขัน  เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ผิดถูก

  ผู้บริหารที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจมาอย่างยาวนาน ทำให้ มจร.กลายเป็นบริษัทส่วนตัว ที่วนเวียนอยู่แต่กับผู้บริหารหน้าเดิมๆ ไม่มีการผลัดเปลี่ยน แม้จะมีระเบียบที่ให้เปลี่ยนทุก 4 ปี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า คนเก่าก็สามารถเป็นต่อไป เพื่อเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้การบริหารแบบเผด็จการในองค์กรที่เป็นเสรีชน การปกปิดความล้มเหลวของการบริหาร ด้วยการพึ่งบุคคลากรของสถาบันและหน่วยงานอื่น ๆ มีวิธี คือ ทำเสมือนว่าองค์กรของตนมีบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำเสนอผลงานการฝึกอบรมบุคคลากร  การไปสัมมนาและเรียนรู้มาจากองค์กรอื่นในระดับเดียวกัน การหลอกลวงนี้จะต้องทำให้เห็นได้ทั่วไป เพราะการไปอบรม ไปสัมมนา ไปเรียนรู้จากภายนอกสะท้อนให้เห็นความประสิทธิภาพของบุคคลากรในองค์กร  โดยพยายามหลีกเลี่ยง ปกปิดข้อบกพร่องอันหนึ่งเอาไว้ คือ การไม่เคยเป็นผู้นำทางวิชาการให้กับหน่วยงานอื่น ๆ "   ทำทีเสมือนว่าบุคคลากรที่ไปอบรม ไปสัมมนากลับมาทุกปี มีการสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ๆ เกิดผลงานใหม่ๆ ขึ้น   นี่คือความล้มเหลวที่จะต้องถูกปิดบังเอาไว้ การพึ่งพาองค์กรแม่ เพื่อให้หน่วยงานย่อยเป็นที่ยอมรับของสังคมและหน่วยงานอื่นๆ จะมีประโยชน์กับองค์กรที่ล้มเหลวได้เป็นอย่างดี และมักจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีสาขาหลายสาขา เวลาเกิดวิกฤต


4) การทำคิดแบบแยกส่วน

  การศึกษาที่ถูกต้องจะส่งเสริมให้มนุษย์มีเอกภาพในความคิดความรู้สึกและโลกทัศน์อย่างลึกล้ำความเป็นเอกภาพนี้ (ไม่มองแบบแบ่งแยก) ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในการศึกษากระแสหลักที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ที่มุ่งเน้นให้ยอมจำนนเป็นทาสของค่านิยมของคนส่วนใหญ่ และให้ความสำคัญเกินควรกับเทคนิค วิธีการ โดยไม่มีลักษณะอันสร้างสรรค์ที่เกิดจากความเข้าใจของตนเอง" (กฤษณะ มูรติ) ............(ต่อ)...........


5) ปรัชญาการศึกษาในทรรศนะของพระพุทธเจ้า
..หากมจร. เป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา ก็หมายความว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ใช้แนวทางปรัชญาการศึกษาของพระพุทธเจ้าเป็นหัวใจสำคัญ หากไม่ใช่ก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาอย่างที่กล่าวอ้างกัน ซึ่งเมื่อดูอย่างรอบด้านแล้ว ปรัชญาการศึกษาของพระพุทธเจ้า ทรงเน้นไปที่การออกจากวัตถุนิยม เพราะทรงเห็นว่า "หากความเจริญทางวัตถุมีมาก แต่ความเจริญทางจิตใจน้อยลง โลกมนุษย์จะเป็นเพียงนรกที่มีสีสันสวยงามเท่านั้น ผู้คนจะได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน ชาวโลกควรตระหนักในข้อนี้ หากสังคมเจริญทางด้านวัตถุมากจนเกินไป จะประสบปัญหาอาชญากรรม คอร์รัปชั่น ยาเสพติด ฯลฯ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือ สัญญาณของการที่ศีลธรรมตกต่ำลงนั่นเอง
...การปลูกฝังให้เด็ก ๆ เชื่อว่า " ให้ตั้งใจเรียน จะได้ทำงานดีๆ มีเงิน มีฐานะร่ำรวย จะได้สบาย " เหมือนการสอนให้เด็ก ๆ มุ่งแสวงหาลาภ ยศ สุข สรรเสริญในฝ่ายวัตถุนิยม เพราะสอนกันแบบนี้ จึงทำให้มนุษย์กลายเป็นพวกทุนนิยมและบริโภคนิยม แสวงหาแต่เงินตรา เหินห่างการพัฒนาจิตใจ และสติปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น การศึกษาจึงผิดทิศผิดทาง แสวงหาความรู้เพื่อนำไปใช้แสวงหาเงินตรา สั่งสมความร่ำรวย และยกฐานะทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยที่สอนในแนวทางนี้จึงผิดทิศผิดทาง
...พระพุทธเจ้าก็ทรงประสบกับปัญหานี้มาก่อน จึงทรงละทิ้งลัทธิวัตถุนิยม บริโภคนิยมในสมัยของพระองค์เสีย ออกบวชเพิ่อการแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น เมื่อทรงใช้เวลา ๖ ปี ในการวิจัยทางจิต ก็ทรงค้นพบว่า การจะพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้ไม่อาจพัฒนาชีวิตจนเจริญถึงขีดสุดได้ ที่ทรงเรียกว่า ทางสุดโต่งสองสาย ทรงเสนอทางสายกลาง คือการพัฒนาควบคู่กันไปอย่างชาญฉลาด
.....พระพุทธศาสนาแบบของพระพุทธเจ้านั้น เล็ก กระทัดรัด งดงาม ออกแบบมาพอเหมาะพอดีสำหรับใช้ดับทุกข์ในชีวิต มีเหตุผลหนักแน่นในตัวเอง ซึ่งจากรากฐานที่เล็กกระทัดรัดแต่อัดแน่นที่ว่านั้น เมื่อเราคิดขยายให้กลายออกมาเป็นปรัชญาในลักษณะต่างๆ เช่น ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาสังคมและการเมือง ผลที่ได้ก็ย่อมหนักแน่นและงดงามตามไปด้วย
...ทรงค้นพบว่า การศึกษาที่ถูกต้อง คือ เพื่อการออกจากทุกข์ มิใช่เพื่อการสั่งสมความสุข อำนาจวาสนา บารมี ทรงเสนอหลักไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้คนได้นำไปเป็น " id plan " ในการศึกษาพัฒนาตนเองและสังคมให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยเมื่อขยายออกก็จะได้ ๘ ประการ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ชาวพุทธทั่วโลก ยกย่องว่าเป็นหลักธรรมที่ดีที่สุดของการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์
...มจร.ควรมุ่งไปในทิศทางนี้ แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้นมีความพยายามจากคณาจารย์บางคน พยายามผลักดันให้เปิดสาขาวิชาที่ไม่ได้เป็นไปทางหลุดพ้น แต่เน้นไปที่ทางโลกธรรมมากขึ้น คือ เรียนไปเพื่อสั่งสมลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ไม่ใช่เรียนเพื่อปล่อยปละละวางวัตถุนิยมเหล่านั้น การเดินทางสายนี้จึงขัดแย้งกับปรัชญาการศึกษาของพระพุทธเจ้าโดยตรง แม้จะมีการพยายามอธิบายว่า มจร.ไม่ได้ละเว้นจากการพัฒนาจิตใจก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 10 ปี พบว่า " ไม่ได้มีความพยายามที่จะเดินตามปรัชญาการศึกษาที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด" แม้จะมีความพยายามขอเปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอกทางพระพุทธศาสนาและปรัชญา(ในส่วนภูมิภาคบางแห่ง) แต่ผู้บริหารก็บ่ายเบี่ยง เลี่ยงไปเปิดสอนในสาขาวิชาอื่น ที่ให้ผลตอบแทนเป็นวัตถุ เงินทอง รายได้ มากกว่าที่จะมุ่งทำตามปรัชญาการศึกษาของพระพุทธเจ้า สาขาวิชาต่าง ๆ เหล่านี้จึงผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่จะทำให้ มจร.ในอนาคตกลายสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในทางโลกให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียน คณาจารย์ก็กลายเป็นผู้มากไปด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ เลื่อนชั้นสมณะศักดิ์กันสูงขึ้น ๆ เรื่อย ๆ และล่มสลายไปในที่สุด

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...