ปาฐกถาธรรม เนื่องใน วันทำบุญครบรอบ ๙ ปี ของการเปิดทำการ
ห้องสมุด "เฉลิมราชกุมารี" วันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐น.
ณ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ต.น้ำเที่ยง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
*โดย พระสมุห์อดิเรก อาทิจฺจพโล
ขอโอกาสพระเถรานุเถระ
คณะสงฆ์ที่เคารพอย่างสูง, ขอเจริญพร ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต
นักศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคำชะอี ทุกๆ ท่าน.
วันนี้อาตมาภาพได้มีโอกาสมาปาฐกถาธรรม
เนื่องเป็นวันทำบุญวันครบรอบ ๙ ปี ของการเปิดทำการห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”
ตามคำนิมนต์ของท่านฐิติพร บุทธิจักร ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคำชะอี
ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเริ่มจากการที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พิจารณาสร้างขึ้น
“เพื่อสนองพระราชปณิธานและแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ในการส่งเสริมการศึกษา สำหรับประชาชนตามที่ทรงแสดงไว้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น
ในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม
สมัชชาสากลว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๓
ได้ทรงพระราชทานลายพระหัตถ์เชิญชวนเป็นข้อความว่า
ให้ “ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้”
และในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า" ได้ทรงกล่าวว่า “ความรู้ของมนุษย์เป็นมกรดกตกทอดกันมาแต่โบราณเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอักษรขึ้นผู้มีความรู้ก็ได้
บันทึกความรู้ของตน สิ่งที่ตนค้นพบเป็นการจารึก
หรือเป็นหนังสือทำให้บุคคลอื่นในสมัยเดียวกัน หรืออนุชนรุ่นหลัง
ได้มีโอกาสศึกษาทราบถึงเรื่องนั้น ๆ และได้ใช้ความรู้เก่าๆ
เป็นพื้นฐานที่จะหาประสบการณ์ คิดค้นสิ่งใหม่ ๆที่เป็นความก้าวหน้าเป็นความเจริญสืบ
ต่อไป”
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน
ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี"
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา.
ทีนี้เรามาพิจารณากันว่าที่ทรงพระราชทานข้อความว่า
“ให้ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้” นั้น ทรงหมายความว่าอย่างไร อย่างแรก
คือ ทรงต้องการให้เข้าถึงความรู้ คือ “อ่านออก”
เพราะถ้าคนอ่านหนังสือไม่ออก
ก็จะไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของมนุษย์ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาแต่โบราณ
ซึ่งได้บันทึกเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพสลักบนผนังถ้ำ ศิลาจารึก อักษรที่จารึกลงในใบลาน
และหนังสือต่างๆ ซึ่งมีทุกสาขาวิชาครอบคลุมชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย
เมื่อไม่สามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้
มนุษย์ก็จะกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง
ที่ไม่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ คือ
ไม่มีความสามารถในการสั่งสมและถ่ายทอดอารยธรรมของตนไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานได้
อย่างหลัง คือทรงต้องการให้มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้
คือ “เขียนได้” คำว่า “เขียน”ในที่นี้มีสองความหมาย คือ
ความหมายอย่างแคบ ได้แก่ การเขียนตัวอักษรเพื่อสื่อความหมายลงในวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือบันทึกเอาไว้ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถเปิดอ่านและเข้าใจความหมายของตัวอักษรนั้นได้
ส่วนความหมายอย่างกว้าง คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล
เพื่อสื่อการกับมนุษย์ด้วยกันเอง การที่มนุษย์จำเป็นต้องมีการเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้
เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม จึงต้องมีการสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องมีความรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย จึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
พระองค์ท่านทรงมองเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
จึงทรงชักชวนให้ทุกท่านมาช่วยกันทำห้องสมุดแห่งนี้เพื่อให้เป็นที่สำหรับถ่ายทอดความรู้ทั้งสองอย่างนี้ให้แก่ประชาชนชาวไทย
ทุกคน
พระองค์ให้คำนิยามว่า
“ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บเอกสารต่าง ๆ อันเป็นแหล่งความรู้ดังกล่าวแล้ว
จึงเรียกได้ว่าเป็น “ครูเป็นผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้”
ตรงนี้ขอให้ทุกท่านให้ความสนใจให้มาก เพราะเป็นพระดำรัสที่สำคัญมากกว่า การอ่านออก
เขียนได้ คือ ทรงมองเห็นว่า
ห้องสมุดเปรียบเสมือน ครูผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา คำว่า “ปัญญา” นี้คือปัญญาในภาษาชาวโลกเรียกว่า “Understanding” หรือ “faculties”
ห้องสมุดทำหน้าที่เสมือนครูผู้ให้ปัญญาแก่มนุษย์
แต่ปัญญานี้จะต้องเป็นปัญญาในการวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้
อันชอบด้วยเหตุผล หรือภาษาธรรมเรียกว่า "Wisdom"ตรงนี้แหละที่ทรงอยากให้เราไปให้ถึง ทุกวันนี้เรามักจะไม่ใช้ปัญญา แต่ชอบใช้คำว่า
ความเชื่อ (Belife) เสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในเฟสบุ๊ค ไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียเวลานี้ มีข้อความมากมายที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริง
สิ่งเหล่านี้นั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี
ปะปันกันไป มีทั้งสิ่งที่เป็นความรู้ และเป็นความเชื่อ เราจะทำอย่างไรกับข้อมูลมากมายมหาศาลเหล่านี้
จะรู้ได้อย่างไรว่า อันไหนความสิ่งที่ควรรู้อันชอบด้วยเหตุผล
และข่าวสารอันไหนที่ไม่ควรเชื่อถือ
แม้แต่ในห้องสมุดของเราเอง ตำหรับตำรา หนังสือมากมายที่เรามีอยู่
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เล่มไหนเป็นความรู้ที่เราควรรู้
และเล่มไหนไม่มีคุณค่าเพียงพอที่เราจะใส่ใจ หรือแม้กระทั่งไม่ควรจะมีไว้ในห้องสมุดแห่งนี้
...
ปัญหานี้เคยมีคนถามพระพุทธเจ้ามาแล้ว โดยชาว เกสปุตตะ โดยมีความย่อว่า “สมัยหนึ่ง
พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปถึง นิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึง
ทั้งทราบกิตติศัพท์ แห่งพระพุทธคุณของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
และกราบทูลพระองค์ว่า “ได้มีสมณพราหมณ์ที่มายังเกสปุตตนิคมนี้
ต่างก็พูดประกาศเฉพาะลัทธิของพวกตน และพูดตำหนิลัทธิของพวกอื่น จึงได้มีความสงสัยว่า
ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ชาวกาลามะจึงทูลขอหลักการวินิจฉัย
ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแนวคิดต่างๆ (ที่มา:
เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๗๙)
พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มต้นด้วยหลักการพื้นฐานทางตรรกวิทยาที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วไปในโลกคือ
ทรงเริ่มด้วยสิ่งที่พึงละเว้นในการใช้ความคิดก่อน เราเรียกของพวกนี้ว่า Logical Falacies
ทรงเห็นว่ามีอยู่ ๑๐
อย่าง ต่อไปนี้
มา อนุสฺสวเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ
กันมา
มา อิติกิราย
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
มา นยเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
มา อาการปริวิตกฺเกน
อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
มา ภพฺพรูปตา อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
มา สมโณ โน ครูติ
อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ทรงต้องการให้เราอย่าพึ่งเชื่อสิ่งใด
หากยังไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาให้ถ้วนถี่เสียก่อน ว่าสิ่งไหนควรรู้
สิ่งไหนไม่ควรรู้ สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนทำแล้วก่อทุกข์
สิ่งไหนทำแล้วไม่ก่อทุกข์ สิ่งไหนทำแล้ววิญญูชนติเตียน
สิ่งไหนทำแล้ววิญญูชนไม่ติเตียน เป็นต้น ที่ทรงตรัสพระสูตรนี้ก็เพราะว่า
ชาวอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีก่อนก็ล้วนแต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้หรือความจริง
เพราะสาเหตุต่างๆ ที่ทรงยกมา ๑๐ ประการนี้ จึงทรงประสงค์ให้ชาวกาลามะระมัดระวังการรับข้อมูลเหล่านี้
เพราะเป็นเครื่องปิดกั้นไม่เป็นไปเพื่อการพัฒนาสติปัญญา
อย่างข้อแรก หมายเอาเสียงที่พูดกันต่อๆ มา (อนุสฺสว)
เปรียบกับปัจจุบันก็ ข้อความที่ส่งเข้ามาในเฟสบุ๊ค เห็นคนแชร์ข้อความอ้างว่าคนนั้นคนนี้พูด
พร้อมใส่ภาพประกอบ ของพวกนี้ถูกส่งต่อๆ กันไปมากมาย
พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมานี้เท็จเสมอ
อาจมีบางข้อมูลจริงก็ได้ แต่ที่ทรงเตือนคือ “อย่าพึ่งเชื่อว่าจริง”
ข้อต่อมา
หมายเอาสิ่งที่เชื่อถือหรือปฏิบัติตกทอดกันมายาวนาน (ปรมฺปร) อาจหมายถึง
จารีตประเพณีโดยรวมก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อต้านจารีตประเพณี
แต่ต่อต้านการทำตามจารีตประเพณีโดยไม่ถามว่าควรทำตามไหม เช่น
ในอินเดียสมัยนั้นมีการฆ่าสัตว์บูชายัญ การเผาสตรีที่สามีตายให้ตายตามด้วย
อาจเป็นไปได้ว่าบางประเพณีบางอย่างดี บางอย่างไม่ดี เราต้องถามเป็นเรื่องๆ
ไปว่ายังใช้ได้ไหม ไม่ใช่เชื่อตามว่าดีเสมอเพราะเป็นจารีตประเพณี
ข้อที่สาม
(อิติกิร)
หมายถึงการอ้างว่า “เขาว่ากันมาอย่างนี้” หรือ “ท่านว่า” ข้อความพวกนี้คลุมเครือ
“เขา”หรือ “ท่าน” ที่ว่านั้นคือใคร เราต้องสงสัย
เมื่อสงสัยก็จะได้ชั่งน้ำหนักได้ว่าควรเชื่อตาม “ท่าน”
ที่ไม่มีตัวตนแจ้งชัดนั้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำลอยๆ อย่างนี้
ดังจะเห็นได้ในพระสูตรนี้เอง เวลาจะทรงอ้างว่าใครเห็นหรือพูดว่าอย่างไร
จะทรงระบุตัวตนและคุณสมบัติของผู้นั้น เช่น เรื่องนี้ วิญญูชนไม่เสรรเสริญ
จะไม่ตรัสว่า เรื่องนี้ท่านไม่เสรรเสริญ คำว่า “วิญญูชน” ของพระองค์ก็มีนิยามชัดเจนตรวจสอบได้
ส่วน “ท่าน” ที่อ้างลอยๆ นั้นไม่รู้ว่าใคร
ข้อถัดมาเรื่องการอ้างตำรา (ปิฏกสมฺปทาน) คำว่า
“ปิฏก” นี้ในความหมายที่แคบหมายถึงคัมภีร์ อาจจะทางศาสนา หรือลัทธิ ก็ได้
ความหมายกว้าง หมายเอางานเขียนทุกอย่างที่สมัยนี้เราเรียกกันว่า Texts ในอินเดียสมัยนั้นบางศาสนาถือว่าคัมภีร์ทางศาสนาต้องจริงเสมอ
ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ เวลานี้บางศาสนาในโลกก็ยังยึดถือจารีตนี้อยู่
การวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์อัลกุรอานในประเทศมุสลิมทำไม่ได้ ผิดกฎหมายร้ายแรง
ในยุคกลาง การสอนอะไรที่ขัดต่อคัมภีร์ไบเบิลก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง มีผลทางกฎหมาย
ท่าทีเหล่านี้สำหรับพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการทิ้งเหตุผลอย่างหนึ่งคือเป็น Logical Falacies อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อต้านคัมภีร์
เพราะสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์หลายอย่างอาจเป็นประโยชน์ เป็นความรู้ และความจริง
แต่ทรงต่อต้านการอ้างคัมภีร์เพื่อปิดปากคน สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์นั้นทรงถือว่าเป็นข้อมูล กระนั้นก็ตาม
เราต้องไม่สรุปว่าทุกอย่างที่อยู่ในคัมภีร์ต้องจริงเสมอ
หลักการนี้ทรงแนะให้ชาวพุทธใช้กับพระไตรปิฎกด้วย
ทรงคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว สิ่งที่ทรงสอนจะมีคนรวบรวมเป็นคัมภีร์
และเท่าที่ทรงมีประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น อะไรก็ตามแต่ที่กลายมาเป็นคัมภีร์ศาสนา
ก็จะมีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เชื่ออย่างเดียว ห้ามวิพากษ์วิจารณ์
ทรงเห็นว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่ดีต่อการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น
สองข้อถัดมามีเรื่องต้องตีความมาก คือ ตกฺก และนย)
อาตมาจะแสดงโดยละเอียดเพราะอาจไม่จำเป็นสำหรับการแสดงธรรมในวันนี้ แต่จะขอกล่าวพอเข้าใจเท่านั้นว่า
ในสมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่ามีนักคิดอินเดียร่วมสมัยกับพระองค์บางพวกใช้กระบวนการทางเหตุผล
เพื่ออนุมานว่าจะต้องมี “อัตตา” คนพวกนี้มีชื่อเรียกในพระไตรปิฎกภาษาบาลีว่า
“ตกฺกี” และ “วิมงฺสี” สองคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกัน แทนกันได้ ตกฺก และวิมงฺส
หมายถึง การครุ่นคิด ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Rationalization ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
คนเหล่านี้ไม่คิดว่าอัตตาของมนุษย์จะตรวจสอบได้ด้วยประสารทสัมผัส
แต่สามารถเข้าใจหรืออนุมานว่ามีอยู่ได้ด้วยเหตุผล ในทางตะวันตก
กระบวนวิธีที่นักปรัชญากรีกบางคน เช่น เพลโตใช้ก็คือวิธีเดียวกันนี้ เพลโตเสนอว่า
วัตถุเคลื่อนด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องถูกกระทำด้วยวัตถุหรือสสารเช่นเดียวกัน
การที่วัตถุอย่างหนึ่ง เคลื่อนไปกระทบกับวัตถุอีกอย่างหนึ่งแล้ว เกิดการเคลื่อนที่
แสดงว่า มันถูกกระทำโดยสิ่งอื่น ซึ่งเพลโตสรุปว่า มันต้องมีอัตตา (The Soul)
ในวัตถุที่เป็นตัวสั่งการให้ วัตถุนั้นทำงาน
นักตรรกะและนักวิมังสะในอินเดียสมัยนั้นก็อนุมานว่าจะต้องมีอัตตาแบบเดียวกันนี้
ส่วนคำว่า นย มีความหมายเกี่ยวข้องกับการหาความรู้แบบหนึ่งคือแบบที่ไม่ใช้ประสาทสัมผัส
พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า แม้ตกฺกและนย จะเป็นกระบวนการวิธีที่รัดกุม
เป็นระบบระเบียบที่สุดแล้วก็ตาม เราก็อย่าพึ่งเชื่อว่าผลของมันจะนำมาซึ่งความจริง
ข้อต่อมาอาจตีความง่ายๆ หรือซับซ้อนก็ได้ คำว่า
อาการปริวิตกฺก หมายถึง การคิดไตร่ตรองโดยอาศัยอาการของสิ่งนั้นหรือเหตุการณืนั้น
เช่น วันหนึ่ง เราได้ยินเสียงเพื่อบ้านร้อง
สักพักก็เห็นชายแปลกหน้าวิ่งออกมาพร้อมกับถือมีดเปื้อนเลือด สักพักมีตำรวจมา
เราทราบว่าในบ้านนั้นมีคนตายคือเจ้าของบ้าน โดยอาการเราเชื่อว่าฆาตกรคือชายคนที่ถือมีดเปื้อนเลือดวิ่งหน้าตื่นออกมาแล้วขับมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้หน้าบ้านออกไปอย่างรวดเร็ว
การไตร่ตรองจากอาการอย่างเป็นระบบอาจหมายถึง สิ่งที่เราเรียกกันในสมัยนี้ว่า
วิธีการแบบอุปนัย (Induction)
ข้อเตือนสติของพระพุทธองค์ถัดมาคือการที่คนเราเอาความคิดเห็นตนเป็นเกณฑ์ในการรับ
หรือไม่รับสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้( ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) เช่น อะไรที่ฉันชอบ ฉันก็ว่าดี
อะไรที่ฉันไม่ชอบฉันก็ว่าไม่ดี ดี ชั่ว มีความหมายเพียงเท่านี้เอง
อย่างเช่นทุกวันนี้สังคมแตกแยกมีสองฝ่าย เสื้อเหลือง เสื้อแดง เวลาสองฝ่ายนี้ออกสื่อมักจะโจมตีอีกฝ่ายว่าไม่ดี
ความเห็นของฝ่ายตนเองดีหมด ฝ่ายอื่นผิดหมด ถ้าฝ่ายเดียวกันพูดจะถูกหมด
ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามพูดผิดหมด สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ยากยิ่ง หรืออาจแก้ไขไม่ได้เลย
เว้นแต่เราจะเอาจริงเอาจังกับการสังเกตและขัดเกลาตนเองอย่างจริงจัง ดังนั้นที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนนั้นถือว่าสำคัญและลึกซึ้งมาก
สิ่งที่ทรงเตือนให้ระมัดระวังสองข้อสุดท้ายค่อนข้างชัด
(ภพฺพรูปตา และ สมโณ โน ครูติ) ข้อแรกคือ
อย่าเชื่อว่าใครพูดเรื่องจริงเพียงเพราะว่า เขาน่าเชื่อถือ เช่น
มีสถานบางอย่างรองรับสิ่งที่เขากำลังเสนอนั้น เช่นจบปริญญาเอก เป็นเปรียญ ๙ ประโยค
เป็นศาสตราจารย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า
สิ่งที่เขาพูดนั้นจะจริงและน่าเชื่อถือ ดังนั้นเวลาฟังเขา(และอาตมา) พูด
อย่าเอาความเป็น ด๊อกเตอร์ทางปรัชญา เป็นศาตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเปรียญทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องรับประกันอะไรทั้งนั้น
ขนาดเนื้อในยังรับประกันอะไรไม่ได้ ของภายนอกเช่น การแต่งกาย สีจีวร
ท่าทางอาการพูดจา ความร่ำรวย การเป็นคนชอบนั่งสมาธิ การพูดจาเนิบนาบ ฯลฯ เป็นต้น
ก็ไม่ใช่หลักประกันอะไรทั้งสิ้น ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจลักษณะทางกายภาพของคนเลย
ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสังเกตความน่าเชื่อถือของคนจากลักษณะภายนอกก่อน
คนเป็นพลาหรือบัณฑิตเราพอสังเกตออกในเบื้องต้นผ่านการพูด การกระทำของเขา
แต่ทั้งหมดนั้นก็ทรงเตือนว่า เมื่อคนที่น่าเชื่อถือเหล่านี้พูดหรือเขียน ความจริงเท็จของสิ่งที่เขาเสนอไม่จำเป็นต้องสอดคล้องตามบุคคลิกลักษณะของเขา
เราต้องสงสัย หรือคิดเผื่อเรื่องต่างๆ ไว้ด้วย.(เรามในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาประเภท ชาดก
เรามีนิทานเรื่องฤาษีกินเหี้ย ก็เพื่อเตือนสติเรื่องอย่าไว้ใจคนเพราะรูปลักษณ์ภายนอก
ฤาษีที่สงบเห็นเหี้ยมาไหว้ทำความเคารพเพราะศรัทธา เกิดอยากกินเนื้อเหี้ย จึงซ่อนพร้าไว้ข้างหลัง
พอเหี้ยก้มหัวนมัสการก็ขว้างพร้าใส่ แต่พลาด เหี้ยจึงรู้ตัวว่าไหว้และไว้ใจคนผิดเสียแล้ว
เรื่องสุดท้ายที่ว่า
อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าที่กล่าวมานี้ต้องจริงแน่นอนเพราะคนพูดเป็นครูที่เราเคารพศรัทธา
เป็นสิ่งที่อาตมาเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่เคารพหลักการอย่างเคร่งครัด
ในทางตรรกวิทยา เรารู้ว่าหากข้อความนั้นจะจริงก็เพราะตรงกับความเป็นจริง
ใครพูดก็จริง ตรงกันข้าม ถ้าข้อความนั้นเท็จ ใครพูดก็เท็จ “ใคร” ที่ว่านี้รวมเราครูที่เราเคารพศรัทธาอย่างสูงด้วย
พระพุทธเจ้านั้นเป็นที่ทราบว่าทรงเป็นพระศาสดา แต่ทรางสอนให้สาวกสงสัยพระองค์
ตรวจสอบพระองค์ อย่างเชื่อพระองค์ทันที นี่คือลักษณะของคนที่เคารพหลักการ หลักการอะไร
ก็หลักการทางความคิดที่ว่า ความจริงเป็นคุณสมบัติของข้อความ ไม่ใช่คุณสมบัติของคนพูดหรือคนสอน
เรามีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบข้อความที่มีคนเสนอให้เรา ซึ่งบางทีคนที่เสนอก็คือครูของเรา
พระศาสดาของเรา คัมภีร์ศาสนาของเรา อะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็น “ของเรา”
มักมีอำนาจโน้มใจเราให้ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ชาวพุทธต้องไม่เป็นคนอย่างนั้น
ชาวพุทธต้องเป็นอิสระ สนใจความจริงที่อยู่ในเรื่องนั้นๆ ไม่สนใจคนพูด
ต่อให้คนพูดเป็นครู หรือพระศาสดาของเราก็ตาม ความยึดติดในครูตามทัศนะของพระพุทธเจ้าเป็นอุปสรรคต่อชีวิตอิสระ
ที่อาตมาแสดงหลักกาลามสูตร
๑๐ ข้อมานี้ เพื่อที่จะให้ทุกท่านเห็นว่า “พระพุทธเจ้าไม่เป็นอะไร?
เท่านั้น ยังไม่ได้แสดงว่า พระพุทธเจ้าเป็นอะไร? นี่คือหลักที่ทรงบอกว่า ทรงเป็นอะไร
ข้อความนั้นมีว่า “ เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”
ความต่อไปในกาลามสูตรแสดงให้เห็ความที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นนักคิดที่เวลาเสนออะไรไปข้อเสนอนั้นจะหักล้างยากมาก
หรือไม่ได้เลย ตรัสว่า คนที่ละอกุศลมูลได้แล้ว เจริญกุศลให้งอกงามขั้นเรื่อยๆ
ในชีวิต ย่อมได้รับผลของความรู้และการปฏิบัติตามความรู้นั้นดังนี้
ทรงตรัสถามว่า
เมื่อประกอบด้วยความไม่มีเวรเช่นนี้
มีความไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตใจหมดจดอย่างนี้ ก็ย่อมจะได้ความอุ่นใจ ๔ ประการ กล่าวสั้นๆ
คือ คนที่ละชั่วทำดีแล้ว ในทางกายภาพ ๑) ถ้าชาติหน้ามีจริง
ชีวิตในชาติหน้าของเขาก็ต้องดี ๒) ถ้าชาติหน้าไม่มีจริง เขาก็ดีแล้วในชาตินี้
และมีความสุขสงบแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสีย ในทางจิตใจ
๓) ขณะนี้เราไม่ใช่คนชั่ว ดังนั้น หากผลกรรมมีจริง จะเกิดความเลวร้ายกับชีวิตเราในปัจจุบันหรือในชาติหน้าได้อย่างไร
๔) ขณะนี้เราไม่ใช่คนชั่ว สมมติว่าผลกรรมไม่มีจริง
เราไม่ต้องไปรับผลของกรรมชั่วในชาติหน้าเพราะชาติหน้าไม่มีและในชาตินี้
เนื่องจากเราไม่ใช่คนชั่ว เราก็ย่อมมีแต่สุข ไม่มีอะไรต้องกังวล เคารพตนได้
แม้โลกนี้จะปราศจากกฎแห่งกรรมที่จะให้คุณให้โทษมนุษย์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าก็ตาม
ขอให้สังเกตว่า
พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสยืนยันว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี เพราะความมีอยู่ของชาติหน้าเป็นเรื่องพ้นการตรวจสอบด้วยอายตนะ
วิสัยของพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงสอนสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ ปัญหามีว่า
สังคมอินเดียสมัยนั้น รวมทั้งสมัยนี้ด้วย ศาสนาแทบทั้งสิ้นสอนว่ามีชาติหน้า
อะไรจะคือการยืนยันที่มีเหตุผลที่สุดในทัศนะของพระองค์ อาตมาคิดว่า
คำยืนยันข้างต้นนั้นสมเหตุสมผลที่สุด ถ้าชาติหน้ามี คนดีก็ต้องไปเกิดใหม่ดี ถ้าชาติหน้าไม่มี
ตอนนี้เขาก็ดีแล้วและกำลังรับผลเป็นความสุขสงบอันเนื่องมาจากการเป็นคนดีนั้น
ในแง่ความรู้ เรายืนยันไม่ได้ คนที่เชื่อว่ามีก็หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ คนที่เชื่อว่าไม่มีก็หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้
พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนแบบนั้น
แต่ในเวลานี้
คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็เต็มไปด้วยการกล่าวถึงชาติหน้า นรก สวรรค์ เต็มไปหมด หลายต่อหลายแห่งข้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัสเหล่านี้อยู่ในรูปของพระพุทธวจนะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาจะต้องอธิบาย
เพราะทิ้งไว้อย่างนั้นย่อมแปลความได้หลายอย่าง
กลายเป็นว่า พระพุทธเจ้าสอนขัดกันเอง วันหนึ่งสอนอย่างหนึ่ง
แต่อีกวันกลับสอนอีกอย่าง
จากที่อาตมาภาพได้แสดงปาฐกถาธรรม ตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมา
ก็เพื่อสรุปลงมาให้เห็นว่า พระราชปณิธานประการหนึ่งในการจัดตั้งห้องสมุดเฉลิมราชกุมารีแห่งนี้ขึ้น
ก็เพื่อการพัฒนามนุษย์ และปวงประชาราษฎร ให้มีความรู้ มีปัญญา และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์
วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยเหตุ ด้วยผล ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ดังคำปรารภในหนังสือ “ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า"”
ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นแนวทางให้เราท่านทั้งหลายได้นำเอามาปฏิบัติ
ดังประจักษ์พยานที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้แล้ว และตลอดระยะเวลา ๙ ปีที่ผ่านมา ห้องสมุดแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ เป็น“ครูผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา
วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้ ” อย่างสมบูรณ์สมดังเจตนารมภ์ในการก่อตั้งทุกประการแล้วหรือยังเป็นคำถามที่เราทุกท่านจะต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไป เพื่อ
ท้ายที่สุดนี้
ขออำนวยอวยพรให้ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัยอำเภอคำชะอี
ทุกท่าน จงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง พลังปัญญารุ่งโรจน์ และมีความสุข
ทั้งด้านกายภาพและทางจิตใจ สามารถผ่านพ้นอุปสรรคใดๆ ในชีวิตไปได้ด้วยความราบรื่น
ตลอดทุกท่าน ทุกคน เทอญ.
.
*อ้างอิงบางส่วนจาก, สมภาร พรมทา,ญาณวิทยาของพระพุทธเจ้า. สำนักพิมพ์มจร. ๒๕๖๑.