วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ทาสยุคใหม่


ทาสยุคใหม่


โดย อ.อาทิจฺจพโลภิกขุ



...วันนี้เป็นวันที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “วันเลิกทาส” ตั้งแต่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 และห้ามมีการซื้อขายทาสอีกในประเทศไทย

...ทาส หมายถึง บุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่นโดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของ (นายทาส) เช่น การรับใช้ทางด้านแรงงาน
...แต่ดั้งเดิมนั้นประเทศไทยมีพลเมืองที่เป็นชนชั้นทาสมากกว่า 30% ของพลเมืองทั้งประเทศ เนื่องจากการได้รับวรรณะทาสนั้นจะถูกสืบจากสายเลือด หากพ่อแม่เป็นทาส ลูกก็จะเป็นทาสด้วย ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์ ที่สืบทอดทางสายเลือดเช่นกัน
..วันนี้เราอาจเห็นว่าระบบทาสและระบบวรรณะดั้งเดิมจะกลายเป็นแนวคิดที่ล้าหลังและไม่สอดคล้องกับยุคสมัยไปแล้ว เพราะโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกแห่งเสรีภาพ แต่หารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วมันเพียงเปลี่ยนสถานะจากระบบทาสแบบวรรณะ จนกลายมาเป็นทาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนเรียกระบบนี้ว่า "ทาสยุคใหม่"
...ระบบทาสยุคใหม่ เริ่มต้นจากชนชั้นนายทุน กับชนชั้นกรรมาชีพ คาล มาร์ก เป็นคนแรกที่มองเห็นปัญหาทาสยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนที่สุด จากคำแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ตอนหนึ่งเขา กล่าวว่า
"..ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น โดยนับต้องแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน เช่น ทาสกับนาย ไพร่กับผู้ดี นายจ้างกับลูกจ้าง โดยจะมีคนนึงเป็นผู้ข่มเหง และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ถูกข่มเหงเสมอ
....ในโลกปัจจุบันได้เกิดชนชั้นใหม่ที่มีบทบาทในสังคมมาก คือนายทุน นายทุนเอาเปรียบชนชั้นแรงงานทุกวิถีทาง อำนาจของนายทุนคืออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยผู้ปกครองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลนายทุนด้วย
...พวกนายทุนทั้งหลายมักเรียกร้องเสรีภาพ เช่น การค้าขายอย่างเสรี การแข่งขันเสรี แต่แท้จริงแล้วเป็นการเรียกร้องให้ตัวเองเอาเปรียบผู้อื่น
...นายทุนเป็นพวกไร้ศีลธรรม มองเห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเพียงการสะสมเงินทอง ส่วนคุณค่าทางจิตใจ ความเมตตาปรานีหรือมนุษยธรรมแทบจะไม่มีอยู่ในสำนึกของนายทุน
...นี่คือระบบ "ทาสยุคใหม่" ที่กำลังแผ่ขยายความยิ่งใหญ่อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี ที่เลิกระบบทาสแบบเก่าได้หมดสิ้น แต่หลังจบเสียงไชโย ทุกคนก็ต้องกลับมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบทาสยุคใหม่ ที่อาจไร้หนทางที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกระบบนี้ได้ และดูเหมือนว่า " หลายคนก็หลงดีใจไปกับการตกเป็นทาสชนิดนี้ และหลงไปว่าตนเองเป็นไท
23 ตุลาคม 2561

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บทความสั้น "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ : ปรากฏการณ์ในสังคมไทย"


สามเณรอวดอุตริ อ้างเป็นร่างทรงหลวงปู่ครูบา เปิดสำนักทรงเจ้า
บทความสั้น "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ : ปรากฏการณ์ในสังคมไทย"
ผู้เขียน : พระสมุห์อดิเรก อาทิจฺจพโล
...บทความนี้ตรงกับปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ นั่นคือคำสอนทางศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสิ่งที่เข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (ซึ่งมักถูกมองในฐานะสิ่งคุกคาม)
...เราจะรู้เท่าทันอำนาจการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาของอัตตาได้อย่างไร?,คำสอนทางจิตวิญญาณควรถูกนำมาใช้ในการตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคมและตัวเราเองอย่างไร? การแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ควรเป็นไปในทิศทางใดจึงจะสอดคล้องกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต?
....เหล่านี้เป็นคำถามที่มีอยู่ในหัวใจของผู้แสวงหาสัจจะทุกยุคทุกสมัย อะไรคือ วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ
พระหนุ่มไฟแรงตัวแทนแห่งร่างทรงพ่อปู่ฤาษี
...คำบรรยายนี้เป็นการท้าทายความเชื่อเรื่อง “ศาสนา” และเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “ธรรมะ” ไปโดยสิ้นเชิง การปฏิบัติธรรมไม่ใช่หนทางสู่การพ้นทุกข์หรือสร้างสุขอีกต่อไป แต่คือการยอมรับและเผชิญทุกข์และความสุขตามที่เป็นอยู่จริงๆ ธรรมะไม่ใช่การตัดสินดีชั่ว ถูกผิด ไม่ใช่การกำจัดด้านมืดให้สิ้นซาก หรือการแบ่งแยกฝ่ายธรรมะจากฝ่ายอธรรม ไม่ใช่การพิพากษาว่าอัตตาเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัด แต่ต้องรู้ทันและเข้าใจมันอย่างทะลุปรุโปร่ง จนอัตตาไม่อาจมีอำนาจเหนือความรู้แจ้งของเราได้
...เส้นทางจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องของการพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนดีมีศีลธรรม หรือหลีกหนีจากชีวิตแบบโลกีย์ๆ แต่คือการเป็นตัวของตัวเอง ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ภาคภูมิใจในความเป็นคน และตระหนักว่าศักยภาพแห่งการรู้แจ้งไม่ใช่สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ ทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว
พระสงฆ์-ฆราวาส แห่กราบร่างทรงพระพุทธเจ้า
...ชาวพุทธควรจะหันกลับมาตระหนักในเรื่อง “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” อันหมายถึงการใช้หลักธรรมคำสอน เทคนิคปฏิบัติ และภาพลักษณ์สูงส่งทางจิตวิญญาณ เพียงเพื่อการหลอกตัวเอง การเสริมสร้างอัตตา หรืออัตลักษณ์ทางศาสนา ศีลธรรม ความดี บุญบารมี ปัญญาญาณ ขั้นการบรรลุธรรม ฯลฯ อย่างปราศจากการนำพุทธธรรมมาฝึกฝนปฏิบัติจริงในชีวิต ซึ่งจะเห็นได้ในปัจจุบันนับวันที่จะหลงทางกันไป เกิดกระแสความคิดที่ต้องการการขัดแย้งมากกว่าความสงบสุข แล้วก็มักจะอ้างสิทธิส่วนตนเอาอัตตาตัวตนเป็นใหญ่ โดยแท้ที่จริงแล้วก็เพราะการหลงไปกับความเพ้อฝัน หรือความฟุ้งซ่าน ซึ่งต่างก็ยกมาหักล้างกันทางเหตุผล จนทุกวันนี้ หาผู้คนที่จะนำธรรมะของพระพุทธศาสนาในส่วนของปฏิบัติไปทดสอบ ทดลองปฏิบัติยากขึ้นมากขึ้นทุกที
..โดยเฉพาะในส่วนของ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นเสมือนทางสายเอกที่จะนำจิตวิญญาณไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงตามหลักการของพระพุทธศาสนา โดยปราศจากการสร้างภาพลักษณ์สูงส่งใดๆ และไม่เป็นการหลอกตัวเอง บางคนพูดถึงพระนิพพาน อธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งในความรู้ของตนที่ได้ศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยได้ลงมือปฏิบัติเพื่อที่จะบรรลุธรรมอันสูงสุดนั้นนี่ก็เป็นการหลอกตนเอง บางครั้งถึงกับสร้างสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่สุดจะบรรยายด้วยเงินมหาศาลแล้วก็พยายาม นำการกระทำของตนโยงเข้าหาหลักคำสอน ก่อนจะตกลงใจว่า ได้บรรลุคุณวิเศษชั้นหนึ่งแล้ว ความคิดอย่างนี้มักจะมีอยู่ในหมู่ชนที่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาหนทางหลุดพ้นทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น ส่วนผู้คนอีกกลุ่มหนี่งก็จะเลือกใช้วิธีบนบานสานกล่าว เหล่าเทวดา ผีสาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลงไปทางไสยศาสตร์ “ แม้จะเป็นการไหว้พระพุทธรูป หรือสวดมนต์ ก็เข้าข่ายหลงไปทางไสยศาสตร์เช่นกัน เพราะเขาทำไปเพื่ออ้อนวอนขอให้สิ่งเหล่านั้นคุ้มครองภัยอันตราย หรือดลบันดาลโชคลาภ โดยสร้างมโนภาพของสวรรค์และวิมานที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาหลอกตัวเองอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า “สร้างอัตตาสองชั้น” และเมื่อทำไปบ่อยๆ ก็เลยเข้าใจไปว่า ตนเองมีการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เป็นคนมีคุณธรรมสูงกว่าคนทั่วไป หรือบางครั้งก็เลยเถิดไปจนถึงขั้นตั้งตนเป็นคนทรงเจ้า เป็นผู้วิเศษ หรือเป็นอรหันต์ไปเลย
ร่างทรงพระศรีอริยเมตไตรย์ ก็มาด้วย
...ทุกวันนี้ก็มีการแต่งคาถาสวดปกป้อง คุ้มครอง ขอฝน บนบาน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นมากมายเพราะความหลงไปกับกระแสวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ จนหลักคำสอนอันเป็นแก่นของการปฏิบัติเพื่อการบรรลุที่แท้จริงนั้นถูกมองข้ามและเป็นของสงวนไว้สำหรับนักบวช บรรพชิต ส่วนคนทั่วไปนั้นก็คอยฟังผลของการปฏิบัติของนักบวชหรือบรรพชิตเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง จึงทำให้มีการหลอกลวงต้มตุ๋นกันมากยิ่งขึ้น มีพระอริยะปลอม เกิดขึ้นมากมายเพื่อสนองกิเลสของปุถุชนผู้ลุ่มหลงไปกับวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณพวกนั้นที่ได้สร้างอัตตาขึ้นมาผ่านเทคนิคทางจิตวิญญาณอันซับซ้อน
...ดังนั้นชาวพุทธจึงควรนำธรรมะในส่วนของปริยัติธรรมมาพิจารณาให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและนำเข้าสู่การปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ปฏิบัติได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึง การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น จนมีความเห็นที่เป็นทิฏฐิวิสุทธิ คือความเห็นที่บริสุทธิ์ อย่างแท้จริงโดยปราศจากอัตตาตัวตน หรือการสร้างมโนภาพทางจิตขึ้นมาเป็นเป้าหมาย
พระอดิเรก อาทิจฺจพโล
28 มิถุนายน 2558

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ปาฐกถาธรรม เนื่องใน วันทำบุญครบรอบ ๙ ปี ของการเปิดทำการ ห้องสมุด "เฉลิมราชกุมารี"


 ปาฐกถาธรรม เนื่องใน วันทำบุญครบรอบ ๙ ปี ของการเปิดทำการ
ห้องสมุด "เฉลิมราชกุมารี"  วันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐น. 
ณ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ต.น้ำเที่ยง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร  

*โดย พระสมุห์อดิเรก อาทิจฺจพโล 

ขอโอกาสพระเถรานุเถระ คณะสงฆ์ที่เคารพอย่างสูง, ขอเจริญพร ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคำชะอี ทุกๆ ท่าน.
          วันนี้อาตมาภาพได้มีโอกาสมาปาฐกถาธรรม เนื่องเป็นวันทำบุญวันครบรอบ ๙ ปี ของการเปิดทำการห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ตามคำนิมนต์ของท่านฐิติพร บุทธิจักร ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคำชะอี  ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเริ่มจากการที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พิจารณาสร้างขึ้น “เพื่อสนองพระราชปณิธานและแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมการศึกษา สำหรับประชาชนตามที่ทรงแสดงไว้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม สมัชชาสากลว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๓ ได้ทรงพระราชทานลายพระหัตถ์เชิญชวนเป็นข้อความว่า
ให้ “ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้”
           และในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า" ได้ทรงกล่าวว่า “ความรู้ของมนุษย์เป็นมกรดกตกทอดกันมาแต่โบราณเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอักษรขึ้นผู้มีความรู้ก็ได้ บันทึกความรู้ของตน สิ่งที่ตนค้นพบเป็นการจารึก หรือเป็นหนังสือทำให้บุคคลอื่นในสมัยเดียวกัน หรืออนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสศึกษาทราบถึงเรื่องนั้น ๆ และได้ใช้ความรู้เก่าๆ เป็นพื้นฐานที่จะหาประสบการณ์ คิดค้นสิ่งใหม่ ๆที่เป็นความก้าวหน้าเป็นความเจริญสืบ ต่อไป”
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา.
ทีนี้เรามาพิจารณากันว่าที่ทรงพระราชทานข้อความว่า “ให้ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้” นั้น ทรงหมายความว่าอย่างไร   อย่างแรก คือ ทรงต้องการให้เข้าถึงความรู้ คือ “อ่านออก”  เพราะถ้าคนอ่านหนังสือไม่ออก ก็จะไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของมนุษย์ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งได้บันทึกเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพสลักบนผนังถ้ำ  ศิลาจารึก อักษรที่จารึกลงในใบลาน และหนังสือต่างๆ ซึ่งมีทุกสาขาวิชาครอบคลุมชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อไม่สามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่ไม่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ คือ ไม่มีความสามารถในการสั่งสมและถ่ายทอดอารยธรรมของตนไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานได้
อย่างหลัง คือทรงต้องการให้มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ คือ “เขียนได้” คำว่า “เขียน”ในที่นี้มีสองความหมาย คือ ความหมายอย่างแคบ ได้แก่ การเขียนตัวอักษรเพื่อสื่อความหมายลงในวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบันทึกเอาไว้ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถเปิดอ่านและเข้าใจความหมายของตัวอักษรนั้นได้  ส่วนความหมายอย่างกว้าง คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล เพื่อสื่อการกับมนุษย์ด้วยกันเอง การที่มนุษย์จำเป็นต้องมีการเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม จึงต้องมีการสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องมีความรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย  จึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 
พระองค์ท่านทรงมองเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน จึงทรงชักชวนให้ทุกท่านมาช่วยกันทำห้องสมุดแห่งนี้เพื่อให้เป็นที่สำหรับถ่ายทอดความรู้ทั้งสองอย่างนี้ให้แก่ประชาชนชาวไทย ทุกคน  
พระองค์ให้คำนิยามว่า “ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บเอกสารต่าง ๆ อันเป็นแหล่งความรู้ดังกล่าวแล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็น “ครูเป็นผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้” ตรงนี้ขอให้ทุกท่านให้ความสนใจให้มาก เพราะเป็นพระดำรัสที่สำคัญมากกว่า การอ่านออก เขียนได้  คือ ทรงมองเห็นว่า ห้องสมุดเปรียบเสมือน ครูผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา คำว่า “ปัญญา” นี้คือปัญญาในภาษาชาวโลกเรียกว่า  Understandingหรือ “faculties” ห้องสมุดทำหน้าที่เสมือนครูผู้ให้ปัญญาแก่มนุษย์ แต่ปัญญานี้จะต้องเป็นปัญญาในการวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ อันชอบด้วยเหตุผล หรือภาษาธรรมเรียกว่า "Wisdom"ตรงนี้แหละที่ทรงอยากให้เราไปให้ถึง  ทุกวันนี้เรามักจะไม่ใช้ปัญญา แต่ชอบใช้คำว่า ความเชื่อ (Belife) เสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในเฟสบุ๊ค ไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียเวลานี้ มีข้อความมากมายที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริง สิ่งเหล่านี้นั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี ปะปันกันไป มีทั้งสิ่งที่เป็นความรู้ และเป็นความเชื่อ เราจะทำอย่างไรกับข้อมูลมากมายมหาศาลเหล่านี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า อันไหนความสิ่งที่ควรรู้อันชอบด้วยเหตุผล และข่าวสารอันไหนที่ไม่ควรเชื่อถือ  แม้แต่ในห้องสมุดของเราเอง ตำหรับตำรา หนังสือมากมายที่เรามีอยู่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เล่มไหนเป็นความรู้ที่เราควรรู้ และเล่มไหนไม่มีคุณค่าเพียงพอที่เราจะใส่ใจ หรือแม้กระทั่งไม่ควรจะมีไว้ในห้องสมุดแห่งนี้
... ปัญหานี้เคยมีคนถามพระพุทธเจ้ามาแล้ว โดยชาว เกสปุตตะ โดยมีความย่อว่า “สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปถึง นิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึง ทั้งทราบกิตติศัพท์ แห่งพระพุทธคุณของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ และกราบทูลพระองค์ว่า “ได้มีสมณพราหมณ์ที่มายังเกสปุตตนิคมนี้ ต่างก็พูดประกาศเฉพาะลัทธิของพวกตน และพูดตำหนิลัทธิของพวกอื่น จึงได้มีความสงสัยว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ชาวกาลามะจึงทูลขอหลักการวินิจฉัย ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแนวคิดต่างๆ  (ที่มา: เกสปุตตสูตร ๒๐[๕๐๕]๑๗๙)
พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มต้นด้วยหลักการพื้นฐานทางตรรกวิทยาที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วไปในโลกคือ ทรงเริ่มด้วยสิ่งที่พึงละเว้นในการใช้ความคิดก่อน เราเรียกของพวกนี้ว่า Logical Falacies ทรงเห็นว่ามีอยู่ ๑๐ อย่าง ต่อไปนี้
มา อนุสฺสวเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
มา ปรมฺปราย  อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
มา อิติกิราย  อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ 
มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา 
มา ตกฺกเหตุ  อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง 
มา นยเหตุ  อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา 
มา อาการปริวิตกฺเกน  อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ 
มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา  อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน 
มา ภพฺพรูปตา อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้   
มา สมโณ โน ครูติ  อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ทรงต้องการให้เราอย่าพึ่งเชื่อสิ่งใด หากยังไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาให้ถ้วนถี่เสียก่อน ว่าสิ่งไหนควรรู้ สิ่งไหนไม่ควรรู้ สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนทำแล้วก่อทุกข์ สิ่งไหนทำแล้วไม่ก่อทุกข์ สิ่งไหนทำแล้ววิญญูชนติเตียน สิ่งไหนทำแล้ววิญญูชนไม่ติเตียน เป็นต้น ที่ทรงตรัสพระสูตรนี้ก็เพราะว่า ชาวอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีก่อนก็ล้วนแต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้หรือความจริง เพราะสาเหตุต่างๆ ที่ทรงยกมา ๑๐ ประการนี้ จึงทรงประสงค์ให้ชาวกาลามะระมัดระวังการรับข้อมูลเหล่านี้ เพราะเป็นเครื่องปิดกั้นไม่เป็นไปเพื่อการพัฒนาสติปัญญา
อย่างข้อแรก หมายเอาเสียงที่พูดกันต่อๆ มา (อนุสฺสว) เปรียบกับปัจจุบันก็ ข้อความที่ส่งเข้ามาในเฟสบุ๊ค เห็นคนแชร์ข้อความอ้างว่าคนนั้นคนนี้พูด พร้อมใส่ภาพประกอบ ของพวกนี้ถูกส่งต่อๆ กันไปมากมาย พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมานี้เท็จเสมอ อาจมีบางข้อมูลจริงก็ได้ แต่ที่ทรงเตือนคือ “อย่าพึ่งเชื่อว่าจริง”
ข้อต่อมา หมายเอาสิ่งที่เชื่อถือหรือปฏิบัติตกทอดกันมายาวนาน (ปรมฺปร) อาจหมายถึง จารีตประเพณีโดยรวมก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อต้านจารีตประเพณี แต่ต่อต้านการทำตามจารีตประเพณีโดยไม่ถามว่าควรทำตามไหม เช่น ในอินเดียสมัยนั้นมีการฆ่าสัตว์บูชายัญ การเผาสตรีที่สามีตายให้ตายตามด้วย อาจเป็นไปได้ว่าบางประเพณีบางอย่างดี บางอย่างไม่ดี เราต้องถามเป็นเรื่องๆ ไปว่ายังใช้ได้ไหม ไม่ใช่เชื่อตามว่าดีเสมอเพราะเป็นจารีตประเพณี
ข้อที่สาม (อิติกิร) หมายถึงการอ้างว่า “เขาว่ากันมาอย่างนี้” หรือ “ท่านว่า” ข้อความพวกนี้คลุมเครือ “เขา”หรือ “ท่าน” ที่ว่านั้นคือใคร เราต้องสงสัย เมื่อสงสัยก็จะได้ชั่งน้ำหนักได้ว่าควรเชื่อตาม “ท่าน” ที่ไม่มีตัวตนแจ้งชัดนั้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำลอยๆ อย่างนี้ ดังจะเห็นได้ในพระสูตรนี้เอง เวลาจะทรงอ้างว่าใครเห็นหรือพูดว่าอย่างไร จะทรงระบุตัวตนและคุณสมบัติของผู้นั้น เช่น เรื่องนี้ วิญญูชนไม่เสรรเสริญ จะไม่ตรัสว่า เรื่องนี้ท่านไม่เสรรเสริญ คำว่า “วิญญูชน” ของพระองค์ก็มีนิยามชัดเจนตรวจสอบได้ ส่วน “ท่าน” ที่อ้างลอยๆ นั้นไม่รู้ว่าใคร
ข้อถัดมาเรื่องการอ้างตำรา (ปิฏกสมฺปทาน) คำว่า “ปิฏก” นี้ในความหมายที่แคบหมายถึงคัมภีร์ อาจจะทางศาสนา หรือลัทธิ ก็ได้ ความหมายกว้าง หมายเอางานเขียนทุกอย่างที่สมัยนี้เราเรียกกันว่า Texts ในอินเดียสมัยนั้นบางศาสนาถือว่าคัมภีร์ทางศาสนาต้องจริงเสมอ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ เวลานี้บางศาสนาในโลกก็ยังยึดถือจารีตนี้อยู่ การวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์อัลกุรอานในประเทศมุสลิมทำไม่ได้ ผิดกฎหมายร้ายแรง ในยุคกลาง การสอนอะไรที่ขัดต่อคัมภีร์ไบเบิลก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง มีผลทางกฎหมาย ท่าทีเหล่านี้สำหรับพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการทิ้งเหตุผลอย่างหนึ่งคือเป็น Logical Falacies อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อต้านคัมภีร์ เพราะสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์หลายอย่างอาจเป็นประโยชน์ เป็นความรู้ และความจริง แต่ทรงต่อต้านการอ้างคัมภีร์เพื่อปิดปากคน สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์นั้นทรงถือว่าเป็นข้อมูล  กระนั้นก็ตาม เราต้องไม่สรุปว่าทุกอย่างที่อยู่ในคัมภีร์ต้องจริงเสมอ หลักการนี้ทรงแนะให้ชาวพุทธใช้กับพระไตรปิฎกด้วย ทรงคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว สิ่งที่ทรงสอนจะมีคนรวบรวมเป็นคัมภีร์ และเท่าที่ทรงมีประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น อะไรก็ตามแต่ที่กลายมาเป็นคัมภีร์ศาสนา ก็จะมีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เชื่ออย่างเดียว ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ทรงเห็นว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่ดีต่อการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น
สองข้อถัดมามีเรื่องต้องตีความมาก คือ ตกฺก และนย) อาตมาจะแสดงโดยละเอียดเพราะอาจไม่จำเป็นสำหรับการแสดงธรรมในวันนี้ แต่จะขอกล่าวพอเข้าใจเท่านั้นว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่ามีนักคิดอินเดียร่วมสมัยกับพระองค์บางพวกใช้กระบวนการทางเหตุผล เพื่ออนุมานว่าจะต้องมี “อัตตา” คนพวกนี้มีชื่อเรียกในพระไตรปิฎกภาษาบาลีว่า “ตกฺกี” และ “วิมงฺสี” สองคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกัน แทนกันได้ ตกฺก และวิมงฺส หมายถึง การครุ่นคิด ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Rationalization ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า คนเหล่านี้ไม่คิดว่าอัตตาของมนุษย์จะตรวจสอบได้ด้วยประสารทสัมผัส แต่สามารถเข้าใจหรืออนุมานว่ามีอยู่ได้ด้วยเหตุผล ในทางตะวันตก กระบวนวิธีที่นักปรัชญากรีกบางคน เช่น เพลโตใช้ก็คือวิธีเดียวกันนี้ เพลโตเสนอว่า วัตถุเคลื่อนด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องถูกกระทำด้วยวัตถุหรือสสารเช่นเดียวกัน การที่วัตถุอย่างหนึ่ง เคลื่อนไปกระทบกับวัตถุอีกอย่างหนึ่งแล้ว เกิดการเคลื่อนที่ แสดงว่า มันถูกกระทำโดยสิ่งอื่น ซึ่งเพลโตสรุปว่า มันต้องมีอัตตา (The Soul) ในวัตถุที่เป็นตัวสั่งการให้ วัตถุนั้นทำงาน นักตรรกะและนักวิมังสะในอินเดียสมัยนั้นก็อนุมานว่าจะต้องมีอัตตาแบบเดียวกันนี้
ส่วนคำว่า นย มีความหมายเกี่ยวข้องกับการหาความรู้แบบหนึ่งคือแบบที่ไม่ใช้ประสาทสัมผัส พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า แม้ตกฺกและนย จะเป็นกระบวนการวิธีที่รัดกุม เป็นระบบระเบียบที่สุดแล้วก็ตาม เราก็อย่าพึ่งเชื่อว่าผลของมันจะนำมาซึ่งความจริง
ข้อต่อมาอาจตีความง่ายๆ หรือซับซ้อนก็ได้ คำว่า อาการปริวิตกฺก หมายถึง การคิดไตร่ตรองโดยอาศัยอาการของสิ่งนั้นหรือเหตุการณืนั้น เช่น วันหนึ่ง เราได้ยินเสียงเพื่อบ้านร้อง สักพักก็เห็นชายแปลกหน้าวิ่งออกมาพร้อมกับถือมีดเปื้อนเลือด สักพักมีตำรวจมา เราทราบว่าในบ้านนั้นมีคนตายคือเจ้าของบ้าน โดยอาการเราเชื่อว่าฆาตกรคือชายคนที่ถือมีดเปื้อนเลือดวิ่งหน้าตื่นออกมาแล้วขับมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้หน้าบ้านออกไปอย่างรวดเร็ว การไตร่ตรองจากอาการอย่างเป็นระบบอาจหมายถึง สิ่งที่เราเรียกกันในสมัยนี้ว่า วิธีการแบบอุปนัย (Induction)
ข้อเตือนสติของพระพุทธองค์ถัดมาคือการที่คนเราเอาความคิดเห็นตนเป็นเกณฑ์ในการรับ หรือไม่รับสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้( ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ)  เช่น อะไรที่ฉันชอบ ฉันก็ว่าดี อะไรที่ฉันไม่ชอบฉันก็ว่าไม่ดี ดี ชั่ว มีความหมายเพียงเท่านี้เอง อย่างเช่นทุกวันนี้สังคมแตกแยกมีสองฝ่าย เสื้อเหลือง เสื้อแดง เวลาสองฝ่ายนี้ออกสื่อมักจะโจมตีอีกฝ่ายว่าไม่ดี ความเห็นของฝ่ายตนเองดีหมด ฝ่ายอื่นผิดหมด ถ้าฝ่ายเดียวกันพูดจะถูกหมด ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามพูดผิดหมด สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ยากยิ่ง หรืออาจแก้ไขไม่ได้เลย เว้นแต่เราจะเอาจริงเอาจังกับการสังเกตและขัดเกลาตนเองอย่างจริงจัง ดังนั้นที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนนั้นถือว่าสำคัญและลึกซึ้งมาก
สิ่งที่ทรงเตือนให้ระมัดระวังสองข้อสุดท้ายค่อนข้างชัด (ภพฺพรูปตา และ สมโณ โน ครูติ) ข้อแรกคือ อย่าเชื่อว่าใครพูดเรื่องจริงเพียงเพราะว่า เขาน่าเชื่อถือ เช่น มีสถานบางอย่างรองรับสิ่งที่เขากำลังเสนอนั้น เช่นจบปริญญาเอก เป็นเปรียญ ๙ ประโยค เป็นศาสตราจารย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นจะจริงและน่าเชื่อถือ ดังนั้นเวลาฟังเขา(และอาตมา) พูด อย่าเอาความเป็น ด๊อกเตอร์ทางปรัชญา เป็นศาตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์  หรือเป็นเปรียญทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องรับประกันอะไรทั้งนั้น ขนาดเนื้อในยังรับประกันอะไรไม่ได้ ของภายนอกเช่น การแต่งกาย สีจีวร ท่าทางอาการพูดจา ความร่ำรวย การเป็นคนชอบนั่งสมาธิ การพูดจาเนิบนาบ ฯลฯ เป็นต้น ก็ไม่ใช่หลักประกันอะไรทั้งสิ้น ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจลักษณะทางกายภาพของคนเลย ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสังเกตความน่าเชื่อถือของคนจากลักษณะภายนอกก่อน คนเป็นพลาหรือบัณฑิตเราพอสังเกตออกในเบื้องต้นผ่านการพูด การกระทำของเขา แต่ทั้งหมดนั้นก็ทรงเตือนว่า เมื่อคนที่น่าเชื่อถือเหล่านี้พูดหรือเขียน ความจริงเท็จของสิ่งที่เขาเสนอไม่จำเป็นต้องสอดคล้องตามบุคคลิกลักษณะของเขา เราต้องสงสัย หรือคิดเผื่อเรื่องต่างๆ ไว้ด้วย.(เรามในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาประเภท ชาดก เรามีนิทานเรื่องฤาษีกินเหี้ย ก็เพื่อเตือนสติเรื่องอย่าไว้ใจคนเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ฤาษีที่สงบเห็นเหี้ยมาไหว้ทำความเคารพเพราะศรัทธา เกิดอยากกินเนื้อเหี้ย จึงซ่อนพร้าไว้ข้างหลัง พอเหี้ยก้มหัวนมัสการก็ขว้างพร้าใส่ แต่พลาด เหี้ยจึงรู้ตัวว่าไหว้และไว้ใจคนผิดเสียแล้ว
เรื่องสุดท้ายที่ว่า อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าที่กล่าวมานี้ต้องจริงแน่นอนเพราะคนพูดเป็นครูที่เราเคารพศรัทธา เป็นสิ่งที่อาตมาเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่เคารพหลักการอย่างเคร่งครัด ในทางตรรกวิทยา เรารู้ว่าหากข้อความนั้นจะจริงก็เพราะตรงกับความเป็นจริง ใครพูดก็จริง ตรงกันข้าม ถ้าข้อความนั้นเท็จ ใครพูดก็เท็จ “ใคร” ที่ว่านี้รวมเราครูที่เราเคารพศรัทธาอย่างสูงด้วย พระพุทธเจ้านั้นเป็นที่ทราบว่าทรงเป็นพระศาสดา แต่ทรางสอนให้สาวกสงสัยพระองค์ ตรวจสอบพระองค์ อย่างเชื่อพระองค์ทันที นี่คือลักษณะของคนที่เคารพหลักการ หลักการอะไร ก็หลักการทางความคิดที่ว่า ความจริงเป็นคุณสมบัติของข้อความ ไม่ใช่คุณสมบัติของคนพูดหรือคนสอน เรามีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบข้อความที่มีคนเสนอให้เรา ซึ่งบางทีคนที่เสนอก็คือครูของเรา พระศาสดาของเรา คัมภีร์ศาสนาของเรา อะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็น “ของเรา” มักมีอำนาจโน้มใจเราให้ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ชาวพุทธต้องไม่เป็นคนอย่างนั้น ชาวพุทธต้องเป็นอิสระ สนใจความจริงที่อยู่ในเรื่องนั้นๆ ไม่สนใจคนพูด ต่อให้คนพูดเป็นครู หรือพระศาสดาของเราก็ตาม ความยึดติดในครูตามทัศนะของพระพุทธเจ้าเป็นอุปสรรคต่อชีวิตอิสระ
ที่อาตมาแสดงหลักกาลามสูตร ๑๐ ข้อมานี้ เพื่อที่จะให้ทุกท่านเห็นว่า “พระพุทธเจ้าไม่เป็นอะไร? เท่านั้น ยังไม่ได้แสดงว่า พระพุทธเจ้าเป็นอะไร?  นี่คือหลักที่ทรงบอกว่า ทรงเป็นอะไร ข้อความนั้นมีว่า “ เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”
ความต่อไปในกาลามสูตรแสดงให้เห็ความที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นนักคิดที่เวลาเสนออะไรไปข้อเสนอนั้นจะหักล้างยากมาก หรือไม่ได้เลย ตรัสว่า คนที่ละอกุศลมูลได้แล้ว เจริญกุศลให้งอกงามขั้นเรื่อยๆ ในชีวิต ย่อมได้รับผลของความรู้และการปฏิบัติตามความรู้นั้นดังนี้
          ทรงตรัสถามว่า เมื่อประกอบด้วยความไม่มีเวรเช่นนี้ มีความไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตใจหมดจดอย่างนี้ ก็ย่อมจะได้ความอุ่นใจ ๔ ประการ กล่าวสั้นๆ คือ คนที่ละชั่วทำดีแล้ว ในทางกายภาพ ๑) ถ้าชาติหน้ามีจริง ชีวิตในชาติหน้าของเขาก็ต้องดี ๒) ถ้าชาติหน้าไม่มีจริง เขาก็ดีแล้วในชาตินี้ และมีความสุขสงบแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสีย  ในทางจิตใจ ๓) ขณะนี้เราไม่ใช่คนชั่ว ดังนั้น หากผลกรรมมีจริง จะเกิดความเลวร้ายกับชีวิตเราในปัจจุบันหรือในชาติหน้าได้อย่างไร ๔) ขณะนี้เราไม่ใช่คนชั่ว สมมติว่าผลกรรมไม่มีจริง เราไม่ต้องไปรับผลของกรรมชั่วในชาติหน้าเพราะชาติหน้าไม่มีและในชาตินี้ เนื่องจากเราไม่ใช่คนชั่ว เราก็ย่อมมีแต่สุข ไม่มีอะไรต้องกังวล เคารพตนได้ แม้โลกนี้จะปราศจากกฎแห่งกรรมที่จะให้คุณให้โทษมนุษย์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าก็ตาม
          ขอให้สังเกตว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสยืนยันว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี เพราะความมีอยู่ของชาติหน้าเป็นเรื่องพ้นการตรวจสอบด้วยอายตนะ วิสัยของพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงสอนสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ ปัญหามีว่า สังคมอินเดียสมัยนั้น รวมทั้งสมัยนี้ด้วย ศาสนาแทบทั้งสิ้นสอนว่ามีชาติหน้า อะไรจะคือการยืนยันที่มีเหตุผลที่สุดในทัศนะของพระองค์ อาตมาคิดว่า คำยืนยันข้างต้นนั้นสมเหตุสมผลที่สุด ถ้าชาติหน้ามี คนดีก็ต้องไปเกิดใหม่ดี ถ้าชาติหน้าไม่มี ตอนนี้เขาก็ดีแล้วและกำลังรับผลเป็นความสุขสงบอันเนื่องมาจากการเป็นคนดีนั้น ในแง่ความรู้ เรายืนยันไม่ได้ คนที่เชื่อว่ามีก็หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ คนที่เชื่อว่าไม่มีก็หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนแบบนั้น
          แต่ในเวลานี้ คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็เต็มไปด้วยการกล่าวถึงชาติหน้า นรก สวรรค์ เต็มไปหมด หลายต่อหลายแห่งข้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัสเหล่านี้อยู่ในรูปของพระพุทธวจนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาจะต้องอธิบาย เพราะทิ้งไว้อย่างนั้นย่อมแปลความได้หลายอย่าง  กลายเป็นว่า พระพุทธเจ้าสอนขัดกันเอง วันหนึ่งสอนอย่างหนึ่ง แต่อีกวันกลับสอนอีกอย่าง
                จากที่อาตมาภาพได้แสดงปาฐกถาธรรม ตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมา ก็เพื่อสรุปลงมาให้เห็นว่า พระราชปณิธานประการหนึ่งในการจัดตั้งห้องสมุดเฉลิมราชกุมารีแห่งนี้ขึ้น ก็เพื่อการพัฒนามนุษย์ และปวงประชาราษฎร ให้มีความรู้ มีปัญญา และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยเหตุ ด้วยผล ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ดังคำปรารภในหนังสือ “ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า"” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นแนวทางให้เราท่านทั้งหลายได้นำเอามาปฏิบัติ ดังประจักษ์พยานที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้แล้ว และตลอดระยะเวลา  ๙ ปีที่ผ่านมา ห้องสมุดแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ เป็น“ครูผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้ ” อย่างสมบูรณ์สมดังเจตนารมภ์ในการก่อตั้งทุกประการแล้วหรือยังเป็นคำถามที่เราทุกท่านจะต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไป เพื่อ
          ท้ายที่สุดนี้ ขออำนวยอวยพรให้ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัยอำเภอคำชะอี ทุกท่าน จงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง พลังปัญญารุ่งโรจน์ และมีความสุข ทั้งด้านกายภาพและทางจิตใจ สามารถผ่านพ้นอุปสรรคใดๆ ในชีวิตไปได้ด้วยความราบรื่น ตลอดทุกท่าน ทุกคน เทอญ.
.
*อ้างอิงบางส่วนจาก, สมภาร พรมทา,ญาณวิทยาของพระพุทธเจ้า. สำนักพิมพ์มจร. ๒๕๖๑.
                 


วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561


ปัญหาการบริโภคอาหารมังสวิรัติในมุมมองพุทธจริยศาสตร์[๑]
The problem of vegetarian food in view of Buddhist ethics. 

                                                                                                   พระสมุห์อดิเรก  อาทิจฺจพโล[๒]


บทคัดย่อ
บทความนี้ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอว่าการบริโภคอาหารมังสวิรัติในมุมมองพุทธจริยศาสตร์นั้นควรหรือไม่ควรอย่างไร เนื่องจากเหตุผลที่กลุ่มนิยมบริโภคเนื้อสัตว์มักยกขึ้นมาอ้างว่า หากสัตว์ไม่ถูกฆ่ากินโดยมนุษย์ จำนวนสัตว์ก็จะล้นโลก การกินเนื้อสัตว์จึงเป็นการช่วยปรับความสมดุลเชิงนิเวศวิทยา และกลุ่มที่นิยมบริโภคอาหารมังสวิรัติเสนอข้อโต้แย้งว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตผู้อื่น ความจริงควรคำนึงถึงเหตุผลด้านอื่นๆ ด้วยคือ ๑) เหตุผลด้านสังคม  ๒) ด้านชีววิทยา และ ๓) เหตุผลด้านศาสนา   
จากผลการวิจัยพบว่า เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกันอยู่นั้นเคร่งครัดเกินไป พุทธจริยศาสตร์จึงเสนอหลักทางสายกลางในการบริโภคอาหาร โดยพิจารณาถึงความจำเป็นในการมีชีวิตอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดเป็นสำคัญเพราะหากทรงมีพุทธบัญญัติเกี่ยวกับ “การบริโภคมังสวิรัติ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว พระพุทธศาสนาอาจทนต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตไม่ได้ พุทธจริยศาสตร์จึงถือปฏิบัติตามหลักศรัทธา ที่มีหลักเช่นนี้ก็เพราะมองว่า “การบริโภคอาหารที่ถูกต้อง” คือการบริโภคเพื่อเป้าหมายที่จะให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองจนดำเนินตามมรรคมีองค์แปดไปได้นั่นเอง 
คำสำคัญ:  พุทธจริยศาสตร์, อาหารมังสวิรัติ,
Abstract

          This article aims to propose how consumption of vegetarian food is appropriate in the view of Buddhist ethics due to two contrasting rationales: one stated by meat-consuming groups that consumption of animals is a form of population control that can maintain ecological balance, and a counterview by vegetarians that humans do not own otherslives. Actually other reasons should be put into consideration such as 1) Social reasons 2) Biological reasons and 3) Religious reasons.
          Result of this study reveals that both sides are too strict on their rationale. Buddhist ethics therefore propose a middle path in food consumption, with consideration of the need to live to achieve the ultimate goal. Had the term vegetarian dietbeen strictly defined in the regulation, Buddhism might have been unable to adapt to the future world. Buddhist ethics therefore take a moderate approach as it views that The right consumptionis a kind of consumption that allows human development and the practice of The Noble Eightfold Path.
Keyword: Buddhist ethics, vegetarian food

๑.  ปัญหาข้อถกเถียงเรื่องอาหารมังสวิรัติ 
ประเด็นที่เป็นการถกเถียงกันบ่อยครั้งระหว่างนักมังสวิรัติกับกลุ่มนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ ประเด็นแรกคือเรื่อง คนเป็นสัตว์กินพืชหรือกินเนื้อ โดยมักจะเอาหลักฐานมาตอบโต้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฟัน ลำไส้และระบบการย่อย  ในความเป็นจริงแล้วคนกินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เราสามารถย่อยและได้พลังงานจากแหล่งพลังงานทั้งสอง ดังจะเห็นได้ว่าทั้งพืชและเนื้อสัตว์มันกินได้เหมือนกันแต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน 
ประเด็นต่อมาคือ แง่มุมทางด้านนิเวศวิทยาว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการช่วยปรับความสมดุลเชิงนิเวศวิทยาหากสัตว์ไม่ถูกฆ่ากินโดยมนุษย์จำนวนสัตว์ก็จะมีมากจนเกินไป ดังนั้นการกินเนื้อสัตว์ในแง่หนึ่งเป็นการช่วยปรับความสมดุลเชิงนิเวศวิทยาให้แก่โลก เช่นเดียวกับการที่สัตว์กินกันเอง หรือสัตว์กินพืช หรือพืชกินสัตว์ ที่เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีระบบคัดเลือกความเหมาะสมในตัวมันเอง นักชีววิทยาจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การที่มนุษย์เป็นอย่างไร(เช่นต้องกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร) ไม่ได้เป็นอิสระจากการควบคุมโดยธรรมชาติ หมายความว่าธรรมชาตินั้นมีอำนาจมากกว่ามนุษย์ การที่เราถูกสร้างมาให้กินเนื้อสัตว์ก็เพราะธรรมชาติเห็นว่าจะช่วยให้เกิดสมดุลในเชิงนิเวศวิทยานั่นเอง พิจารณาจากแง่นี้ การบริโภคเนื้อสัตว์ในระดับสังคมก็มีเหตุผลและมีบทบาทบางอย่างที่เราสามารถเข้าใจได้[๓] 
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ถูกหยิบขึ้นมาสนับสนุนการกินอาหารมังสวิรัติก็สามารถเข้าใจได้เช่นกัน กลุ่มผู้บริโภคให้เหตุผลทางด้านจริยศาสตร์ว่า ต้องการตัดวงจรทารุณกรรมสัตว์ในกระบวนการผลิต เหตุผลที่น่าสนใจคือ การบริโภคเนื้อสัตว์ในยุคปัจจุบันมักจะมีอะไรมากไปกว่ามิติในเชิงนิเวศวิทยาที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะมีสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่มนุษย์เป็นผู้เพาะเลี้ยงและควบคุมปริมาณได้เวลานี้การบริโภคเนื้อสัตว์ได้หันมาทางนี้มากขึ้น ในแง่เศรษฐศาสตร์ การมีอาชีพจับสัตว์ตามธรรมชาติเพื่อขายนั้นไม่แน่นอนเท่ากับการเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าขายเอง ด้วยเหตุนี้แนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์จึงเอียงไปในทางที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเองมากขึ้นตามลำดับ เมื่อสัตว์ที่มนุษย์กินส่วนใหม่มาจากสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยง เหตุผลด้านนิเวศวิทยาก็ไม่อาจใช้สนับสนุนการกินเนื้อสัตว์ได้[๔]

เหตุผลข้อต่อมาคือเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค กลุ่มผู้นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มักอ้างเหตุผลว่า มนุษย์ต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี โดยอ้างผลการวิจัยว่า มนุษย์ต้องอาศัยโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นส่วนสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อ และเด็กๆ ก็ต้องการเนื้อสัตว์เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์  หากรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และเนื้อสัตว์ยังเป็นแหล่งวิตามิน บี ๑๒ ที่ดีที่สุด และมีไขมันอิ่มตัวที่ดี
กลุ่มนิยมบริโภคมังสวิรัติ ให้ความเห็นแย้งว่า การรับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ (รับประทานผัก ผลไม้ และผลผลิตจากสัตว์ เช่น นม หรือไข่) รวมทั้งวีแกน (ไม่รับประทานอาหารหรือวัตถุดิบใดๆ ที่ผลิตจากสัตว์) จะช่วยลดความเสี่ยงทั้งโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ส่วนหมู่คนที่มักกินเนื้อเป็นหลัก กินเนื้อเป็นส่วนมาก มักจะมีโรคมากและอายุสั้น เช่นชาวเอสกิโม มีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ด้วยเหตุแห่งโรคเช่น มะเร็ง ในทางกลับกันชาวฮันซา[๕]ได้ชื่อว่าอายุยืนนั้น มักจะไม่กินเนื้อสัตว์ กินพืชเป็นหลัก มีผลทำให้อายุเฉลี่ยประมาณ ๑๒๐ ปี และไม่มีอาการป่วยจากโรคยอดฮิตเช่น มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ ชาวฮันซาที่อายุ ๙๐ ยังแข็งแรงและสามารถเต้นได้ ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “การที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ฝักใฝ่ในการประหัตประหาร ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ)ที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น”[๖] 
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง เรื่อง ศาสนา ผู้บริโภคมังสวิรัติชาวอินเดียโบราณบางกลุ่มมีความเชื่อว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยอาหาร” ชาวอินเดียในหมู่ผู้ปฏิบัติโยคะ และผู้นับถือศาสนาฮินดูส่วนหนึ่ง ผู้กินเจและมังสวิรัติมักเป็นผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว มีเมตตาจิตอยู่เป็นทุนเดิม ผู้กินมังสวิรัติที่มาจากอินเดียยังเสนอว่า ที่แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าก็กินมังสวิรัติเช่นเดียวกัน เพราะ ประเพณีชาวเนปาลบริเวณที่เป็นถิ่นฐานศากยวงศ์เขาไม่กินเนื้อสัตว์อยู่แล้วเป็นปกติ อย่างไรก็ดีในพุทธบัญญัติมิได้กำหนดการกินมังสวิรัติ ก็อาจด้วยเหตุที่ไม่ต้องการให้ตึงเกินไปนักสำหรับกุลบุตรของ ชาวพุทธที่จะเข้ามาบวช ต่อเมื่อศรัทธาแล้วจึงค่อยปฏิบัติเอง[๗]
นอกจากนี้ชาวมังสวิรัติยังมีความเชื่อว่า การบริโภคอาหารมังสวิรัติให้คุณค่าทางด้านจิตใจ ได้แก่ ทำให้จิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม บังเกิดเมตตาจิตอย่างเต็ม เปี่ยม อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ไม่โกรธง่าย ไม่มุ่งร้ายอาฆาตพยาบาท มีสติมั่นคงไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ ต่างๆ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงต่างสรรเสริญยินดี อวยพรให้ไม่มีช่องทางที่ วิญญาณต่างๆ ทุกประเภทเข้าแอบแฝงหรือทำอันตรายใดๆ ได้[๘]
สรุปว่า ข้อถกเถียงเรื่องการบริโภคอาหารมังสวิรัติด้วยเหตุผลทางสังคม , ชีววิทยา,และศาสนา ทั้งสามประเด็นล้วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการโต้แย้ง ฝ่ายที่อ้างเหตุผลด้านนิเวศวิทยาว่า มนุษย์ถูกกำหนดโดยธรรมชาติให้กินสัตว์เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศโลกเอาไว้ หรือเหตุผลด้านสุขภาพที่มนุษย์ยกขึ้นมาอ้างว่า สัตว์เป็นแหล่งโปรตีนและวิตามินที่สำคัญสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตของมนุษย์ ทั้งสองเหตุผลนี้ล้วนเป็นแนวคิดแบบยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เหตุผลทางด้านศาสนาเข้ามาอธิบายให้เห็นว่า “การกินมังสวิรัติมิได้เป็นทางออกของปัญหา” แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวมนุษย์ที่มีความโลภ โกรธ หลง ดังคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่กล่าวไว้ว่า “ธรรมชาตินั้นเพียงพอที่จะเลี้ยงดูทุกชีวิต แต่ไม่มีสิ่งใดเพียงพอที่จะสนองความละโมบของคนแม้เพียงคนเดียวได้”[๙] พุทธจริยศาสตร์มีมุมมองและหาทางออกสำหรับการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างไรจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

๒. พุทธจริยศาสตร์กับการบริโภคอาหารมังสวิรัติ
ในหัวข้อนี้ ผู้วิจัยต้องการเสนอมุมมองเกี่ยวกับ "การบริโภคอาหารมังสวิรัติ" ของพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่แง่มุม ทางสุขภาพอนามัย ไม่ใช่ทางโภชนาการ ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นความคิดเห็น ที่อาศัยคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิง ในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมายหลายพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ แล้วมีส่วนเกี่ยวพันกันไปถึง "มังสวิรัติ" คือ งดเว้นการกินอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสัตว์ได้มาจากการฆ่าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหารในที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงเพียงบางพระสูตรเท่านั้น เช่น “ละการฆ่า เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ (โทษภัย) วางศาสตรา (ของมีคม)แล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้แม้ด้วยการกระทำอย่างนี้ ก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย" [๑๐]
           จากพระสูตรนี้ก็คือ ศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงห้ามการฆ่าสัตว์เอาไว้ แก่พุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ อาชีพใดๆ คือ เป็นข้าราชการ พ่อค้า ลูกจ้าง กรรมกร ทั้งหญิง ชาย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เมื่อเป็นชาวพุทธ ก็ต้องพยายามถือศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีใจเมตตา แก่สัตว์ทั้งปวง ถ้าปฏิบัติกันจริงเมืองไทยย่อมจะหาเนื้อสัตว์กินกันได้ยาก ภายในเมืองพระพุทธศาสนาแห่งนี้ อาหาร การกินส่วนใหญ่ ก็คงต้องเป็น "อาหารมังสวิรัติ" มากกว่าการที่ชาวพุทธชักชวนกันเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ก็จะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อศีลข้อที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติเอาไว้ ยิ่งมีคนกินเนื้อสัตว์กันมากเท่าใด ก็ย่อมต้องมีการฆ่าสัตว์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อันเป็น การส่งเสริม ให้ชาวพุทธกระทำผิดศีลข้อที่ ๑ เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 
           นอกจากทรงห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงห้ามไปถึง การค้าขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตอยู่ หรือ ทั้งที่ตาย กลายเป็นเนื้อสัตว์ด้วย ดังข้อความที่ตรงตรัสว่า “การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำคือ ๑.การค้าขายศาสตรา ๒.การค้าขายสัตว์(เป็น) ๓.การค้าขายเนื้อสัตว์(ตาย) ๔.การค้าขายน้ำเมา ๕.การค้าขายยาพิษ”[๑๑] การค้าขายเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้เช่นกัน ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ในด้านอาหารการกินของชาวพุทธได้ว่าจะทำเป็น "อาหารมังสวิรัติ" ค้าขายกันเกลื่อนกล่นทั่วไปอย่างแน่นอน ถ้าพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า อย่างถูกตรงแล้ว
           นอกจากนี้มีตัวอย่างว่า พระองค์ไม่ใช่แค่เพียงห้ามชาวพุทธไม่ให้ฆ่าสัตว์ และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์เท่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงติเตียนห้ามปราม แม้กระทั่งการใช้ความตายของสัตว์อื่น มาเป็นเครื่องสักการบูชาอีกด้วยดังพระพุทธดำรัสว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ประทุษร้ายใคร ถูกนำมาฆ่า คนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสื่อมจากธรรม วิญญูชนติเตียนแล้วอย่างนี้ วิญญูชนเห็นความจริง อันเลวทรามเช่นนี้ ในที่ใด ย่อมติเตียนคนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ในที่นั้น"[๑๒]      ดังนั้นการที่จะนำเอาเลือด เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุง หรืออวัยวะอื่นใดของสัตว์ มาเป็นเครื่องบูชา ต่อสิ่งที่ เราเคารพนับถือ หรือต่อบุคคลที่เราเคารพนับถือนั้น จึงเป็นการทำบาปมาหวังบุญ ช่างน่าติเตียน ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ การกราบไหว้บูชาใดๆของชาวพุทธ หรือแม้การตักบาตรพระ ก็ควรเป็นอาหารที่ไม่ต้องเกิดบาปกรรม จากการฆ่าสัตว์ให้ถึงแก่ความตายเลย คือเป็น"อาหารมังสวิรัติ" จะประเสริฐกว่า
           แม้แต่การที่ทรงห้ามฆ่าสัตว์เพื่อนำมาทำบุญกับพระองค์อย่างนี้ก็ทรงตรัสห้ามไว้ว่า "ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังทรงฉัน เนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้  ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับที่เรากล่าวก็หามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่จริง เรากล่าวเนื้อสัตว์ว่า เป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
           ๑. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้เห็น(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
           ๒. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้ยิน(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
           ๓. เนื้อสัตว์ที่ตนไม่ได้รังเกียจ(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
           และเรากล่าวเนื้อสัตว์ว่า ไม่ควรเป็นของบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
           ๑. เนื้อสัตว์ที่ตนเห็น(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
           ๒. เนื้อสัตว์ที่ตนได้ยิน(ว่าเจาะจงฆ่ามา)
           ๓. เนื้อสัตว์ที่ตนรังเกียจ(ว่าเจาะจงฆ่ามา)[๑๓]
           ดังนั้นพุทธจริยศาสตร์จึงเสนอว่า หากเป็น"อาหารมังสวิรัติ"แล้ว ก็คงหมดห่วงในปัญหาเหล่านี้ไปได้ทั้งหมด เพราะพระท่านสามารถ จะพิจารณา อาหารได้ง่าย และ ฉันได้อย่างสบายใจไม่ตกเป็นบาปกรรมแทนที่จะได้บุญ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ
           ๑. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา พูดดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญ เป็นอันมาก

           ๒. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้รับทุกข์เสียใจ ทำดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

           ๓. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ พูดดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

           ๔. สัตว์นั้นเมื่อกำลังถูกเขาฆ่า ย่อมได้รับทุกข์เสียใจ ดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

           ๕. ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อสัตว์อันเป็นอกัปปิยะ (ของต้องห้าม ไม่สมควร แก่ภิกษุ จะบริโภค) ทำดังนี้ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก[๑๔] 
           ชาวบ้านที่ทำอาหารเนื้อสัตว์ไปถวายพระ หรือใส่บาตรพระ เพื่อหวังบุญกุศลนั้น จะรู้หรือไม่ว่า การที่สัตว์ ต้องถูกฆ่า เพื่อทำเป็นอาหารนั้น ก็เป็นบาปกรรมแล้ว แต่จะบาปหนักขึ้นมิใช่บุญเลย เมื่อเจาะจง นำเนื้อสัตว์นั้น ไปถวายพระ ดังนั้นผู้ปรารถนาบุญอย่างแท้จริง ไม่น่าเสี่ยงต่อการที่จะทำบุญแล้วได้บาปแทน สมควรทำเป็น "อาหารมังสวิรัติ" ดีกว่า จะได้บุญสมใจ ทั้งยังเป็นการปฏิบัติถูกต้อง ไม่ประมาท ต่อคำเตือน ของพระพุทธเจ้า อีกด้วย
           ในพระสูตรนี้มีข้อน่าสังเกต ที่ชาวบ้านอาจคาดไม่ถึงก็คือ การฆ่าสัตว์ทำเป็นอาหาร แล้วเจาะจงนำอาหารเนื้อสัตว์นั้นไปถวายพระจะได้รับบาปกรรมแทนบุญนั้น เหตุหนึ่งก็เพราะทำให้พระเกิดความยินดี ในการฉัน เนื้อสัตว์ อันเป็นของต้องห้าม ที่พระไม่ควรฉัน แต่ก็ทรงมีข้อยกเว้นว่าหากชาวบ้านได้เนื้อเดนสัตว์ หรือเนื้อบังสุกุล(เนื้อทิ้งแล้ว)มา ย่อมสามารถนำมาทำเป็นอาหารถวายพระ ได้โดยปลอดภัยไร้โทษบาปเวรใดๆ มิหนำซ้ำยังเป็นบุญกุศลอีกด้วย
           "ดูก่อนภิกษุ ภิกษุฉันเนื้อเดน(ของเหลือทิ้ง)จากราชสีห์ เนื้อเดนจากเสือโคร่ง เนื้อเดนจากเสือเหลือง เนื้อเดน จากเสือดาว เนื้อเดนจากสุนัขป่า ภิกษุนั้นไม่เป็นอาบัติ (ไม่เป็นโทษผิด)[๑๕] โอกาสที่พระจะฉันเนื้อสัตว์ได้ ก็ยังมีอยู่อีกประการคือ เนื้อสัตว์ที่เป็นของเหลือทิ้งแล้ว จากการถูกฆ่าตาย ด้วยสัตว์ ดิรัจฉานอื่นๆ

           พระพุทธเจ้าอนุโลมให้พระฉันเนื้อได้บ้างเท่านั้น ด้วยเหตุบางประการดังกล่าวมาแล้ว แต่แม้ในบทอนุโลมนั้นก็ไม่ทรงอนุญาตให้พระฉันเนื้อ ๑๐ ชนิดเหล่านี้เลย หากพระรูปใดฉันก็ต้องมีความผิดนั่นก็คือ ชีวิตปกติจะต้องงดเว้นเนื้อ(มังสวิรัติ) ๑๐ ชนิดเหล่านี้อย่างเด็ดขาด 
           "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว อนึ่ง ภิกษุยังไม่ได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ หากภิกษุรูปใดฉันเนื้อนั้น ต้องอาบัติ (ต้องโทษผิด) ทุกกฎ”[๑๖] 
           จุดที่น่าให้ความสนใจ ในพระสูตรนี้ก็คือ ทุกครั้งที่พระจะฉันอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ซึ่งญาติโยมนำมาถวาย จะต้องพิจารณาเนื้อนั้น ให้ชัดเจน ก่อนขบฉันทุกครั้งไปว่า เนื้อนั้นห้ามฉันหรือไม่ อันเป็นความยุ่งยาก แก่พระ ไม่น้อยทีเดียว ฉะนั้นพุทธจริยศาสตร์จึงแนะนำให้ทำอาหารประเภท ไม่มีเนื้อสัตว์ ใส่บาตร หรือถวายพระจะดีกว่า

           โดยสรุปเท่าที่ยกตัวอย่างมานี้พอจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการต่างๆ นำมาห้ามกั้นไม่ให้ชาวพุทธได้กินเนื้อสัตว์ ทั้งยังทรงตำหนิการฆ่าสัตว์ อันเป็นที่มาของอาหารเนื้อสัตว์ว่าเป็นเรื่องบาปกรรมแท้ๆ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะทรงบังคับให้ชาวพุทธทุกคนเป็นมังสวิรัติ แต่ทรงเสนอ หลักทางสายกลาง ในการบริโภคอาหารให้ชาวพุทธนำไปปฏิบัติ โดยให้พิจารณาก่อนบริโภคอาหาร หากเข้าข่ายที่ทรงห้ามก็ควรงดเว้น แต่หากมีความจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตก็ทรงอนุโลม เป็นต้น ส่วนผู้ที่ยังมีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารชื่อ"สุกรมัทวะ" แล้วก็ถึงแก่ปรินิพพานไปนั้นยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันของชาวพุทธหลายฝ่ายว่า อาหารสุกรมัทวะนั้น คือ "เนื้อสุกรอ่อน" หรือ "อาหารที่ปรุงด้วยเห็ด ชนิดที่หมูชอบกิน"[๑๗] 
๓.  มุมมองของผู้วิจัย

ในข้อที่ผ่านมาเราได้ทราบถึงมุมมองของพุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการบริโภคอาหารมังสวิรัติพอสังเขปแล้ว ผู้วิจัยจึงขอนำเสนอมุมมองส่วนหนึ่งของผู้วิจัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารมังสวิรัติเช่นกันเมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านชีวจริยศาสตร์ ชาวออสเตรเลีย ได้แสดงทรรศนะต่อคำถามของผู้วิจัยถึงมุมมองที่มีต่อชาวพุทธในประเทศไทยเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ ว่า “ฉันไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในการตอบคำถามสองข้อแรกของคุณ แต่ฉันสามารถบอกได้ว่าฉันรู้สึกผิดหวังมากที่พบว่าแม้ว่าไทยจะถือว่าเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ แต่คนไทยส่วนน้อยก็เป็นมังสวิรัติ ซึ่งดูเหมือนว่าจะขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา (เว้นเสียแต่ว่าเขาจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องกินอะไรก็ตามที่ใส่ไว้ในชามของคุณ แต่แม้กระทั่งข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์ก็อ่อนมากในปัจจุบัน) ดังนั้นคำตอบของฉันสำหรับคำถามที่สามของคุณก็คือชาวพุทธควรให้ความสำคัญว่าชาวพุทธที่แท้จริงจะไม่กินเนื้อสัตว์จนกว่าจะไม่มีอาหารอื่นที่พร้อมรับประทาน”[๑๘]

           จากทรรศนะของปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผู้วิจัยเห็นว่า แม้ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเริ่มหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติกันมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับอัตราพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศแล้วยังมีจำนวนน้อยอยู่ การบริโภคอาหารมังสวิรัตินั้นมีคุณประโยชน์ มากมายหลายด้านดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อนหน้านี้ เป็นความเชื่อและความศรัทธาของมนุษย์แต่ละคนว่าควรจะต้องปฏิบัติในการดำรงชีวิตการอยู่กิน แต่ทั้งนี้ผู้วิจัยก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวพุทธจะต้องเชื่อและศรัทธาเหมือนกันหมด จะเชื่ออะไรเชื่ออย่างไรและปฏิบัติอย่างไรขึ้นอยู่กับ วิจารณญาณของบุคคลแต่ละคน ที่สำคัญคือความเชื่อ ความศรัทธาและปฏิบัติต่างๆ จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น หากถือเอาคำสอนของพระพุทธศาสนา  ก็ควรที่จะพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เน้นหลักทางสายกลางในการปฏิบัติ เพราะพุทธศาสนาแบบในแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั้น ทรงเน้นให้ชาวพุทธมีเมตตาต่อสัตว์และงดเว้นการฆ่าสัตว์หรือบริโภคเนื้อสัตว์ แม้จะไม่ทรงตรัสเป็นพุทธบัญญัติก็ตาม แต่ก็ทรงยึดหลักทางสายกลางคือไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป และทรงเห็นว่า หากทรงมีพุทธบัญญัติเกี่ยวกับ “การบริโภคมังสวิรัติ” เอาไว้แล้ว พระพุทธศาสนาอาจทนต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะมีในอนาคตไม่ได้ จึงทรงให้ถือปฏิบัติตามกำลังศรัทธา ที่ทรงทำเช่นนี้ก็เพราะทรงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า “การบริโภคอาหารที่ถูกต้อง” คือการบริโภคเพื่อเป้าหมายที่จะให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองจนดำเนินตามมรรคมีองค์แปดไปได้ หมายถึงคน ๆ หนึ่งในการดำรงชีวิตควรจะระมัดระวังไม่ควรประมาท เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดังนั้น "การทำมาหากินที่ผิด" อย่างเช่น การค้าใน อาวุธ (เป็นพนักงานขายแขน) สิ่งมีชีวิต (เช่นการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์)เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาพิษ จึงเป็นสิ่งต้องห้ามในพุทธจริยศาสตร์

๔. บทสรุป

          แม้ในยุคปัจจุบันบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็น สอดคล้องกันว่า บรรพบุรุษในยุคแรกๆ ของมนุษย์เป็นพวกกินผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง และผัก เนื่องจากโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ทั้งกล้ามเนื้อ ฟัน ต่อมน้ำลาย กรดในกระเพาะ ต่อมไร้ ท่อ เล็บมือและเท้า จัดอยู่ในพวกสัตว์กินพืช (Herbivora) ไม่ใช่สัตว์กินสัตว์ (Canivora) หรือสัตว์กิน ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivora) จนกระทั่งยุคน้ำแข็งซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการณ์ของโลกที่มนุษย์ไม่สามารถ จะหาอาหารชนิดอื่นมากินได้ จึงจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อความอยู่รอดและมนุษย์ก็ดำเนินชีวิตแบบนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยินดีรับประทานอาหารธรรมชาติ ที่ปราศจากเนื้อสัตว์มาจนถึงปัจจุบัน[๑๙] ตัวอย่าง บุคคลสำคัญของโลกที่รับประทานอาหารมังสวิรัติและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น พระพุทธเจ้า,อัลเบิร์ด ไอสไตล์, ตอลสตลอย, แฟรงคลิน เซอร์ไอแซค นิวตัน และมหาตมะ คานธี ฯลฯ[๒๐] บุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้มีเหตุผลที่สำคัญคล้ายๆ กันคือ สัตว์ทุกชีวิตรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกันกับมนุษย์ การบริโภคอาหารจะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อให้มันถูกใช้เพื่อนำความสุขให้กับตัวเรา, ครอบครัวและทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมใช้มัน “การใช้” คือเพื่อประโยชน์ในการใช้ ไม่ใช่เพื่อสนองความอยากอย่างเดียว

ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า เราควรมีการดำเนินงานสนับสนุนการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างจริงใจและเต็มความสามารถ เพราะการบริโภคอาหารโดยไม่สนใจบริบทโลกปัจจุบันมิใช่แนวทางของพุทธจริยศาสตร์ การช่วยกระตุ้นให้ชาวพุทธตระหนักถึงการบริโภคอาหารโดยความเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตอื่นให้มากขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถึงแม้ว่าพุทธจริยศาสตร์จะยอมให้บริโภคเนื้อสัตว์ได้โดยมีเงื่อนไขก็ตาม แต่ก็ไม่สนับสนุนการฆ่าสัตว์อื่นเพื่อเป็นอาหาร การที่พุทธจริยศาสตร์ห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์บางชนิดและห้ามการค้าขายเนื้อสัตว์ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการสนับสนุนการบริโภคอาหารมังสวิรัติแทนการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนอยู่แล้ว







บรรณานุกรม



๑. ภาษาไทย

ก .ข้อมูลปฐมภูมิ

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกภาษาไทย, กรุงเทพมหานคร :

                   โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.

ข. ข้อมูลทุติยภูมิ

๑.  หนังสือ

เกียรติวรรณ  อมาตยกุล, อาหารสู่ชีวิตใหม่, กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, ๒๕๓๔.

คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,พระพุทธศาสนากับนิเวศวิทยา,

                   พระนครศรีอยุธยา:  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๕๙.

คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาสังคมร่วมสมัย,

                   พระนครศรีอยุธยา:  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๕๕.

สมภาร  พรมทา.มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพมหานคร:

สำนักพิมพ์ศยาม.๒๕๔๘.

                    . กิน : มุมมองของพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : โครงการเผยแพร่

                     ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ ๒๕๔๗.

๒. วิทยานิพนธ์

วันชัย  บุญรอด, “การเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายแบบอากาศนิยมระหว่างผู้รับประทาน อาหาร

                   มังสวิรัติและผู้รับประทานอาหารทั่วไป”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต,

                   บัณฑิตวิทยาลัย: มหาจฬุาลงกรณราช วิทยาลัย, ๒๕๓๐.

พระอภิชาติ  ปภสฺสโร (ทองดอนเหมือน), “วิเคราะห์แนวคิดการบริโภคมังสวิรัติตามทฤษฎีประโยชน์

                   นิยม”วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย: มหาจฬุาลงกรณราช

                   วิทยาลัย, ๒๕๕๙.
๒. ภาษาอังกฤษ

Artfield, Robin. (1993). The Ethics of Environmental Concern. New York: Columbia

                  University Press.

Huxley, Andrew. “ The Kurudhamma: From Ethics to Stateccraft,Journal of

                  Buddhist Ethics2 (1995),



            [๑] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “พุทธจริยศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น” หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาปรัชญา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  พ.ศ. ๒๕๖๑
                [๒] นิสิตปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
                [๓] สมภาร พรมทา, กิน : มุมมองของพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ ๒๕๔๗),หน้า ๑๒๔.
            [๔] อ้างแล้ว.
                [๕] ชาวฮันซา(Hunza)อาศัยอยู่เชิงเขาหิมาลัยตอนเหนือของประเทศปากีสถาน มีอายุขัยเฉลี่ย ๑๒๐ปี และมีจำนวนมากที่อายุเกิน ๑๓๐ ปีและ ๑๔๐ ปี โดยมีร่างกายแข็งแรง เดินได้ ทำงานได้ ชาวฮันซาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่มีโอกาสบริโภคเนื้อแพะเพียงปีละ ๑-๒ ครั้งเท่านั้นซึ่งจะมีในงานประเพณีประจำปี ชาวฮันซาบริโภคพืชผักวันละ ๑ กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นของสด ชาวฮันซาไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเตาแก๊สแม้แต่น้ำมันก๊าดและเทียนไขก็เป็นของต้องห้ามในดินแดนฮันซา การหุงหาอาหารจะทำเท่าที่จำเป็นเพราะเชื้อเพลิงคือไม้ฟืนเป็นของหายาก. อ้างใน.ออนไลน์,วิธีธรรมชาติของชาวฮันซา, http://www.chlorophyll.tht.in/hunza.html.สืบค้นเมื่อ 6/2/2561.
                [๖] ม. อุ. (ไทย) ๑๔/๒๙๐/๓๕๐.
            [๗] พระอภิชาติ  ปภสฺสโร (ทองดอนเหมือน), “วิเคราะห์แนวคิดการบริโภคมังสวิรัติตามทฤษฎีประโยชน์
นิยม”วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจฬุาลงกรณราช วิทยาลัย, ๒๕๕๙). หน้า ๗๙.
            [๘] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๘.
            [๙] รสนา  โตสิตระกูล, ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว: ทางออกของเกษตรกรรมและอารยธรรม.(กรุงเทพมหานคร : โกมลคีมทอง. ๒๕๓๐). หน้า ๔.
[๑๐] องฺ. ติกฺ (ไทย)๒๐/๗๑/๒๘๖.
[๑๑] องฺ. ปญฺจ (ไทย)๒๒/๑๗๗/๒๙๕
[๑๒]  ขุ. สุ.(ไทย) ๒๕ /๓๑๕-๓๑๖/๕๗๒.
[๑๓] ม. ม. (ไทย)๑๓/๕๒/๔๙.
[๑๔] ม. ม. (ไทย) ๑๓/๕๕/๕๒.
[๑๕] วิ. มหา. (ไทย) ๑/๑๔๐/๑๐๗ - ๑๐๘.
[๑๖] วิ. มหา. (ไทย) ๕/๑๖๘-๑๖๙/๘๐-๘๗.
[๑๗] ที. ม. (ไทย)๑๐/๑๘๙/๑๓๘, สูกรมัททวะ ความหมายตามมติของเกจิอาจารย์ ๓ พวก คือ ๑). หมายถึง ปวัตตมังสะ เนื้อสุกรหนุ่ม ๒). หมายถึง ข้าวสุกอ่อน ที่ปรุงด้วยนมสด นมส้ม เนยใส เปรียง เนยแข็ง และถั่ว ๓). หมายถึงวิธีปรุงอาหารชนิดหนึ่ง (ที.ม.อ. ๑๘๙/๑๗๒, ขุ.อุ.อ. ๗๕ /๔๒๗.)
            [๑๘] ต้นฉบับภาษาอังกฤษ , From : Peter Singer,  Dear Rev Phra Adirek, I am not sufficiently knowledgeable about Buddhism to answer your first two questions, but I can say that I was very disappointed to find that although Thailand considers itself a Buddhist country, very few Thais are vegetarians.  That seems to be to be quite contrary to the spirit of Buddhist teaching (unless, arguably, one is a monk who must eat whatever is put in your bowl - but even that excuse for eating meat seems very thin nowadays).
            So my answer to your third question is that Buddhist people should emphasize that a true Buddhist would not eat meat unless there was no other food available to eat,. best wishes.
Peter Singer, AC. 13/12/60.

                [๑๙] เกียรติวรรณ  อมาตยกุล, อาหารสู่ชีวิตใหม่, (กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, ๒๕๓๔), หน้า ๕๘.
                [๒๐] วันชัย  บุญรอด, “การเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายแบบอากาศนิยมระหว่างผู้รับประทาน อาหารมังสวิรัติและผู้รับประทานอาหารทั่วไป”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาจฬุาลงกรณราช วิทยาลัย, ๒๕๓๐).






วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...