...เรื่อง.ภิกษุ ภิกษุณี กับความสัมพันธ์ระหว่างสามนิกาย
โดย.อ.อาทิจฺจพโล
....ในวันอาสาฬหบูชา ย้อนกลับไปครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัฒนสูตร จนมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยุคนั้นเรียกยุคพุทธศาสนาดั้งเดิม เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงประทับอยู่ด้วย ภายหลังพระพุทธปรินิพพาน จึงมีการสังคายนาครั้งแรกโดยพระมหาเถระที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนั้น หลังสังคายนาเสร็จสิ้น เราเรียกยุคนี้ว่า เถรวาทยุคต้น
...กระทั่งประมาณช่วงต้นพุทธศักราชพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นแบบเถรวาทอยู่ คณะสงฆ์ทุกนิกายในปัจจุบัน สามารถย้อนสายธรรมไปได้ถึงคณะสงฆ์ยุคต้นๆ แต่ในบรรดาสำนักคิดของยุคแรก มีสายธรรมเดียว คือ เถรวาท" ที่มีอยู่จนถึงทุกวันนี้
...ทุกสายธรรมมีผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือภิกษุและภิกษุณี ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น "สังฆะ" หรือ "ชุมชนผู้ปฏิบัติธรรม"
...จนเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน ได้เกิดความเห็นต่างกันขึ้นในหมู่สงฆ์ และค่อยๆ นำไปสู่การก่อตั้งคณะย่อยแต่ละคณะมีรายละเอียดทางพระวินัยบแตกต่างกันเล็กน้อย และต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นสำนักปรัชญาต่างๆ
...ในบางบริบท "คำว่า สงฆ์" หมายถึง " พระอริยบุคคล" ซึ่งเป็นได้ทั้งบรรพชิตหรือฆราวาสที่บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ หรือบรรลุธรรมบางส่วน แต่เป็นที่นิยมว่า "สงฆ์" หมายถึงพระภิกษุและภิกษุณี ส่วนฆราวาสก็คงใช้คำตามเดิมแม้จะบรรลุธรรมก็ไม่นิยมเรียกตนเองว่าสงฆ์
...พระสงฆ์ทุกนิกายมีหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนิกายของตนแตกต่างกัน เถรวาทตั้งใจที่จะเดินตาม "คำสอน" ของ "พระเถระทั้งหลาย" ซึ่งร่วมกันสังคายนาคำสอนไม่นานหลังพุทธปรินิพพาน โดยจุดมุ่งหมายที่จะสืบทอดและรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาคำสอนจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่กระนั้นก็ได้รับการรักษาไว้ให้ใกล้เคียงกับคำสอนดั้งเดิมมากที่สุด นี่คือจุดเด่นที่สุดของเถรวาท
...ส่วนมหายานเน้นย้ำเรื่องความกรุณาอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวคิดว่าความกรุณาเป็นคุณธรรมที่เป็นหัวใจแห่ง "มรรคาพระโพธิสัตว์" มหายานนำเสนอปรัชญาที่ละเอียดซับซ้อน ซึ่งเป็นการขยายความคำสอนเดิม และภายหลังต่อมามหายานก็ได้พัฒนานิกายย่อยขึ้นมาอีกหลายสาย เช่น นิกายเซน
...ช่วงเวลาต่อมามหายานพัฒนาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง ได้แก่ มันตรยาน นิกายนี้มีหลักคำสอนแบบเดียวกับมหายานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้คิดค้นวิธีปฏิบัติแบบใหม่ ที่ทรงพลังขึ้นมา เช่น การพร่ำภาวนามนต์อันศักดิ์สิทธิ์และทรงพลัง และการสร้างนิมิต ซึ่งต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ ๗ วิธีการนี้เป็นที่รู้จักในนาม "วัชรยาน"
...ขณะที่อินเดียยุคใหม่มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาก็ได้แผ่ขยายออกไปนอกอินเดียทั่วทวีปเอเชียใน ๓พื้นที่ คือ ๑) พระพุทธศาสนาสายใต้ เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก เป็นพุทธศาสนามหายานแบบจีนและ ๓) พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง เป็นพระพุทธศาสนาแบบธิเบต
...เราอาจมองว่านิกายหลักทั้งสามนี้เป็นสาขาของครอบครัวเดียวกันได้ เพราะทั้งสามมี "ความคล้ายคลึงกันของสายตะกูล" คาบเกี่ยวกันระหว่างนิกายทั้งสาม ถึงแม้แต่ละนิกายจะมีรูปแบบและลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนก็ตาม ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงเรื่องเล่า แต่เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่านั้น เวลาภิกษุอินเดีย พบพระภิกษุไทย ในประเทศอินเดีย หรือที่ไหนในโลก โดยไม่ต้องถามก็เป็นที่รู้กันดี ว่าต้องยกมือไหว้ซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องให้บอกว่าใครเป็นใครวัดไหน นิกายไหน นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไป ระหว่างพระภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้นในโลกและทรงทุ่มเททั้งชีวิตของพระองค์อบรมสั่งสอนพวกเขา ทรงเปรียบพวกเขาว่าเป็นประดุจดอกไม้จากป่านำมาร้อยเรียงกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามเพื่อบูชาแด่คุณความดีทั้งหลายในจักรวาล..
*อ้างอิงจาก : พระไตรปิฎกฉบับสากล : วิถีธรรมจากพุทธปัญญา, หน้า ๗-๘.