การแต่งงานของเพศทางเลือกมีประเด็นน่าสนใจดังนี้ครับ ประเด็นในเรื่องที่ฝ่ายสนับสนุนและยอมรับการแต่งงานของเพศทางเลือกที่ยกขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ ความเสมอภาค และ เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ เป็นต้นว่า เขาก็คนเราก็คน ทำไมถึงต้องมาตั้งกรอบว่าคนที่จะแต่งงานกันได้จะต้องเป็นคนละเพศ ทำไมกฎหมายต้องมาจำกัดสิทธิ ในการเลือกของเรา ว่าเราจะต้องแต่งงานกับคนเพศไหน ในเมื่อสิทธินี้ควรจะเป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
...อีกประเด็นคือเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการแต่งงาน ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่งานแต่งแต่ประเด็นมันอยู่ที่ทะเบียนสมรส เพราะทะเบียนสมรสทำให้เกิด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการจดทะเบียนตามมาตัวอย่างเช่น การรับมรดก ในฐานะคู่สมรส หรือ การได้มาซึ่งทรัพย์สินหลังจากแต่งงานซึ่งจะตกเป็นสินสมรส หรือ เป็นของทั้งสองฝ่ายโดยทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้หากไม่มีทะเบียนสมรส บุคคลสองคนที่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกัน และต้องการให้รัฐรับรองให้ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะรัฐได้กำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องมีเงื่อนไขอย่างไร
...ทั้งสองเหตุผลดูหนักแน่นพอสมควรที่จะทำให้เรา อยากลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง หรือ ผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในส่วนของฝ่ายต่อต้านนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ละเอียดมากแต่ได้ประเด็นที่น่าสนใจมากเหมือนกัน
แต่ถ้าเราจะด่วนตัดสินลงไปจากเหตุผลเหล่านี้เพียงพอรึยัง ก็คงต้องตอบว่า ยัง เพราะเรายังไม่ได้พิจารณาถึงธรรมชาติมนุษย์ มนุษย์ เป็นสัตว์สังคมซึ่งอยู่รวมกัน ซึ่งประกอบขึ้น สถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดที่เรียกว่าครอบครัว ขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็น เผ่า และขยายตัวใหญ่ขึ้นไปอีกเรื่อยๆจนเป็นสังคมเมืองซึ่งมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนมาก ซึ่งหน่วยที่เล็กที่สุดในโครงสร้างอันสลับซับซ้อนนี้ ก็คือสถาบันครอบครัว เปรียบเสมือนฐานรากของตึกสูง เพราะฉะนั้น ตึกจะตั้งอยู่ได้ มั่นคงและยาวนานเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความมั่นคงของฐานรากนั้น ครอบครัว ตามธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงและดั้งเดิมคืออะไร คือการที่ชายและหญิงรักชอบกันอยู่ด้วยกัน และมีลูก ซึ่งลูกนั้นย่อมได้รับการดูแล จาก"พ่อ และ แม่" ตามแต่หน้าที่ของแต่ละคนซึ่งเป็นกลไกลตามธรรมชาติและเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ และจะสืบต่อมาเรื่อยๆด้วย ประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้สถาบันครอบครัวดำเนินต่อมาได้เรื่อยๆ
...ดังนั้นในเรื่องนี้จะไม่ถามว่า เพศเดียวกันมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกันหรือไม่"เพราะมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่จะถามคำถามสำคัญคือ การอนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ และสามารถรับบุตรบุญธรรมได้เป็นการเปลี่ยนคำนิยาม ของคำว่า "ครอบครัว" หรือไม่ เมื่อครอบครัวไม่ได้ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกอีกต่อไป แต่อาจจะประกอบด้วยคำว่า พ่อพ่อลูก หรือ แม่แม่ลูก สถาบันครอบครัวที่เคยมีมาแต่เดิมจะเสื่อมเสียหรือ มีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดู จะเข้าใจความหมายของคำว่าครอบครัวในรูปแบบใหม่ว่าอย่างไร และเมื่อเป็นเช่นนั้น สถาบันครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม จะยังคงแข็งแรงเช่นเดิมหรือไม่ มนุษย์จะโดนสังคมใหม่นี้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติดั้งเดิม ในการสืบเผ่าพันธุ์ไปเพียงใดถ้าเกิดกรณีที่ว่า เด็กรุ่นใหม่โดนหล่อหลอมว่าตนจะชอบเพศใดก็ได้ ถ้าเราส่งลูกไปเข้าโรงเรียนจะเกิดอะไรขึ้น ลูกชายเราจะไปชอบเพื่อนร่วมห้อง ก็ไม่ผิดนะซิ...
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการที่คำว่าครอบครัวโดนนิยามใหม่ให้ผิดไปจากธรรมชาติอันแท้จริง และเราไม่อาจรู้หรือควบคุมได้ว่า ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ในอนาคตภายภาคหน้าผลดีก็มีแต่ผลร้ายก็ไม่อาจมองข้ามได้จริงๆครับ. (ดร.ถังขยะ)