วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บทความวันพระ เรื่อง ความแตกต่างและความเหมือนระหว่างพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

 

โดย พระสมุห์อดิเรก  อาทิจฺจพโล, ดร.

..ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปรัชญา (Philosophy) ที่แปลว่าความรักในความรู้กับศาสนานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในลำดับแห่งวิวัฒนาการที่ผ่านมาบรรดาวิชาทั้งปวง ปรัชญาเป็นวิชาแรกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ต่อมาก็คือศาสนา หากกล่าวเฉพาะพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา ก็จะได้ลักษณะเฉพาะว่า พุทธปรัชญามีลักษณะเป็นคำถามส่วนพุทธศาสนามีลักษณะเป็นคำตอบ มีบ่อเกิดมาจากแหล่งเดียวกันคือจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า

...พุทธปรัชญามีฐานะเป็นทฤษฎี พุทธศาสนาเป็นภาคปฏิบัติ

...พุทธปรัชญาเป็นความคิด พุทธศาสนาเป็นการกระทำ

พุทธปรัชญาเกิดจากความสงสัย พุทธศาสนาเป็นการตอบสนองความสงสัยและเป็นคำตอบที่ตอบแล้ว 

ปรัชญาทุกระบบ โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออกซึ่งรวมทั้งพุทธปรัชญาด้วย มุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต เช่นเดียวกับปรัชญาตะวันตก แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว โดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตกอาจดำเนินชีวิตไปในทางตรงกันข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนา คือแยกออกเป็นคนละส่วนกับศาสนา ส่วนปรัชญาตะวันออกไม่อาจแยกออกจากศาสนาได้เด็ดขาด ทั้งนี้เพราะนักปรัชญาตะวันออก เมื่อแสวงหาความจริงจนพบแล้ว ก็พยายามที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดขึ้นไว้ เพื่อเข้าถึงความจริงนั้น ๆ ฉะนั้น ปรัชญาตะวันออกเช่นพุทธปรัชญาที่กำลังกล่าวถึงนี้ จึงเป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวความคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น ได้นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน (way of life) ด้วย โดยลักษณะดังกล่าวนี้ พุทธปรัชญากับพุทธศาสนาจึงแยกออกจากกันได้ยาก ไม่เหมือนปรัชญาตะวันตกซึ่งเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ส่วนปรัชญาตะวันออกโดยทั่วไปได้กลายมาเป็นรากฐานของศาสนาดั่งเช่นพระพุทธศาสนา เป็นต้น


ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

แม้ว่าพุทธศาสนากับพุทธปรัชญาจะมีบ่อเกิดมาแหล่งเดียวกันคือ ประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ก็ตาม แต่มีลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างตามธรรมชาติของประสบการณ์ วิธีการ และจุดหมายของแต่ละวิชา ซึ่งอาจยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นประเด็นได้ดังนี้

๑.พุทธศาสนามุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบวิถีทางและอิทธิพลของตนที่มีต่อชีวิตและสังคมรวมทั้งการตีความหลักคำสอนต่าง ๆ พยายามตอบปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับชีวิต โดยการยึดหลักเอาศรัทธาเป็นหลักเป็นพื้นฐาน,ส่วนพุทธปรัชญามุ่งแสวงหาการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพยายามเข้าใจตนเองและโลกโดยอาศัยเหตุผลเป็นหลักการและจุดยืนในการมองปัญหาต่าง ๆ

๒.พุทธปรัชญามุ่งแสวงหากฎทั่วไป ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของมนุษย์โดยทั่วไป, ส่วนปรัชญาไม่ได้มุ่งแสวงหากฎทั่วไปเหมือนวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา เป็นการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานอ้นมีลักษณะเป็นนามธรรม สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและสถานที่

๓.พุทธศาสนาไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียวมาอธิบายประสบการณ์ของชีวิต แต่อาศัยความงาม อารมณ์ และความรู้ความศรัทธามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อที่จะเข้าใจในหลักธรรมของศาสนา ส่วนพุทธปรัชญามิได้แสวงหาความชื่นชมและความงามในตัวของมันเองในการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ อาจจะเกิดมีความชื่นชมและความงามควบคู่ไปด้วย

๔.พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะต้อง”พิสูจน์” ความจริง อันเป็นคำตอบปัญหาเรื่องชีวิต ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตนในแต่ละศาสนาบางอย่างอาจจะสอดคล้องลงรอยกันกับวิธีการ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทุกกรณี เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อต่อสิ่งนอกเหนือกฎเกณฑ์เหนือธรรมชาติ, แต่พุทธปรัชญาพยายามหลีกเลี่ยงการพิสูจน์ตามแบบวิทยาศาสตร์ คงมุ่งแต่ค้นคว้าหาคำตอบ คือปัญหาที่เกิดขึ้นอันอาจเป็นเพียงคำอธิบายเบื้องต้น ซึ่งอาจได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาอยู่แล้ว

๕.พุทธศาสนายึดมั่นในเรื่องคุณค่า และข้อเท็จจริง ถือว่ามีมาในศาสนาเพราะทำให้การปฏิบัติตามหลักมีความหมาย แต่พุทธปรัชญามีปัญหาเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงแสดงบทบาทแตกต่างกันกล่าวคือ พุทธอภิปรัชญาเกี่ยวข้องกับความจริงสูงสุด พุทธญาณวิทยาเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ส่วนพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า และแต่ละประเภทของปรัชญาจะเน้นบทบาทของคุณค่าไม่ตรงกัน 

อย่างไรก็ตาม หากเราถือหลักการอันเป็นสากลโดยทั่วไปซึ่งเป็นธรรมชาติของระบบแนวคิดในโลกทางตะวันออกแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ศาสนากับปรัชญาไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ไม่อาจแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ ทั้งศาสนาและปรัชญาต่างมีข้อเหมือนกันคือ “เป็นผลผลิตของประสบการณ์ชีวิต”

ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา

๑. จุดมุ่งหมายของการศึกษา พระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ ผู้ศึกษาจะปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนโดยตรงเพื่อเขาถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

ส่วนพุทธปรัชญาศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุและผลอันเป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการของตน คือจะศึกษาให้เกิดความรู้ว่าอะไร ทำไป อย่างไรเท่านั้น

๒. การนับถือพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนามักถือพระไตรปิฎกว่าเป็นคำประศาสน์ของผู้ตรัสรู้อย่างจริงจัง ไม่มีบกพร่อง และไม่กล้ามองในแง่ผิดหรือบกพร่อง ผู้ใดสงสัยคำประศาสน์ของพระศาสดาที่ตนนับถือและวิพากษ์วิจารณ์คำประศาสน์นั้น ผู้นั้นจะถูกประณามว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ส่วนพุทธปรัชญายอมรับว่าสิ่งใดจริงก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมีเหตุผลพอ หรือทนต่อการพิสูจน์ตามหลักเหตุผล หาได้นับถือพระพุทธเจ้าในฐานะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เพียงแง่เดียวไม่

๓. ในเรื่ององค์ประกอบ พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบทั้งหมด ๕ องค์ประกอบคือ ศาสดา, ศาสนธรรม, ศาสนทายาท, ศาสนสถาน, และศาสนพิธี

ส่วนพุทธปรัชญา ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าว แต่เน้นเรื่องของทฤษฎีล้วน ๆ โดยที่จริงศึกษาในแง่หลักการเพื่อให้เกดความรู้ว่า อะไร ทำไม อย่างไรเท่านั้น

๔. ในเรื่องการปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเมื่อศึกษาไม่อาจแยกจากการปฏิบัติได้ คือต้องลงมือปฏิบัติได้จริง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนพุทธปรัชญาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพุทธปรัชญาไม่ยอมรับความเชื่องมงาย แม้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามหลักเหตุผลก็จะไม่ยอมเชื่อ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย และทรงแสดงทางสายกลางเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้องตามลำดับคือ ศีล สมาธิ และปัญญา.

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

บทความพิเศษ เนื่องในวันเกิด 2 พฤษภาคม 2565 เรื่อง เพียงเกิดมาเป็นคน


 

..บทความพิเศษ.เนื่องในวันคล้ายวันเกิดวันที่  2  .. 2565 

...ฉันคงไม่กล้าที่จะบอกว่ารู้จักชีวิตดีแล้ว แต่พอจะพูดได้ว่า " ชีวิตนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของอาตมาภาพ เป็นจุดกำเนิดเกิดขึ้นแห่งดวงจิตที่จะล่องลอยเดินทางไกลในสังสารวัฏ อันยาวไกล แม้ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าในระหว่างทางทั้งชาตินี้และชาติต่อ  ไป เราจะเจอกับอะไร จะเกิดเป็นอะไร ดีขึ้นหรือไม่ (ซึ่งไม่มีใครที่จะรู้ล่วงหน้าแต่อย่างน้อยก็พอใจแล้วกับการออกตัวที่จุดสตาร์ทนี้ 

ชีวิตเป็นเพียงมายาการของจิต หรือชีวิตเป็นจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า หรือมันก็แค่การเคลื่อนไปของอนุภาค  หนึ่ง  ในจักรวาล ความลับของชีวิตยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนตามหากันจนกระทั่งทุกวันนี้ 

ฉันเกิดที่บ้านหลังหนึ่ง เกิดมาก็ร้องไห้เสียงดัง เป็นการร้องบอกคนอื่นว่า บัดนี้ฉันเกิดมาแล้ว ฉันในวัยเด็กก็ไม่มีอะไรต้องกังวล และไม่เข้าใจชีวิต  ความสนุกสนานที่ได้รับจากการเล่นกับเพื่อน มันปิดบังความจริงบางอย่างเอาไว้มิดชิด จนในวันนี้เด็กคนเดิมได้รู้แน่ชัดแล้วว่า " ชีวิตกำลังเดินไปสู่บางสิ่งและไม่มีทางหลีกเลี่ยงมันได้ฉันจึงตั้งคำถามกับตนเองว่า " ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไรจากนั้นจึงเริ่มแสวงหาคำตอบให้กับตนเองฉันบอกไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะพบคำตอบนั้นหรือไม่ ฉันเขียนเรื่องราวสั้นๆ เอาไว้เมื่อปีที่แล้ว เรื่อง"ฉันเกิดมาเป็นมนุษย์ธรรมดา ข้อความว่า " สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันเกิดคงมิใช่การเฉลิมฉลองสนุกสนาน เพราะฉันไม่อาจทำได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ " การได้อยู่เงียบๆ แล้วทบทวนตนเอง ว่าที่ผ่านมาเราทำตัวได้สมกับการเกิดมาบนโลกนี้แล้วหรือยัง เพื่อจะกำหนดทิศทางในอนาคตว่าควรแก้ไขปรับปรุงหรือเดินหน้าในเรื่องใดบ้างฉันมักตั้งคำถามว่าการย้อนกลับไปมองอดีตและมองล่วงไปในอนาคต จะทำให้เราใช้ชีวิตจริงๆ ได้อย่างไร และมักจะได้คำตอบสำหรับทุกปัญหาเสมอๆ"

"วันนี้เป็นวันเกิด ก็เปรียบการเกิดของรูปนี้เหมือนดอกบัวดอกหนึ่ง ชีวิตที่ผ่านมาเริ่มต้นจากความมืดบอดทางวิญญาณความไม่รู้ในความจริงของโลกและชีวิต ต่อมาเมื่อต้นบัวได้รับอาหารจากโคลนตมนั้นเองก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นบัวตูม เหมือนกับชีวิตในระยะปานกลาง ที่ได้รับความรักความอบอุ่น ความเอื้ออาทรจากครอบครัว คนรอบข้างและเพื่อนมนุษย์ และค่อยๆ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้รอดพ้นจากหอย ปลาและเต่ามากัดกินเป็นอาหารสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองมากขึ้น และเมื่อดอกบัวตูมต้องแสงพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณก็ ผลิดอกบานสะพรั่ง สวยงาม ให้ทั้งหมู่แมลงและผู้คนได้ชื่นชม ก็เหมือนกับชีวิตในระยะสุดท้ายที่สั่งสมภูมิปัญญามาอย่างเต็มที่ พรั่งพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ ทั้งการเรียนและการทำงาน สามารถที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  

แต่อีกไม่นานฉันก็จะพ้นวัยนี้ไป แล้วดอกบัวที่เคยเบ่งบานงดงาม ก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉา ร่วงโรยรา หมดความงามภายนอกไปคงเหลือทิ้งไว้เพียงแต่เรื่องเล่าในอดีตกาลอันนานไกล ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นเท่านั้น..ท้ายที่สุดแมลงที่เคยมาตอม ผู้คนที่เคยมาชม ก็จะลืมไปว่าครั้งหนึ่งดอกบัวดอกนี้เคยเกิดขึ้นมาบนโลก...เปรียบเหมือนวัยแก่เฒ่าชราภาพมาเยือน ความจำเลอะเลือน ทำประโยชน์ให้แก่ใครไม่ได้อีกต่อไป ในที่สุดก็ล้มหายตายจากไปเอง 

..วันเกิดปีนี้มีความหมายสื่อให้เห็นถึงอะไรอะไรอีกมากมายนัก หากเรามองย้อนกลับมาดูตนเอง ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาแล้วไซร้ เราก็จะพบคุณค่าของวันเกิด ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่มีไว้เพื่อเฉลิมฉลองอะไรเลย แต่มีไว้เพื่อให้เราคิดทบทวนตนเอง ว่าที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดมานั้น เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกและชีวิตบ้าง แล้วเราจะทำอะไรต่อไป "

****ขอบคุณ และขออนุโมทนากับทุกท่านทั้งที่อยูรในประเทศไทยรวมถึงในต่างประเทศ ที่ส่งข้อความแสดงถึงความปราถนาดีของท่านเนื่องใน "วันเกิดของอาตมาภาพ ปีนี้อายุครบ 51 ปี พรรษา 12 มีอะไรผ่านมาและผ่านไปมากอาจจะเล่ากันไม่จบ

ท้ายที่สุดนี้ อาตมาภาพขออุทิศบุญกุศลทุกอย่างที่ทำมาแล้วตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันให้แก่คุณตา คุณยาย คุณพ่อ-คุณแม่บังเกิดเกล้า และญาติพี่น้อง มิตรสหายทุกคนไม่ว่าท่านจะอยู่  แห่งหนภพภูมิใดก็ขอให้ทราบและได้รับบุญกุศลที่อาตมาได้กระทำบำเพ็ญส่งไปให้นี้ด้วยเทอญ.

พระสมุห์อดิเรก อาทจฺจพโล,ดร. )

วิเคราะห์เชิงปรัชญา พระอัครสาวก

  พระธาตุพนม บรมเจดีย์                                                                                                                      ...