กว่าจะเป็นภาพวาดของพ่อ
ผลงานศิลปกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเริ่มนำมาแสดงครั้งแรกในการ แสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 จวบถึงปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นพสกนิกรชาวไทยจึงทราบถึง พระอัจฉริยะภาพด้านศิลปะ หากแต่แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงงานด้านศิลปะมานาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระ เยาว์ เมื่อครั้งที่ประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำรา และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม ศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี
หลังเสด็จฯขึ้นครองราชย์ ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ในระยะแรกๆพระองค์ทรงเขียนภาพเหมือนจากพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระ บรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ และมีภาพผลงานหลายชิ้นที่ทรงเขียนภาพหุ่นนิ่ง และภาพทิวทัศน์บ้าง โดยมีศิลปินอาวุโสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อร่วมปฏิสันถาร ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์เองว่า ทรงวาดเอง มิได้ทรงปล่อยให้แบบหรือแนวทางของผู้ใดเข้ามามีอิทธิพลกับงานเขียนภาพ และในการวาดภาพนั้นก็ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือ ทรงวาดตามที่พระราชหฤทัยนึกจะวาด มิได้ทรงคำนึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากจินตนาการของพระองค์เอง ฉะนั้นเมื่อได้เห็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ก็จะเห็นชัดแจ้งถึงลักษณะที่เป็นอิสระ เฉพาะตัว
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะเป็นภาพนามธรรมมาก ขึ้น ในระยะต่อมาเทคนิคในการเขียนภาพเปลี่ยนแปลงไป การใช้ฝีแปรงเคลื่อนไหวฉับพลันมากขึ้น ภาพ สี มีลักษณะส่วนตัวมากขึ้น การเขียนภาพเป็นแบบกึ่งเหมือนจริง กึ่งนามธรรม เนื้อหาเป็นไปตามความคิดของพระองค์เอง
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตอบย้ำความมีพระอัจฉริยะภาพของในหลวง คือ พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ภายในเล่มมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539
ภาพในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก มีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ภาพวันที่เรือล่ม และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพวาดของเหล่าจิตรกรชื่อ 8 คนรวมอยู่ด้วย ดังนี้ จินตนา เปี่ยมศิริ, ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ธะรวัฒน์ คะนะมะ และ เนติกร ชินงานเสวนา เรื่อง พระอัจฉริยะภาพ “ในหลวง” กับ งานศิลปะ ณ ห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดย อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร หนึ่งในศิลปินผู้วาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก กล่าวถึงช่วงเวลาที่ได้ถวายงานว่า
“ในแต่แรก เดิมผมสเก็ตช์ถึงพระโปลชนกเสด็จหนี ออกจากพระราชวัง หลังจากโซ่ตรวนหลุด ถวายให้ทอดพระเนตร รับสั่งว่าน่าเน้นถึงตอนที่พระโปลชนกกำลังหลุดจากโซ่ตรวนที่ตรึงไว้ คือ เน้นตรงนี้เพื่อให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์ใจ คนที่มีความบริสุทธิ์ใจ คนนั้นอยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกทำร้าย พระราชดำริ ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าที่เราคิดตอนแรก เพราะฉะนั้นรูปที่ผมสเก็ตช์ตอนแรกกับรูปที่อยู่ในหนังสือจะแตกต่างกัน”
“ผมสอดแทรกความเป็นปัจจุบันอยู่ในรูปด้วย ซึ่งจะมีเหตุการณ์ปัจจุบันต่างๆ ที่สอดแทรกเป็นรายละเอียดในรูป มีรถถังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่เข้าในรูปเพื่อที่จะเปรียบเทียบให้ มนุษย์ได้ตระหนักว่า ผลของสงครามนี่เกิดขึ้นทุกสมัย การเปรียบเทียบระหว่างสงครามในอดีตกับสงครามในปัจจุบันหรืออนาคต ทำให้เรื่องมหาชนกยืนยาวถึงปัจจุบัน รูปเป็นสื่อเหมือนกันว่าพระมหาชนกนี่เป็นเรื่องร่วมสมัยกับความเป็นปัจจุบัน ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราวเฉพาะอดีต”
กว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก มีลำดับการสร้างที่รอบคอบ ตัวอักษรทุกตัวผ่านการพิสูจน์อักษร เป็นงานที่ผ่านสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างละเอียด
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ยังเล่าอีกว่า เมื่อครั้งพิมพ์เสร็จเรียบร้อยเป็นรูปเล่มครั้งแรก ก็ทรงตรวจสอบหนังสืออย่างละเอียด พบความผิดพลาดในนั้น ก็สั่งให้แก้ไข ทำใหม่ หรืออย่างการวาดขาปู ก็ทรงรับสั่งให้ศิลปินศึกษาการเคลื่อนไหวของปูตัวจริง และแม้ทรงประชวรในช่วงที่กำลังทำพระมหาชนกอยู่ ก็ยังทรงตรวจงานของเหล่าศิลปินทุกครั้ง
พระอัจฉริยะภาพด้านศิลปะของในหลวงคงไม่เป็นที่กังขาอีกต่อไป ด้วยผลงานมากมายได้แสดงถึงความมีพระอัจฉริยะภาพของในหลวง และที่ผลงานออกมาดีเช่นนี้ ก็ด้วยทรงดูแลเอาใจใส่ เช่นเดียวกับทรงดูแลเอาใจใส่พสกนิกรชาวไทยทุกคนของพระองค์ .
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555
โดย พระอดิเรก อาทิจฺจพโล